ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ (ความภาคภูมิใจที่สุดตลอดชีวิตการทำงาน)

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์

สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2561 ณ ห้องประชุม VIP ชั้น 5 สำนักงานอธิการดี

ความภาคภูมิใจที่สุดตลอดชีวิตการทำงาน

       งานที่ภาคภูมิใจที่สุดในชีวิตนะครับ ก็คือ งานที่ได้มีโอกาสพัฒนาและแก้ไขปัญหาโภชนาการของทารกและเด็ก สำหรับเด็กในชนบทไทย และเด็กไทย แล้วตอนหลังก็ได้มีโอกาสขยายงานกับนานาชาติด้วย อันนั้นก็เป็นงานที่เรียกว่า “งาน” นะครับ แต่อีกเรื่องหนึ่งที่คิดว่าภาคภูมิใจ จะเรียกว่าที่สุด ก็คือ ได้มีโอกาสถวายงาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จริง ๆ ผมมีโอกาสได้เข้าเฝ้าท่านครั้งแรก เพราะทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ท่านแนะนำผมกับสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขณะเดียวกัน ตอนหลังที่ผมมาดำรงตำแหน่งเป็นรองอธิการบดี แล้วสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ท่านเสด็จพระราชดำเนินงานวันมหิดล ท่านได้ปรึกษาอาจารย์ณัฐ ภมรประวัติ ซึ่งขณะนั้นผมยืนอยู่ในบริเวณนั้นด้วย ท่านมีพระราชประสงค์ให้ผมไปประเมินโครงการที่จังหวัดนราธิวาส ที่พระองค์ทรงพระราชทานเงิน 2,000,000 บาท เพื่อแก้ไขปัญหาโภชนาการ ผมก็ได้เดินทางไปประเมิน พอการประเมินโครงการเสร็จ ท่านก็ให้ถวายข้อมูลสำหรับท่าน ซึ่งผมจำได้แม่น ก็คือ พ.ศ. 2534 เพราะว่าเป็นช่วงที่มีการยึดอำนาจ นะครับ ท่านให้ผมและทีมไปรายงานผลการประเมิน เมื่อผมและทีมรายงานผลเสร็จเรียบร้อย ท่านก็บอกว่าท่านสนพระทัยเรื่องโภชนาการเป็นอย่างมาก อยากให้จัดหลักสูตรพิเศษถวาย ซึ่งเราก็ภูมิใจมากนะครับ แต่ขณะเดียวกันจะให้บอกว่าจัดหลักสูตร เราก็ไม่กล้าที่จะจัดหลักสูตร ก็เลยเรียกว่า “จัดสัมมนาพิเศษ” ถวาย 2 สัปดาห์ ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2535 ผมจำได้แม่นเลย แล้วท่านก็เสด็จพระราชดำเนินมาทุกวันตั้งแต่เช้าถึงเย็น แล้วหลังจากนั้นก็ยังเสด็จทุกปี ปีละ 1 – 2 วัน นะครับ ต่อเนื่อง 10 กว่าปี จนกระทั่งตอนหลังท่านก็มีพระราชกรณียกิจมากก็เลยหยุด อันนี้ก็เป็นความภูมิใจที่ได้ถวายงานท่าน ตอนหลังท่านก็โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาโครงการพระราชดำริ จนกระทั่งถึงปัจจุบัน ก็ถือว่าเป็นงานด้านโภชนาการในมนุษย์นะครับ มีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาโภชนาการ และได้ถวายงานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เกี่ยวกับเรื่องของอาหารโภชนาการ และสุขภาพ ซึ่งก็ได้มีโอกาสตามเสด็จไปต่างจังหวัด และก็ตามเสด็จไปต่างประเทศ แล้วมีโอกาสถวายงาน เมื่อชาวต่างประเทศมาดูงานในเมืองไทยจะเป็นระดับไหนก็แล้วแต่ ก็มีโอกาสไปช่วยดูแลรับแขกหรือช่วยบรรยายด้วย แล้วก็ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน นับเป็นความภูมิใจมาก ๆ ที่ได้เข้าไปทำงานในโครงการพระราชดำรินี้

        อีกเรื่องหนึ่งที่มีความภูมิใจมาก ๆ ในเรื่องการทำงานของผม นั่นก็คือ ผมมีโอกาสไปทำงานที่ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ก็คือ FAO ที่กรุงโรม ตั้งแต่ พ.ศ. 2543 – 2549 (ค.ศ. 2000 – 2006) อายุ 56 – 62 ปี ก็คือ เทอมละ 3 ปี / 2 เทอม ก็ 6 ปี ก็มีความภูมิใจว่า ได้ไปทำงานในเชิงระบบที่ดูแลมาตรฐานอาหารโลก ดูแลเรื่องความปลอดภัย อาหารปลอดภัย ดูแลเรื่องโภชนาการ และทำงานร่วมกันระหว่างองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ กับองค์การอนามัยโลก ซึ่งก็เป็นความภูมิใจ แล้วมีเอกสารที่เป็นผลงานวิชาการ จนกระทั่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก ตำแหน่งที่ได้ เป็นตำแหน่งทางด้านวิชาการที่สูงที่สุดในองค์กรไม่ใช่ตำแหน่งการเมือง ซึ่งทางกระทรวงการต่างประเทศจะทราบเรื่องดี ก็คือเป็นตำแหน่งที่เรียกว่า Director Level 2 สูงสุด ถ้า Director ก็ D2 ต่อมาก็เป็น D1 ต่อมาก็เป็น P / P ก็คือ Professional 5, 4, 3, 2, ซึ่งก็เป็นความภาคภูมิใจ เพราะผมเป็นคนไทยที่อยู่ในตำแหน่งนี้ที่สูงที่สุด โดยไม่มีการสนับสนุนจากรัฐบาล การถูกสรรหาโดยมีคนมาขอประวัติ แล้วก็มีการสัมภาษณ์เมื่อ พ.ศ. 2542 (ค.ศ. 1999) ผมจำได้ดี ต้องแข่งกับคู่แข่งจากสหรัฐอเมริกา นอร์เวย์ ออสเตรเลีย อินเดีย ชิลี ซึ่งผมไม่มีใครสนับสนุนเลย ผมได้มาก็เพราะผลงานที่ได้มีโอกาสทำงานให้กับประเทศ และเป็นผลงานของประเทศไทยที่ดูแลเรื่องโภชนาการ ดูแลเรื่องของอาหาร เขาก็เลยคัดเลือกให้ไปทำ ผมก็ต้องทำงานหนัก และเรียนรู้เยอะเลย แต่ก็เป็นความภูมิใจ แล้วก็พอกลับมาถึง ได้มีโอกาสทำงานทางด้านนี้ เป็นทั้งที่ปรึกษาให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และที่ปรึกษาให้ องค์การอาหารและยา (อย.) แล้วก็มีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศในนามของประเทศไทย และในนามตัวเองด้วย จากการที่ได้มามีส่วนทำเรื่องของยุทธศาสตร์ ว่าด้วยการจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ผมก็เป็นประธานยกร่าง แล้วตอนนี้เกือบทุกกระทรวงก็นำไปใช้เป็นแนวคิด รวมทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้วย ก็เป็นสิ่งที่ดีเป็นผลพวงจากการที่มีโอกาสไปทำงานต่างประเทศ คือ ทั้งหมดมันก็เป็นงานแต่ละชิ้น แต่ละชิ้น แต่ละชิ้น ซึ่งเมื่อมารวมกันแล้วมันก็ดูเหมือนเยอะนะครับ

---------------------------------------------------
1รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 หรือ เหตุการณ์ รสช. โดยพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ รสช. คือ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ยึดอำนาจจากรัฐบาล พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ชั้น 3 หอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170
โทร 0-2800-2680-9 ต่อ 4346