ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ (เมื่อเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย)

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์

สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2561 ณ ห้องประชุม VIP ชั้น 5 สำนักงานอธิการดี

เมื่อเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย

        เมื่อผมเข้าเรียนคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผมอยู่ในรุ่นที่ 3 ระหว่างที่เรียนช่วงแรก ๆ ด้วยความที่เป็นเด็กต่างจังหวัดมักจะรู้สึกประหม่า เพราะว่าเด็กที่เป็นเพื่อนกันส่วนใหญ่เป็นเด็กเตรียมอุดม มีเด็กต่างจังหวัดไม่กี่คน แต่พอเรียนไปสักพักหนึ่งผมสอบได้คะแนนดี ครูประกาศบอกว่า คะแนนเคมีก็สูง คะแนนชีววิทยาก็สูง ผมก็เริ่มรู้สึกว่า เราก็คงไหวสู้เขาได้ แล้วตอนหลังก็มาดูคะแนน ตั้งแต่เรียนวิทยาศาสตร์การแพทย์ จนกระทั่งจบแพทย์เนี่ย คะแนนเกินร้อยละ 80 ตลอด ทำให้ผมได้เกียรตินิยม แล้วก็ระหว่างที่เรียนผมก็ยังคงชอบติวเพื่อน อ่านหนังสือมาเพื่อนจะถามอะไรมาผมก็ไม่เคยปิด ติวให้ทั้งนั้นเลยทำให้ผมมีเพื่อนฝูงมาก

        หากถามว่าทำไมถึงเลือกเรียนแพทย์ จริง ๆ ก่อนจะเรียนแพทย์ ผมได้มีโอกาสไปสอบที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ผมสอบได้ด้วย แต่ไม่เลือกนะครับ ตอนนั้นก็ถือว่าลองสนามสอบ และที่เลือกเรียนแพทย์ ก็มาจากความคิดที่ว่า แพทย์เป็นวิชาที่เราสามารถช่วยตัวเองได้ และก็สามารถที่จะช่วยคนอื่นได้ ก็ตั้งใจแบบนั้นจริง ๆ แล้วก็ทำแบบนี้มาตลอด ตอนหลังพอเรียนจบได้เกียรตินิยม ผมได้ไปสอบทุนมูลนิธิอานันทมหิดล ซึ่งตอนนั้นผมสอบไม่ได้ แต่ในใจตอนนั้นก็คิดว่า ถ้าทุนมูลนิธิอานันทมหิดลมีสาขาสาธารณสุขก็อยากที่จะเรียน เพราะสาขาสาธารณสุขสามารถทำงานได้กว้าง แต่ในช่วงนั้นส่วนใหญ่ทุนมูลนิธิอานันทมหิดลจะเน้นในเรื่อง Physiology and Biochemistry ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับทางด้านการแพทย์

        หลังจากนั้นผมก็ไปเป็นแพทย์ฝึกหัด (Intern) ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล พอดี ศ.เกียรติคุณ นพ.อารี วัลยะเสวี อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมาคุยด้วย และชวนมาทำงานด้านโภชนาการ เพราะมันเกี่ยวกับเรื่องปัญหาคุณภาพของคน ซึ่งจริง ๆ แล้วเริ่มต้นตั้งแต่เด็กอยู่ในครรภ์มารดา จนกระทั่งเด็กทารก เด็กโต และวัยผู้ใหญ่ ในที่สุดผมก็ตัดสินใจว่า ทำเรื่องนี้ดีแหละ จะได้ดูแลเด็กที่ทั้งป่วยและปกติ แล้วถ้าเผื่อสามารถทำงานได้กว้างขวางยิ่งขึ้นก็จะเป็นประโยชน์ ไม่ใช่แค่เฉพาะบุคคล แต่เป็นประโยชน์ต่อคนหมู่มาก ก็เลยตัดสินใจกับอาจารย์ (ศ.เกียรติคุณ นพ.อารี วัลยะเสวี) ว่าผมจะทำทางด้านโภชนาการ โดยที่อาจารย์ช่วยหาทุนของ Rockefeller ซึ่งตอนนั้น Rockefeller ได้เข้ามาช่วยคณะวิทยาศาสตร์ ทางด้านวิทยาศาสตร์ และวิทยาศาสตร์การแพทย์ ดังนั้นผมจึงได้ทุนไปเรียนที่ MIT (Massachusetts Institute of Technology) หรือ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ที่เมืองเคมบริดจ์ (Cambridge) เมืองนี้อยู่ติด ๆ กับ เมืองบอสตัน (Boston) ตอนนั้นก็ตัดสินใจว่า จะไปเลยดีไหม แต่ในที่สุด ผมก็เรียนอาจารย์ในหลาย ๆ เรื่อง และบอกว่าปีแรกยังไม่ไป เพราะภาษาอังกฤษอ่อน ขอไปเป็นแพทย์ฝึกหัดก่อน และทำทางด้านเด็กไปด้วย ผมจะได้ฝึกภาษาอังกฤษแล้วก็ไปทำ Ph.D. ต่อ ซึ่งในที่สุด อาจารย์อารี ก็ตกลง และพอดีอาจารย์ติดต่อกับแพทย์หัวหน้าภาควิชาที่นั่น ซึ่งก็คือ เดวิด คาร์สัน (Professor Dr.David Karzon หัวหน้าภาควิชากุมารที่ Vanderbilt University) และยังติดต่ออาจารย์ทางด้านชีวะเคมี ชื่อ อามอส คริสตี้ ผมก็เลยได้ไปเป็นอินเทิร์นเด็กที่มหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลท์ (Vanderbilt University) ซึ่งอยู่ในรัฐเทนเนสซี (Tennessee) เมืองนี้เป็นเมืองที่ เอลวิส เพรสลีย์ (Elvis Presley) อยู่และก็โด่งดังอยู่ที่นี่ด้วยนะครับ ผมก็ไปอยู่ที่นั้น 1 ปี แล้วก็ไปต่อที่ MIT อีกประมาณ 3 ปี จนกระทั่งจบ Ph.D. ทางด้านโภชนาการ ขณะเดียวกันเพื่อเตรียมความพร้อมที่จะกลับมาอยู่ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ หรือ ภาควิชาเด็กของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ผมต้องกลับไปเป็นแพทย์ประจำบ้าน 1 ปี ที่โรงพยาบาลเด็กของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และผมสามารถสอบข้อเขียนผ่านทางด้านวุฒิบัตรของกุมารแพทย์ พอครบ 5 ปี ผมก็เดินทางกลับประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2517 คือ จบแพทย์ พ.ศ. 2511 แล้วก็เป็นอินเทิร์นที่เมืองไทย 1 ปี ไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกา รวมทั้งหมด 5 ปี

        ผมอยากจะเล่าเรื่องที่เป็นปัญหาของตัวผมเอง และคิดว่าเป็นปัญหาของเด็กไทย รวมทั้งคนไทยหลาย ๆ คนด้วยนะครับ นั่นก็คือเรื่อง “ภาษาอังกฤษ” เพราะเรื่องนี้มันเป็นปัญหาที่ติดตัวตลอดเวลา ผมต้องพยายามฝึกตัวเอง และต้องสู้กับมันให้ได้ ผมสู้กับเรื่องนี้อยู่ประมาณ 30 – 40 ปี จนกระทั่งสามารถใช้ได้ดีระดับหนึ่ง มิเช่นนั้นเราจะไม่มีความมั่นใจในการทำงานในระดับนานาชาติ

      สิ่งหนึ่งที่ผมอยากพูดถึงในสมัยเรียนอยู่ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลนั่นก็คือ ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลจะฝึกให้ผมมีนิสัยที่ดี จริงก็มีหลายเรื่องด้วยกัน แต่ผมขอพูดถึงสัก 2 – 3 เรื่องแล้วกัน

        เรื่องที่ 1 คือ เรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม คือ ทุกคนก็เจริญรอยตามคำสอนของสมเด็จพระราชบิดาที่บอกให้คำนึงถึงประโยชน์ส่วนตนเป็นอันดับ 2 ประโยชน์ของส่วนรวมเป็นอันดับ 1 ซึ่งถ้าเราปฏิบัติตนได้แบบนี้ ในที่สุดเราก็อยู่ได้กินได้ แต่ไม่ถึงขนาดร่ำรวยแต่ก็ไม่อด ขณะเดียวกันเราก็จะเกิดความภูมิใจในตัวเอง และก็เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม ซึ่งเรื่องนี้นับเป็นหัวใจอันดับหนึ่ง

        เรื่องที่ 2 คือ การให้ความเคารพนับถือผู้อาวุโส ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีงามของสังคมไทยไม่ต้องไปอวดอ้างตัวเองแล้วไม่ก่อให้เกิดความอหังการ ก็คือ “อวดตัว” ซึ่งที่ศิริราช พยายามจะสอนให้นอบน้อมถ่อมตัว และอาจารย์ที่เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุด ก็คือ ศ.เกียรติคุณ นพ.สุด แสงวิเชียร ท่านเป็นหัวหน้าภาควิชากายวิภาคศาสตร์ ท่านจะอ่อนน้อมมากแล้วก็เป็นธรรมเนียมของที่ศิริราช เรื่อง “การโค้ง” โดยที่ผู้น้อยจะโค้งผู้ใหญ่ก่อน อาจารย์แทบจะโค้งเราก่อน เราก็ต้องรีบโค้งอาจารย์ก่อนที่อาจารย์จะโค้งเรา ซึ่งเรื่องนี้ทำให้เราเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน ถึงแม้เราจะมีตำแหน่งสูงขึ้น หรือ มีการยอมรับมากขึ้น เราก็ต้องทำตัวให้ธรรมดาให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

        เรื่องที่ 3 คือ การฝึกความอดทน สมัยที่ผมอยู่ที่ศิริราชต้องอยู่เวรเกือบทุกวัน บางทีก็ต้องนอนเที่ยงคืนหรือไม่ได้นอน และต้องมาทำงานต่อในตอนเช้า ซึ่งการฝึกความอดทนนี้จริง ๆ มีมาตั้งแต่เด็กแล้ว และตอนที่ผมไปอยู่ที่มหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลท์ (Vanderbilt University) ก็อยู่แบบเวรวันเว้นวัน ก็คือวันนี้อยู่ที่โรงพยาบาลทั้งวัน อยู่เวรทั้งคืน บางทีก็ไม่ได้นอนเลย เช้าก็ทำงานต่อ แล้วพอกลับบ้านเสร็จก็ต้องกลับไปทำงานอีกในวันถัดไป คือทั้งหมดมันเป็นความอดทน ต่อมาเมื่อมาอยู่ที่ MIT เรียนหนังสือก็เรียนเกือบทุกวัน พอเริ่มเรียนไม่กี่เดือน ผมก็เริ่มทำงานวิจัยไปพร้อมกันเลย ผมทำแบบนี้ทุกวันแม้แต่ในวันเสาร์ - อาทิตย์ ด้วยวิธีการนี้ทำให้ผมเรียนจบ Ph.D. โดยใช้เวลาประมาณ 2 ปี 10 กว่าเดือนเท่านั้น ดังนั้น ความอดทนที่ได้ฝึกมาตั้งแต่เด็ก ๆ และตอนที่อยู่ศิริราชนี้ ทำให้เราสามารถทำงานได้อย่างคงตัวและอดทน ทั้งหมดมันก็จะกลายเป็นนิสัยในการทำงานอย่างต่อเนื่อง มาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ชั้น 3 หอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170
โทร 0-2800-2680-9 ต่อ 4346