แพทย์หญิงพันทิวา สินรัชตานันท์ (ประวัติในวัยเด็ก)

แพทย์หญิงพันทิวา สินรัชตานันท์

สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ณ ห้องสมุดดนตรีสมเด็จพระเทพรัตน์ ชั้น 3 หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล

แพทย์หญิงพันทิวา สินรัชตานันท์  ถ่ายเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 

        ดิฉันชื่อแพทย์หญิงพันทิวา สินรัชตานันท์ เป็นชาวจังหวัดตากโดยกำเนิด เกิดเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2493 คุณแม่ให้กำเนิดดิฉันในบ้านเลขที่ 697 699 701 ถ.ตากสิน ต.ระแหง อ.เมือง จ.ตาก เป็นเรือนแถวไม้ 2 ชั้น 3 คูหา หน้าโรงภาพยนตร์จิตรบันเทิง โดยพยาบาลผดุงครรภ์ เนื่องจากสมัยนั้นโรงพยาบาลยังไม่เป็นที่นิยม และหลายครอบครัวจึงให้กำเนิดลูกหลานที่บ้าน

        ดิฉันเกิดและเติบโตในจังหวัดตาก บ้านอยู่ที่อำเภอเมืองตาก สมัยนั้นจังหวัดตากถนนยังเป็นดินลูกรัง ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำประปา และครอบครัวดิฉันก็ไม่มีบ้าน เพราะเราต้องเช่าบ้านอยู่ แต่ชีวิตวัยเด็กกลับมีความสุขมาก เพราะว่าจังหวัดตากเป็นจังหวัดที่ผู้คนรู้จักกันทั้งจังหวัด ดิฉันจึงรู้สึกเหมือนกับว่าผู้คนทั้งจังหวัดเป็นญาติของดิฉัน เพราะฉะนั้นชาวจังหวัดตากจึงทราบเรื่องครอบครัวและตัวดิฉันดีพอสมควร

        คุณพ่อ เดิมชื่อ แต้ เที้ยะลิ้น หรือ เธียรรินทร์ สินรัชตานันท์ เป็นชาวจีนจากซัวเถา ส่วนคุณแม่ชื่อ คุณแม่จงจิตร สินรัชตานันท์ เป็นชาวกรุงเทพฯ ดิฉันเป็นลูกคนสุดท้อง ของพี่น้อง 6 คน ซึ่งพี่สาวเสียชีวิตไป 1 คน จากเหตุการณ์การติดเชื้อปอดบวมในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 พี่ชายคนโตเป็นเจ้าของโรงแรมสวนสิน จังหวัดตากในเวลานี้ ชื่อ นายชลศักดิ์ สินรัชตานันท์ พี่ชายคนนี้มีความสำคัญกับดิฉันมาก เพราะว่าเป็นคนที่รักดนตรีมากเหมือนกันถึงขนาดว่าเป็นเจ้าของเครื่องดนตรีแอคคอร์เดียน (Accordion) หีบเพลงปาก (Harmonica) ซึ่งจังหวัดเล็ก ๆ เศรษฐกิจเล็ก ๆ แบบนั้น การเป็นเจ้าของเครื่องดนตรีขนาดนั้น ดูจะหรูหรามากสำหรับเราในวัยที่ยังเด็กมาก และพี่ชายคนนี้ยังเป็นหัวหน้าวงดนตรีของโรงเรียนตากพิทยาคม ซึ่งในสมัยนั้นความบันเทิงก็มีอยู่เพียงเท่านี้

        สมัยเด็กพวกเรามักจะจินตนาการว่าเป็นนักร้องคนนั้นคนนี้ พี่ชายคนนี้ถึงขนาดอยากจะเป็นนักร้องอาชีพ อยากจะมาหาคุณสุเทพ วงศ์กำแหง ที่กรุงเทพฯ เพื่อที่จะได้ขอเป็นศิษย์ของคุณสุเทพ แต่ว่าคุณพ่อคุณแม่ไม่อนุญาต พวกเราจะร้องเพลงด้วยกันบนเวที ตั้งแต่พี่ชายเป็นวัยรุ่น แต่ดิฉันยังเล็กอยู่ เพราะอายุห่างกัน 1 รอบ พี่ยังต้องอุ้มดิฉัน  สมัยนั้นพวกเราจะใช้ไมค์หัวโตผูกโบสีชมพู พี่ชายจะยืนร้องเพลงและอุ้มดิฉันไว้ พวกเราจะร้องเพลงคู่ของคุณสุเทพ และคุณสวลี ตอนนั้นก็เหมือนสุเทพอุ้มสวลีไว้ ซึ่งเป็นวิธีการร้องเพลงที่ตลกดี พวกเราจึงมีความหลังที่ชอบคิดถึง และมีความสุขมาก

        พี่สาวคนที่ 2 คือ ผศ.ดร.พันทิพา สินรัชตานันท์ อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ชำนาญเรื่องไวรัส พี่สาวคนนี้เป็นผู้ที่จบปริญญาเอกในเมืองไทยเป็นรุ่นแรกของมหาวิทยาลัยมหิดลด้วย ซึ่งสมัยนั้นเป็นเรื่องตื่นเต้นกันมาก เพราะปริญญาเอกยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในวงการศึกษาของไทยที่เราสามารถผลิตปริญญาเอกเองเป็นครั้งแรก และพี่สาวคนนี้สนใจเรื่องแอโรบิค จนได้แชมป์ประเทศไทยในกลุ่มผู้สูงอายุ ปัจจุบันยังสอนแอโรบิคให้ที่มหาวิทยาลัยมหิดล แม้จะเกษียณจากภาควิชาจุลชีววิทยาแล้ว

        พี่ชายคนที่ 3 คือ ดร.อธิวัฒน์ (ธารา) สินรัชตานันท์ อดีตอาจารย์สอนทางด้าน Marketing มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และเข้าศึกษาต่อปริญญาโททางด้าน Marketing ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยความที่พี่ชายคนนี้ชอบและสนุกกับทางด้าน Marketing มากกว่าด้านทางเภสัชศาสตร์ จึงเป็นอาจารย์ทางด้าน Marketing ปัจจุบันยังสอนให้กับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

           คนที่ 4 เสียชีวิตตั้งแต่เด็ก

        พี่ชายคนที่ 5 คือ รศ.ดร.นายแพทย์ชลธิศ สินรัชตานันท์ เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการศัลยกรรม เจ้าของคลินิกศัลยกรรมความงาม “ธีรพรคลินิก” เป็นเจ้าของคลินิกธีรพรการแพทย์ เป็นประธานของชมรมแพทย์ศัลยกรรมเสริมความงาม และนายกสมาคมศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าแห่งอาเซียน ธีรพรการแพทย์ได้รับความเชื่อมั่น และไว้วางใจในการบริการจากดารา นักร้อง และนางงามจำนวนมาก

        สุดท้าย ดิฉันแพทย์หญิงพันทิวา สินรัชตานันท์ เป็นน้องคนสุดท้องของครอบครัว สมัยเด็กดิฉันค่อนข้างซุกซน จนกระทั่งเกิดอุบัติเหตุกระดูกสันหลังหักตั้งแต่เล็ก ๆ ทำให้ต้องใส่เฝือกมาตลอดเป็นเวลา 10 กว่าปี แต่อย่างไรก็ตาม ดิฉันไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองมีเฝือกอยู่กับตัว ดิฉันรู้สึกว่าตัวเองเป็นเด็กปกติทั่วไป สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ปกติเหมือนเพื่อน ๆ นั่นก็อาจจะเพราะรู้สึกชินจนเหมือนเฝือกนั้นเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย

        เมื่อเริ่มเข้าโรงเรียนอนุบาลจังหวัดตาก โดยศึกษาที่โรงเรียนแห่งนี้ตั้งแต่ระดับอนุบาล - ประถม 4 ประมาณช่วง พ.ศ. 2500 – 2503 ช่วงนั้นดิฉันทำกิจกรรมเรื่องร้องรำทำเพลง สมัครการแสดงทุกรายการ แถมยังกล้าหาญชาญชัยจะไปออกแบบท่าเต้นประกอบเพลง โดยใช้วิธีแบบครูพักลักจำหรือลอกเลียนแบบ ซึ่งนำแผ่นเสียงของเพลงญี่ปุ่นมาดู เพราะด้านหลังปกจะมีท่าทาง เราก็ทำตามแบบนั้น และร้องเพลงญี่ปุ่นถูกบ้างผิดบ้างก็ร้องกันไป

การร่วมกิจกรรมการแสดงของโรงเรียนอนุบาลจังหวัดตากทุกปี ภาพนี้เมื่อ พ.ศ. 2498

 

ใบประกาศรางวัลการแสดงศิลปหัตถกรรมของนักเรียน เมื่อ พ.ศ. 2503

        ข้อได้เปรียบของชีวิตเด็กต่างจังหวัดอย่างดิฉันก็คือว่า บ้านของเราอยู่หน้าโรงภาพยนตร์จิตรบันเทิง ซึ่งตอนหลังโรงภาพยนตร์แห่งนี้ถูกเปลี่ยนเจ้าของและเปลี่ยนชื่อเป็น รุ่งจิตรบันเทิง ซึ่งสมัยนั้นมีโรงภาพยนตร์อยู่แห่งเดียว โรงภาพยนตร์ในยุคนั้นจะเป็นโรงภาพยนตร์สังกะสีและมักจะเต็มไปด้วยรู ทำให้เราแอบดูภาพยนตร์ได้ ที่นั่งของโรงภาพยนตร์เป็นกระดานไม้สักแผ่นเดียว นั่งแบบยาว ๆ ไม่มีแอร์ สมัยนั้นมีเพียงพัดลมก็ดีมากแล้ว นอกจากนี้ยังมีทั้งยุงและหนูวิ่งไปวิ่งมา และที่โรงภาพยนตร์แห่งนี้จะเปิดเพลงทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นเพลงไทย เพลงฝรั่ง เพลงแขก เพลงจีน ลิเกมีหมด และเปิดทั้งวันทั้งคืน ผลจากตรงนี้ การที่สมัยยังเป็นเด็กได้ฟังเพลงทุกวัน มีผลทำให้ดิฉันจำเพลงต่าง ๆ ได้เป็นพัน ๆ เพลง ทำให้พวกเรากลายเป็นนักร้องกันทั้งบ้าน พวกเรามักจะอุปโลกน์ว่า พี่คนโตเป็นคุณสุเทพ วงศ์กำแหง พี่คนกลางเป็นคุณชรินทร์ นันทนาคร คนสุดท้ายก็เป็นคุณนริศ อารีย์ ส่วนดิฉันเป็นคุณเพ็ญศรี พุ่มชูศรี กับ คุณสวลี ผกาพันธุ์ และพี่อีกคนเป็นคุณรวงทอง ทองลั่นธม และ คุณลัดดา ศรีวรนันท์ ตอนนั้นจังหวัดตากมีไฟฟ้าปั่นใช้ เฉพาะเวลา 18.00 – 20.00 น. พวกเราก็จะเริ่มบรรเลงดนตรีกล่อมกันในช่วงหลัง 20.00 น. กิจกรรมของพวกเราเป็นแบบนี้กันทุกวัน จนเป็นเรื่องปกติ นอกจากนี้ในเรื่องของการเล่นดนตรี เริ่มจากคุณพ่อของดิฉันสอนดนตรี คือ ขิม ซออู้ ซอด้วง ขลุ่ย กลอง ตอนนั้นพี่คนโตจะเล่นแอคคอร์เดียน (Accordion) หีบเพลงปาก (Harmonica) และ ส่วนดิฉันจะเป่าขลุ่ยปิคโคโล (Piccolo) ในวงโยธวาทิตของโรงเรียน ซึ่งดิฉันก็ได้มาโดยไม่ได้รู้เรื่องการอ่านโน้ตเลย แต่สามารถเล่นได้ตั้งแต่เด็กโดยการจดจำ

 วงดนตรีโรงเรียนตากพิทยาคม และ โรงเรียนผดุงปัญญา
(คุณชลศักดิ์ สินรัชตานันท์ พี่ชายคนโต เป็นหัวหน้าวงดนตรีของโรงเรียนตากพิทยาคม ยืนถือแอคคอร์เดียน (Accordion) ด้านหลังขวาสุดของภาพ และ ผศ.ดร.พันทิพา สินรัชตานันท์ พี่สาวได้รับรางวัลขับร้องเพลง ผู้หญิงแถวหน้าผมแสกกลาง นั่งถือถ้วยรางวัล)

        ต่อมาเข้าเรียนในระดับชั้นประถมปลาย และจบชั้นประถม 7 ที่โรงเรียนตากสินราชานุสรณ์ ประมาณ พ.ศ. 2503 – 2508 และเข้าศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยม มศ.1 – มศ.3 ที่โรงเรียนสตรีผดุงปัญญา จังหวัดตากปัจจุบัน คือ โรงเรียนผดุงปัญญา ประมาณ พ.ศ. 2508 – 2510

        ในช่วง พ.ศ. 2510 โรงเรียนในจังหวัดตากที่เปิดการศึกษาแก่เยาวชนมีระดับชั้นการศึกษาสูงสุดเพียงระดับชั้น มศ.3 ชีวิตของดิฉันในตอนนั้น ค่อนข้างเสี่ยงอยู่ว่า ดิฉันจะเข้าศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นที่ไหน เพราะทุกอย่างล้วนแล้วแต่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งทำให้คุณพ่อบอกในตอนนั้นว่า “...อาจจะไม่ได้เรียนนะ...” ดังนั้นถ้าอยากจะเรียนต่อต้องเรียนให้ดีไปเลย แต่ตั้งเป้าหมายไว้ว่าต้องสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (พญาไท) ให้ได้ ตอนนั้นดิฉันไม่ทราบว่าในกรุงเทพฯ มีโรงเรียนกี่แห่ง ด้วยความที่เป็นเด็กต่างจังหวัดจึงเข้าใจว่าในกรุงเทพฯ มีแค่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (พญาไท) เท่านั้น ตอนนั้นจึงเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อมาสมัครเข้าโรงเรียนเตรียมอุดม (พญาไท) ซึ่งสมัครทั้งแผนกวิทย์ และ แผนกศิลป์ ตอนนั้นจำได้ว่า คุณพ่อพูดกับดิฉันว่า “...ถ้าไม่ได้โรงเรียนเตรียมฯ ก็ไม่ต้องเรียนแล้ว...” ตอนนั้นการสอบเข้าไม่ใช่เรื่องง่าย ดิฉันต้องเตรียมตัวล่วงหน้า 3 ปี

        เริ่มตั้งแต่ มศ.1 ต้องทำการบ้านของ มศ.2 มศ.3 หมดแล้ว และอ่านข้อสอบสำหรับสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (พญาไท) ย้อนหลัง 10 ปี ตอนนั้นดิฉันมั่นใจมากว่า ถ้าออกข้อไหนดิฉันตอบได้หมด คือ ถ้าคุณครูขึ้นคำถามมาดิฉันก็รู้คำตอบแล้ว เพราะว่าดิฉันทำหลายรอบ ดิฉันเตรียมตัวสำหรับการสอบด้วยตัวเอง เพราะด้วยความที่ดิฉันอยู่ต่างจังหวัดไม่มีสถาบันสำหรับเรียนกวดวิชาเพื่อสอบเข้าเช่นปัจจุบัน จำได้ว่าตอนที่สอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (พญาไท) กลับบ้านมาร้องไห้อย่างเดียว พอวันประกาศผลสอบ พี่ชายไปดูผลสอบให้ เพราะดิฉันไม่อยากไปยืนร้องไห้ตรงนั้น ก่อนไปพี่ชายถามว่า “...สอบทำได้ไหม...” ดิฉันบอกว่า “...ทำไม่ได้...” โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (พญาไท) จะประกาศรายชื่อผู้ที่สอบผ่านตามคะแนนสูงสุดจนถึงต่ำสุด พี่ชายจึงไล่ดูรายชื่อจากหลังสุดก่อนไล่มาเรื่อย ๆ จนจะถึงแผ่นสุดท้ายยังไม่เห็นชื่อเรา พี่ชายเริ่มใจไม่ค่อยดี จนเมื่อมาถึงแผ่นสุดท้าย ในที่สุดก็สามารถสอบเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมอุดม (พญาไท) ได้สำเร็จ รู้สึกว่าจะสอบได้ที่ 11 พี่ชายบอกว่า “...แล้วทำไมบอกว่าทำไม่ได้...” ดิฉันก็บอกว่า “...ก็มันทำไม่ได้จริง ๆ อะ ไม่รู้เหมือนกัน...”

        เมื่อเข้าศึกษาต่อในระดับ มศ.4 – มศ.5 ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (พญาไท) ประมาณ พ.ศ. 2510 – 2511 ดิฉันเป็นรุ่นที่ 30 ห้อง 104 และห้อง 272 เมื่อเข้ามาเรียนพบว่า เพื่อนดิฉันเป็นที่ 1 จากทุกจังหวัด ที่ 1 นครราชสีมา ที่ 1 เพชรบูรณ์ ที่ 1 กำแพงเพชร ที่ 1 ตาก ที่ 1 เชียงใหม่ ที่ 1 ของทุก ๆ แห่งมารวมกันอยู่ในห้องนี้ ซึ่งตอนนั้นมีทำให้รู้สึกเข่าอ่อนมาก ดิฉันรู้สึกว่าจากที่เคยขยันอยู่แล้ว ยิ่งต้องขยันหนักเข้าไปอีก แต่การเรียนเก่งมันทำให้ดิฉันผ่านเข้าไปถึงจุดที่ต้องแข่งขัน แต่ในที่สุดเมื่อดิฉันจะต้องมาเลือกว่าจะเรียนอะไร บางทีมันไม่เกี่ยวกับเรื่องเรียนเก่งไม่เก่ง แต่อยู่ที่ความถนัดของเรา ในตอนนั้นไม่ทราบว่าตัวเองถนัดอะไรจริง ๆ โดยเฉพาะเด็กต่างจังหวัดอย่างดิฉัน ซึ่งอยู่ต่างจังหวัด หนังสือที่จะไปอ่านมีให้เลือกไม่มาก ห้องสมุดวัดพร้าวเป็นแห่งเดียวที่ดิฉันเข้าไป ห้องสมุดวัดพร้าวมีขนาดเท่ากับห้องแถว 1 ห้อง มีตู้หนังสืออยู่ 2 ตู้เท่านั้น ดิฉันอ่านหมดทุกตู้จนไม่มีอะไรจะให้อ่านแล้ว ตอนนั้นจำได้ว่า ส่วนใหญ่หนังสือที่วัดพร้าวจะเป็นหนังสือพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 ดังนั้นดิฉันจึงต้องขวนขวายในเรื่องการอ่านหนังสือด้วยตนเอง อ่านแม้กระทั่งถุงกล้วยแขก ตอนนั้นก็มักจะอ่านหนังสือพิมพ์ รวมทั้งหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษบางกอกโพสต์ (Bangkok Post) เพราะรู้ตัวดีว่าภาษาอังกฤษต้องสู้เพื่อนไม่ได้แน่ คุณครูที่สอนดิฉันในจังหวัดตากในเวลานั้น ไม่มีคนไหนเลยที่จบปริญญาตรี มีอยู่คนเดียวพึ่งเรียนจบมา และดิฉันก็จบพอดี คือ อาจารย์เทอด กัลยาณมิตร จบจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เป็นอาจารย์ที่ดังมากสมัยนั้น เพราะเป็นคนแรกที่จบปริญญาตรี เวลานั้นดิฉันรู้ตัวดีว่าเราสู้เด็กกรุงเทพฯ ไม่ได้แน่นอน ทั้งภาษาทั้งอะไร ต้องช่วยตัวเองทั้งสิ้น นั้นคือต้นเหตุที่ดิฉันกลายเป็นคนที่เรียนรู้ด้วยตัวเอง จะไปอาศัยว่าต้องไปหาครูดีไม่มี เพราะไม่มีครูให้เลือก ดิฉันต้องขวนขวายเอง อ่านหนังสือเยอะมาก

        มาถึงที่จะต้องเลือกว่าดิฉันจะเป็นอาชีพอะไร ความที่ดิฉันยังเด็กมาก และไม่ทราบว่าชอบอะไรกันแน่ แต่ในต่างจังหวัดเล็ก ๆ อาชีพที่เป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านก็คือ แพทย์ ผู้พิพากษา และนักปกครอง ซึ่งทั้งหมดเมื่อมองดูเป็นอาชีพที่ไม่เหมาะกับผู้หญิง แต่ผู้ปกครองของดิฉันก็บอกว่า “...เราควรจะเลือกแพทย์นะ เพราะว่าเราไม่สบายบ่อย อย่างน้อยจะได้ดูแลตัวเอง...” เมื่อดิฉันโตขึ้นกลับมองว่า เป็นความคิดที่ไม่ค่อยถูก เพราะคนที่จะเรียนแพทย์จะต้องมีร่างกายที่แข็งแรง เพื่อต่อสู้กับโรคติดต่อต่าง ๆ ได้ แต่ดิฉันค่อนข้างจะติดต่อโรคต่าง ๆ ได้ง่าย ใครเป็นอะไรดิฉันก็เป็นด้วย แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเรียนไปแล้วก็เปลี่ยนไม่ได้ เมื่อเข้าไปแล้วก็ต้องเรียนกันไป แต่ถ้าถามว่าความฝันนึกย้อนไปอยากจะเรียนภาษา เพราะรู้สึกว่าคนที่พูดได้หลายภาษาช่างเท่เหลือเกิน โดยเฉพาะเมื่อดิฉันได้เห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงตรัสภาษาฝรั่งเศสอย่างเป็นธรรมชาติ หรือ แพทย์บางท่านที่เรียนจบจากเยอรมันกลับมาแล้วพูดภาษาเยอรมันได้ หรือ บางคนที่พูดภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น โอ้!!! ดิฉันอยากเป็นอย่างคนเหล่านั้น แต่ก็ไม่ทราบหรอกว่า จะทำอย่างนั้นได้อย่างไร วิธีเดียวก็คือเรียนด้วยตัวเอง เพราะสมัยนั้นไม่ได้มีสถานศึกษา เพื่อเรียนด้านภาษามากมายเท่าปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อให้มีวิชาชีพติดตัวแน่นอนและไม่ตกงาน ดิฉันจึงเรียนแพทย์

        ขออนุญาตเล่าย้อน ช่วงที่ต้องตัดสินใจเลือกเรียนมหาวิทยาลัย คือ ตอนที่สมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ในปีแรกของการเรียนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (พญาไท) อยู่ห้อง 104 เป็นห้องคิง ห้องควีน คู่กันกับห้อง 103 พอปี 2 มาอยู่ห้อง 272 เป็นห้องแจ็ค เพื่อนผู้ชายในห้องมักจะเรียนวิศวกรรมศาสตร์ ผู้หญิงมักจะเรียนแพทย์ เลือกกันอยู่แค่นี้ ดิฉันรู้สึกว่ามันไม่มีอะไรอย่างอื่นแล้วหรือ และตอนนั้นตึกที่ดิฉันเรียนจะมองเห็นคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดิฉันมักจะไปแอบดูว่าพี่ ๆ ทำอะไรกัน มีเล่นละคร ตอนเย็น ๆ มักซ้อมละคร ดิฉันก็จะไปนั่งดูพี่ ๆ เหล่านั้นซ้อมละคร ตอนนั้นดิฉันชอบมากสนุกดี ดูผ่อนคลาย มีแต่เรื่องเล่น ๆ ไม่มีเรื่องอะไรจริงจัง ตอนนั้นคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำหนังด้วย ทำหนังโฆษณาล้อเลียน Pearl & Dean บริษัทโฆษณา ดิฉันชอบมาก เพราะมันเป็นเรื่องตลกทั้งสิ้น ตอนนั้นดิฉันก็บอกว่า “...จะสมัครเรียนสถาปัตย์จุฬา...” เพราะดิฉันชอบวาดรูปด้วย และก็ชอบเรื่องเล่นละครสนุกดี แต่เพื่อนส่วนใหญ่บอกเรียนแพทย์กันทั้งนั้น เมื่อถึงตอนเลือกมีให้ใส่ตั้ง 6 อันดับ ดิฉันก็ใส่โน้น ใส่นี่ ก็ใส่แพทย์ด้วย แต่พอจะใส่สถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พี่สาวก็บอกว่า “...ไปเรียนอักษรเถอะ เพราะเธอบอกอยากพูดได้ 4-5 ภาษาไม่ใช่หรอ...” พ่อแม่บอกว่า “...ไม่ได้เรียนมาแล้วจะไปทำอะไร...” ตอนนั้นก็ยังนึกไม่ออกเลยว่าจะไปทำอะไร นอกจากไปเป็นครูและการเป็นครูในเวลานั้นก็ไม่รู้จะต้องไปอยู่ที่ไหน ดิฉันยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องอาชีพ ปรากฏว่าพอเอาใบกรอกเอกสารการเลือกอันดับไปสมัครเอาไปให้พี่ชายดู พี่ชายก็ไปคุยกับเพื่อนที่เรียนสถาปัตยกรรมศาสตร์ว่า “...น้องฉันจะเรียนสถาปัตย์...” เพื่อนพี่บอกว่า “...อย่าเรียนนะ ดูฉันซิเรียนมา 8 ปียังไม่จบเลย...” เพราะว่าการให้คะแนนของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์มันไม่ได้ตรงไปตรงมา มันเป็นงานศิลปะ ขึ้นอยู่กับอารมณ์ด้วย และเมื่อเรียนจบออกไปไม่ใช่ทำงานจะง่าย เพราะงานสถาปัตย์ต้องไปทำควบคู่กับวิศวกรผู้ชายทั้งนั้น แล้วเธอผู้หญิงตัวเล็ก ๆ จะไปอยู่ในไซต์งานก่อสร้างหรือจะไปทำอะไรเกี่ยวกับฉากละครมันก็งานหนัก ไม่ใช่งานผู้หญิง จบมาก็หางานทำยากสำหรับผู้หญิง ตอนนั้นดิฉันก็ อ้าว!!! สถาปัตย์ก็หางานทำยาก อักษรศาสตร์ก็หางานทำงอยาก สรุปแล้วก็ต้องหมอ เหลือช่องว่างเลือกแพทย์เชียงใหม่แล้วกัน


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ชั้น 3 หอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170
โทร 0-2800-2680-9 ต่อ 4346