ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเสริฐ ทองเจริญ (ประวัติในวัยเด็ก)

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเสริฐ ทองเจริญ

สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ณ ชั้น 6 ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ถ่ายเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

        ผม ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ เกิดเมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2476 การนับวันขึ้นปีใหม่ของประเทศไทยในสมัยนั้น เดิมทีไม่ได้นับวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 1 มกราคม แต่ใช้วันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ของประเทศไทย ซึ่งหากย้อนกลับไปในเดือนมกราคม พ.ศ. 2476 และใช้วิธีการนับวันขึ้นปีใหม่แบบสากลนั้น จึงตรงกับ พ.ศ. 2477 (ประเทศไทยประกาศการนับวันขึ้นปีใหม่จากวันสงกรานต์ เป็นวันที่ 1 มกราคม เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2483) เพราะฉะนั้นก็แล้วแต่ว่าจะนับแบบไหน ถ้าทัศนคติแบบไทยก็ พ.ศ. 2476 แต่ถ้าหากเป็นแบบสากลก็ พ.ศ. 2477

        ผมเป็นเด็กต่างจังหวัดหรือจะเรียกว่าเป็น “เด็กบ้านนอก” ก็ได้ ผมเกิดที่ หมู่ที่ 1 ตำบลในเมือง อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ คุณพ่อชื่อ นายแก้ว ทองเจริญ อาชีพรับราชการครู หรือ สมัยนั้นเรียกว่า ครูประชาบาล ส่วนคุณแม่ชื่อ นางมลิวัลย์ ทองเจริญ (นามสกุลเดิม คือ ศรีบุญลือ) อาชีพแม่บ้าน ท่านเรียนจบชั้น ป. 3 แต่เก่งทุกอย่าง ทั้งเย็บปักถักร้อย งานครัว งานบ้านต่าง ๆ รวมทั้งการค้าขาย แม่ผมทำงานได้ทุกอย่าง คุณพ่อและคุณแม่ผมมีลูกทั้งหมด 8 คน ผมเป็นลูกคนที่ 2 ของครอบครัว

        พี่สาวคนโต (คนที่ 1 ใน 8 คน) เป็นครูอยู่ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ปัจจุบันอายุ 88 ปี (พ.ศ. 2562) พี่สาวคนนี้มีลูกทั้งหมด 5 คน ลูกคนโตของพี่สาวคนนี้เรียนจบคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จบมาแล้วก็ทำงานธนาคารไทยพาณิชย์ เริ่มต้นจากสำนักงานใหญ่ และต่อมาย้ายไปเป็นผู้จัดการธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาเวียงจันทร์ ปัจจุบันยังทำงานเป็นผู้จัดการสาขาในต่างจังหวัด

        น้องสาวคนถัดมา ซึ่งต่อจากผม (คนที่ 3 ใน 8 คน) เรียบจบโรงเรียนการช่างสตรีพระนครใต้ในสมัยนั้น เมื่อเรียนจบก็ไปเป็นครู ที่โรงเรียนประชานิยม แถวบางเขน และแต่งงานกับนักวิชาการการเกษตร ซึ่งเรียนจบทางด้านเกษตร จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และไปทำงานอยู่ที่อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย สังกัดกรมส่งเสริมการเกษตร ปัจจุบันน้องสาวคนนี้ยังมีชีวิตอยู่

        คนถัดมาเป็นผู้ชาย (คนที่ 4 ใน 8 คน) เรียบจบคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นแพทย์รุ่นเดียวกับ นพ.บุญ วนาสิน และ ศ.เกียรติคุณ นพ.ยงยุทธ วัชรดุลย์ เมื่อเรียนจบแล้ว น้องชายคนนี้ก็ไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านประสาทวิทยา และเป็นแพทย์ทางอายุรกรรม ปัจจุบันนี้กลับมาอยู่ประเทศไทยแล้ว ทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลเอกชน 2-3 แห่ง

        น้องชายคนถัดมา (คนที่ 5 ใน 8 คน) เรียนจบวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยเนวาดา (University of Nevada, Las Vegas) รัฐเนวาดานั้น มีพื้นที่เป็นทะเลทราย เพราะฉะนั้นน้องชายคนนี้จึงได้เรียนวิศวกรด้านน้ำบาดาล เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเจาะน้ำบาดาล แต่ก่อนทำงานสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท (รพช.) (สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบทถูกยุบไปเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2545 จากการปฏิรูประบบราชการ) เข้าไปเจาะน้ำบาดาลทั่วประเทศ เพราะมีความรู้ว่าจะต้องเจาะตรงไหนถึงจะได้น้ำ และจะต้องเจาะอย่างไร ตอนนี้เกษียณอายุแล้ว ก่อนเกษียณได้เป็นผู้อำนวยการกองหนึ่งใน รพช. ทุกวันนี้ยังมีชีวิตอยู่ บ้านอยู่แถวบางพลัด

        น้องผู้หญิงคนถัดมา (คนที่ 6 ใน 8 คน) เป็นครูอยู่ที่โรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์ เมื่อแต่งงานก็สร้างครอบครัวอยู่ที่กาฬสินธุ์ สามีก็เป็นครูเหมือนกัน ลูกคนโตของน้องสาวคนนี้ ทำงานอยู่ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานที่เกี่ยวกับส่งเสริมการอาหาร (สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ) ส่วนลูกสาวเรียนจบปริญญาเอกวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ (The University of Sydney)

        น้องสาวคนต่อมา (คนที่ 7 ใน 8 คน) ทำงานเป็นพนักงานธนาคารกรุงเทพ ตำแหน่งสุดท้ายเป็นรองประธานกรรมการบอร์ดบริหารธนาคารกรุงเทพ

       คนสุดท้าย หรือ น้องคนสุดท้อง น้องสาวคนที่ 8 เรียนจบทางด้านบัญชี และไปทำงานอยู่ที่สหรัฐอเมริกา เป็นนักบัญชีประจำสำนักงานสหแพทย์แห่งหนึ่ง และมีครอบครัวอยู่ที่นั่น

        ผมเริ่มเรียนที่โรงเรียนประชาบาลที่บ้านเกิดนั่นแหละ จนจบชั้นประถมปีที่ 4 แล้วคุณพ่อให้ไปเรียนต่อที่โรงเรียนมัธยมในจังหวัดร้อยเอ็ด เพราะแต่ก่อนตามหัวเมืองจะมีโรงเรียนมัธยมที่ดี ๆ อยู่ไม่กี่แห่ง ซึ่งจังหวัดร้อยเอ็ดมีโรงเรียนมัธยมมณฑล มีการเรียนการสอนถึงระดับชั้นมัธยมปีที่ 6 แต่ที่จังหวัดกาฬสินธุ์อาจจะมีการเรียนการสอนเพียงแค่ระดับชั้นมัธยมปีที่ 3 ผมไปเรียนอยู่จังหวัดร้อยเอ็ดจนครบ 6 ปี โดยไปอาศัยอยู่ที่บ้านของน้าชาย น้าชายผมเป็นครูโรงเรียนที่ผมเรียนนั้นแหละ น้าชายผมเรียนจบจากมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาในปัจจุบัน เมื่อเรียนจบก็ได้ไปเป็นครูอยู่ในจังหวัดร้อยเอ็ด

        ชีวิตวัยเด็กของผม ด้วยความที่เป็นเด็กบ้านนอก ต้องผ่านอะไรมาทุกอย่างที่เด็กผู้ชายเขาทำกัน คุณพ่อปล่อยให้ผมไปทำอย่างคนอื่นเขา ซนอย่างเขา เล่นอย่างเขา โดยปกติผมไม่ค่อยได้ทำอะไร เขาไม่ให้ผมทำอะไรมาก แต่ว่าถ้าเห็นใครทำอะไร ผมอยากทำคุณพ่อก็จะปล่อยให้ทำ เช่น ที่บ้าน คุณพ่อผมเลี้ยงเด็กไว้คนหนึ่ง เป็นผู้ชาย ซึ่งเขาเรียนดี แต่ว่าคุณพ่อคุณแม่ของเขาไม่สามารถที่จะส่งให้เรียนต่อได้ คุณพ่อผมจึงรับมาอยู่ที่บ้าน ช่วยทำงานบ้านบ้าง แล้วก็ส่งให้เรียนหนังสือ จนจบไปสอง สามคน คนหนึ่งมาเรียนกรุงเทพฯ จบแล้วก็ทำงานที่ศุลกากร ไปเป็นนายด่านศุลกากร ตามต่างจังหวัด อีกสองคนเป็นครู

        คนหนึ่งที่อยู่ที่บ้านพ่อ เขาโตกว่าผม ที่บ้านผม คุณพ่อก็ต้องไปตรวจงานตามโรงเรียนต่าง ๆ ตอนหลังก็ต้องมีม้า ต้องขี่ม้าไป ที่บ้านมีม้าสองตัว พี่คนนี้จะเป็นคนดูแลม้า ตอนเช้าตรู่ต้องไปหาหญ้าให้ม้า พี่คนนี้เขาไป ผมก็ไปกับพี่เขา วันเสาร์อาทิตย์เขาไปหาปลา ผมก็ไปกับเขา ตอนหน้าฝนพี่เขาไปวางเบ็ดตามคันนา ตามนา ซึ่งตอนนั้นใช้เบ็ดสองอย่าง คือ เบ็ดราวกับเบ็ดปัก ถ้าปักเอาไม้ไผ่ปัก แล้วก็เอาทำโค้ง ๆ หน่อย เอาเชือกผูกเบ็ดผูกเหยื่อเอาไว้ ปลาก็กิน ถ้าเบ็ดราว คือ ขึงเชือกยาว ๆ เลย ผูกห่าง ๆ ตอนเย็นพี่เขาไปวางเบ็ดไว้ เช้าก็ไปเก็บปลา ได้ปลามา ผมก็ไปกับเขาสนุกดี พี่เขาทำอะไรก็ทำกับเขา เพราะฉะนั้น ชีวิตผมผ่านมาทุกอย่าง ซุกซน ขึ้นต้นไม้ ปีนต้นไม้ ลงน้ำ พี่เขาพาไปพายเรือ แล้วผมก็นั่งหัวเรือ ว่ายน้ำไม่เป็นนะ ก็ไปกับเขา จนมีอยู่วันหนึ่งทำท่าไหนไม่รู้ ผมตกลงในน้ำ แล้วผมก็ว่ายน้ำเป็นเองวันนั้นแหละ (หัวเราะ) แบบนี้ เป็นต้น

        ตอนที่ผมต้องไปเรียนที่ร้อยเอ็ด การเดินทางจากอำเภอกมลาไสย ไปยังจังหวัดร้อยเอ็ด ประมาณ 30 กิโลเมตร พี่คนนี้ที่โตกว่าผม และคุณพ่อผมส่งให้เรียนหนังสือ ชื่อ คุณสมศักดิ์ จะเป็นคนจูงม้า พาผมไปส่งที่จังหวัดร้อยเอ็ด ส่วนผมอยู่บนม้า เมื่อก่อนถนนหนทางก็ไม่ได้ดีแบบสมัยนี้ ตรงไหนมีน้ำท่วมเราก็ต้องเดินอ้อม พอโรงเรียนจะปิดเทอม คุณสมศักดิ์จะขี่ม้ามารับผม และจูงม้าผมกับผมกลับบ้าน เป็นอยู่แบบนี้ และตอนนี้ที่ผมไปอาศัยอยู่ที่บ้านน้าที่จังหวัดร้อยเอ็ด ผมช่วยทุกอย่าง ตั้งแต่หุงข้าว ทำกับข้าว ทุกอย่างผมทำเป็นหมด เพราะตอนที่อยู่บ้านก่อนที่จะมาเรียนที่ร้อยเอ็ด ผมอยู่บ้าน ผมมักจะไปอยู่กับคุณแม่ในครัว ผมติดแม่ครับ เพราะเข้าไปในครัวได้ทานก่อนคนอื่น (หัวเราะ) ดังนั้นเรื่องทำกับข้าวเกือบทุกอย่าง ผมรู้หมด รู้แม้กระทั่งหม้อน้ำเดือดแล้ว จะต้องใส่อะไรก่อน หรือต้องใส่อะไรทีหลัง ผมทำได้หมด

        เมื่อจบชั้นมัธยมปีที่ 6 ผมบอกคุณพ่อคุณแม่ว่าอยากเรียนต่อในระดับชั้นที่สูงขึ้น จึงเดินทางเข้ามายังกรุงเทพฯ ซึ่งตอนนั้นน้าชายแท้ ๆ ของผมอีกคนหนึ่ง กำลังเรียนอยู่ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เราทั้ง 2 คน เข้ากรุงเทพฯ มาพร้อมกัน ช่วงแรก ๆ เรายังไม่มีที่พัก เพราะผมยังไม่ได้โรงเรียนที่จะเข้าศึกษาต่อ และยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะศึกษาต่อที่โรงเรียนแห่งไหน ผมกับน้าชายจึงมาอาศัยอยู่ที่วัดประมาณเดือนครึ่ง วัดแห่งนั้นคือ “วัดพิชัยญาติ” (วัดพิชัยญาติการาม หรือ วัดพิชัยญาติ เขตคลองสาน) เหตุที่ได้มาอยู่ที่วัดแห่งนี้ เพราะคุณลุงของผมมีเพื่อนมาบวชอยู่ที่วัดแห่งนี้ พระท่านนั้นชื่อ พระสมุคำ ผมและน้าชายอาศัยอยู่ที่กุฏิข้าง ๆ กับที่ท่านจำวัดอยู่ ในตอนนั้นวัดแห่งนี้มีเด็ก ๆ อยู่หลายคน มีทั้งน้าชาย ผม และมีอีก 2 คน ซึ่งสองคนนี้เป็นพี่น้องกัน เป็นชาวอุบลราชธานี คนพี่ชื่อ คุณทวีป นพรัตน์ หรือ รศ.นพ.ทวีป นพรัตน์ เมื่อเรียนจบ คุณทวีปไปเป็นอาจารย์อยู่ที่ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วนน้องชาย ชื่อ คุณทวี นพรัตน์ ท่านเรียนจบคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเรียนจบท่านไปเป็นวิศวกรโยธา และทำงานอยู่ที่กรมทางหลวงแผ่นดิน และสุดท้ายถ้าผมจำไม่ผิดท่านจะเป็นรองอธิบดีกรมทางหลวงแผ่นดิน หรือ อะไรสักอย่าง ตอนนั้นพวกเราก็อาศัยอยู่ที่วัดพิชัยญาติด้วยกัน 4 คน

        การเลือกโรงเรียนที่จะเข้าศึกษาต่อในตอนนั้น ผมมีความคิดอยู่ว่าจะเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เพราะวัดพิชัยญาติอยู่ใกล้โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย สามารถเดินข้ามฟากมาเท่านั้น เพราะในเวลานั้นหากจะข้ามฟากจากฝั่งธนบุรีไปยังฝั่งกรุงเทพฯ เราต้องเดินรถไม่สามารถข้ามสะพานพุทธได้ (สะพานพระพุทธยอดฟ้า หรือชื่อทางการ สะพานปฐมบรมราชานุสรณ์) เนื่องจากสะพานพุทธถูกระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เสียหาย ทำให้รถผ่านไม่ได้ ดังนั้น โรงเรียนที่ใกล้ที่พักมากที่สุดในตอนนั้น คือ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย แต่ในเวลานั้น โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยรับนักเรียนเพียง 60 คน และผมเด็กบ้านนอก ความรู้ก็ไม่ทราบว่ามีอยู่เท่าไร จะไปสู้คนอื่น ๆ ไหวหรือไม่ ตอนนั้นก็ไม่ค่อยกล้า จึงมองโรงเรียนที่ไกลออกไปอีกหน่อย นั้นก็คือ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (พญาไท) ซึ่งเปิดรับทั้งหมด 1,008 คน ผมจึงไปสมัครสอบ เพื่อเข้าเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้

        เมื่อผมทราบว่าสามารถเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (พญาไท) ได้แล้ว ผมจึงย้ายที่พักจากวัดพิชัยญาติ มาอยู่หอที่อยู่หน้าวัดหัวลำโพง เพราะสามารถเดินจากวัดหัวลำโพงเข้าโรงเรียนได้สะดวกมากขึ้น ตอนนั้นคุณพ่อส่งเงินให้ผมเดือนละ 120 บาท ค่าหอพักเท่าไรผมจำไม่ได้แล้ว แต่ค่าอาหารผมวันละ 10 บาท แต่หอพักมีอาหารเช้าและอาหารเย็นให้ ส่วนอาหารกลางวันผมดูแลตัวเอง ผมเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (พญาไท) ระหว่าง พ.ศ. 2492 – 2493 ตอนแรกที่ผมเข้ามาเรียนผมอยู่ในห้องควีน ผมได้พบเพื่อนนักเรียนที่มาจากร้อยเอ็ดด้วยกัน ซึ่งเพื่อนคนนั้นไปอยู่ห้องคิง ซึ่งทุกวันนี้เพื่อนคนนั้นยังมีชีวิตอยู่ (พ.ศ. 2562) เป็นผู้ร่วมก่อตั้งมหาวิทยาลัยบางมด หรือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เรายังคบค้าสมาคมกันอยู่จนถึงปัจจุบัน สมัยผมอยู่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (พญาไท) เพื่อนร่วมรุ่น ที่อยู่ห้องคิงก็อย่างเช่น คุณหมอกัมปนาท พลางกูร (ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์กัมปนาท พลางกูร) ตอนนี้ท่านเสียชีวิตไปแล้ว แต่ก่อนในช่วงเรียน ม.8 ถ้าใครสอบแล้วทำคะแนนเป็น 1 ใน 50 จะมีสิทธิ์ไปสอบทุน ก.พ. เพื่อไปศึกษาต่อต่างประเทศ คุณกัมปนาท ก็มีสิทธิ์ที่จะสามารถสอบทุน ก.พ. ได้ แต่คุณกัมปนาทไม่ได้ไปสอบ เพราะตั้งใจจะเรียนแพทย์ แต่เพื่อนที่มาจากร้อยเอ็ดด้วยกันก็ไปสอบ และได้ไปศึกษาต่อทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ ที่สหรัฐอเมริกา ตอนนั้นคนที่ทำคะแนนได้ที่ 1 คือ คุณผาสุข กุลละวณิชย์ (ผศ.ดร.ผาสุข กุลละวณิชย์) ซึ่งไปศึกษาต่อทางด้านวิศวเคมีที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยหลายแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ตอนที่ผมจบ ม.8 ผมไม่ติด 1 ใน 50 คน จึงไม่สามารถสอบทุน ก.พ. ได้ จึงต้องเรียนต่อในประเทศ ตอนนั้นผมสอบได้ประมาณที่ 52 หรือ 53 เพราะตัดคะแนนสุดท้าย 70 เศษ ๆ ประมาณ 71 หรือ 72 ผมสอบได้ ร้อยละ 70.5 จึงไม่ติด 1 ใน 50 คน และทุน ก.พ. สมัยนั้น ส่วนใหญ่จะไปศึกษาต่อทางด้านฟิสิกส์ เคมี คณิตศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งไม่มีทางสายแพทย์

        เมื่อเรียนจบชั้นมัธยมปีที่ 8 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (พญาไท) อยู่ข้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผมเห็นว่านิสิตจุฬาฯ แต่งตัวดี จึงอยากเรียนต่อที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ในใจตอนนั้นคือ มันโก้ดี ยิ่งได้เห็นน้าชายผมเรียนอยู่ที่จุฬาฯ ยิ่งอยากจะไปเรียนแบบน้าชาย แต่ตัวผมอยากจะเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์ ไม่ได้อยากเรียนทางด้านอักษรศาสตร์แบบน้าชาย ผมจึงไปบอกคุณพ่อ แต่ด้วยความที่ครอบครัวเรามีลูกหลายคน ไม่ค่อยมีสตางค์คุณพ่อเป็นเพียงครูประชาบาล เงินเดือน เดือนหนึ่งไม่ได้มากมายนัก ครูประชาบาลสมัยเริ่มทำงานเงินเดือน เดือนละ 20 บาท ถ้าเป็นช่วงสมัยที่ผมจะเข้าเรียนที่จุฬาฯ เงินเดือนของคุณพ่อก็คงไม่ได้มากมายเท่าไร ครอบครัวเราเป็นแบบพอมี พอจ่ายเท่านั้น ผมจึงไปบอกคุณแม่ เรื่องที่จะเรียนต่อที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

        ผมขอเล่าถึงคุณแม่สักเล็กน้อย คุณแม่ผมท่านเป็นคนเก่งในเรื่องการหาเงินเข้าบ้าน พอดีว่าคุณแม่ทำบาร์เตอร์ (Barter) คือ แลกของ ยกตัวอย่าง เหมือนเราเอาข้าวไปแลกเครื่องบิน คุณแม่ผมทำแบบนี้มาก่อน เพื่อหาเงินเลี้ยงครอบครัว คุณแม่ผมรับซื้อข้าวจากชาวนาตอนหน้านา โดยที่ไม่ได้ให้เงินชาวบ้าน แต่ถ้าชาวบ้านอยากได้กะปิ น้ำปลา หอม กระเทียม แม่ผมมีให้ ชาวบ้านต้องเอาข้าวมาแลก ผมจำได้ว่าข้างหลังบ้านมียุ้งอยู่ 3 ยุ้งใหญ่ ๆ เก็บข้าวได้เยอะมาก พอถึงหน้าน้ำ อำเภอกมลาไสย มีแม่น้ำสายเล็ก ๆ ผ่าน ชื่อแม่น้ำปาว พอหน้าแล้งแม่น้ำสายนี้จะแห้ง แต่พอมีน้ำไหล เราสามารถเดินข้ามได้ แต่เรือมาไม่ได้ พอหน้าฝน น้ำเต็มฝั่งเรือก็มา คุณแม่ผมจะขายข้าว ได้เงินเป็นจำนวนหนึ่ง คุณแม่ก็จะเก็บไว้ พวกผมถึงได้เรียนหนังสือ และคุณแม่ผมทำเป็นทุกอย่างในเรื่องของการถนอมอาหาร เช่น ผักดอง กระเทียมดอง หัวไชโป้ ที่เอาหัวผักกาดขาวไปหมัก ไปตากให้แห้งแล้วก็หมักกับเกลือ คุณแม่ผมก็ทำ หัวไชโป๊ะ หัวไชเท้า ตั้งฉ่ายก็ทำ ทุกอย่างแม่ผมทำเองหมด พอชาวบ้านอยากได้ก็จะนำข้าวมาแลก คุณแม่ก็ให้ไปตามราคาที่มันจะแลกกันได้ หน้าปลา คุณแม่ก็จะซื้อปลาไว้ แล้วก็นำไปทำน้ำปลา ทำปลาร้า ทำทุกอย่าง แม่ผมเก่งและฉลาด ความจำท่านดี จำได้หมด สมมุติข้าวในยุ้ง 3 ยุ้ง ยุ้งนี้กี่ถัง ยุ้งนี้กี่เกวียน ท่านจำได้หมด เพราะฉะนั้นไม่ต้องจดท่านจำเองหมด นอกจากนี้ท่านยังถักผ้าปูโต๊ะ ถักโครเชต์ เวลาเลี้ยงลูก และลูกหลับก็จะนั่งถักโครเชต์ อาทิตย์หนึ่งได้ผ้าปูโต๊ะ 1 ผืน หรือ ผ้าปูเตียงก็ถักเสร็จ บางครั้งถักเสร็จแล้วก็นำไปขาย เมื่อถึงหน้าหนาว ที่บ้านอื่นไม่มีเสื้อใส่กันหนาว แต่บ้านเรามีกันทุกคน คุณแม่ถักนิตติ้งเป็นเสื้อกันหนาวให้พวกเรา พี่น้องผมมีเสื้อใส่ทุกคน หรือแม้กระทั่งสมัยก่อนหลังจากสงครามขาดแคลนกางเกง กางเกงที่มีก็ขาด คุณแม่ก็ปะกางเกงให้ใส่ ตัดเสื้อให้ใส่ เพราะฉะนั้นค่าใช้จ่ายในบ้านจึงมีน้อย คุณแม่จึงมีเงินพอที่จะส่งให้ลูก ๆ ได้เรียนหนังสือ

        เมื่อผมบอกคุณพ่อคุณแม่เรื่องเรียนต่อที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณแม่บอกว่า “...ทำไมไม่เรียนครู เรียนเวลาสั้น ๆ ใช้เวลาสั้น ๆ ใช้เงินน้อย จบแล้วทำงานได้ทันที...” ผมก็บอกว่า “...มันยังไงไม่รู้ มันไม่อยากเรียน...” แม่บอกว่า “...ไปเรียนธรรมศาสตร์ก็ได้ เรียนธรรมศาสตร์ใช้เงินน้อยหน่อย...” เพราะว่า ตอนเรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สามารถทำงานได้ แต่ก่อนไม่ต้องสอบเข้า ผมตอนนั้นก็อายุตอนเข้าเรียนเตรียมอายุก็พึ่ง 10 กว่าปีเท่านั้น จะไปทำงานก็คงทำงานไม่ได้ เพราะยังเด็กอยู่ ตอนนั้นผมจึงบอกคุณแม่ไปว่า “...เรียนจุฬาฯ มีวิชาให้เลือกเรียนเยอะ...” คุณแม่เลยตัดใจ ตอนนั้นก็ย้ายหอพักจากหน้าวัดหัวลำโพง ไปอยู่แถวสี่แยกปทุมวัน ที่ย้ายไปที่นั้น เพราะใกล้จุฬาฯ มากขึ้นไปอีก เจ้าของหอพักเป็นผู้หญิงสวย เป็นภรรยาของพันตำรวจเอกท่านหนึ่ง เป็นหนึ่งใน “อัศวินแหวนเพชร” ด้วย ภรรยาท่านเป็นผู้ดูแลหอพัก ผมกับน้าชายจึงย้ายมาอยู่ด้วยกันที่นี่ แต่เมื่อน้าชายผมเรียนจบ เผอิญได้ไปรู้จักคนกาฬสินธุ์ ซึ่งเข้ามาทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ ได้ระยะหนึ่ง ทำงานเป็นสมุห์บัญชีอยู่บริษัทขายไม้ อยู่แถวหลังวัดสระเกศ (วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร) ผู้ชายคนนี้แต่งงานกับผู้หญิงคนที่เป็นเจ้าของร้านอาหาร ชื่อ ร้านพะเนียง อยู่ตรงกรมสรรพากร และเขามีบ้านอยู่ จึงชวนผมกับน้าชายไปพักที่บ้านของเขา ตอนนั้นคิดค่าเช่าเท่าไรจำไม่ได้ ที่พักนี้อยู่ที่สุโขทัยซอย 5 ตอนนี้ก็ต้องเดินทางไกลหน่อย แต่ก็มีเวลา เพราะว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บางทีเรียนเช้า บางทีเรียนบ่าย ถ้าเรียนเช้าก็ตื่นเช้าหน่อย ถ้าเรียนบ่ายเราไปสายก็ได้ ที่พักอาศัย การเป็นอยู่ตอนนั้นก็สบายดี เพราะส่วนที่เราพัก เป็นบ้านเช่าที่ปลูกไว้ให้พวกลูก ๆ อยู่ เขามีลูกหลายคน และทีนี้บางคนก็ไปทำงานต่างจังหวัด ห้องจึงว่างอยู่ ทำให้ได้อยู่ที่นั่น ผมอาศัยอยู่ที่นั่นจนเรียนจบเตรียมแพทย์

        ก่อนที่จะไปสมัครเข้าเตรียมแพทย์ กำลังจะไปยื่นใบสมัคร มีเพื่อนผมคนหนึ่ง เห็นผมสมัครเตรียมสัตวแพทย์ กับ วิศวกรรมศาสตร์ เพื่อนคนนั้นมายืนดูผมแล้วถามว่า (ซึ่งเพื่อนคนนี้สมัครเตรียมแพทย์) “...ทำไมไม่สมัครเตรียมแพทย์บ้าง...” ผมบอกว่า “...กลัวไม่ติด กลัวสอบไม่ติด...” เพื่อนคนนี้ก็หัวเราะผม พอผมเห็นแบบนั้น ผมเลยขีดออก แล้วไปสมัครเตรียมแพทย์ สรุปว่า ผมเข้าเตรียมแพทย์ได้ในปีนั้น แต่เพื่อนผมคนนั้นสอบไม่ได้ ซึ่งในปีต่อมาเขาก็มาสมัครเตรียมแพทย์ใหม่ และสามารถเข้าเตรียมแพทย์ได้ เรียนจบหลังผม จบมาก็ไปทำงานโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ตอนนี้ก็ร่ำรวยไปแล้วเพื่อนคนนี้

        ส่วนเพื่อนจากโรงเรียนประชาบาล จากโรงเรียนร้อยเอ็ด ก็ไม่ทราบว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง เพราะไม่ได้ติดต่อกันเลย บางคนก็ยังอยู่ที่ร้อยเอ็ด บางคนก็เป็นตำรวจ แต่มีเพื่อนคนหนึ่ง เป็นลูกนายตำรวจที่จังหวัดร้อยเอ็ด เรียนจบวิศวกรรมศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เราก็ยังเจอกันบ้าง นอกนั้นก็ไม่ได้เจอใคร ผมไม่ได้กลับไปร้อยเอ็ดอีก เพราะว่าเวลาไป เวลามาต้องเดินทาง ต้องกวนเรื่องเงินจากคุณพ่อคุณแม่ ผมยังมีพี่น้องอีกหลายคนจะไปใช้เงินคนเดียวไม่ได้ จึงแทบไม่ได้ติดต่อเพื่อน ๆ ที่ร้อยเอ็ดเลย

        นอกจากนี้ผมยังมีเพื่อนที่เรียนด้วยกันมา และเพื่อนไปเรียนทางด้านรัฐศาสตร์เป็นคนดัง ๆ อยู่เยอะ เพื่อนคนหนึ่งที่เคยอยู่หอด้วยกัน ที่หน้าวัดหัวลำโพง ชื่อ คุณธวัช (ดร.ธวัช มกรพงศ์) ตอนหลังก็เป็นคนดังมาก คุณธวัช มกรพงศ์ เคยเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา แล้วก็ต่อสู้กับพวกนายทุน โดยปกป้องพวกที่ไปร่อนแร่ตามชายทะเล คือ เวลาคนเรือขนแร่ลงเรือ มักจะมีแร่ร่วง มีแร่หล่นให้ชาวบ้านไปร่อนแร่ แล้วนำแร่ที่ร่อนได้ไปขาย แต่พอนายทุนรู้ ก็ไม่ยอมให้ชาวบ้านไปร่อน คุณธวัชไปแก้ปัญหาตรงนี้กับพวกนายทุนให้ชาวบ้านเกือบเสียชีวิต ตอนที่ผมเรียนจบแล้ว ผมไปทำคลินิกอยู่ที่บ้าน บ้านหลังที่อยู่ทุกวันนี้ คุณธวัชก็มาอยู่หมู่บ้านนี้ด้วย ผมจึงได้ดูแลครอบครัวของเขา ดูแลลูกชายเขา ลูกชายเขาทุกวันนี้ เป็นศัลยแพทย์ทรวงอก อยู่ที่โรงพยาบาลราชวิถี

        อีกคนหนึ่ง คือ ดร.อมร รักษาสัตย์ (ศาสตราจารย์ ดร. อมร รักษาสัตย์) เพื่อนคนนี้เข้ารัฐศาสตร์พร้อมกับที่ผมเข้าเรียนเตรียมแพทย์ พอเรียนจบรัฐศาสตร์ จึงเรียนต่อจนจบปริญญาเอก เป็น ดร. และเป็นอาจารย์อยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และต่อมาย้ายไปเป็นอาจารย์ที่คณะรัฐประศาสนศาสตร์ แล้วก็กลายเป็นนิด้า (สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)) ทุกวันนี้คุณอมร เป็นอธิการบดีของนิด้า ตอนหลังเป็นผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญ เสียงข้างน้อย นอกจากนี้เพื่อนผมอีก 2 คน ได้เข้าไปอยู่ที่นิด้า และเป็นอธิการบดีทั้ง 2 คน เป็นเพื่อนที่เข้าจุฬาฯ รุ่นเดียวกัน


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ชั้น 3 หอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170
โทร 0-2800-2680-9 ต่อ 4346