ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ (การทำงาน ณ โรงพยาบาลรามาธิบดี)

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์

สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2561 ณ ห้องประชุม VIP ชั้น 5 สำนักงานอธิการดี

การทำงาน ณ โรงพยาบาลรามาธิบดี

        เมื่อผมเรียนจบจากต่างประเทศและกลับมาเมืองไทย ผมก็กลับเข้ามาเริ่มทำงานทางด้านโภชนาการ ณ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งการกลับเข้ามาทำงานในช่วงเวลานั้นเป็นสิ่งที่ผมภูมิใจมาก ๆ เพราะช่วงนั้น การดูแลผู้ป่วยทางด้านโภชนาการ มีอาจารย์ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่เพียงไม่กี่คน และแต่ละท่านก็มีบทบาทหน้าที่อื่น ๆ ที่ต้องรับผิดชอบ นอกเหนือจากการดูแลผู้ป่วย อย่างเช่น อาจารย์อารี (ศ.เกียรติคุณ นพ.อารี วัลยะเสวี) ท่านก็เป็นคณบดีด้วย ต้องมีหน้าที่ด้านการบริหารเพิ่มขึ้นมา ท่านจึงไม่ค่อยมีเวลามาดูแลผู้ป่วยมากนัก ส่วนของ ศ.เกียรติคุณ แพทย์หญิงสาคร ธนมิตต์ ท่านก็สามารถมาช่วยดูแลผู้ป่วยได้เป็นครั้งคราว เพราะท่านก็ติดการทำงานด้านการวิจัย ซึ่งในตอนนั้นในการปฏิบัติหน้าที่จริง ๆ ก็มี ศ.เกียรติคุณ แพทย์หญิงวันดี วราวิทย์ ดูแลอยู่ แต่เมื่อผมกลับมา ผมก็รับหน้าที่นี้แทน

        ความรู้พื้นฐานทางด้านโภชนาการที่ผมได้มาจากมหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลท์ จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ผมนำมาประยุกต์ใช้ทั้งหมดนะครับ ทั้งเรื่องโภชนาการ เรื่องเชื่อมต่อระหว่างอาหารและสุขภาพว่าด้วยความต้องการสารอาหาร หากได้รับอาหารที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัย ก็จะได้รับพลังงาน โปรตีน และวิตามิน เกลือแร่ พอเพียงกับที่ร่างกายต้องการ ซึ่งหลักการเหล่านี้นำมาใช้ตั้งแต่การดูแลโภชนาการทารกในครรภ์มารดา ทารกในช่วงปีแรก เด็กเล็ก ก็คือถึง 3 ปี เด็กก่อนวัยเรียน วัยเรียน จนกระทั่งถึงผู้ใหญ่ และคนชรา ทีนี้ความรู้ด้านนี้ ถ้าเราแน่นพอ เราสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับเด็กปกติและเด็กป่วย จึงได้มีการศึกษา วิจัยไปด้วย ช่วงนั้นก็เริ่มโครงการโภชนศาสตร์ ระหว่างโรงพยาบาลรามาธิบดีกับสถาบันโภชนาการ ก็มีนักศึกษาปริญญาโท และ เอก ทำวิจัยเกี่ยวกับอาหารสำหรับผู้หญิงตั้งครรภ์ อาหารสำหรับทารกและเด็ก อาหารข้าว ถั่ว งา เพื่อแก้ปัญหาเด็กที่ขาดอาหารทุพโภชนาการ การรักษาผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ผมใช้ความรู้ทั้งหมดที่มี จนกระทั่งตอนนั้นผมถือได้ว่าเป็นอาจารย์ที่บุกเบิกทางด้านคลินิก และต่อมาก็มีการจัดตั้งศูนย์วิจัยทางด้านคลินิก ซึ่งก็สามารถทำให้เราสามารถศึกษาวิจัย เรื่องนี้ได้อย่างลึกซึ้ง ที่ดีใจก็คือ ลูกศิษย์ที่มาเรียนโภชนาการกับผม ในบางช่วงมาจากเกือบทุกมหาวิทยาลัย จากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิทยาลัยพระมงกุฎเกล้า มหาวิทยาลัยขอนแก่น และที่ผมดีใจในขณะนี้ คือ คนที่จะเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น (พ.ศ. 2561 รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล) มาเลือกเรียนกับผม 6 อาทิตย์ บางช่วงผมจะมี Resident มาอยู่ด้วย 10 กว่าคน ผมก็จะพาดูแลผู้ป่วยด้วย ขณะเดียวกันก็มีการสอนในชั้นเรียนด้วย มีความรู้พื้นฐานในการดูแลผู้ป่วย แต่ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ละเลยปัญหาโภชนาการในมุมกว้าง นั้นก็คือ ปัญหาโภชนาการของประเทศ ปัญหาโภชนาการของภูมิภาค แล้วตอนหลังก็ ปัญหาโภชนาการของโลก ซึ่งแนวทางในการแก้ไขมีหลักการคล้าย ๆ กัน โดยขึ้นอยู่กับบริบท หรือ ภาวะทางเศรษฐกิจสังคม ทีนี้จากการที่ทำงานวิจัยด้วย สอนด้วย และขณะเดียวกันก็มีส่วนช่วยวางแผนด้วย ก็เลยทำให้สามารถขยายงานได้กว้างขวางขึ้น

        ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นภาควิชาที่มีความสามัคคีกันมากที่สุด ตอนที่ทำงานมีคณาจารย์อยู่แค่ 16 ราย หรือ ไม่ถึง 20 ราย เราทำงานกันหนักมาก ดูแลทั้งผู้ป่วยใน ผู้ป่วยนอก สอนทั้งนักศึกษาแพทย์ ทั้งอินเทิร์น ทั้ง Resident Resident ที่มาเลือกเรียนโภชนาการ และขณะเดียวกันที่ดีมาก ๆ นอกจากสามัคคีแล้ว คือ การรวมพลังกันทำตำรา ตำรากุมารเวชศาสตร์ เล่ม 1 เล่ม 2 เล่ม 3 เล่ม 4 ผมก็เลยเหมือนถูกบังคับให้เขียนตำราโภชนาการ ออกมาเป็นบท ด้วยเหตุที่ทำงานแบบนี้ ภายในเวลา 2 ปี 3 ปี ตอนนั้นกติกายังไม่ชัด ผมพัฒนาจากการเป็นอาจารย์ มาสู่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ และ จากผู้ช่วยศาสตราจารย์ มาเป็น รองศาสตราจารย์ เขาบอกให้เวลา 3 ปี ผมก็ 3 ปีได้ แล้วจากรองศาสตราจารย์ มาเป็น ศาสตราจารย์ กำหนดไว้ให้เวลา 2 ปี ผมก็ใช้เวลา 2 ปี เพราะฉะนั้น รวมความแล้วทั้งหมด ผมก้าวสู่ตำแหน่ง ศาสตราจารย์ ในเวลาเพียง 9 ปี จริง ๆ ก็ไม่ใช่ผลงานตัวเอง แต่เป็นผลงานของภาควิชาที่รวมพลังกันทำตำรา บวกกับเราเองก็มีผลงานวิจัย ผมจึงได้ตำแหน่ง ศาสตราจารย์ ตั้งแต่อายุ 39 ปี ซึ่งตอนนั้นสำหรับแพทย์ก็ถือว่าไวนะครับ แต่แน่นอนตอนหลัง ๆ สายวิทยาศาสตร์ หรือ แพทย์ที่ทำงานอยู่ที่คณะวิทยาศาสตร์ด้วย ก็จะได้รับตำแหน่งดังกล่าวไวขึ้นไปอีก ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดีนะครับ โดยสรุป ก็คือ...

        “...ถ้าเราทำงานหนัก และเราทำงานอย่างต่อเนื่อง ทำงานมีคุณภาพ ทั้งเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม ผลงานวิชาการที่มีมา มันจะมากและสะสมเอง แล้วตำแหน่งก็กลับมาหาเราเอง โดยที่เราไม่ต้องไปมุ่งจะทำงานเพื่อตำแหน่งแต่เพียงอย่างเดียว ถ้าเราคิดว่าเราทำงานเพื่อตำแหน่ง เราจะใช้เวลาทุ่มเทกับตำแหน่ง แล้วจะปฏิเสธงานส่วนรวม ซึ่งที่ผมทำไม่ปฏิเสธงานส่วนรวม แล้วขณะเดียวกันงานที่ทำกับข้างนอกก็สามารถไปเชื่อมโยงไปสู่ตำแหน่งได้...”


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ชั้น 3 หอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170
โทร 0-2800-2680-9 ต่อ 4346