ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ (บทส่งท้าย)

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์

สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2561 ณ ห้องประชุม VIP ชั้น 5 สำนักงานอธิการดี

บทส่งท้าย

        หลายคนฟังแบบนี้แล้ว คงจะเกร็งว่าผมทำงานตลอดเวลาไม่มีเวลาพักผ่อน คือ ผมกำลังจะพูดว่า เวลาทำงานอะไรก็แล้วแต่ทำงานให้ดีทุกขณะจิต ให้มีคุณภาพ ให้เป็นประโยชน์ ในมิติต่าง ๆ แต่ขณะเดียวกัน เราก็ต้องพักผ่อนตัวเราเองด้วย เพื่อดูแลสุขภาพ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่จริง ๆ การที่ดูแลก็ต้องดูแลทั้งกายซะก่อน เรื่องกายที่ง่ายที่สุด ก็คือ อย่าให้น้ำหนักเกิน ซึ่งผมก็เกินนิดหนึ่ง แล้วก็ในที่สุดมันต้องเกิดความสมดุลระหว่างการกิน ก็แน่นอนก็เรื่องคุณภาพอาหาร ขณะนี้ก็แน่นอนลดหวาน มัน เค็ม แล้วก็ต้องบริโภคพืชผัก ผลไม้ให้มาก ให้ได้วันหนึ่งสักครึ่งกิโล เรื่องนี้คงต้องใจแข็งให้มาก แล้วอย่าให้น้ำหนักเกิน ซึ่งที่พูดนี่ผมอยากทำทั้งประเทศ หลังจากที่ได้มีโอกาสร่วมทำงานให้เด็กน้ำหนักหรือตัวเตี้ยต่ำกว่าเกณฑ์ดีขึ้นจากโครงการโภชนาการ แล้วก็ดีขึ้นจากโครงการนม ผมไม่ได้พูดด้วยนมที่เด็กได้ดื่ม ขณะนี้ก็เป็นผลพวงจากการวางแผนที่ผมเป็นประธานในช่วงนั้น พ.ศ. 2535 ขณะนี้อยากทำเรื่องเด็กและคนไทยน้ำหนักไม่เกินและไม่อ้วนให้เป็นปกติ สรุปว่าต้องดูแลเรื่องทางกาย ถ้าดูแลได้เรื่องนี้ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และโรคหัวใจก็จะเบาบางลง รวมถึงมะเร็งบางประเภทนะครับ

        เรื่องหนึ่งที่ผมอยากพูดถึง คือ การทำกิจกรรมกาย และการออกกำลังกาย อยากจะเน้นให้ทุกคนเดินให้ได้วันละ 10,000 ก้าว ตัวอย่างที่ขณะนี้ชัดเจนคือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ท่านจะเสด็จพระราชดำเนิน เดินวันหนึ่งอย่างน้อย 10,000 ก้าว หรือ 12,000 ก้าว เห็นไหมครับท่านสุขภาวะแข็งแรงมากตอนนี้ แล้วท่านมีความมุ่งมั่นแล้วทำได้ด้วย ที่ผมกล้าเอ่ยก็เพื่อที่จะให้พวกเราทุกคนมีกำลังใจ แล้วถ้ามีโอกาสออกกำลังกายอย่างอื่นด้วยก็ทำ จริง ๆ การออกกำลังกายหรือกิจกรรมกาย พื้นฐานที่สุดก็คือ เพื่อให้กำลังใจ ว่า ขยับตัวหน่อย มีกิจกรรมหน่อยหนึ่ง หรือถ้าใช้คำแรง ๆ ก็คือ “อย่าขี้เกียจ” เพราะถ้าเผื่อขี้เกียจจะทำให้ความคล่องตัวในการขยับตัวมันจะลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอายุสูงขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว

        นอกจากนี้ การทำจิตใจให้ผ่อนคลาย จริง ๆ จิตใจที่ดีงามก็คือจิตใจที่มีความเมตตากรุณา จิตใจมองบวก จิตใจที่จะช่วยเกื้อหนุนคนอื่น ถ้าเราคิดได้แบบนี้ก็จะทำให้เรามีจิตที่ดีงาม แล้วที่สำคัญก็คือ ถ้าเราฝึกสติ แล้วก็ให้เรามีจิตซึ่งมีความมั่นคง ถ้าเผื่อใครสามารถฝึกสมาธิได้ คือ mindfulness meditation จะยาวนานแค่ไหนก็ดีทั้งนั้นแหละ เพื่อที่จะให้ตัวเองมีสุขภาพจิตที่ดี

        สุดท้ายที่อยากพูด ก็คือ ควรหาโอกาสผ่อนคลายจากกิจกรรรมต่าง ๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ สำหรับผม นอกจากจะทำงานหนักก็ยังได้มีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศ มีบางช่วงบางปีไปเกือบ 20 กว่าประเทศ ภายในเวลา 1 ปี และขณะเดียวกันงานก็ยังหนักอยู่ ก็ต้องใช้เวลาในการปรับตัวค่อนข้างมาก แต่ขณะเดียวกันเราก็ใช้หลักง่าย ๆ 3 – 4 ข้อ ว่า ไปที่ไหนก็ผ่อนคลาย เรียนรู้ ผ่อนคลาย เรียนรู้ ล่าสุดที่ไปเบอร์ลิน (Berlin) มา เดินได้ 20,000 กว่าก้าว ตอนไป โรม (Rome) ตอนเดือนกรกฎาคมที่แล้ว เดิน 30,000 ก้าว ภายในวันเดียวนะ เดินตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึง 8 โมงเย็น (08.00 – 20.00 น.) ซึ่งขณะเดียวกันก็ได้เรียนรู้ไปชมพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ชมสถานที่ต่าง ๆ ด้วย ก็ถือว่าเราได้ออกกำลังกายและได้เรียนรู้แล้วก็ได้ทั้งผ่อนคลายด้วย คือสรุปว่า ต้องดูแลตัวเอง เพื่อที่จะให้เรามีสุขภาวะที่ดี ผมคงฝากแค่นี้ครับ


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ชั้น 3 หอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170
โทร 0-2800-2680-9 ต่อ 4346