แพทย์หญิงอมรา มลิลา (ประวัติในวัยเด็ก)

แพทย์หญิงอมรา มลิลา

สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2562 ณ บ้านพัก ซอยโปร่งใจ (ซอยศรีบำเพ็ญ) สาทร

        

แพทย์หญิงอมรา มลิลา ถ่ายเมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2562

        สวัสดีค่ะ ชื่อ แพทย์หญิงอมรา มลิลา เกิดวันเสาร์ที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2478 ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ขออนุญาตเล่าถึงวันเกิดของตนเองสักเล็กน้อย สมัยก่อนวันขึ้นปีใหม่ของไทยตรงกับเดือนเมษายน เพราะฉะนั้นปีเกิดของเราแบบวันขึ้นปีใหม่ไทย คือ พ.ศ. 2478 แต่ถ้านับตามวันขึ้นปีใหม่แบบสากลจะตรงกับ พ.ศ. 2479 ซึ่งตรงกับ ค.ศ. 1936 ปัญหาอยู่ตรงนี้ เวลาเราไปทำพาสปอร์ต (Passport) เขาจะนับปีแบบวันขึ้นปีใหม่สากล คือ วันที่ 1 มกราคม ทีนี้พอเราบอกว่าเราเกิด พ.ศ. 2478 เขาก็จะเทียบเป็น ค.ศ. 1935 แต่ใน ค.ศ. 1935 ไม่มีวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ตอนนั้นจำได้ว่าทำเครื่องคอมพิวเตอร์เขาพังไปไม่รู้กี่ตัวเลยค่ะ จนตอนหลังมีคนเขาสอนว่า แทนที่จะกรอกวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ก็ให้กรอกเป็น วันที่ 00 เดือน 02 อะไรแบบนี้ ตอนนั้นเราก็รู้สึกว่าตัวเราค่อนข้างประหลาด ๆ

        คุณพ่อชื่อ นายจิตติ มลิลา คุณแม่ชื่อ นางสายสนิท มลิลา คุณพ่อคุณแม่มีลูกทั้งหมด 3 คน เราเป็นลูกสาวคนโต มีน้องชายอีก 2 คน ก่อนที่คุณแม่จะมีน้องชายคนที่ 2 คุณแม่แท้งน้องไป 2 ท้อง เพราะฉะนั้นน้องคนที่ 2 กับเราจะห่างจากกัน 6 ปี และกับน้องชายคนเล็กเราห่างจากกัน 8 ปี เพราะฉะนั้นเลยทำให้เราเหมือนเป็นพี่คนโต ที่โตมาก ๆ ในตอนนั้น ตอนเด็ก ๆ คุณแม่จะฝึกสอนให้เราเย็บเสื้อเย็บผ้า อย่างเสื้อของน้องชาย คุณแม่จะเป็นคนตัดให้ และสอนให้เราหัดเย็บด้วยจักรเย็บผ้า ตอนนั้นเรารู้สึกเหมือนเป็นแม่คนที่ 2 ของน้อง ๆ แม่จะพูดเสมอว่า “...เป็นลูกสาวคนเดียว ถ้าเผื่อแม่เจ็บป่วยต้องมานั่งเฝ้า ถ้าแม่ตายต้องเป็นคนปิดตาให้แม่...” เราจึงมีความรู้สึกว่านี่คือหน้าที่ของเรา

        บ้านหลังแรกของครอบครัวเราอยู่ที่รองเมืองซอย 2 ซึ่งปัจจุบันคือบริเวณด้านหลังของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝั่งห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน เพราะว่าคุณพ่อทำงานรถไฟ กรมรถไฟตั้งอยู่บริเวณนั้น ดังนั้น บ้านของพวกเราจึงตั้งอยู่ตรงนั้น ต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 คุณพ่ออยากให้ครอบครัวอพยพออกจากบริเวณรองเมืองซอย 2 ไปอยู่แถวทุ่งมหาเมฆ เพื่อความปลอดภัยของครอบครัว คุณพ่อคุณแม่มีที่ดินผืนหนึ่งอยู่แถวทุ่งมหาเมฆ ท่านใช้เงินรับไหว้ซื้อที่ดินผืนนี้ไว้ แต่ก่อนที่ดินบริเวณนี้มีราคาถูกมาก เพราะบริเวณนี้ยังไม่เจริญยังเป็นเหมือนชนบท ส่วนตัวคุณพ่อจะยังคงอยู่ที่บ้านรองเมืองซอย 2 เพราะยังต้องทำงาน คุณแม่จึงบอกว่า “...โอ๊ย!!! อย่างงั้นยังไม่อพยพไปหรอก...” แต่สุดท้ายคุณแม่ก็บอกว่า “...ถ้าอย่างนั้น เรามาทำบ้านอยู่ที่ทุ่งมหาเมฆในช่วงสงครามไปก่อน หากสงครามสิ้นสุดลงครอบครัวเราจะกลับไปอยู่บ้านที่รองเมืองเช่นเดิม...” หลังจากนั้นจึงสร้างบ้านไม้แค่พออยู่กันได้ในช่วงสงครามเท่านั้นที่ทุ่งมหาเมฆ แต่ปรากฏว่า สหรัฐอเมริกานำระเบิดเพลิงมาทิ้งที่สถานีหัวลำโพง เพลิงไหม้จากการทิ้งระเบิดในครั้งนั้นทำให้รองเมืองซอย 2 ถูกเพลิงไหม้หมดทั้งแถบ รวมทั้งบ้านของเราก็ถูกไฟไหม้ในครั้งนั้นด้วย จึงทำให้ครอบครัวเราอาศัยอยู่ที่ทุ่งมหาเมฆ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แต่ก่อนทางเข้ามาบ้านพวกเราจะเป็นทุ่งนา ยังมีคลอง ในคลองยังมีสายบัว เมื่อก่อนพวกเรามาเก็บสายบัวมาจิ้มน้ำพริกอยู่บ่อย ๆ และด้านหน้าที่เป็นถนนพระราม 4 ติดกับทางเลี้ยวที่จะเข้าไปซอยงามดูพลีได้ แต่ก่อนเป็นคลองมีสะพาน ชื่อ สะพานน้อย เชื่อมให้ข้ามไปมาได้ และมีรถไฟสายปากน้ำ – ศาลาแดงแล่นผ่าน ตอนนั้นพวกเรามีความรู้สึกว่าที่บ้านแห่งนี้เป็นชนบทมาก ๆ เลย คุณแม่มักจะบ่นทุกวันว่า “...เมื่อไรจะเข้าเมือง...” อยากให้คุณแม่อยู่จนถึงเดี๋ยวนี้ แล้วจะถามคุณแม่ว่า “...คุณแม่ยังจะเข้าเมืองอีกไหม...” เพราะตอนนี้บ้านเรายิ่งกว่าเยาวราชเสียอีก

        ชีวิตในวัยเด็กตอนนั้นจำความได้ว่า มีอยู่ช่วงหนึ่งน้ำท่วม เราพายเรือไม่เป็น แต่ก็อยากจะพายเรือ เราพายเรือจนกระทั่งเรือคว่ำ เราหัดว่ายน้ำกัน ตอนนั้นเป็นชีวิตที่สนุกมาก แต่ก่อนตอนเด็ก ๆ ทุก ๆ คน เข้าใจว่า ที่เราซน เพราะน้องชายทั้ง 2 คน พาเราที่เป็นพี่สาวซน แต่เรื่องจริงไม่ใช่เลย กลายเป็นว่าเรานี่ล่ะที่พาน้องชาย 2 คนซน เพราะเราแก่กว่าน้องเยอะ เราก็เป็นผู้นำน้อง ๆ ในตอนนั้นค่ะ ตอนเด็ก ๆ เราอยากจะเป็นเหมือนคุณพ่อ ด้วยความที่คุณพ่อเป็นวิศวกร น้องชาย 2 คน ก็อยากจะเป็นวิศวกรเหมือนคุณพ่อ เราจึงได้รับอิทธิพลของความอยากเป็นวิศวกรมาด้วย ตอนนั้นจำได้ว่า บอกคุณพ่อไปว่า “...จะเป็นวิศวกรเหมือนกัน...” แต่คุณพ่อแก้เกมทัน ท่านก็บอกว่า “...พวกผู้ชายเขาก็เป็นช่างที่จะดูเครื่องยนต์ วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมไฟฟ้าอะไร แต่ผู้หญิงมันไม่ดีหรอกเป็นช่างเครื่องกล เป็นช่างมนุษย์เราดีกว่า แล้วเราก็ดูเครื่องยนต์ของมนุษย์...” เพราะฉะนั้นเราก็เลยฝังใจว่า “...อ๋อเราเป็นหมอ...” เพราะเป็นวิศวกรที่ดูแลสรีรยนต์ ตั้งแต่นั้นมาเราก็มีความคิดว่า เราก็วิศวกรเหมือนพ่อเหมือนกัน แต่เราไม่ดูแลเครื่องกลหรอก เราดูคน แหละนี่จึงเป็นความฝังใจมาแต่เด็กว่าโตขึ้นต้องเป็นแพทย์

        พอถึงช่วงเวลาของการเข้าโรงเรียน ด้วยความที่คุณแม่เป็นนักเรียนโรงเรียนราชินี จึงอยากจะให้ลูกสาวเข้าเรียนที่โรงเรียนราชินี ตอนเข้าโรงเรียนราชินีวันแรก คุณแม่มีเพื่อนเป็นครูประจำชั้นประถม 2 อยู่ที่โรงเรียนราชินี และด้วยความที่เรารู้จักกับเพื่อนคุณแม่ท่านนี้ เราเป็นเด็กชั้นอนุบาล เรามีความรู้สึกว่าน่าเบื่อ ทีนี้พอเจอคุณน้าตอนทานอาหารกลางวัน เราก็บอกคุณน้าว่า “...คุณน้า ขอหนูเข้าไปนั่งด้วย หนูจะไม่กวนคุณน้าเลย คุณน้าก็สอนหนังสือไป หนูจะนั่งให้นิ่ง...” คุณน้าก็เผลอไป นักเรียนชั้นอนุบาล เลิกเรียนบ่าย 2 โมง ตัวเราไปนั่งอยู่กับคุณน้า พอถึงเวลาบ่าย 2 โมงคุณพ่อมารับ ปรากฏว่าครูอนุบาลไม่รู้ว่าเราหายไปไหน หากันใหญ่เลย คุณพ่อโกรธมาก เพราะคิดว่าถ้าลูกสาวตกน้ำไป ป่านนี้ตายแน่แล้ว กว่าจะรู้ว่าเราเข้าไปนั่งอยู่ห้องเรียนชั้นประถม 2 ใช้เวลานานพอสมควร ตอนนั้นคุณพ่อโกรธมาก ท่านก็เลยไม่ให้เราเรียนที่โรงเรียนราชินีต่อ จึงพาเรามาเข้าเรียนที่โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย คงเป็นชะตาชีวิตของเราจะได้เป็นนักเรียนโรงเรียนมาแตร์ (เดอีวิทยาลัย) ด้วย ดังนั้นจึงเรียนที่โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย ตั้งแต่อนุบาลจนกระทั่งจบมัธยม 6 (พ.ศ. 2481 – 2494) สมัยก่อนที่โรงเรียนเรามี ม.7 ม.8 ด้วย แต่ไม่มีเตรียมวิทยาศาสตร์ และมาแมร์ถือว่ากุลสตรีต้องเรียนแต่อักษรศาสตร์ แล้วรุ่นก่อน ๆ ที่ 1 ม.8 จะเป็นของโรงเรียนมาแตร์ (เดอีวิทยาลัย) ทุกที่เลยค่ะ นี่คือความภาคภูมิใจของโรงเรียนเรา พอมาถึงรุ่นเรา พวกเราเกิดอยากเป็นแพทย์กัน รู้สึกว่าจะ 10 กว่าคนได้ พวกเราทั้งหมดลาออกจากโรงเรียนกันประมาณ 16-17 คน มาแมร์โกรธมาก มาแมร์ก็บอกว่า “...ถึงเราจะสอบได้ ถ้าเผื่อเราเรียนที่นี่เราก็จะอยู่ ม.7 ที่โรงเรียนได้ แต่ถ้าเผื่อเราสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดม (พญาไท) ไม่ได้ มาแมร์จะไม่รับกลับเข้าโรงเรียน...” ก็มีเพื่อนบางคนที่ใจไม่กล้าพอจึงตัดสินใจศึกษาต่อที่โรงเรียนมาแตร์ (เดอีวิทยาลัย) เช่นเดิม ต่อมาภายหลังทางโรงเรียนจึงได้เปิดเตรียมวิทยาศาสตร์ขึ้น เข้าศึกษาต่อ ม.7 ม.8 ที่โรงเรียนเตรียมอุดม พญาไท จบจากเตรียมอุดม พญาไท เมื่อ พ.ศ. 2496

        ขอย้อนกลับมาเล่าเรื่องชีวิตสมัยวัยเด็ก การเล่นต่าง ๆ ของพวกเราเหมือนเป็นการทำกายภาพบำบัด เช่น การเล่นหมากเก็บ มือได้เคลื่อนไหว การเล่นตั้งเตกระโดดขาเดียว หรือ กระโดดเชือก การเล่นแบบนี้ทำให้พวกเรามีสุขภาพแข็งแรง เพราะการเล่นแบบนี้ก็คล้ายกับเราได้ดูแลสุขภาพเราไปด้วย ซึ่งผิดกับเด็ก ๆ สมัยนี้ มักจะอยู่กันแต่ในห้อง ไม่ก็ติดจอไม่ว่าจะเป็นทั้งโทรศัพท์ และคอมพิวเตอร์ เพราะชีวิตมันเปลี่ยนไปค่ะ ถ้าพูดถึงเรื่องเรียนพิเศษในสมัยเรา สมัยเราไม่ต้องเรียนพิเศษ เพราะคุณครูของเราจะทำให้เราเข้าใจและมีความรู้ในวิชาที่เราอ่อน เมื่อโรงเรียนเลิก คุณครูจะนำแบบฝึกหัดในวิชาที่เราอ่อน มาให้เรานั่งทำ คุณครูจะฝึกให้เราทำจนมีความรู้เท่าที่ควรจะรู้ ซึ่งคุณครูไม่ได้คิดสตางค์พวกเรา สมัยนั้นเราทำกิจกรรมหรือว่าเล่นอะไรกันที่โรงเรียนหลังเลิกเรียน เพื่อรอผู้ปกครองมารับ แต่ก่อนที่เราจะได้ไปเล่นคุณครูจะบอกว่าพวกเราจะต้องทำการบ้านให้เสร็จก่อน เพราะฉะนั้น เราจึงรู้สึกว่าคุณครูเป็นเหมือนครูพิเศษของเราด้วย นอกเหนือจากการเป็นคุณครูประจำชั้นในเวลาเรียน ซึ่งเดี๋ยวนี้มันไม่เป็นอย่างนั้น เด็กทุกคนจะต้องเรียนพิเศษ ถ้าไม่เรียนพิเศษเหมือนจะเรียนไม่ทันเขา เราจะไม่เก่ง จึงทำให้เวลาที่จะได้เล่นหรือมีชีวิตเหมือนเด็กจริง ๆ แทบไม่มีเลย และเดี๋ยวนี้นอกจากจะเรียนพิเศษ ยังต้องเรียนดนตรี หรือ อะไร ๆ อีก เด็กบางคนเช้ามาจะไปโรงเรียนบางคนถูกควักจากที่นอนขึ้นรถ ไปกินข้าว แต่งตัวบนรถ แล้วไปโรงเรียน การใช้ชีวิตของเด็กสมัยนี้มองดูแล้วสงสารพวกเขาจริง ๆ

        บรรยากาศกรุงเทพฯ ในวัยเด็ก ถ้าพูดถึงแถวถนนเพลินจิตที่เป็นโรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย ตอนนั้นยังมีรถม้าของแขกที่เลี้ยงแพะเพื่อรีดนมแพะส่งตามบ้าน ไม่มีรถด่วนแล่นแบบทุกวันนี้ และเวลาที่คุณพ่อติดประชุม เราต้องกลับบ้านเอง โดยที่เราจะเดินกลับบ้านจากโรงเรียนมาแตร์ (เดอีวิทยาลัย) เดินลัดถนนวิทยุ สมัยนั้นถนนวิทยุมีต้นมะฮอกกานีร่มรื่น และสวยมาก แล้วตอนที่อยู่ ม.5 ม.6 ตอนนั้นนวนิยายเรื่อง “บ้านทรายทอง” ของ ก.สุรางคนางค์ ดังมาก เวลาเราเดินผ่าน บ้านพักท่านทูตอเมริกัน เราก็จะจินตนาการว่าบ้านพักของท่านทูตอเมริกัน คือ บ้านทรายทอง เราจะสมมุติว่า คุณชายอยู่ตรงนั้น ตรงนี้ ตลอดการเดินทางผ่านบ้านพักหลังนี้ ตอนนั้นสนุกมาก พอเดินทะลุวิทยุเข้ามาทางซอยสาทร 1 แต่ก่อนนั้นรั้วบ้านจะเป็นรั้วโปร่ง ๆ และก็จะเป็นบ้านเดี่ยว ๆ ไม่ได้เป็นตึกอย่างทุกวันนี้ และตรงกลางถนนมีต้นหางนกยูง ซึ่งมันพาดจากถนนข้างหนึ่งไปคร่อมเป็นซุ้ม ทำให้ถนนเส้นนี้ร่มรื่น เวลาเดินก็ไม่ร้อน และพอเวลาต้นหางนกยูงออกดอก แล้วดอกร่วงลงพื้น โห!!! สวยมาก ตกลงว่าการเดินกลับบ้านไม่เหนื่อย จากโรงเรียนมาแตร์ (เดอีวิทยาลัย) มาถึงบ้านสบายมาก เพราะเพลิดเพลินกับบรรยากาศสองข้างทาง แต่ถ้าเดี๋ยวนี้ไปเดินแบบนั้นสงสัยคงถูกรถเฉี่ยวแน่เลย

        เวลาปิดเทอมคุณพ่อจะมีวิธีการสอนบางอย่างกับพวกเรา เหมือนเป็นการปลูกฝังสิ่งนี้ให้ติดต่อจนเป็นนิสัยของพวกเรา ด้วยความที่คุณพ่อสมัยเรียนมัธยมปลายที่โรงเรียนปทุมคงคา คุณพ่อเป็นเด็กมาจากจังหวัดจันทบุรี เมื่อเข้ามาเรียนที่กรุงเทพฯ และสามารถสอบชิงทุนเล่าเรียนหลวง (ทุนรถไฟ) ไปเรียนต่อที่ต่างประเทศได้ ซึ่งสมัยก่อนการที่จะส่งนักเรียนไทยไปเรียนต่อต่างประเทศ จะมีการจัดการเรื่องครอบครัวให้กับเด็กที่ได้ทุนไปศึกษาต่ออย่างละเอียดถี่ถ้วน คุณพ่อเล่าให้ฟังว่า ทางผู้ให้ทุนจะจัดการหาครอบครัวที่มีลูกอายุรุ่นเดียวกับนักเรียนทุน และเรียนหนังสือวิชาเดียวกัน จึงส่งนักเรียนทุนไปอยู่กับครอบครัวนั้น เพราะฉะนั้นครอบครัวที่รับคุณพ่อไปอยู่ด้วย เขาจะให้พ่อเราเรียกเขาว่าพ่อแม่ แล้วก็ยังติดต่อกัน เพราะตอนที่คุณพ่อกลับมาประเทศไทยแล้ว ก็ยังติดต่อกับลูก ๆ อยู่เรื่อยมา จนกระทั่งตอนที่คุณพ่อเจ็บ ก็ไม่ได้ส่งการ์ดไปให้ พอคุณพ่อเสียชีวิตตอนอายุ 95 ปี เราก็ส่งการ์ดไปให้ อานตี้ (Auntie) แล้วก็เล่าถึงคุณพ่อเป็นยังไง อานตี้ก็ยังตอบจดหมายเรามาและบอกว่า “...ถึงคุณพ่อไม่อยู่ก็ให้เราทำแทนคุณพ่อ...” เราจึงยังส่งจดหมายไปคุยกับอานตี้ ปีละครั้ง คือ พวกเราสนิทกันเหมือนเป็นเครือญาติกันไปแล้ว และการที่คุณพ่อไปอยู่กับครอบครัวนี้ในต่างประเทศตอนช่วงที่เรียนต่อ พอปิดเทอม พวกเขาจะต้องไปทำงานส่งหนังสือพิมพ์ รับจ้าง หรือ ล้างถ้วยชามในร้านอาหาร ทำให้สิ่งเหล่านี้จึงติดตัวคุณพ่อมา เพราะฉะนั้น พอเราปิดเทอม และเราจะขออนุญาตไปเที่ยวกับเพื่อน พ่อก็จะบอกว่า  “...ได้แต่ว่าต้องทำงานให้เสร็จก่อน...” เป็นต้นว่า คุณพ่อจะต่อเก้าอี้ เมื่อต่อเสร็จก็จะให้เรานำกระดาษทรายมาขัด พอขัดเสร็จก็ทาสี แล้วเราก็จะมีความภูมิใจมากว่า นี่เก้าอี้ของเรา นี่คือ การฝึกให้เราทำงานเป็นของคุณพ่อ และเรามีความรู้สึกว่า การที่เราต้องทำงานเป็นของน่าภูมิใจ

        อย่างพอเราโตมา เราเจอคนบางคน เพื่อนบางคนเขาเข้าวัดป่า แล้วท่านอาจารย์ให้กวาดใบไม้หรืออะไร เขาบอกพ่อแม่เขาสอนว่า “...ถ้าเผื่อต้องไปจับไม้กวาดแล้วจะเป็นคล้าย ๆ กับว่าไม่ดี ลางร้าย ว่าอีกหน่อยจะต้องกลายเป็นคนกวาดถนน...” คือ คนเรายังมีความเชื่ออะไรแปลก ๆ อยู่เราก็ดีใจที่คุณพ่ออบรมให้เรามีความรู้สึกว่า “คนเราคุณค่าชีวิตอยู่ที่เราต้องทำงาน” ถ้าเผื่อสังคมของเราทำแบบนี้ ให้เด็กรู้คิดแบบนี้นับว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าอย่างเมืองนอกบางทีเกินไป ขออนุญาตเล่าสักเล็กน้อย ตอนที่เราไปทำปริญญาต่อ เพื่อน ๆ ที่เป็นนักเรียนแพทย์ คุณพ่อคุณแม่เราท่านยังส่งค่าเล่าเรียน ค่าขนมให้เรา แต่เพื่อน ๆ พวกนี้ ต้องกู้ธนาคาร และต้องคิดเลยว่า ถ้าเรียนจบ 4 ปี เมื่อจบแล้วจะไปเป็นแพทย์เฉพาะทางทางไหน เงินเดือนของเรากี่ปี เราถึงจะใช้หนี้หมด คือ คิดแล้วเขาเป็นผู้ใหญ่กว่าเราเยอะมาก แต่อันนั้นบางทีอาจจะเกินไป และทำให้ลูก เมื่อตั้งตัวได้แล้วพ่อแม่จะเป็นอย่างไรก็ช่าง ไม่มีการดูแล อย่างเรายังดูแลพ่อแม่ที่แก่เฒ่าความผูกพันกันระหว่างพ่อแม่ลูกยังนุ่มนวลกว่า และรู้สึกว่าชีวิตของความเป็นครอบครัวอบอุ่นกว่ากันเยอะทางโน้นมันแข็งแรงก็จริง แต่แกร่งเกินไป และรู้สึกเหมือนยังกับว่าคนที่นั่นเขาจะนึกถึงแต่ตัวเขา เขาจะนึกถึงแต่ครอบครัว เขาจะไม่ไปนึกถึงพ่อแม่ แล้วพ่อแม่ต้องดูแลตัวเอง ดังนั้นในช่วงวัยเด็กของเราที่ถูกคุณพ่อคุณแม่หล่อหลอมมาในรูปแบบวิธีการเลี้ยงดูของท่าน ส่งผลให้เราเป็นหมอที่รู้สึกเหมือนว่าผู้ป่วยทุกคนเป็นญาติเรา

        สำหรับเพื่อนสนิทที่สนิทกันตั้งแต่เรียนชั้นอนุบาลที่โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย จนตอนนี้ ชื่อ คุณนิด บุศรพันธุ์ เราเรียนด้วยกันมาตั้งแต่ชั้นอนุบาล จนคุณนิดเรียนต่อเภสัชศาสตร์ ตอนที่เรียนอยู่เตรียมแพทย์ 2 ปี ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตอนนี้เราจะนับว่าอยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2 ปี และข้ามฟากไปคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลในปัจจุบัน จึงเป็นปี 1 – ปี 4 แต่เดี๋ยวนี้นับปี 1 ของข้ามฟากเป็นปี 3 เพราะนักเรียนแพทย์ 6 ปี เพราะฉะนั้นตอนที่เราเป็นเตรียมแพทย์ 2 ปี เพื่อนที่เรียนเภสัชศาสตร์และวิทยาศาสตร์ทั่วไปยังเจอกันอยู่ ตอนนั้นก็ยังสนิทกับคุณนิดเหมือนเดิม และแยกกันตอนที่เราข้ามฟากไปเรียนที่โรงพยาบาลศิริราช แต่เราก็ยังติดต่อกันเรื่อยมา และกลับมาไปไหนมาไหนด้วยกันก็ตอนที่ลูก ๆ ของคุณนิดโตกันหมดแล้ว เรานัดเจอกันเดือนละครั้ง เรายังไปปฏิบัติธรรมด้วยกัน มีวันหนึ่งมีคนถามคุณนิดว่ารู้จักกับเรามานานเท่าไรแล้ว คุณนิดบอกว่า เรารู้จักกันมา 80 ปี เพราะตอนนี้เราอายุ 83 ปี คุณนิดบอกว่า “...เราสนิทกันยิ่งกว่าพี่น้องอีก เพราะพี่น้องมันคลานตามกันมา มันไม่ได้ตามกันมาอย่างเรา...” ชีวิตวัยเด็กในความทรงจำ คือ ความสุข ความสนุกสนานสมวัย ที่ทุกวันแทบหาไม่ได้ในสังคม


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ชั้น 3 หอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170
โทร 0-2800-2680-9 ต่อ 4346