ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ (การทำงานกับมหาวิทยาลัย)

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์

สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2561 ณ ห้องประชุม VIP ชั้น 5 สำนักงานอธิการดี

การทำงานกับมหาวิทยาลัย

        “มหาวิทยาลัยมหิดล” คือชื่อที่ได้รับพระราชทานมาจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เมื่อ พ.ศ. 2512 และมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เดิมที่มหาวิทยาลัยมหิดล มีสำนักงานอยู่ที่ตึกอำนวยการ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และมีเพียงแค่วิทยาเขตที่ศิริราช เขตบางกอกน้อย จนกระทั่งต่อมาวิทยาเขตพญาไทก็เกิดขึ้น ซึ่งวิทยาเขตนี้ประกอบไปด้วย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ แต่คณะเวชศาสตร์เขตร้อน นับเป็นอีก 1 วิทยาเขตนะครับ

        สำหรับมหาวิทยาลัยมหิดล ช่วงที่ผมได้มาเกี่ยวข้องมาก ๆ ก็คือช่วง ศ.เกียรติคุณ นพ.ดร.ณัฐ ภมรประวัติ เป็นอธิการบดี ท่านเป็นอธิการบดีถึง 12 ปีด้วยกัน ซึ่งในช่วง 4 ปีท้ายในการดำรงตำแหน่งของอาจารย์ ผมได้มีโอกาสเข้ามาช่วยงานอาจารย์ แต่จริง ๆ ก่อนหน้านั้นเคยได้มีโอกาสเข้ามาช่วย ในช่วงเทอมที่ 2 ของอาจารย์ณัฐ ซึ่งตอนนั้นสำนักงานของอธิการบดียังอยู่ที่ตึกอำนวยการที่ศิริราช อาจารย์มีโครงการมากมาย เป็นอธิการบดีที่มีผลงานโดดเด่นจะเรียกว่าที่สุดก็ได้ มีการขยายงาน มีการวางแผนอย่างลึกซึ้ง เรื่องที่ผมได้มาเกี่ยวข้องด้วย ซื่งก่อนที่จะมารับตำแหน่งเป็นรองอธิการบดี ก็คือ “การพัฒนากำลังคน” มีการประชุมหัวหน้าภาควิชา เรียกว่า สัมมนาหัวหน้าภาควิชา เพื่อให้รู้เรื่องการบริหารจัดการ มีการประชุมเพื่อวางแผนต่าง ๆ เนื่องจากผมเป็นคนที่ชอบสรุปการประชุม และชอบเป็นผู้ดำเนินการอภิปรายการประชุมด้วยในบางครั้ง อาจารย์ณัฐคงเห็นว่าผมทำงานได้ ผมเลยถูกเชิญให้มาร่วมในคณะจัดการสัมมนาหัวหน้าภาควิชา หรือ การประชุมที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ เรียกว่า “การระดมสมอง” กิจกรรมนี้มีไปจัดกันที่กาญจนบุรี ที่หัวหิน และที่อื่น ๆ จากจุดนี้ผมจึงเริ่มเข้ามาช่วยงานมหาวิทยาลัย จากการได้เข้ามาช่วยงานมหาวิทยาลัยมหิดลในช่วงนั้นทำให้ผมมีประสบการณ์ และมีความเข้าใจเรื่องราวของมหาวิทยาลัยมหิดลมากยิ่งขณะเดียวกันช่วงนั้นผมก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งตอนนั้นผมรับหน้าที่เป็นเลขาของคณะกรรมการดังกล่าว และผมก็ยังคงมาช่วยงานของมหาวิทยาลัยเรื่อยมา

การเข้ามาทำงานด้านการบริหารให้มหาวิทยาลัยมหิดล

        จนกระทั่งในช่วง 4 ปีท้ายของอาจารย์ณัฐ อาจารย์ได้โทรศัพท์มาชวนผมให้มาดำรงตำแหน่งเป็น “รองอธิการบดี” โดยมีหน้าที่ดูแลเรื่องการวิจัย ต่อมาได้ให้เข้าไปดูแลในเรื่องวางแผน และตอนหลังได้ให้ดูแลเรื่องพัฒนาเพิ่มอีกด้านหนึ่ง ซึ่งหากตอนนี้มองย้อนกลับไป ผมทำหน้าที่หลายด้าน ทั้งดูแลประชาสัมพันธ์ ดูแลวิเทศสัมพันธ์ ดูแลวิจัย ดูแลเรื่องวางแผน และดูแลเรื่องพัฒนากำลังคนด้วย ซึ่งจริง ๆ การพัฒนากำลังคนตอนนั้น มีการเปิดหลักสูตร Mini MPA แก่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยก็มีคณบดี รองคณบดี หัวหน้าภาคต่าง ๆ และอาจารย์อาวุโส ซึ่งเป็นอาจารย์ผมเองด้วยก็ได้เข้ามาเรียน ผมเป็นประธานหลักสูตร และตอนนั้นผู้อำนวยการกองกลางเจ้าหน้าที่เป็นเลขานุการ ก็ทำงานออกมาค่อนข้างดี แล้วก็เป็นตัวอย่างที่ดีมาก ๆ ซึ่งนี่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ผมได้มาช่วยมหาวิทยาลัย ก่อนที่จะได้รับตำแหน่งเป็นรองอธิการบดี และตอนรับตำแหน่งเป็นรองอธิการบดี ซึ่งภายหลังจากผมหมดวาระการดำรงตำแหน่งเป็นรองอธิการบดี ผมก็กลับไปเป็น ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการอีก 8 ปี ก็จนถึง พ.ศ. 2542

        สำหรับการทำงานให้กับมหาวิทยาลัยมหิดลจริง ๆ มีรายละเอียดมาก มีเรื่องหนึ่งที่อยากจะขอกล่าวถึงคือ โครงการวันแม่ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ผมก็เป็นประธานจัด โดยได้รับความร่วมมือ และความช่วยเหลือจาก ศ.เกียรติคุณ นพ.พูนพิศ อมาตยกุล จากคณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ ซึ่งเป็นหัวหน้าหลักในการจัดงานตอนนั้น แรกเริ่มเดิมที่เราจัดโครงการนี้ที่ “ตั้งฮั่วเส็ง” จากนั้นย้ายมาที่ “พาต้า” และย้ายมาที่ “เดอะมอลล์” นะครับ และในช่วงหลังเราได้รับพระกรุณาธิคุณจาก พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีพระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จมาเปิดงานวันแม่ด้วยนะครับ ซึ่งกิจกรรมภายในงานยุคแรก ๆ ก็อย่างการประกวดร้องเพลงกล่อมลูกด้วย

        อีกเรื่องหนึ่งที่ผมอยากเล่า ซึ่งหลายคนอาจจะไม่เคยได้ฟังก็คือ ตอนนั้นในช่วงที่ผมเป็นรองอธิการบดี ยุคนั้นถนนหนทางในการเดินทางมายังมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายายังไม่ค่อยสะดวก เป็นลักษณะไปเลนมาเลน ยิ่งพอมีการก่อสร้าง ยิ่งไม่สะดวก และภายในมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายาเองช่วงแรก ๆ นักศึกษาไม่มีหอพัก กระทั่งเราต้องไปตั้งหอพักชั่วคราวที่เหมือนกับค่ายทหารแก่นักศึกษา ต่อมาจึงได้มีอาคารที่ 1 เกิดขึ้น ขณะเดียวกันลักษณะทางกายภาพโดยรอบมหาวิทยาลัยก็มีหญ้ารก และมียุงเยอะ ทำให้ไม่ค่อยมีคนอยากจะเข้ามาเรียนอยู่ที่ศาลายา ซึ่งขณะนั้นผมเป็นรองอธิการบดีฝ่ายวางแผน ผมจึงนำข้อมูลจากเจ้าหน้าที่มาวางแผนว่า ถ้าเผื่อเราเปิดคณะวิศวกรรมศาสตร์ จากที่ปกติรับปีละ 80 คน ปีถัดมารับปีละ 100 คน จนกระทั่งรับปีละ 400 คน และยังมีคณะอื่น ๆ เกิดขึ้นอีก ในที่สุดเราก็จะมีนักศึกษาเข้ามาปีละ 1,000 คน หรือมากกว่า 1,000 นะครับ ในตอนนั้นผมใช้คำหนึ่งในสภามหาวิทยาลัย โดยบอกว่า...

        “...ถ้าเราอยากจะสร้างศาลายา ต้องวางแผนสร้างเป็นเมืองมหาวิทยาลัย แล้วก็เอาคณะวิทยาศาสตร์ให้เน้นการศึกษาระดับหลังปริญญา ก็คือปริญญาโท และ เอก แล้วก็ ขณะเดียวกันควรจะสร้างมหาวิทยาลัยที่นี่ให้ได้ ตอนนี้ต้องอดทนหน่อยหนึ่ง ถนนหนทางไปมาไม่สะดวก กายภาพที่มีปัญหาก็ต้องแก้ไขกัน แล้วลงทุนที่นี่ให้มากขึ้น...แต่ถ้าเราสร้างเมืองมหาวิทยาลัยให้น่าอยู่ จุดนี้ก็จะเป็นจุดขาย...”

        เพราะช่วงที่ย้ายมาใหม่ ๆ เด็กที่เก่ง ๆ พ่อแม่เขาไม่อยากให้มา แล้วการคัดเลือกของมหิดล ตอนนั้นโอกาสที่จะได้เด็กเก่ง ๆ ก็น้อยลงไป แต่เมื่อพัฒนาให้เป็นเมืองมหาวิทยาลัยได้สำเร็จเป็นจุดขายทำให้เด็กรุ่นใหม่อยากจะมาอยู่ร่วมกัน อยากจะมาเรียนรู้ เราก็เด่นขึ้น แล้วยิ่งยุคหลัง ๆ ที่มีการปรับปรุงทางด้านภูมิทัศน์ให้ดีขึ้นตามลำดับก็ยิ่งเป็นที่สนใจ พ่อแม่ผู้ปกครองเริ่มอยากให้เด็กมาเรียนที่นี่มากขึ้น โดยสรุปเราต้องสร้างเมืองมหาวิทยาลัยให้น่าอยู่ และทำให้มันดียิ่งขึ้น รวมทั้งให้นักศึกษามีส่วนร่วมให้มากขึ้นด้วย และขณะนี้ก็จะเห็นว่า อธิการบดีคนต่อ ๆ มาก็พยายามทุ่มเททำงาน เพื่อพัฒนาศาลายาให้เป็นเมืองมหาวิทยาลัยจริง ๆ แล้วก็ที่อยากจะมองนิดหนึ่งก็คือว่า จริง ๆ มี Master Plan วางแผนไว้ตั้งแต่เริ่ม ตั้งแต่ยุคของรองอธิการบดี นายแพทย์สวัสดิ์ สกุลไทย์ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนามหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2517-2518 และก็อาจารย์ณัฐ มีสถาปนิกที่ Rockefeller ช่วยทำ Master Plan ไว้นะครับ แต่ตอนนี้ Master Plan ชักจะเป๋แล้ว คงจะต้องกลับมาดูใหม่อีกทีว่า จะทำ Master Plan อย่างไรให้มหาวิทยาลัยมหิดลมีความเป็นเอกภาพ แล้วก็มีความยั่งยืนในมิติต่าง ๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยยึด Master Plan ที่ปรับเปลี่ยน แต่ขณะเดียวกันก็คงต้องมี Master Plan สำหรับอนาคตด้วย จึงจะก่อให้เกิดความยั่งยืนต่อไป

        อีกเรื่องหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าจะพูดถึงก็คือ ทุกวันพุธ โดยเฉพาะบ่ายวันพุธ จะเป็นวันที่นักศึกษามีเวลาอิสระที่จะทำอะไรก็ได้ เช่น ให้มีโอกาสเรียนกีฬา เรียนดนตรี คือ ให้ “เรียน” นะครับ ไม่ใช่เล่น เรียน แล้วก็ได้หน่วยกิตไปด้วย และสามารถพัฒนาตนเองไปด้วย ซึ่งสิ่งนี้เป็นความคิดริเริ่มของอาจารย์ณัฐ โดยมีการประชุม ปรึกษา หารือกันนะครับ ก่อนที่กิจกรรมเหล่านี้จะออกมาแก่นักศึกษา

        จากเรื่องกิจกรรมวันพุธ ผมยังมีอีกหนึ่งเรื่องที่อยากจะเล่าให้ฟังนะครับ ถ้าผมจำไม่ผิดน่าจะประมาณ พ.ศ. 2530 หรือไม่ก็ พ.ศ. 2531 ตอนนี้ผมเป็นรองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและวิจัย ผมนั่งทำงานอยู่ที่ตึกตรงเชิงสะพานพระปิ่นเกล้านะครับ ก็มีอาจารย์ท่านหนึ่ง นั่นก็คือ รองศาสตราจารย์ ดร.สุกรี เจริญสุข จะมาขอเข้าพบท่านอธิการบดี หรือ ศ.เกียรติคุณ นพ. ดร.ณัฐ ภมรประวัติ และพอดีอธิการบดีไม่อยู่นะครับ ทีนี่ก็มีคนบอกอาจารย์สุกรี ให้มาพบรองฝ่ายวางแผนสิ เผื่อจะช่วยอะไรได้บ้าง เรื่องวันนั้นผมจำได้เลยนะครับ อาจารย์สุกรีมานั่งต่อหน้าผม ผมกับ อาจารย์สุกรี ก็มีการพูดคุยกันดังนี้นะครับ...

ศ.เกียรติคุณ นพ.ไกรสิทธิ์ : “...อาจารย์อยู่ที่ไหน ?...”
รศ.ดร.สุกรี : “...ผมเป็นอาจารย์ที่สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรม...”
ศ.เกียรติคุณ นพ.ไกรสิทธิ์ : “...อ้าวแล้วจะมาเจออธิการบดีทำไม ?...”
รศ.ดร.สุกรี : “...มาขอลาออก...”
ศ.เกียรติคุณ นพ.ไกรสิทธิ์ : “...อ้าวลาออกทำไม...”
รศ.ดร.สุกรี : “...ผมไม่ค่อยมีงานทำ...”
ศ.เกียรติคุณ นพ.ไกรสิทธิ์ : “...อ้าวจบอะไร...”
รศ.ดร.สุกรี : “...จบปริญญาเอกทางด้านดนตรี Musical Art expert ทางด้านแซกโซโฟน...”
ศ.เกียรติคุณ นพ.ไกรสิทธิ์ : “...อ้าวหน้าที่เรามีหน้าที่เพื่อเรียน เพื่อสอน ทำไมไม่สอนเรื่องวิชา เรื่องวิจัยภาษาและวัฒนธรรม ก็เอาดนตรีเข้าไปเลย สอนสิ แล้วสถาบันก็มีสิทธิ์เปิดหลักสูตรปริญญาโทที่นี่...จริง ๆ เรื่องดนตรีมีความสำคัญ...”

        ช่วงนั้นผมก็ผ่านการไปอยู่เมืองนอกตั้ง 6 ปีแหละ ก็รู้ว่ามหาวิทยาลัยที่ดัง ๆ เขามักจะมีเรื่องดี ๆ ก็คือ Museum มีเรื่องกีฬาที่เข้มแข็ง แล้วก็มีเรื่องดนตรี ผมก็เลยแหย่เขาไปว่า...

        ศ.เกียรติคุณ นพ.ไกรสิทธิ์ : “...คิดสิ ทำไมต่อไปมหิดลเราอาจจะมีวงดนตรีมโหรีปี่พาทย์ก็ได้ มีดนตรีซิมไฟนีออเคสตร้า (Symphony Orchestra) ก็ได้ มีเรื่อง Jazz band ก็ได้ ทำไมไม่คิดหละ เอางี้แล้วกันมาเริ่มต้นใหม่ มาเปิดหลักสูตรปริญญาโทด้านดนตรีสิ...ถ้าจะเปิดยินดีช่วยแล้วเข้าอยู่ในแผน...”

        ซึ่งต่อมามีการเชิญประชุมร่วมกับ ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.วราวุธ สุมาวงศ์ อาจารย์สุพจน์ อ่างแก้ว แล้ว ศ.เกียรติคุณ นพ.พูนพิศ อมาตยกุล แล้วก็เชิญอาจารย์จากภายนอก รวมทั้งอาจารย์สุกรีด้วย ต่อมาก็จัดหลักสูตรสอนโท เสร็จแล้วก็เอาคนที่ดัง ๆ ทางด้านดนตรี ที่มีตรี แล้วมาโท แต่อาจารย์สุกรีก็เก่งนะ ต้องชม คือ คนเราต้องรู้ว่าคนไหนเก่งในด้านใดด้านหนึ่ง แล้วก็ให้ทำประโยชน์ทางด้านนั้น แล้วในที่สุดก็มีคนมาเรียนเยอะ จนกระทั่งเวลาผ่านมา 2-3 ปี อาจารย์สุกรีมาเอง มาเจอผม...

รศ.ดร.สุกรี : “...โอ้ตอนนี้งานเยอะครับ...”
ศ.เกียรติคุณ นพ.ไกรสิทธิ์ : “...ดีแล้วนี่...”
รศ.ดร.สุกรี : “...ทำไม่ไหวครับ...”
ศ.เกียรติคุณ นพ.ไกรสิทธิ์ : “...วุ้ย เก่งอยู่แล้วทำไป...”

        จุดเปลี่ยนแปลงคือตรงนี้ครับ เมื่ออาจารย์สุกรีมาพบผม ผมได้ปรึกษาอาจารย์ณัฐ และแน่นอนว่า อธิการบดีท่านนี้ไวมากนะครับ ท่านก็ว่าให้เด็กนักศึกษามหิดลเรียนดนตรีสิ จึงเกิดเป็นกิจกรรมในวันพุธ ขณะเดียวกันอาจารย์ณัฐได้โอนเงินจำนวน 500,000 บาท ตอนนั้นนะครับ ให้จัดซื้ออุปกรณ์ดนตรีทั้งไทย ทั้งสากล ให้เด็กนักศึกษาได้เรียน และยังให้ช่วยอาจารย์สุกรีด้วยนะครับ หลังจากนั้น วันพุธเลยเป็นวันอิสระที่เด็กอยากจะทำอะไรก็ได้ แล้วภายหลังในยุคอธิการบดี อาจารย์ณัฐ มีการจัดตั้งวิทยาศาสตร์การกีฬา มีทั้งสระว่ายน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันอณูชีววิทยาฯ (ปัจจุบัน คือ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล) และที่เด่นมาก ๆ ก็คือ วิทยาลัยนานาชาตินะครับ ซึ่งก่อนหน้านั้นก็มีการก่อสร้างมาแล้วนะครับ และในส่วนของ อาจารย์สุกรี ก็วิวัฒนาการมาจนกระทั่งกลายเป็นโครงการจัดตั้งวิทยาลัยดนตรี ดุริยางคศิลป์ จนกระทั่งจัดตั้ง และต่อมากลายเป็นวิทยาลัยนับว่าเป็นคนที่มีความสามารถ แล้วพอตอนหลัง อาจารย์สุกรี ก็ได้รับการสนับสนุนจากอธิการบดีคนต่อมาด้วย และตอนหลังมหาวิทยาลัยมหิดลจะสร้างอาคาร “มหิดลสิทธาคาร” ความประสงค์จริง ๆ อยากได้หอประชุม แต่ต้องการหอประชุมที่เป็นสถานที่จัดการแสดงดนตรีด้วย เลยเป็นแนวคิดและความต้องการที่ไปในทิศทางเดียวกันครับ

        การถ่ายทอดเรื่องราวการทำงานของผมกับมหาวิทยาลัยมหิดล ถือเป็นการเล่าเรื่องราวแนวทางการพัฒนามหาวิทยาลัยช่วงในเวลาดังกล่าว ทั้งคุณภาพการศึกษา คุณภาพนักศึกษา คุณภาพบุคลากร รวมทั้งภูมิทัศน์ทางกายภาพของมหาวิทยาลัยให้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้หากพูดถึงในยุคปัจจุบัน ผมอยากฝากไว้เป็นข้อคิดนะครับว่า...

        “...กลไกลที่มหาวิทยาลัยต้องทำก็คือ ใครเก่งยังไงก็แล้วแต่ พอทำงานไปได้สักพักหนึ่ง ต้องมีการประเมิน เพื่อเตือนว่า มีจุดอ่อนอะไร จุดแข็งอะไร ซึ่งตรงจุดนี้ ผมคิดว่าจะพยายามทำในระดับสภาต่อไป เพราะคนเราพอทำงานไปสักพักหนึ่ง หากขาดการประเมิน บางทีไม่มีคนอื่นเตือน ซึ่งดีอยู่แล้วแต่ต้องให้ดียิ่งขึ้น แล้วก็มีกรอบและทิศทางที่เหมาะสม เพราะทุกคนถ้ายิ่งต้องเตือนตัวเอง แต่เผื่อกฎเกณฑ์กติกาสังคมมีการประเมินเพื่อพัฒนาให้ดีขึ้น เพื่อเตือนก็จะได้ดี...”


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ชั้น 3 หอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170
โทร 0-2800-2680-9 ต่อ 4346