ศาสตราจารย์ นายแพทย์พิภพ จิรภิญโญ (ประวัติในวัยเด็ก)

ศาสตราจารย์ นายแพทย์พิภพ จิรภิญโญ

สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2562 ณ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย (ซอยศูนย์วิจัย)

ศาสตราจารย์ นายแพทย์พิภพ จิรภิญโญ ถ่ายเมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2562

        สวัสดีครับ ผม ศาสตราจารย์ นายแพทย์พิภพ จิรภิญโญ เกิดเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2495 ผมมาจากครอบครัวคนจีน คุณพ่อคุณแม่เป็นคนจีนที่ย้ายเข้ามาในประเทศไทย มีพี่น้องทั้งหมด 8 คน และการที่เรามีพี่น้อง 8 คน ครอบครัวจึงไม่ค่อยมีเงิน ถึงแม้ครอบครัวเราจะยากจนแต่เราก็มีความสุขในครอบครัวครับ และไม่ได้ทำให้เรามีความคิดว่าเราต่ำต้อยอะไร ผมเติบโตแถวชุมชนริมคลองมหานาค สมัยเด็ก ๆ ผมชอบไปว่ายน้ำริมคลอง จับปลาในคลองกันสนุกสนานมากนะครับในตอนนั้น แถวนั้นมีผลไม้มาขึ้นจากเรือเยอะ ผลไม้ตกตามคลองอยู่เรื่อย ผมก็ได้ผลไม้ฟรีมาบ่อย ๆ ทุกวันนี้เวลาผมผ่านไปมหานาค ผมจะคิดถึงคนเก่า ๆ คิดถึงวัยเด็ก คิดถึงชีวิตตอนนั้นเสมอ แต่ทุกวันนี้แถวนั้นเปลี่ยนไปมาก ตลาดก็หายไป และเป็นตึกแถวไปหมดแล้ว

        สมัยก่อนยังไม่มีโรงเรียนอนุบาล ถ้าจะเรียนหนังสือต้องอายุ 8 ปี ดังนั้นพอผมอายุ 8 ปี ก็เริ่มเรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนเทศบาลในกรุงเทพ ฯ ตั้งแต่เด็กผมเป็นคนให้ความสนใจกับการศึกษาเป็นพิเศษ อาจจะแตกต่างจากพี่น้องคนอื่น เพราะคิดว่าการเรียนเป็นสิ่งสำคัญสำหรับอนาคต เมื่อผมมีเวลาว่าง ก็จะหยิบหนังสือมาอ่านล่วงหน้า ทำแบบนี้มาตั้งแต่เด็ก จนเรียกได้ว่าเป็นที่ 1 ของชั้นประถมของโรงเรียนเทศบาลในกรุงเทพ ฯ เรื่อยมา และก็ได้รับทุนของ กรุงเทพ ฯ เป็นเวลาเกือบ 5 ปี ซึ่งทุนนั้นก็ช่วยการศึกษาในชั้นมัธยมของผมได้เป็นอย่างดี

        เมื่อผมจบจากโรงเรียนเทศบาล ผมไปสอบเข้าโรงเรียนเทพศิรินทร์ ตอนนั้นนับเป็นการแข่งขันครั้งแรกในชีวิต คุณพ่อคุณแม่อาจจะตื่นเต้น แต่ผมรู้สึกว่าไม่น่าจะยาก เมื่อผลสอบออกมา ผมสอบเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ได้ คุณพ่อคุณแม่ก็ดีใจมากเลยครับ เพราะผมสอบแบบไม่มีเส้นไม่มีสาย และได้อยู่ห้องอันดับ 1 ของโรงเรียนเทพศิรินทร์มาตลอด พอถึง ม.3 (สมัยก่อนเราเรียก ม.3) คนอื่นเขาก็จะมีการเปลี่ยนโรงเรียน ผมก็เป็นอีกคนหนึ่งที่คิดว่าเราน่าจะไปโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (พญาไท) ผมกับเพื่อนทั้งหลายก็ยกโขยงออกจากโรงเรียน เรียกว่าลาออกเลยนะครับ เพื่อไปสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (พญาไท) ซึ่งก็มีการแข่งขันมาก แม้จะเป็นสมัยนั้น เปิดรับไม่ถึง 700-800 คน คนสมัครก็เป็นหมื่นเหมือนสมัยนี้นะครับ ส่วนคุณพ่อคุณแม่คงตื่นเต้น แต่ผมก็ไม่รู้ว่าตอนนั้นตัวเองตื่นเต้นไหม แต่รู้ว่า เพราะการที่เราอ่านหนังสือมาตลอด ถึงแม้จะเล่นกีฬาอะไรเยอะแยะ แต่สิ่งสำคัญก็คือ คณิตศาสตร์กับภาษาอังกฤษ แล้วก็วิชาอื่นก็ติดตามมาตลอดเลยไม่ได้กังวลมากนัก ผลออกมาผมสอบติดโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (พญาไท) และก็ติดห้อง King ตั้งแต่ตอนนั้นเลย อยู่ห้องสูงสุดของโรงเรียนมาตลอด 2 ปี

        เมื่อผมเข้าสู่ชั้นมัธยม ความคิดเริ่มมีมากขึ้น และรู้ว่าคณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษสำคัญ ถึงแม้จะไม่มีเงินก็จริง แต่ผมก็ไขว่คว้าเอง โดยการไปหอสมุดแห่งชาติ ยืมโจทย์คณิตศาสตร์มานั่งทำที่บ้านในช่วงวันหยุด แล้วก็เดินไปถึงบริติชเคานซิล (British Council) ซึ่งสมัยก่อนอยู่แถวสะพานพุทธ (สะพานพระพุทธยอดฟ้า) แล้วยืมหนังสือกลับมานั่งอ่าน ทำการบ้านภาษาอังกฤษ เขาก็ให้ยืมครั้งละ 3 สัปดาห์ เราก็นั่งทำโจทย์ ไม่ว่าจะเป็นอ่านเอาเรื่อง ไวยากรณ์ อะไรทั้งหลาย พวกนี้ไม่ต้องเสียเงิน เราก็พยายามจะพัฒนาจนจบชั้นมัธยมปลาย ในตอนนั้นจริง ๆ ผมเป็นเด็กที่ยังไม่มองอนาคตเหมือนเด็กสมัยนี้ ก็ตามเพื่อน ๆ สอบเข้าแพทย์ เข้ามหาวิทยาลัยมหิดลไป เพราะเพื่อนส่วนใหญ่ในห้องทุกคนก็เรียกว่าจะ 80-90% เลือกแพทย์นะครับ ซึ่งสมัยก่อนใคร ๆ ก็เลือกมหาวิทยาลัยมหิดล อันดับ 1 และผมก็ได้เข้ามหาวิทยาลัยมหิดล แล้วเผอิญเป็นรุ่นที่ยังไม่แยกศิริราชกับรามาธิบดีนะครับ พอตอนให้เลือกแยก ผมก็เลือกรามาธิบดี เพราะเขาบอกว่าสอนน้อย อ่านเยอะ ซึ่งเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือ ชอบค้นคว้า ก็เลยเลือกคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อก่อนถือว่าเป็นอันดับ 1 ทางการแพทย์ ถ้าใครอยากจะเข้าแพทย์เนี่ยคะแนนก็จะยากที่สุดในสมัยก่อน

        ทีนี่ ถ้าย้อนกลับมาพูดว่า อาชีพใฝ่ฝันในวัยเด็ก สำหรับผมในตอนนั้นคงไม่มี ตอนเด็ก ๆ คิดว่า เส้นทางการศึกษาที่เราทำให้ดีที่สุดแล้ว อาชีพต่อมามันคงต้องเหมาะกับเส้นทางการศึกษา แต่ในใจคิดอย่างเดียวเองนะว่า การจะมีชีวิตอยู่ในโลกสมัยนี้ เราจะต้องมีความพิเศษกว่าคนอื่น มันเหมือนกับการแข่งขัน ถ้าเราไม่มีจุดเด่น แล้วเราไม่มีจุดเหนือ เราก็จะเป็นกลุ่มที่ถูกทอดทิ้ง เพราะฉะนั้น ผมก็เลยคิดว่า ตอนนั้นยังไม่มีอาชีพอะไรเพียงแต่ว่า ถ้าจะทำอาชีพอะไร เราต้องมีจุดเด่นในอาชีพนั้นเท่านั้นเอง ผมก็คิดว่า ผมสามารถปรับตัวเข้าสู่อาชีพได้หมด โดยยึดหลักว่า เราต้องเข้าถึงจุดหลักของอาชีพนั้น


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ชั้น 3 หอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170
โทร 0-2800-2680-9 ต่อ 4346