ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ (การทำงานเพื่อการพัฒนาประเทศ)

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์

สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2561 ณ ห้องประชุม VIP ชั้น 5 สำนักงานอธิการดี

การทำงานเพื่อการพัฒนาประเทศ

        ถึงช่วงนี้ ผมก็อยากจะขอเล่าเกี่ยวกับเรื่องการแก้ไขปัญหาโภชนาการของประเทศ พอดีผมมีเพื่อนทำงานอยู่สภาพัฒน์ (ปัจจุบัน คือ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) แล้วก็มีเพื่อนที่เจอกันตั้งแต่อยู่ Vanderbilt University ด้วย ก็มีความเชื่อมโยงกัน แล้วจุดเริ่มต้น ก็คือ เนื่องจากปัญหาโภชนาการเป็นปัญหาสังคม ผมจึงได้มีโอกาสเข้าไปเป็นอนุกรรมการว่าด้วยเครื่องชี้วัดภาวะสังคม ซึ่งในตอนนั้นก็มี อาจารย์พัตธนี (รศ.ดร.พัตธนี วินิจจะกูล) มาช่วยทำงานด้วย ตั้งแต่การเขียนบทความ เรื่อง “โภชนาการในฐานะเครื่องชี้วัดภาวะสังคม” ตีพิมพ์ลงในวารสารของสภาพัฒน์ จนกระทั่ง 2 คนที่เห็นความสำคัญมาก ๆ ก็คือ อาจารย์เสนาะ อูนากูล ซึ่งเป็นเลขาธิการสภาพัฒน์ ในขณะนั้น และตอนหลังท่านก็มีโอกาสได้เป็นรองนายกรัฐมนตรี และอีกคนหนึ่งก็คือ คุณโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ซึ่งตอนนั้นเป็นผู้อำนวยการกองเท่านั้นเอง ก็เป็นเลขาอาจารย์เสนาะ แล้วก็ตอนหลัง คุณโฆสิต ได้มีโอกาสเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มีโอกาสเป็นประธานกรรมการบริหารธนาคาร ของ ธนาคารกรุงเทพ พอทั้ง 2 คน เห็นความสำคัญ เรื่องโภชนาการเป็นเครื่องชี้วัดภาวะสังคม จึงยอมรับในการใช้เป็นเครื่องชี้วัด และต่อมาเมื่อมีการวางแผนพัฒนาชนบทยากจน ตั้งแต่ พ.ศ. 2535 ผมก็มีโอกาสเข้ามาเป็นกรรมการวางแผนพัฒนาชนบทยากจน มีโอกาสแก้ไขปัญหาโภชนาการ โดยการส่งเสริมทางด้านอาหารเสริมสำหรับหญิงตั้งครรภ์ อาหารเสริมสำหรับทารกและเด็กเข้าไปในการแก้ไขปัญหาโภชนาการ โดยงานอาหารและโภชนาการจะเข้าไปอยู่ในแผนพัฒนาชนบทยากจน ควบคู่กับการพัฒนาสาธารณสุขมูลฐาน ก็เลยทำให้งานออกมาครอบคลุมทั้งประเทศ จนกระทั่ง ปัญหาโภชนาการลดลง ลดลงอย่างรวดเร็วนะครับ จาก 50 กว่าเปอร์เซ็น โดยเครื่องชี้วัดของเด็กน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ ลดลงภายในเวลา 5 ปี เหลือ 30 % และต่อมาก็ลดลงเรื่อย ๆ กระทั่งขณะนี้ต่ำกว่า 10 % ก็เป็นความสำเร็จของประเทศไทยทั้งหมด โดยเป็นการรวมพลังกัน โดยมีผมและอาจารย์ในมหาวิทยาลัยมหิดลได้เข้าไปมีส่วนร่วมด้วย แต่ทั้งหมดมันเป็นกระบวนการต่อเนื่อง อาจารย์อารี ก็ได้มีการวิจัยภาคสนาม ขณะเดียวกันทางกระทรวงสาธารณสุขก็มีอาจารย์อมร นนทสุต (นพ.อมร นนทสุต) ที่พยายามขับเคลื่อนเรื่อง งานสาธารณสุขมูลฐาน โดยมีอาสาสมัคร 1 คนต่อ 10 หลังคาเรือน ก็เลยทำให้ครอบคลุม การทำงานภายใต้แผนพัฒนาชนบทยากจนได้ทั้งประเทศ ซึ่งมีเครื่องชี้วัดภาวะโภชนาการ และก็มีการดำเนินงานแก้ไข จนกระทั่งประสบความสำเร็จ วันนี้ก็เป็นความภาคภูมิใจของประเทศ และยังเป็นความภาคภูมิใจของตัวผมเองด้วย


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ชั้น 3 หอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170
โทร 0-2800-2680-9 ต่อ 4346