ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เจริญ โชติกวณิชย์ (ชีวิตวัยเด็ก ของ ด.ช.เจริญ โชติกวณิชย์ แห่งเมืองสวี จังหวัดชุมพร)

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เจริญ โชติกวณิชย์

สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2562 ณ ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เจริญ โชติกวณิชย์ ถ่ายเมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2562

ชีวิตวัยเด็ก ของ ด.ช.เจริญ โชติกวณิชย์ แห่งเมืองสวี จังหวัดชุมพร

        ผมชื่อ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เจริญ โชติกวณิชย์ ผมเป็นเด็กต่างจังหวัดครับ เกิดและเติบโตในเมืองเล็ก ๆ ทางภาคใต้ของประเทศไทย ที่ชื่อว่า “สวี” ปัจจุบันคือ ตำบาลนาโพธิ์ อำเภอสวี จังหวัดชุมพร เกิดเมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2479 ชีวิตวัยเด็กในเมืองเล็ก ๆ ที่ชื่อว่า สวี ของผมก็เหมือนเด็กทั่ว ๆ ไป เท่าที่จำความได้เราก็มีความสุขกับการวิ่งเล่นอยู่ในตลาด

        ผมขอเล่าถึงประวัติของบรรพบุรุษของผม ทางฝ่ายคุณแม่สักเล็กน้อย บรรพบุรุษทางฝ่ายคุณแม่เป็นชาวจีน ซึ่งเดินทางเข้ามาลงหลักปักฐาน ณ ประเทศไทย ตั้งแต่เมื่อประมาณ 260 ปีก่อน ราว ๆ ก่อนการเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 บรรพบุรุษท่านแรก ชื่อ นายตี๋ นางบัว อาศัยอยู่ที่ อำเภออ้อมน้อย คาดว่าสมัยก่อนอาจจะเป็น นครชัยศรี ซึ่งปัจจุบัน อำเภออ้อมน้อย คือ จังหวัดสมุทรสาคร

        ช่วงที่เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พม่ากวาดต้อนชาวไทยในแถบราชบุรี กาญจนบุรี และในสมัยนั้นอ้อมน้อยอยู่ไม่ห่างจากกวาดต้อนผู้คนของกองทัพพม่านัก ทางบรรพบุรุษของผมจึงอพยพหนีการกวาดต้อนของกองทัพพม่า พร้อมด้วยภรรยา ลูก 5 คน และผู้ติดตามอีก 2 คน การอพยพหนีภัยตอนนั้น โดยการล่องเรือ เพราะว่าสมัยนั้นบรรพบุรุษประกอบอาชีพค้าขายทางเรือจึงมีความชำนาญทางเรือ เส้นทางการล่องเรือจากนครชัยศรีเข้าสู่อ่าวไทย แล้วล่องเรือต่อไปทางภาคใต้ลัดเลาะเข้าคลอง คลองนั้นสมัยก่อนเรียกว่า “คลองสวี” และครอบครัวจึงลงหลักปักฐานอยู่บริเวณริมคลองแห่งนี้ ดังนั้น ตระกูลฝ่ายคุณแม่ของผมจึงอยู่บริเวณดังกล่าวจนกระทั่งทุกวันนี้บรรพบุรุษของผมมีลูกทั้งหมด 12 คน

        สำหรับตระกูลของผม “โชติกวณิชย์” เป็นลูกสาวคนโต ชื่อ นางจุ้ย และแต่งงานกับชาวไทยเชื้อสายจีน “แซ่โง้ว” ชื่อ นายโหน่ง มีลูกทั้งหมด 7-8 คน ส่วนคุณตาของผมเป็นลูกคนที่ 2 และคุณแม่ของผมนับเป็นรุ่นที่ 4 ของตระกูล และเป็นลูกคนที่ 2 ของคุณตา คุณแม่ผมชื่อ นางสำลี และคุณพ่อผมชื่อนายบุญเท้ง คุณแม่ผมแต่งงานกับคุณพ่อ ซึ่งคุณพ่อผมเป็นนักบริหาร เรียนจบกฎหมายที่ประเทศจีน และย้ายมาอาศัยที่ประเทศไทย ด้วยสาเหตุที่ไม่ทราบแน่ชัด และมาลงหลักปักฐานที่อำเภอสวี จังหวัดชุมพร ผมมีพี่น้องทั้งหมด 6 คน แต่เสียชีวิต 1 คน เราจึงเหลือกัน 5 คนพี่น้อง และผม ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เจริญ โชติกวณิชย์ เป็นลูกชายคนโต

        การศึกษาของผม ผมเรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนประจำอำเภอชื่อ โรงเรียนบ้านนาโพธิ์ (พ.ศ. 2486 - 2490) ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นโรงเรียนอนุบาลสวี หลังจากผมเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 มีการให้ทุนการศึกษาเพื่อไปศึกษาต่อที่จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งสมัยนั้นจังหวัดชุมพรไม่มีโรงเรียนระดับสูง แต่ด้วยผมยังเด็กคุณแม่เป็นห่วงจึงไม่ได้ไป ผมศึกษาต่อในชั้นมัธยมศึกษาที่ “โรงเรียนบุณยสมบัติวิทยา” (พ.ศ. 2490 - 2496) ซึ่งเป็นโรงเรียนราษฎร์ตั้งอยู่ในตัวอำเภอ และผมอยู่ในการดูแลของญาติผู้ใหญ่ ผมเริ่มเรียนชั้น ม.1 ยังไม่ทันจบก็ได้ย้ายขึ้นไปชั้น ม.2 และตอนนั้นญาติของคุณพ่อเดินทางมาจากประเทศจีน ซึ่งตอนนั้นจีนยังไม่เป็นคอมมิวนิสต์ ก็อยากให้ผมเดินทางไปเรียนหนังสือจีนที่ประเทศจีน แต่คุณแม่ไม่อยากให้ไป ท่านบอกว่าถ้าจะเรียนหนังสือจีนให้ผมมาเรียนที่กรุงเทพฯ ดังนั้นผมจึงกลายเป็นนักเรียนประจำเรียนหนังสือจีนอยู่ที่โรงเรียนจีนในกรุงเทพฯ ผมเรียนอยู่ประมาณ 2 ปี

        เมื่อเข้าสู่ยุคของจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นยุคต่อต้านคอมมิวนิสต์ทางการจึงสั่งปิดโรงเรียนจีนในประเทศไทย จึงทำให้ผมได้กลับมาเรียนหนังสือไทยต่อ จนกระทั่งเรียนจบชั้นมัธยมต้น สมัยก่อนเรียก ม.6 จึงเดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯ ด้วยเหตุที่ว่า ผมมีญาติทางฝ่ายแม่เป็นทหารอยู่จำนวนไม่น้อย ตอนนั้นผมอยากจะเรียนอยู่ 2 อย่าง คือ โรงเรียนเตรียมทหาร และโรงเรียนเตรียมอุดม (พญาไท) ซึ่งตอนนั้นบังเอิญว่า ผมสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (พญาไท)ได้ แต่ใจของผมตอนนั้นอยากไปเรียนทหารมาก เพราะยุคนั้นเป็นยุคที่ทหารรุ่งเรือง และความใฝ่ฝันของเด็กผู้ชายคนหนึ่งที่อยากเป็นทหาร แต่ครูใหญ่โรงเรียนผมที่ปักษ์ใต้แนะนำว่าให้เรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (พญาไท) จะดีกว่า ผมเข้าเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (พญาไท) อยู่ 2 ปี (พ.ศ. 2496 - 2498) หลังจากนั้นผมเข้าเรียนต่อที่แผนกวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นเวลา 2 ปี (พ.ศ. 2498 - 2499) สมัยนั้นการสอบเข้าวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นการสอบรวม เปิดรับนิสิตนักศึกษา 400 คน และในจำนวน 400 คนนี้ ผู้ที่มีคะแนนสูงที่สุดจำนวน 200 คน สามารถเข้าศึกษาต่อทางด้านแพทยศาสตร์ได้ ตอนนั้นก็มีผู้ที่สอบได้คะแนนสูงไม่เลือกเรียนแพทย์ แต่ไปเรียนทางด้านเภสัชศาสตร์ก็มีครับ และในสมัยนั้น 200 คนที่คะแนนสูง แบ่งมาเรียนที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จำนวน 120 คน และไปศึกษาต่อที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 80 คน ส่วนผมในตอนนั้นได้ข้ามฟากมาเรียนที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ชั้น 3 หอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170
โทร 0-2800-2680-9 ต่อ 4346