ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์
สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2561 ณ ห้องประชุม VIP ชั้น 5 สำนักงานอธิการดี
หลักการทำงานเพื่อให้ประสบความสำเร็จ
นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล
ช่วงเรียนหนังสือ ป.1 – ป.4 เรียนที่ชนบท แล้วก็ ม.1 – ม.8 ก็โรงเรียนประจำจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งสมัยนั้นจบมัธยมจากต่างจังหวัด เข้าคณะดี ๆ ยากมาก แล้วก็หลังจากนั้นก็จบ แล้วก็มีโอกาสเทรนต่างประเทศ พอต่างประเทศ ก็ทำงานที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จนกระทั่งตอนหลังก็มาเป็นรองอธิการบดี ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ ผู้อำนวยการฝ่ายอาหารและโภชนาการของ FAO ที่อิตาลี ตั้งแต่อายุ 56-62 พอกลับมาเมื่อ พ.ศ. 2549 ทุกคนก็คิดว่าผมว่างงาน ตอนนั้นงานเข้ามาเยอะเลย ได้รับเชิญเป็นประธานบอร์ด สกว. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย) และได้รับเชิญให้เป็นประธานประเมินสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แล้วอยู่ระยะหนึ่ง ต่อมาได้รับเชิญไปเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย มจธ. (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี) นอกจากนี้ได้รับเชิญเป็นกรรมการสภาวิจัย และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ท่านก็โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษา และก่อนหน้านั้น ก็เป็นกรรมการพิจารณารางวัลมหิดลนานาชาติ ซึ่งก็ยังเป็นถึงปัจจุบัน คือ สรุปว่า งานก็เข้ามาเรื่อย ๆ ตอนหลังก็มี สสวท. (สำนักงานส่งเสริมการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) ก็เชิญ และเป็นกรรมการโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ แล้วพอตอนหลัง มีการปฏิรูปเรื่องวิจัย นอกจากจะเป็นกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ ก็ยังเป็นกรรมการสภาวิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ จริง ๆ เข้ามาเยอะมากนะครับ แต่ก็คิดว่ายังพอไหว โดยพยายามทำงานให้มีคุณภาพ ทำงานด้วยสติ แล้วก็เรียนรู้และแก้ไขปัญหาด้วยความรู้ และปัญญา ผมเลยสามารถทำงานได้เยอะ ทีนี่ถ้ามาเจาะจงว่าหลักการในการทำงานจริง ๆ ของผมก็คือ
1. ทำงานให้ดีมีคุณภาพทุกขณะ ตอนหลังก็เลยมาแก้คำนี้ว่า หนึ่งเราทำงานหนักให้ได้งานมีคุณภาพ เพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมและคนหมู่มาก อันนี้เป็นหลักการที่ 1 ตอนหลังก็ไปเห็นที่อื่น ทุกคนทำงานรู้สึกทำงานมาก แต่ไม่ค่อยได้ผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งราชการเนี่ย อย่างขณะนี้ ปปช. (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) จะให้กรอกทรัพย์สิน ไม่ได้ไปคิดว่าจุดไหนเป็นจุดเสี่ยง แต่หว่านแหทำหมด อีกหน่อย ปปช. ก็จะบอกว่า โอ้ ต้องตรวจสอบคนเป็นหมื่น ขอเจ้าหน้าที่เพิ่มขึ้น ทุกคนจะยุ่ง ทำงานที่ไม่เป็นเรื่อง ไม่ไปแก้ปัญหาตรงจุด พยายามที่จะยก ปปช. ก็เพื่อให้เห็นภาพที่เป็นปัจจุบันว่า ถ้าเราแก้ไขปัญหาแล้วดูว่าจุดไหนที่สำคัญ ทำงานหนักแก้ปัญหาให้ได้ เหมือนอย่างปัญหาโภชนาการ หลายประเทศแก้ไม่ได้ แต่ของเราแก้ได้ มันต้องมีการรวมพลังกัน ซึ่งรายละเอียดมีเยอะมาก แต่สรุปว่า ทำงานหนัก แล้วก็ให้มีคุณภาพ ให้เกิดประโยชน์ต่อคนหมู่มาก แล้วตัวเองจะได้อะไรอย่าไปคิด มันมาเอง ตำแหน่งทางวิชาการ พอเราทำไปเมื่อมีผลงานสิ่งเหล่านั้นก็จะตามมา
2. การทำงานต้องอาศัยความรู้และปัญญา บวกสามัญสำนึก บางคนความรู้ดี ปัญญาดีแต่มันขาดอะไรบางอย่าง มันขาดสามัญสำนึก รวมถึงเรื่องของคาถาของมหิดล “ใจเขาใจเรา” เรื่องนี้ลึกซึ้งมาก ความรู้ปัญญาและก็สามัญสำนึก ต้องมีมองภาพรวม มองภาพใหญ่ มองภาพละเอียด แล้วถ้าเราได้แบบนี้จะสามารถทำให้เราทำงานได้ในเชิงคุณภาพ และตรงเป้า จนกระทั่งตอนหลัง ผมก็พูดว่า “...ออกแรงน้อย แต่ได้งานมาก...” ไม่ใช่ว่าทำงานเหนื่อย ๆ หมดไม่ค่อยได้ผล ก็เพราะว่า ขาดทั้งความรู้ ขาดทั้งปัญญา ขาดทั้งสามัญสำนึก
3. ทำงานอะไรก็ต้องมีความจริงใจ ทั้งต่อตนเอง ต่อคนข้างเคียงและต่อองค์กร จริงใจ ถ้าเราไม่จริงใจ คนมองออก คนเราไม่โง่ ซึ่งเรื่องความจริงใจจริง ๆ ในที่สุดก็กลายเป็นความดีงามของบุคคลนั้นแหละ สะท้อนออกมาให้เห็น
4. เรื่องของความเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย หรือ เชื่อมโยงกับใครต่อใคร เพราะถ้าทำงานคนเดียวงานที่ได้ออกมานิดเดียว แต่ถ้าเผื่อทำงานมากแล้วก็สามารถที่จะทำงานร่วมกันได้ เราจะได้งานเยอะ ยกตัวอย่างเช่น อย่างวันนี้ที่สัมภาษณ์ ถ้าผมพูดคนเดียวมันก็เผยแพร่นิดเดียว ถ้าเผื่อมาช่วยกันก็ขยายผล ถ้าเผื่อหยิบประเด็นที่เล็ก ๆ ไปขยายผลต่อ เห็นไหม ความเชื่อมโยงกับคนอื่นมันจะเยอะเลย แล้วผมก็มีความศรัทธากับคนรุ่นใหม่เสมอ ไม่เคยดูถูกคนรุ่นใหม่ เพราะฉะนั้น เวลาเจอคน 2 คน 3 คน 5 คน ยินดีให้เวลาเสมอ เพราะบางทีผมพูดประโยคสองประโยค เขาไปทำทั้งปีเลย บางทีทำทั้งชาติด้วย แล้วผมไปเจอใครต่อใคร มักจะบ่อยมากตอนนี้บอกว่าเคยเจอผมช่วงนั้น ช่วงนั้นผมเคยแนะแบบนั้น เตือนแบบนั้น แบบนี้ แล้วเขาก็เอาไปทำ หลายอย่างที่ผมคาดไม่ถึงเลยความเชื่อมโยงนี่ มโหฬารเลยเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นเราต้องไม่เอาตัวเองเป็นตัวตั้ง ต้องเอาคนอื่นเป็นตัวตั้ง
ความรู้ปัญญา หลักใหญ่จริง ๆ ก็คือ ต้องเรียนรู้ทุกขณะจิต ถ้าเผื่อเอาหลักพุทธมาประยุกต์ ก็คือ ต้องมีสติเท่าทันในอารมณ์และความคิด แล้วตีประเด็นที่อารมณ์และความคิดที่เราเผชิญอยู่ โดยยึดหลักรู้และปัญญา ซึ่งตรงจุดนี้ มันมีความละเอียด ซึ่งจะบรรยายได้เยอะเลยว่าจากสติพอพูดตรงนี้แล้วนึกถึง “โพชฌงค์ 7” แล้วสติก็มาสู่ประเด็นที่อยู่ในสติเรา คือ อารมณ์และความคิด ต้องทำวิจยะ วิเคราะห์ว่ามันเกิดอะไรขึ้น แล้วก็ขณะเดียวกันเมื่อรู้ทางแล้วก็ใช้ความเพียรพยายามและวิริยะทำ พอทำเสร็จดีขึ้นหรือมีปัญหาก็แล้วแต่เราก็ได้เรียนรู้ขึ้นเราก็ได้เกิดรู้สึกว่า เออ มีความปิติ เออดีใจนะ ถ้าเผื่อผมทำงานวันนี้ออกมาดี ผมก็เออ เราก็ปิติหละ ในที่สุด ปัสสัทธิ ก็คือผ่อนคลาย ผ่อนคลายเสร็จปุ๊บ ความอยู่ตัวจะเกิดขึ้นกับตัวเอง ว่าเรามีสมาธิ มีความมั่นคง แล้วขณะเดียวกัน ถ้ามีวอกแวกเข้ามาหรือบางทีไม่สมบูรณ์ ก็อุเบกขาซะมั่ง ความรู้สึกอย่าให้มันเสียความรู้สึก แล้วพอทำแบบนี้ไปสักพักหนึ่ง เราก็จะเข้าวงจร เพราะจิตต้องนิ่ง
เพราะฉะนั้นเวลาผมไปประชุมแต่ละเรื่อง ส่วนใหญ่เรื่องจะไม่เหมือนกันเลย อย่างเมื่อวานนี้ก็ประชุมเรื่องของ การพัฒนาและวิจัยเรื่องอุตสาหกรรมทูน่าทั้งวันไม่หยุด แล้วก่อนหน้านั้นเป็นประธานพิจารณาตำแหน่งให้ มจธ. บางทีก็ไปวิจัยเรื่องแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางด้านสังคม มันคนละเรื่อง คนละเรื่องหมด แต่ถ้าเผื่อเรามีสติ เท่าทันในอารมณ์ ความคิด แล้วใช้วงจรการพัฒนาเรียนรู้และปัญหา มันก็จะทำให้เราเผชิญเรื่องแบบนี้ต่าง ๆ ได้อย่างเป็นระบบ คือ พูดง่าย ๆ สมองต้องเรียนรู้จนกระทั่งไม่ให้มีขยะเลย ในหัวเรานะ ถ้าทำได้แบบเนี่ย เราก็เรียนรู้
อีกเรื่องหนึ่งที่ผมคิดว่า ลึก ๆ ทั้งหมดแล้ว ต้องอดทน ซึ่งทำอะไรก็ได้ต้องอดทน เห็นไหมในชีวิตของผม อดทนมาตลอดแล้วก็เรียนรู้มาตลอด แล้วก็ใช้ชีวิตให้เกิดประโยชน์ ผมขอเพิ่มอีกสักนิด สมัยตอนที่ผมเรียน ม.4 ม.5 ม.6 ผมอ่านหนังสือใช้เค้าน์เตอร์เล็ก ๆ นั่งอ่าน บางทีอ่านตั้งแต่ 8 โมงเช้า ถึง 6 โมงเย็นเลย อ่าน ๆ ซื้อหนังสือมาอ่านเอง เด็กรุ่นใหม่จะเหมือนรุ่นผมคงน้อยแล้วคงต้องอดทน เรียนรู้ และก็สู้สิ่งยาก ซึ่งท่านอาจารย์ประยุทธ์ ปยุตฺโต กล่าวว่า เด็กไทยรุ่นใหม่ขาดความอดทน เรียนรู้ สู้สิ่งยากนะครับ ฝากไว้เป็นข้อคิด