ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ (ประวัติในวัยเด็ก)

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์

สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2561 ณ ห้องประชุม VIP ชั้น 5 สำนักงานอธิการดี

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ ถ่ายเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2562

      สวัสดีครับ ผม ศ.เกียรติคุณ นพ.ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ โดยพื้นฐานแล้ว ผมถือว่าผมเป็นเด็กชนบทคนหนึ่ง เพราะเกิดที่ บ้านห้วยขะยุง ซึ่งห่างจากตัวอำเภอวารินชำราบของ จังหวัดอุบลราชธานี 21 กิโลเมตร เกิดที่ตึกแถวห่างจากสถานีรถไฟบ้านห้วยขะยุงสักประมาณ 100 เมตร ผมเกิดในช่วงเย็นของวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2487 ซึ่งตรงกับปีนักษัตร คือ ปีวอก ซึ่งตอนหลังก็มีคนบอกว่าเกิดปีวอกตอนเย็นก็ดีแล้วจะได้เป็นลิงที่เข้าที่พักจะได้ไม่ต้องวุ่นวายมากนัก คุณพ่อของผมชื่อ นายนฤทธิ์ ตันติศิรินทร์ ส่วนคุณแม่ผมชื่อ นางมุ้ย ตันติศิรินทร์ ผมมีพี่น้องทั้งหมด 11 คน ผมเป็นลูกคนที่ 4 ของครอบครัวตันติศิรินทร์ หลังจากนั้นผมเติบโตและใช้ชีวิตที่บ้านห้วยขะยุงเรื่อยมา ช่วงเด็ก ๆ อายุสักประมาณ 2-3 ขวบ เท่าที่จำความได้คุณแม่จะพาไปทำบุญที่วัด พอผมโตขึ้นหน่อยผมจะมีหน้าที่ถือปิ่นโตตามคุณแม่ไปถวายพระที่วัด และระหว่างที่รอพระท่านสวดมนต์ ผมเองก็นั่งรอเพื่อรับปิ่นโตกลับ และรับพรจากพระก็ต้องนั่งด้วยความอดทนพอสมควร

        โรงเรียนแห่งแรกในชีวิตการศึกษาของผมคือ โรงเรียนวัดบ้านห้วยขะยุง ซึ่งมีอาคารเรียนเดียว มีห้องเรียน 4 ห้อง พื้นที่ตรงกลางก็เป็นที่ทำงานของคุณครู เท่าที่จำความได้ก็คือ เรียนที่โรงเรียนแห่งนี้ตั้งแต่ชั้นประถม แล้วก็ได้เรียนลูกเสือด้วย ซึ่งสมัยนั้นมีลูกเสือตรี โท เอก พอเรียนจบชั้น ป.4 ก็ได้ลูกเสือเอกด้วย แล้วที่จำความได้ชัดเจนก็คือ พอผมเรียนชั้นประถมศึกษาที่ 2 ผมเริ่มสอบได้ที่ 1 ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และรางวัลที่ได้รับครั้งแรกคือ สมุดบันทึกบาง ๆ เล่มหนึ่ง ตอนนั้นดีใจมาก ๆ ว่า สอบได้ที่ 1 ของชั้น และยังได้รับรางวัลเป็นสมุดอีกด้วย หลังจากนั้นก็ได้ที่ 1 ตลอด

        จนกระทั่งเรียนจบชั้นประถมศึกษาที่ ป.4 สามารถสอบเข้าโรงเรียนประจำจังหวัดอุบลราชธานีได้ ก็คือ โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช ทำให้ผมต้องมาอาศัยอยู่กับคุณปู่ ซึ่งบ้านของคุณปู่สมัยนั้นเป็นบ้านห้องแถวเช่นกัน ผมเรียนหนังสือจนกระทั่งจบ ซึ่งสมัยนั้นคือ มัธยม 1 – มัธยม 6 แล้วก็เตรียมอุดมอีก 2 ปี ก็คือ ม.7 ม.8 นั่นเอง ชีวิตการเรียนหนังสือของผมก็ไม่ได้มีอะไรตื่นเต้นมากนัก ผมก็เรียนหนังสือปกติ แต่ก็ยังสามารถรักษาผลการเรียนเป็นลำดับที่ 1 มาโดยตลอด ส่วนหนึ่งก็คงจะมาจาก รางวัลสำหรับหลานที่เรียนดี เพราะว่า คุณลุงท่านหนึ่งของผม จะบอกหลาน ๆ ว่า ถ้าหากเรียนได้ที่ 1 จะให้รางวัล 10 บาท จากรางวัลนี้ผมจึงสอบได้ที่ 1 มาโดยตลอด และผมนั้นได้รางวัลนี้ทุกปีนะครับ แม้ผมจะบอกว่าชีวิตในช่วงวัยเรียนจะไม่ได้มีอะไร แต่ระหว่างที่เรียนหนังสือผมก็มีกิจกรรมที่มักจะทำอยู่ตลอด นั่นก็คือ การออกกำลังกาย และอีกสิ่งที่สำคัญคือ ผมชอบอ่านหนังสือ บ้านข้าง ๆ ผมเป็นร้านขายหนังสือ ผมก็มักจะไปช่วยเขาขายหนังสือ ในขณะเดียวกันผมก็ได้อ่านหนังสือไปด้วย ส่วนหนังสือที่อ่านก็มีตั้งแต่หนังสือพิมพ์ หนังสือเล่มบาง ๆ หรือ นิยายเรื่องต่าง ๆ นิยายที่ผมจำความได้ก็คือ นิยายที่เขียนโดย ป.อินทรปาลิต พล นิกร กิมหงวน แล้วก็เรื่องอื่น ๆ อีก พอผมเรียนชั้นมัธยมศึกษาที่ 5 – 6 ตอนนั้นช่วงปิดเทอม ผมมักจะเข้าห้องสมุดพยายามอ่านหนังสือในห้องสมุดจนแทบจะอ่านทุกเล่มเลยก็ได้ ตั้งแต่หนังสือประวัติศาสตร์ต่าง ๆ หนังสือภูมิศาสตร์ หนังสือเรื่องการพัฒนาตน หนังสือการพัฒนาตนที่ผมอ่านมาก ๆ ก็คือ หนังสือของ เดล คาร์เนกี (Dale Carnegie) แปลมาโดย อาษา ขอจิตต์เมตต์ เป็นต้น

        พอเรียน ม.7 ก็ลองสอบเทียบทางด้านอักษรศาสตร์ ผมก็สอบได้ ตอนหลังมาทราบว่าสอบได้ 78% ซึ่งถือว่าเป็นคะแนนสูง ซึ่งมาจากการเรียนรู้ด้วยตัวเองมาตลอด ในช่วงที่ผมเรียนชั้น ม.5 ม.6 ม.7 ม.8 เนี่ย ผมก็พยายามอ่านหนังสือเอง ซื้อหนังสือมาอ่าน แล้วแนวทางความสามารถทางการเรียนก็เริ่มชัดว่า ความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ผมมักจะทำคะแนนได้ดีมาก ๆ ทางด้านประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ เพราะความที่ได้อ่าน คะแนนก็อยู่ในชั้นนำ แล้วก็ได้คะแนนที่ 1 มาตลอด และที่จำความได้ก็คือ วันไหนที่ครูประจำชั้น ซึ่งครูสอนวิชาไหนไม่มาสอน ก็จะลงไปหาอาจารย์ใหญ่หรือครูใหญ่ บอกว่าผมสอนแทนก็ได้ครับ ก็ชวนเพื่อนมาอยู่ในห้องใดห้องหนึ่ง แล้วก็สอนแทนครูไปเลย ผมพยายามอ่านหนังสือมากกว่าหลักสูตรซะอีก ด้วยเหตุนี้พอจบชั้น ม.8 ก่อนจะมาสอบเข้ามหาวิทยาลัย ผมไปกวดวิชาที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (พญาไท) นิดหนึ่ง แล้วสามารถสอบเข้าคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ซึ่งปัจจุบัน คือ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ เท่าที่จำได้ปีนั้นเขาคัดเลือก 100 คน ผมได้เป็นคนที่ 51 ตอนนั้นก็รู้สึกดีใจ นี่ก็เป็นประวัติการศึกษาเล่าเรียนตั้งแต่เด็กจนกระทั่งเข้ามหาวิทยาลัย


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ชั้น 3 หอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170
โทร 0-2800-2680-9 ต่อ 4346