มรดกความทรงจำ

The Memories

คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ไมโครชิปชุดแรกที่ใช้กับช้างในประเทศไทย

ไมโครชิป (Microchip) หรือ เครื่องหมายระบุตัวสัตว์อิเลคทรอนิกส์เป็นอุปกรณ์ทำเครื่องหมายระบุตัวสัตว์แบบถาวรที่ถูกนำมาใช้ประกอบในการขึ้นทะเบียนช้างเลี้ยงในประเทศไทยเป็นสัตว์พาหนะ เพื่อป้องกันการปลอมแปลงสวมทะเบียนหรือตั๋วรูปพรรณช้างเดิมที่ใช้กันมากว่า 100 ปี

ไมโครชิปชุดแรกที่ถูกนำมาใช้เพื่อบริหารจัดการช้างเลี้ยงของประเทศ โดยความริเริ่มของ รองศาสตราจารย์นายแพทย์ปานเทพ รัตนากร เลขาธิการมูลนิธิช้างแห่งประเทศไทย (ปัจจุบันสังกัดคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล) เป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัท AVID ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเริ่มใช้กับช้างเลี้ยงเชือกแรก ชื่อ พังสมบูรณ์ ณ ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์   เมื่อวันที่ 9 เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2536 จึงนับได้ว่าเป็นครั้งแรกในโลก !!

ปัจจุบันถือว่าเป็นวิธีการมาตรฐานในการทำเครื่องหมายช้างเลี้ยงของประเทศไทย และใช้กันแพร่หลายอย่างเป็นสากล ครั้งแรกในโลกที่ใช้การระบุตัวช้างด้วยไมโครชิปเพื่อจัดระเบียบช้างเลี้ยง ถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รางวัลชนะเลิศการประกวดสุนัขพันทาง ในงาน ม.มหิดลคนรักสัตว์

ถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รางวัลชนะเลิศการประกวดสุนัขพันทาง ในงาน ม.มหิดลคนรักสัตว์

ด้วยคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะสถาบันวิชาการเพื่อพัฒนานวัตกรรมใหม่ให้กับวงการสัตว์เลี้ยง ได้มีการจัดงาน “ม.มหิดล คนรักสัตว์ ครั้งที่ 1” ในระหว่างวันที่ 14-16 กุมภาพันธ์ 2546 ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างในการส่งเสริมการเลี้ยงสุนัขพันทางพื้นบ้าน และเพื่อจัดหากองทุนเพื่อสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนของคณะสัตวแพทยศาสตร์ และเพื่อเป็นการกระตุ้นให้คนไทยได้หันมาสนใจการเลี้ยงสุนัขพันลูกผสมพื้นบ้านมากขึ้น

กอปรกับชีวิตทันสมัยของคนไทยยุคใหม่ ผูกพันกับการเลี้ยงสัตว์เพื่อคลายเหงา มีผู้นิยมเลี้ยงสัตว์หลากหลายชนิดหลายประเภท และสุนัขก็ยังคงเป็นสัตว์เลี้ยงยอดนิยมไม่เสื่อมคลาย ทั้งพันแท้ พันทาง มีการจัดประกวดและฝึกความสามารถ ตลอดจนทักษะ เพื่อการพัฒนาให้อยู่กับสังควมนุษย์ได้ปรกติสุข โดยรายได้จากการจัดงานในครั้งนั้น ยังนำไปสนับสนุนกิจกรรมสงเคราะห์สัตว์และช่วยเหลือสุนัขจรจัดอีกด้วย

นับแต่ครั้งนั้น มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีความประสงค์ขอพระราชทานถ้วยรางวัลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จำนวน 1 ถ้วย เพื่อมอบให้แก่ผู้ชนะเลิศในการประกวดสุนัขพันทางตามโครงการดังกล่าว ซึ่งจะเป็นถ้วยถาวรและยังใช้ประกอบกิจกรรม ม.มหิดลคนรักสัตว์นี้เป็นประจำทุกปี อย่างต่อเนื่องจวบจนปัจจุบัน

รูปปั้นวัวลายดอกไม้

กิจกรรมการเพ้นท์วัวนี้ ตามปกติแล้วเป็นกิจกรรมที่ทำกันอย่างแพร่หลายในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (อียู) ที่เล็งเห็นประโยชน์ของการทำงานร่วมกันและแสดงออกร่วมกันเป็นเสียงเดียว นำมาซึ่งสันติภาพ ความมั่นคง ประชาธิปไตย และรักษาไว้ซึ่งความหลากหลายทางวัฒนธรรม ด้วยแนวความคิดและความสวยงามที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้พวกเราคิดที่จะลองทำงานศิลปะแนวนี้สักครั้งหนึ่ง

อันที่จริงแล้วงานศิลปะการเพ้นท์วัวชิ้นนี้ เริ่มมาจากกลุ่มคนเล็กๆ เพียงสองสามคน แต่กลับขยายวงกว้างเมื่อผู้คนที่ผ่านไปมาเริ่มให้ความสนใจ จากเป้าหมายเดียวกัน ประกอบกับความสามารถที่ต่างกัน ทำให้แต่ละคนมีอิสระในการแสดงออกตามความถนัด และความชอบของแต่ละบุคคล ไม่มีการสั่งงาน ไม่มีการบังคับ ทุกคนทำด้วยใจ ใครอยากทำก็มา ใครไม่มีเวลาก็อาจทักทายแล้วเดินผ่านไป ใครมีเวลามากก็ทำมาก ใครมีเวลาน้อยก็ทำน้อย สุดท้ายเราได้ผลงานร่วมกัน ไม่มีค่าตอบแทน แต่นับเป็นความภูมิใจร่วมกัน รู้สึกไหมว่าเราชอบพูดติดปากกันว่า ‘งานยุ่งไม่มีเวลา’ แต่การเดินผ่านมาแวะแต้มสีเพียง 2-3 นาที กลับกลายเป็นส่วนเติมเต็มสำคัญที่ทำให้หนึ่งโครงการสำเร็จได้ทั้งๆ ที่เราไม่มีเวลา ช่างน่าอัศจรรย์จริงไหม

ระหว่างทำงานชิ้นนี้ หลายครั้งที่เรากำลังสร้างสรรค์งานเพิ่ม แต่กลับพบข้อผิดพลาดที่อาจเกิดจากผู้ร่วมงานคนก่อนหน้า เราก็เพียงแก้ไขแล้วก็ทำงานของเราต่อไป เพื่อให้งานสำเร็จได้ตามเวลา ทำให้เราได้รู้ว่าปัญหานั้น จริงๆ มีไว้ให้เราแก้ แทนที่จะมาถามหาว่าใครเป็นคนสร้างปัญญหา สุดท้ายจากหลากหลายปลายพู่กัน จากความร่วมมือกัน ความสวยงามจึงเกิดขึ้นจากสีหลากสีที่มาผสมผสานกัน เราต้องไม่แบ่งแยก ไม่แตกต่าง เพราะสีย่อมอยู่ร่วมกันได้

งานบริหารจดหมายเหตุ ชั้น 3 หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170

ติดต่องานบริหารจดหมายเหตุ

โทร 0-2800-2680-9 ต่อ 4346

ติดต่องานพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ

*** สถานที่ติดต่อเข้าชมนิทรรศการหอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล

ชั้น 3 ห้องหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยมหิดล 301 อาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดล มหาวิทยาลัยมหิดล ตําบลศาลายา อําเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170

โทร 0-2849-4541-4

โทรสาร 0-2849-4545

© 2021 ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล. All Rights Reserved.