ในปี พ.ศ. 2563 เป็นปีที่ครบรอบ 120 ปี วันพระราชสมภพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
ซึ่งพระองค์ได้ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจนานัปการ เพื่อความร่มเย็นเป็นสุขให้กับปวงชนชาวไทย
โดยเฉพาะด้านการแพทย์และการสาธารณสุข ที่เป็นการสืบสานพระปณิธาน
แห่งสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
ทั้งยังทรงมีพระเมตตาแผ่ปกมายังมหาวิทยาลัยมหิดลอย่างหาที่สุดมิได้
เพื่อเป็นการน้อมสำนึกในพระกรุณาธิคุณ
ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล
จึงได้จัดนิทรรศการ “120 ปี สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” ขึ้นในโอกาสนี้
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2443 ปีชวด ตรงกับปี ค.ศ. 1900 “สังวาลย์” ได้กำเนิดขึ้นมาในครอบครัวชาวบ้านธรรมดาครอบครัวหนึ่ง ไม่มีใครคาดคิดเลยว่าบุตรคนที่ 3 ของพ่อชู และแม่คำ ช่างทองที่อาศัยอยู่ในซอยวัดอนงคาราม จะได้กลายเป็นสตรีผู้สูงศักดิ์อย่างหาผู้ใดเทียบได้
“สังวาลย์” ได้รับการศึกษาเบื้องต้นจากแม่คำ ต่อมาได้เรียนที่โรงเรียนวัดอนงคาราม เมื่อโรงเรียนนั้นเลิกกิจการไป ได้ไปเรียนต่อในโรงเรียนศึกษานารี เนื่องจากขาดแคลนทุนทรัพย์ จึงได้ออกจากโรงเรียนศึกษานารี และได้ถวายตัวเป็นข้าหลวงในสมเด็จเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร และถูกส่งไปเป็นนักเรียนประจำในโรงเรียนของหม่อมเจ้าหญิงมัณฑารพ กมลาสน์ หลังจากนั้นถูกส่งไปอยู่ที่พระตำหนักที่ประทับของสมเด็จพระพันวัสสาฯ และไปเรียนในโรงเรียนแห่งหนึ่งใกล้พระบรมมหาราชวัง จากนั้นได้ถูกส่งไปเรียนต่อยังโรงเรียนสตรีวิทยา โดยไปพำนักอยู่ที่บ้านของคุณหวน หงสกุล ต่อมา “สังวาลย์” ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุเข็มแทงมือมิดเล่ม จึงได้ไปรับการผ่าตัดที่บ้านพระยาดำรงแพทยาคุณ (ฮวด วีระไวทยะ) และได้พำนักอยู่บ้านพระยาดำรงฯ ต่อมาจนจบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จึงได้เข้าเรียน ณ โรงเรียนหญิงแพทย์ผดุงครรภ์ แลการพยาบาลไข้ ตามคำชักชวนของพระยาดำรงแพทยาคุณ
นักเรียนทุนพยาบาล
ในปี พ.ศ. 2456 ขณะที่ “สังวาลย์” อายุได้ 13 ปี ได้เข้าเรียน ณ โรงเรียนหญิงแพทย์ผดุงครรภ์ แลการพยาบาลไข้ ถึงแม้จะอายุต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ถึง 2 ปี แต่ด้วยในขณะนั้นมีนักเรียนพยาบาลอยู่น้อยและ “สังวาลย์” เป็นผู้ที่สามารถอ่านออกเขียนได้อย่างดี โรงเรียนจึงรับไว้ และได้เป็นนักเรียนหลวง คือได้อยู่ประจำที่โรงเรียนและได้รับเงินเดือน ๆ ละ 15 บาทด้วย
การเรียนพยาบาลในสมัยนั้นกำหนดหลักสูตรไว้ 3 ปี คือ ปีแรกเป็นการเรียนภาคทฤษฎี ในการเรียนปีที่สองและสาม จะเป็นการทบทวนภาคทฤษฎีและการฝึกหัดทำงาน ในการเรียนนั้นถึงแม้ “สังวาลย์” จะเป็นนักเรียนที่อายุน้อยที่สุด แต่ก็สามารถเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี และยังคอยช่วยลอกตำราให้เพื่อนร่วมชั้นอีกด้วย ส่วนการฝึกหัดภาคปฏิบัติก็ทำได้อย่างคล่องแคล่ว แต่ด้วยยังเป็นเด็กอยู่มาก จึงมีการเล่นซุกซนในระหว่างการเรียนบ้าง เช่น การเอาลูกโป่งไปเป่าเล่นจนเกิดแตกกลางชั้นเรียน และมีครั้งหนึ่งที่ต้องไปช่วยในการคลอดลูก คนต้องไปตามตัวลงมาจากต้นมะม่วง เป็นต้น
มหิดล ณ อยุธยา
หลังจากที่ “สังวาลย์” และอุบล เดินทางไปถึงเมืองบอสตันแล้ว สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ให้นักเรียนหญิงทั้ง 2 คน ได้อาศัยกับครอบครัวสตรอง ที่เมืองฮาร์ตฟอร์ด ซึ่งใช้เวลาเดินทางโดยรถไฟจากเมืองบอสตัน 4-5 ชั่วโมง โดยให้เรียนและฝึกฝนภาษาอังกฤษให้ชำนาญเสียก่อน เพื่อจะได้ฟังบรรยายในระดับมหาวิทยาลัยรู้เรื่อง คุ้มค่าของเวลาและเงินที่เสียไป
สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ทรงห่วงใยความเป็นอยู่ของนักเรียนหญิงทั้งสองนี้มาก โดยจะเสด็จไปเยี่ยมในวันอาทิตย์อยู่บ่อยครั้ง และทรงพาไปเที่ยวสวนสาธารณะต่าง ๆ ภายในเมืองฮาร์ตฟอร์ดอย่างเป็นกันเอง ในบางครั้งก็ให้เดินทางไปเที่ยวที่เมืองบอสตันโดยทรงดูแลทั้งสองเป็นอย่างดี ทำให้ทรงคุ้นเคยและต้องพระทัยในอุปนิสัยของ “สังวาลย์”
ศรีนครินทรา ศรีแห่งแผ่นดิน
เมื่อครั้งสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์สิ้นพระชนม์ พระชายา “หม่อมสังวาลย์” เพิ่งจะอายุได้ 29 ปีต้องอภิบาลพระโอรสธิดาที่ยังทรงเยาว์ถึง 3 พระองค์ โดยสมเด็จพระพันวัสสาฯ ทรงให้สิทธิ์ “หม่อมสังวาลย์” เลี้ยงดูอบรมสั่งสอนพระราชนัดดาทั้งสามพระองค์ โดยจะไม่ทรงก้าวก่าย ด้วยทรงเชื่อมั่นในความฉลาดและความมีสติของพระสุณิสาเป็นอันมาก ซึ่ง “หม่อมสังวาลย์” ได้เลี้ยงดูพระโอรสธิดาอย่างสมัยใหม่ ถูกหลักอนามัย ตามที่ได้เคยศึกษามาจากต่างประเทศ ไม่ได้ใช้ระเบียบโบราณ เมื่อพระโอรสธิดาทรงเจริญวัยขึ้น ก็โปรดให้ทรงเข้าศึกษาในโรงเรียนร่วมกับสามัญชน
ในปี พ.ศ. 2475 เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทำให้เกิดการเปลี่ยงแปลงของครอบครัวมหิดล ด้วยสมเด็จพระพันวัสสาฯ ทรงเป็นห่วงความเป็นอยู่ การศึกษา และพระสุขภาพของพระราชนัดดา จึงทรงปรึกษากับเจ้านายที่ใกล้ชิด รวมถึง “หม่อมสังวาลย์” ความสรุปว่าจะส่งพระราชนัดดาไปทรงศึกษาต่อ ณ เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เนื่องจากเป็นเมืองที่มีอากาศดี ภูมิประเทศสวยงาม พลเมืองมีอัธยาศัยดี และยังเป็นเมืองที่ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสงขลานครินทร์ โปรดมากอีกด้วย โดยประทับที่แฟลตเลขที่ 19 ถนน ดิสโชต์ และให้พระโอรสธิดาเสด็จไปทรงเรียนหนังสือที่โรงเรียนประถมเมียร์มองต์
สืบสานพระปณิธานเพื่อสังคม
สมเด็จพระศรีนคริทราบรมราชชนนีทรงปฏิบัติพระกรณียกิจในด้ายการแพทย์และการสาธารณสุขของประชาชนชาวไทย นับเป็นการสืบสานพระปณิธาน ในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ที่ต้องการพัฒนาการแพทย์และการสาธารณสุขให้เพียงพอต่อความต้องการของคนในประเทศ
เหรียญทองสุขภาพดีถ้วนหน้า
จากการที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีได้ทรงงานด้านสาธารณสุขและงานสังคมสงเคราะห์ เพื่อให้ประชาชนชาวไทยมีสุขภาพที่ดี เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลก ทำให้องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเหรียญทองสุขภาพดีถ้วนหน้า (HEALTH-for-ALL GOLD MEDAL) โดยนายแพทย์นากาจิมา ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก เป็นผู้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัลดังกล่าว ในวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2533 ณ วังสระปทุม ซึ่งเป็นพระองค์แรกในประวัติศาสตร์องค์การอนามัยโลกที่ได้รับรางวัลนี้ด้วย
บุคคลสำคัญของโลก
ในวโรกาสครบรอบ 100 ปี แห่งวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี คณะรัฐมนตรีได้เสนอพระนาม ให้องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เฉลิมฉลองเพื่อถวายพระเกียรติคุณในฐานะเป็นบุคคลสำคัญผู้มีผลงานดีเด่น ซึ่งองค์การ UNESCO ได้ตอบรับในวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2542 โดยมีการเฉลิมฉลองตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2543 ได้มีการจัดงานปาฐกถาและนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติทั้งในประเทศไทย ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา สำหรับภายในประเทศไทยมีกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติอีกนับร้อยโครงการ ทั้งยังมีการจัดทำตราไปรษณียากรและเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกอีกด้วย