มรดกความทรงจำ

The Memories

วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล


กว่าจะมาเป็น... วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา

มหาวิทยาลัยมหิดลซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีพื้นฐานมาจากวิชาการแพทย์และสาธารณสุข ได้ตระหนักถึงภาระความรับผิดชอบในการเสริมสร้างสุขภาพของปวงชน โดยเน้นการป้องกันเป็นหลักสำคัญ การเยียวยารักษาเป็นรอง การออกกำลังกายและการกีฬาเป็นกิจกรรมหนึ่งซึ่งถูกนำมาใช้ในการป้องกันมิให้ประชาชนมีพยาธิสภาพ และช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพการทำงานของร่างกายมนุษย์

ในปีพ.ศ. 2530 ได้เสนอขออนุมัติจัดตั้งโรงเรียนกีฬาเวชศาสตร์ขึ้นเป็นหน่วยงานภายในสังกัดภาควิชาศัลยศาสตร์-ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเพื่อจัดการจัดการเรียนการสอนระดับปริญญาตรี(ต่อเนื่อง)

ในปีพ.ศ. 2530 ได้มีการจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาสมรรถภาพทางกายขึ้นเป็นหน่วยงานในสังกัดบัณฑิตวิทยาลัย โดยมีเป้าหมายให้เป็นวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬาในอนาคต เพื่อทำหน้าที่ในการส่งเสริม เผยแพร่ความรู้ และดำเนินการด้านการวิจัยและพัฒนาสมรรถภาพทางกายให้การกีฬาบรรลุเป้าหมายอย่างสมบูรณ์ จากนั้น จึงได้ริเริ่มที่จะสร้างอาคารศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬาและสระว่ายน้ำขึ้นภายในมหาวิทยาลัยมหิดล ณ ศาลายา ผลิตผู้นำทางด้านการศึกษาวิจัยและบุคลากรในสาขาวิทยาศาสตร์การกีฬาเพื่อสนองตอบนโยบายของชาติ และตามมติคณะรัฐมนตรีที่ให้มีการสนับสนุนกีฬาของชาติในทุกๆ ด้าน โดยให้ถือเป็นนโยบายในทางปฏิบัติของทางราชการ และให้หน่วยงานต่างๆ ของรัฐ ส่งเสริมข้าราชการ พนักงาน ได้มีการเล่นกีฬาอย่างแพร่หลาย นอกจากนี้ ยังให้ความร่วมมือกับการกีฬาแห่งประเทศไทย คณะกรรมการกีฬาแห่งประเทศไทยและคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยในการเตรียมตัวนักกีฬาระดับชาติ เพื่อการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ กีฬาเอเชียนเกมส์และกีฬาโอลิมปิค ในการนี้ ควรจัดให้มีศูนย์กีฬาตามชุมชนต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้มีสถานที่เล่นกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดลมีที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของกรุงเทพมหานคร ท่ามกลางชุมชนขนาดใหญ่และมีความพร้อมในด้านต่างๆ จึงสมควรให้พัฒนาเป็นศูนย์กีฬาของชุมชนในพื้นที่นี้ด้วย

ผลรวมแนวคิดนี้จึงได้เกิดหน่วยงานใหม่เพื่อเป็นแกนหลักประสานให้บรรลุผล นั่นคือ โครงการจัดตั้งวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา ให้เป็นหน่วยงานในสังกัดของบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อรองรับการดำเนินงานให้เป็นวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬาต่อไป

ในฐานะที่มหาวิทยาลัยมหิดลมีความพร้อมในทุกด้าน กล่าวคือ จากการวางแผนอย่างไตร่ตรอง การวางรากฐานที่มั่นคง ความวิริยะ อุตสาหะ มุ่งมั่น การร่วมคิดร่วมสร้าง จึงปรากฎภาพที่เป็นรูปเป็นร่างเด่นชัดขึ้นทุกที จนบรรลุเป้าหมายตามวัตถุประสงค์ ในปีพ.ศ. 2537

ในปีพ.ศ. 2539 โครงการจัดตั้งวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งเป็นวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มีฐานะเทียบเท่าคณะในมหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2539 และได้รับโอนโรงเรียนกีฬาเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เข้ามาไว้ในหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต ยกร่างหลักสูตรระดับปริญญาโท และขยายต่อไปยังระดับ

ปริญญาเอก เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการจัดการเรียนการสอน และการวิจัยในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา

อาคารศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬาและสระว่ายน้ำแห่งนี้ ได้รับพระบรมราชานุญาติให้เข้าเป็นหนึ่งในโครงการเฉลิมพระเกียรติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เนื่องในวโรกาสเฉลิมฉลองรัชมังคลาภิเษก เฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ เมื่อปีพ.ศ. 2531 และนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าพระราชทานชื่ออาคารนี้ว่า “สิริมงคล” เมื่อปีพ.ศ. 2539

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์พระองค์แรกของโลกที่ทรงได้รับการถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิทยาศาสตร์การกีฬา

วิทยาศาสตร์การกีฬา เป็นวิทยาการใหม่สาขาหนึ่งที่มหาวิทยาลัยมหิดลได้เปิดการเรียนการสอนขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย เป็นสาขาวิชาการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระทัย และทรงมีพระปรีชาสามารถยิ่งนัก ตลอดเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมาจนถึงทุกวันนี้ เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าพระราชกิจอย่างหนึ่งในตอนค่ำ คือการทรงกีฬาและการบริหารพระวรกายทุกวันมิได้ขาด ทุกครั้งจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้แพทย์และนักวิทยาศาสตร์ตรวจวัดความเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาในพระวรกายเป็นประจำ ได้ทรงศึกษาในเรื่องวิทยาศาสตร์การกีฬาเป็นการส่วนพระองค์มาโดยต่อเนื่อง นอกจากจะทรงมีพระสุขภาพอนามัยแข็งแรง ทรงเป็นตัวอย่างแก่บรรดาพสกนิการแล้ว ยังทรงพระเมตตา พระราชทานความคิด และแนวทางปฏิบัติในเรื่องวิทยาศาสตร์และการกีฬาตลอดมา ก่อให้เกิดคุณประโยชน์ทั้งในด้านความสมบูรณ์ของร่างกาย และการพัฒนาอุปนิสัยที่ดีงามในส่วนรวมอีกด้วย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้พระราชทานพระราชดำรัสเกี่ยวกับการกีฬาไว้ว่า “การกีฬามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับชีวิตของแต่ละคนและชีวิตของบ้านเมือง” พระราชดำรัสนี้แสดงให้เห็นพระราชปณิธานในเรื่องการส่งเสริมการกีฬาว่าเป็นสิ่งจำเป็น และเป็นส่วนสำคัญยิ่งในการพัฒนาบุคคลและประเทศชาติ จึงได้ทรงส่งเสริมการกีฬาทุกประเภท

ในฐานะที่พระองค์ท่านทรงเป็นมิ่งขวัญของวงการกีฬาไทยมาโดยตลอด เพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณอันยิ่งใหญ่ สภามหาวิทยาลัยมหิดล ในการประชุม ครั้งที่ 195 เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2534 จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ ให้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญา วิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต กิตติมศักดิ์ สาขาวิทยาศาสตร์การกีฬา แด่พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เพื่อเป็นสิริมงคลแก่มหาวิทยาลัยสืบไป

ที่มา : เรียบเรียงจากคำประกาศราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ในวโรกาสที่มหาวิทยาลัยมหิดล ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิทยาศาสตร์การกีฬา วันพฤหัสบดีที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2534

การครองแชมป์เหรียญทอง 12 ปี ติดต่อกัน

เริ่มจากการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 24 ในปี พ.ศ. 2540 เป็นจุดเชื่อมต่อแห่งประวัติศาสตร์ ของทีมนักกีฬาประเภทกรีฑา จากวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ประสบความสำเร็จในครั้งแรกของการคว้าเหรียญทอง นับเป็นขวัญกำลังใจอย่างยิ่งที่จะจุดประกายในการมุมานะ เตรียมความพร้อมและการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหัวใจสำคัญ คือ โค้ชหรือผู้สอน ที่จะรักษาระดับมาตรฐานและคงไว้ซึ่งศักยภาพสูงสุดต่อการคว้าชัยชนะเพื่อสร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัยมหิดลของเรา

นับจากปีพ.ศ. 2540 เป็นต้นมา กระบวนการฝึกซ้อมอย่างมีเป้าหมายและมีระบบโดยอาศัยองค์ความพร้อมหลายประการทั้งด้านปัจจัยเกื้อหนุน สถานที่ อุปกรณ์เสริมด้าน วิทยาศาสตร์การกีฬาอย่างครบวงจร จึงก่อร่างสร้างมาตรฐานที่เข้มแข็งขึ้น จนสามารถนำความสำเร็จและความภาคภูมิใจต่อมหาวิทยาลัยตั้งแต่บัดนั้น คือการคว้าชัยชนะเลิศ ครองเหรียญทอง ในกีฬาประเภทกรีฑา ติดต่อกันมา ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2540 จนถึงปัจจุบัน นับเป็นเวลาถึง 12 ปี ติดต่อกัน

จุดเด่นที่นำมาสู่ความสำเร็จ

  • มหาวิทยาลัยมีความพร้อมทางด้านสนาม อุปกรณ์ สถานที่ ที่เอื้อต่อการฝึกซ้อม
  • นักศึกษาที่เป็นนักกรีฑา ได้รับการสร้างแรงจูงใจให้เข้ามาศึกษาต่ออย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลา 14 ปีที่ผ่านพ้นจนถึงปัจจุบัน
  • มีสต๊าฟโค้ช และผู้ฝึกสอน ที่มีความรู้ความสามารถทุ่มเทและตั้งใจในการดูแลนักกีฬาอย่างต่อเนื่อง
  • มีองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญดูแลอย่างต่อเนื่องมหาวิทยาลัยมีการส่งเสริมและสนับสนุนงบประมาณในด้านต่างๆ และนักกีฬาเป็นอย่างดี

งานบริหารจดหมายเหตุ ชั้น 3 หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170

ติดต่องานบริหารจดหมายเหตุ

โทร 0-2800-2680-9 ต่อ 4346

ติดต่องานพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ

*** สถานที่ติดต่อเข้าชมนิทรรศการหอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล

ชั้น 3 ห้องหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยมหิดล 301 อาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดล มหาวิทยาลัยมหิดล ตําบลศาลายา อําเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170

โทร 0-2849-4541-4

โทรสาร 0-2849-4545

© 2021 ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล. All Rights Reserved.