มรดกความทรงจำ

The Memories

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่เปรียบมิได้

อาจกล่าวได้ว่าที่คณะวิทยาศาสตร์สามารถก้าวมาไกลจนถึงทุกวันนี้ได้นั้น เป็นผลมาจากความเพียรพยายามและทุ่มเทอย่างที่สุดของ “อาจารย์สตางค์” ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคสุข ผู้ก่อตั้งและคณบดีท่านแรกของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2501 ในครั้งแรกนั้นก่อตั้งเป็น โรงเรียนเตรียมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยมีแนวคิดเพื่อจัดการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐานให้แก่นักเรียนเตรียมแพทย์เป็นเวลา 2 ปี ก่อนที่จะแยกย้ายไปศึกษาในสาขาต่างๆ ต่อมาจึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาเพื่อให้เป็น คณะวิทยาศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เพื่อดำเนินการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลุสข เป็นผู้ผลักดันแนวคิดนี้ให้บรรลุตามวัตถุประสงค์

ในครั้งแรกเริ่มนั้นต้องอาศัยตึกเทคนิคการแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นสถานที่ทำการเรียนการสอนเป็นการชั่วคราว และด้วยความพยายามของ “อาจารย์สตางค์” จึงได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลในสมัยของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โอนที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และงบประมาณจำนวนหนึ่งในการจัดสร้างอาคารเรียนขึ้น ณ บริเวณถนนศรีอยุธยา ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นที่ตั้งของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2503 รัฐบาลจึงได้ตราพระราชบัญญัติยกฐานะของโรงเรียนเตรียมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ขึ้นเป็น คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข ดำรงตำแหน่งคณบดีท่านแรก

ต่อมาเมื่อการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ได้เจริญรุดหน้ามากขึ้น และคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์มีจำนวนนักศึกษาเพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้อาคารสถานที่ของคณะฯ บริเวณถนนศรีอยุธยาเริ่มคับแคบ อีกทั้งด้วยวิสัยทัศน์ของ “อาจารย์สตางค์” ที่เล็งเห็นแล้วว่าคณะฯ จำเป็นต้องขยับขยายพื้นที่เพื่อรองรับนักศึกษาและการขยายตัวของการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ในประเทศ จึงได้ดำเนินการในการสรรหาพื้นที่แห่งใหม่สำหรับคณะฯ รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณและที่ดินในการก่อสร้างคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์แห่งใหม่ขึ้น บริเวณถนนพระรามที่ 6 ซึ่งประกอบด้วยอาคารเรียนและปฏิบัติการวิทยาศาสตร์จำนวน 5 หลัง และอาคารปาฐกถา 1 หลัง ซึ่งในวันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2508 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์ และเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดอาคาร ในวันจันทร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2511 ในการนี้ พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์และยังได้ทดลองใช้เครื่องมือทดลองวิทยาศาสตร์ แสดงให้เห็นถึงความสนพระราชหฤทัยในการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นขวัญและกำลังใจแก่คณาจารย์ นักศึกษา และบุคลากรของคณะวิทยาศาสตร์อย่างล้นพ้น

อนึ่ง ในการเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดอาคารเรียนเมื่อปี พ.ศ. 2511 นั้น ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยไว้เป็นอนุสรณ์ โดยสมุดลงนามเล่มนั้นได้จัดเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑ์สตางค์ มงคลสุข ภายในห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มาจนถึงทุกวันนี้

จากพระมหากรุณาธิคุณในครั้งนั้นจึงนับเป็นการวางรากฐานในการก่อกำเนิด คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศและของภูมิภาคนี้ เป็นสถาบันที่ผลิตบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์อันเป็นกำลังสำคัญเพื่อพัฒนาประเทศชาติและสังคมโลกมาอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ

“อาจารย์สตางค์” ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข ผู้ก่อตั้งและคณบดีท่านแรกของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

“ถ้าไม่มีอาจารย์สตางค์เสียแล้ว ก็คงไม่มีคณะวิทยาศาสตร์” คำพูดนี้คงไม่เกินไปจากความเป็นจริง เพราะ “อาจารย์สตางค์” คือผู้ก่อกำเนิดและวางรากฐานที่มั่นคงจนคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ยืนยงแข็งแกร่งมาจนถึงปัจจุบัน

อาจารย์สตางค์ เริ่มต้นสร้างคณะวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่ยังไม่มีอิฐเลยสักก้อน จากที่ท่านได้รับมอบหมายให้ดำเนินการจัดตั้งคณะวิทยาศาสตร์ สำหรับมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ขึ้นในปี พ.ศ. 2501 ในช่วงเริ่มแรกนั้น ยังต้องอาศัยตึกเทคนิคการแพทย์ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เป็นที่เรียน โดยมีนักศึกษารุ่นแรกเพียง 65 คน มีอาจารย์อยู่เพียง 9 ท่าน จากนั้นในปี พ.ศ. 2503 จึงได้ย้ายมายังบริเวณถนนศรีอยุธยา จนเมื่อการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ได้เจริญก้าวหน้าขึ้น มีนักศึกษาเพิ่มขึ้นทุกปี อาจารย์สตางค์จึงได้ดำเนินการเพื่อขออนุมัติจากรัฐบาลในการจัดหาสถานที่ก่อสร้างคณะฯ แห่งใหม่

งบประมาณในการสร้างคณะฯ แห่งใหม่นั้นมาจากงบประมาณของรัฐบาลและจากมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ ซึ่งอาจารย์สตางค์เป็นผู้เดินทางไปติดต่อขอความช่วยเหลือด้วยตนเอง โดยมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ได้ให้ความช่วยเหลือด้านงบประมาณในการก่อสร้างอาคาร การจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์และส่งบุคลากรผู้เชี่ยวชาญมาช่วยดำเนินการในระยะแรก การขอความช่วยเหลือนี้ อาจารย์อาวุโสชาวต่างชาติท่านหนึ่งเล่าไว้ว่า “ที่ทางมูลนิธิเขาช่วยเหลือ ก็เป็นเพราะอาจารย์สตางค์ ถ้าเป็นคนอื่น เขาก็คงไม่ช่วย”

อาจารย์สตางค์ยังเป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ท่านเล็งเห็นถึงความสำคัญในการศึกษาวิจัยด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน จึงมักชักชวนนักศึกษาที่มีศักยภาพสูงเช่นนักเรียนเตรียมแพทย์หรือวิศวะ ให้หันมาเรียนวิทยาศาสตร์ จนได้สร้างนักวิทยาศาสตร์มีชื่อเสียงระดับนานาชาติมากมาย นอกจากนี้ ท่านยังติดต่อขอทุนการศึกษาอีกจำนวนมากให้กับนักศึกษาเพื่อไปศึกษาและทำวิจัยยังต่างประเทศ เพื่อที่จะได้กลับมาสานต่อภารกิจในการสร้างนักวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพให้กับประเทศชาติ ลูกศิษย์ของท่านจำนวนมากได้สร้างชื่อเสียงและคุณูปการมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการได้รับรางวัลเกียรติยศทั้งในและต่างประเทศ เป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมทั้งยังดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงและเป็นผู้วางนโยบายด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศอีกมากมายหลายท่าน

ภายหลังจากที่ท่านได้ก่อตั้งคณะวิทยาศาสตร์จนประสบความสำเร็จแล้ว ท่านยังได้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการดำเนินโครงการจัดตั้งมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาคอีกหลายแห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นแผนงานในการพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มีความสำคัญต่อประเทศชาติเป็นอย่างยิ่ง นับว่า ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข เป็นผู้ที่ทุ่มเทและอุทิศชีวิตให้แก่วงการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศอย่างแท้จริง

“ตึกกลม” คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

เมื่อเอ่ยถึงคณะวิทยาศาสตร์แล้ว สิ่งที่แทบทุกคนนึกถึงเห็นจะไม่พ้นอาคารเรียนที่มีรูปทรงแปลกตา คือเมื่อมองจากด้านบนลงมาจะเป็นเป็นรูปวงกลม หากมองไกลๆ แล้วอาจเข้าใจว่าเป็นจานบิน ซึ่งใครต่อใครต่างเรียกขานว่า “ตึกกลม”

ตึกกลม สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2508 เพื่อใช้เป็นอาคารปาฐกถา เมื่อครั้งที่ย้ายคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์จากบริเวณถนนศรีอุธยามาตั้ง ณ บริเวณถนนพระรามที่ 6 ซึ่งเป็นที่ตั้งในปัจจุบัน โดยใช้งบประมาณกว่า 4 ล้านบาท เป็นการร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลไทยและมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์

ผู้ออกแบบอาคารรูปทรงแปลกตาหลังนี้คือ อาจารย์อมร ศรีวงศ์ ท่านเล่าให้ฟังว่าการผลักดันโครงการก่อสร้างคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ในครั้งนั้น เป็นฝีมือของ “อาจารย์สตางค์” ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข เพราะท่านเป็นผู้ประสานงานติดต่อขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลไทยและจากมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ จนได้รับความช่วยเหลือทั้งในด้านเงินทุนและบุคลากร

เหตุผลในการสร้างอาคารเป็นรูปวงกลมนั้น เป็นเพราะการคำนึงถึงประโยชน์การใช้งานเป็นสำคัญ จากแนวคิดที่ว่าห้องเหลี่ยมไม่เหมาะแก่การจัดบรรยาย เนื่องจากเสียงที่กระจายอย่างไม่สม่ำเสมอ มีการสะท้อนของเสียงมากเกินไป รวมทั้งการมองเห็นผู้บรรยายที่ไม่เท่ากัน จึงมีการออกแบบห้องบรรยายในลักษณะที่ป้านออก มีผู้บรรยายเป็นจุดศูนย์รวมสายตา เสียงบรรยายกระจายไปทั่วทุกจุดอย่างเท่าเทียม ส่วนด้านล่างของอาคารเป็นพื้นที่โล่งสำหรับทำกิจกรรมของนักศึกษา เจาะหลังคาเป็นช่องเพื่ออาศัยแสงสว่างจากธรรมชาติ บริเวณพื้นผิวอาคารส่วนที่เป็นเพดานด้านนอกใช้แผ่นไม้กระดานกดทาบให้คอนกรีตเยิ้มออกมาเป็นทางเพื่อสร้าง Texture ให้ดูน่าสนใจ ส่วนฐานของโครงสร้างใช้ก้อนหินคละขนาดก่อเป็นฐาน ขณะที่หลังคาที่เรียงตัวอย่างเป็นระเบียบดูสวยงามก็ใช้กระเบื้องที่ทำในประเทศ ซึ่งราคาสมัยนั้นแผ่นละไม่ถึง 10 บาท ทำให้ทุ่นค่าใช้จ่ายไปได้มากทีเดียว จากงบประมาณในการสร้างตึกหลังนี้ที่ได้มา 4 ล้านบาท

ตึกกลม ประกอบได้ด้วยห้องบรรยาย 5 ห้อง ขนาด 250 ที่นั่ง 4 ห้อง (L01-L04) และ 1 ห้องขนาดใหญ่ขนาดจุ 500 ที่นั่ง (L01) สำหรับห้องใหญ่นี้ นอกจากจะใช้บรรยายรวมแล้ว ยังใช้เป็นสถานที่ทำกิจกรรมต่างๆ ของคณะฯ เป็นศูนย์รวมของกิจกรรมนักศึกษาและกิจกรรมทางวิชาการ เช่น งานไหว้ครูประจำปี งานปาฐกถาพิเศษ งานประชุมวิชาการต่างๆ เป็นต้น

ไม่เพียงแค่รูปลักษณ์ที่สร้างความประทับใจเมื่อแรกเห็น แต่ตึกกลมยังเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของการสร้างบุคลากรทางวิทยาศาสตร์ในยุคทองของการบุกเบิกการศึกษาระดับประเทศอย่างจริงจัง แม้เวลาจะผ่านมาเนิ่นนาน แต่ตึกกลมก็ยังคงความนำสมัยอย่างไม่เปลี่ยนแปลง ตึกหลังนี้กลายเป็นอาคารตัวอย่างสำหรับนักศึกษาสถาปัตยกรรมในการเรียนรู้แนวคิดการออกแบบและการวางโครงสร้างอาคาร เป็นจุดสนใจของผู้คนจากหลากหลายวงการ จนมีการเผยแพร่ออกสู่สื่อสาธารณะทั้งหนังสือพิมพ์ นิตยสาร รายการสารคดีโทรทัศน์อยู่บ่อยครั้ง

ในปี พ.ศ. 2553 ตึกกลม ได้รับเกียรติจากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยคณะกรรมการอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรม พิจารณาให้ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2553 ประเภทอาคารสถาบันและอาคารสาธารณะ ซึ่งสร้างความภาคภูมิใจให้ชาวคณะวิทยาศาสตร์อย่างที่สุด

งานบริหารจดหมายเหตุ ชั้น 3 หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170

ติดต่องานบริหารจดหมายเหตุ

โทร 0-2800-2680-9 ต่อ 4346

ติดต่องานพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ

*** สถานที่ติดต่อเข้าชมนิทรรศการหอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล

ชั้น 3 ห้องหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยมหิดล 301 อาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดล มหาวิทยาลัยมหิดล ตําบลศาลายา อําเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170

โทร 0-2849-4541-4

โทรสาร 0-2849-4545

© 2021 ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล. All Rights Reserved.