พิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ

Museums & Exhibitions

นิทรรศวันมหิดล เรื่อง พระผู้การุณย์ต่อการอุดมศึกษาไทย (นิทรรศการพิเศษ)

จัดนิทรรศการ วันที่ 11 เดือนกันยายน พ.ศ. 2555 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

[dflip id="12340"][/dflip]

“ฉันจะไปเรียนหมอละ เพราะว่าเป็นวิชาที่สนุกดี เรามีโอกาสรักษาคนได้ทั้งคนจน และคนมั่งมี และเจ้านายต่างๆ ได้เต็มที่ หมอทำการกุศลในการรักษาพยาบาลได้ดี.....

เมืองไทยเรา ถ้าเจ้านายทรงทำหน้าที่อย่างสามัญชนเข้าบ้าง เขาว่าเสียพระเกียรติ ฉันรู้สึกว่ามัวแต่จะรักษาพระเกียรติอยู่ก็ไม่ต้องทำงานอะไรกัน” ิ

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก รับสั่งกับพลตรี พระศักดาพลรักษ์ เกี่ยวกับการตัดสินพระทัยเรียนด้านการแพทย์

คณาจารย์และผู้เข้าอบรมแพทย์สาธารณสุขในปี พ.ศ. ๒๔๖๗

ท่าน้ำศิริราชที่สมเด็จพระบรมราชชนกเสด็จทอดพระเนตร โรงศิริราชพยาบาลในปี พ.ศ. ๒๔๕๙

  • นาวาวิถีการแพทย์และสาธารณสุขไทย
  • น้ำพระทัยสู่ปัญญาของแผ่นดิน
  • น้ำพระทัยสู่ปัญญาของแผ่นดิน
  • ตัวอย่างผุ้ได้รับทุนพระราชทาน
นาวาวิถีการแพทย์และสาธารณสุขไทย

นาวาสู่วิถีการแพทย์และสาธารณสุขไทย

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกทรงมีความสนิทสนมกลมเกลียวกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ซึ่งเป็นพระราชโอรสบุญธรรมในสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการราชแพทยาลัยพร้อมด้วยหม่อมเจ้าพูนศรีเกษม เกษมศรี อาจารย์ ทางวิทยาศาสตร์

ในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ พระองค์ทรงรับคำกราบทูลเชิญเสด็จประทับเรือยนต์ประพาสทางน้ำ และทรงแวะที่ท่าเรือโรงศิริราช พยาบาลเพื่อทอดพระเนตร ภาพที่ปรากฏต่อสายพระเนตรคือ คนไข้นั่งรอนอนรออยู่ใต้ต้นมะขามใหญ่ เพื่อคอยรับการรักษา พยาบาล แต่ไม่มีที่พัก เมื่อเสด็จเข้าไปในเรือนคนไข้ ห้องยา และห้องคลอดบุตรอยู่ในสภาพเรือนไม้ พื้นปูไม้กระดานห่าง ๆ เป็นร่องโตไม่สม่ำเสมอกัน คนไข้นอนเรียงกันแออัด จนทำให้พระองค์ทรงปรารภว่า เหมือนโรงม้า เป็นเหตุให้พระองค์ทรงสลด พระทัยอย่างยิ่ง เสด็จในกรมฯ และหม่อมเจ้าพูนศรีเกษมจึงได้กราบทูลถึงอุปสรรคนานัปการของโรงเรียนแพทย์และโรงพยาบาล อีกทั้งทรงชักชวนให้พระองค์ทรงช่วยเหลือในกิจการด้านการแพทย์

ต่อมาอีกหลายวันพระองค์ทรงตัดสินพระทัยลาออกจากราชการกองทัพเรือ แม้พระองค์ทรงมีพระนิสัยฝักใฝ่ในงานทหารเรือ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการสอนนักเรียนนายเรือควบคู่เรื่องเรือดำน้ำและเรือตอร์ปิโดรักษาฝั่ง ตลอดจนการร่างโครงการสร้าง กำลังทางเรือ ทว่าพระองค์ทรงตกลงพระทัยจะมาช่วยงานทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข หากแต่พระองค์ทรงเห็นว่า ต้องเสด็จไปศึกษาวิชาเฉพาะให้รู้อย่างถ่องแท้เสียก่อน จึงสามารถกลับมาช่วยเหลือได้ โดยรับสั่งว่า “เราก็ต้องทำกันจริงๆ ทำอย่างไม่มีหลักก็เป็นการสนุกชั่วคราว ไร้ประโยชน์”

น้ำพระทัยสู่ปัญญาของแผ่นดิน

น้ำพระทัยสู่ปัญญาของแผ่นดิน

ในเบื้องต้นพระองค์เสด็จไปศึกษาวิชาสาธารณสุขที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ช่วงที่พระองค์ ทรงศึกษาอยู่นั้น ทรงตั้งพระทัยศึกษาเล่าเรียนอย่างจริงจังด้วยความมุ่งมั่นว่า การสาธารณสุขจะได้ผลดีต้องมีแพทย์คุณภาพสูง ในการปรับปรุงโรงเรียนแพทย์นั้นสมควรมีครูของเราเอง ดังนั้นทรงมีพระราชประสงค์ให้นักเรียนแพทย์ไปศึกษาต่อที่ สหรัฐอเมริกา โดยพระราชทานทุนส่วนพระองค์ให้แก่ นักเรียนแพทย์ ๒ คน คือ นายลิ ศรีพยัตต์ (หลวงลิปิธรรมศรีพยัตต์) และนายนิตย์ เปาเวทย์ (หลวงนิตย์เวชชวิศิษฏ์) กับนักเรียนพยาบาล ๒ คน ทุนสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า คือ นางสาวสังวาลย์ ตะละภัฎ (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) และนางสาวอุบล ปาลกวงศ์ ณ อยุธยา (นางอุบล ลิปิธรรมศรีพยัตต์) ทั้งนี้ พระองค์ทรงดูแลเอาใจใส่นักเรียนในความปกครอง โดยการแนะนำวิธีการดำเนินชีวิตและขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมต่างชาติ พร้อมทั้งทรงอบรมให้รู้จักมัธยัสถ์ โดยรับสั่งเตือนสติว่า

“เงินที่ฉันได้ใช้ออกมาเรียน หรือให้พวกเธอออกมาเรียนนี้ ไม่ใช่เงินทองฉันแต่เป็นเงินของราษฎร เขาจ้างให้ออกมาเรียน ฉะนั้นเธอต้องตั้งใจเรียนให้ดี ให้สำเร็จเพื่อจะได้กลับไปทำประโยชน์ ให้แก่ประเทศชาติและขอให้ประหยัดใช้เงิน เพื่อฉันจะได้มีเงินเก็บไว้ช่วยเหลือผู้อื่นต่อไป”

นับเป็นพระราชกรณียกิจประการแรกสำหรับการช่วยเหลือในกิจการวิชาแพทย์ ดั่งความมุ่งมั่นพระทัยคือ การพระราชทานทุน ส่วนพระองค์ การสนับสนุนการสร้างครู ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ การแพทย์ และการพยาบาล ให้ไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ ซึ่งทรง ทำต่อเนื่องเรื่อยมา และทุนดังกล่าวยังคงปรากฏอยู่ในปัจจุบัน

พระราชกรณียกิจอีกประการหนึ่ง คือ การรับเป็นองค์ผู้แทนรัฐบาลไทยในการเจรจากับมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ จนสามารถ จัดให้มีการร่างข้อตกลงขั้นสุดท้ายเป็นการบันทึกข้อตกลง (Memorandum) ซึ่งได้รับการรับรองจากทั้งทางมูลนิธิ และได้รับ พระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปลาย พ.ศ. ๒๔๖๕ กล่าวโดยสรุปคือ มูลนิธิจะส่งศาสตราจารย์ ต่างประเทศเข้ามาช่วยจัดทำหลักสูตรวิชาแพทย์ ช่วยสอนด้านวิทยาศาสตร์ (เตรียมแพทย์) และด้านแพทยศาสตร์ (ปรีคลินิก และคลินิก) มูลนิธิกับรัฐบาลไทยจะช่วยสร้างอาคารสถานที่ และมูลนิธิจะให้ทุนแพทย์ไทยไปศึกษาต่อต่างประเทศ โดยสมเด็จพระบรมราชชนกทรงคัดเลือกนักเรียนไทยที่กำลังเรียนวิชาแพทย์ในสหรัฐอเมริกาและยุโรปให้ได้รับทุน

ทุนที่สมเด็จพระบรมราชชนก ทรงพระราชทานประกอบด้วย ทุนส่วนพระองค์ ทุนวิทยาศาสตร์แห่งการแพทย์ ทุนพระราชมรดก โดยได้นำมาพัฒนาทั้งด้านการแพทย์ ทันตแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ สาธารณสุขศาสตร์ การพยาบาล วิทยาศาสตร์ และการอุดมศึกษา ฯลฯ

ด้วยพระการุณย์ของสมเด็จพระบรมราชชนกที่ทรงมุ่งมั่นจะปรับปรุงการแพทย์และการสาธารณสุขไทยให้เจริญยิ่งขึ้น ทั้งทางตรงและทางอ้อมมาตลอดพระชนม์ชีพ จึงทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญานามว่า “พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขไทย”

น้ำพระทัยสู่ปัญญาของแผ่นดิน

เอกสารลายพระหัตถ์และเอกสารจดหมายเหตุ

[ngg src="galleries" ids="197" display="pro_mosaic"]

รูปที่ ๑ ลายพระหัตถ์ สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ถึง เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องประทานเงินทุนบำรุงนักเรียนในคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทุนนี้ต่อมาเรียกว่า “ทุนวิทยาศาสตร์แห่งแพทย์”

รูปที่ ๒ ลายพระหัตถ์ สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ประกาศเรื่องการให้เงินบำรุงนักเรียนสำหรับวิชาแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นทุนอุดหนุน จำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท

รูปที่ ๓-๔ ลายพระหัตถ์ สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ถึง เสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องการเจรจากับ Dr. R. M. Pearce ประธานแผนกแพทยศาสตรศึกษา ของมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ว่าทรงเจรจาต่อรองได้ข้อยุติแล้วว่า จะปรับปรุงการศึกษาแพทย์อย่างไร และทรงเสนอรายละเอียดต่างๆ (ลายพระหัตถ์ฉบับนี้มี ๘ หน้า จัดแสดงเฉพาะหน้าแรกและหน้าสุดท้าย)

รูปที่ ๕ ลายพระหัตถ์ สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ถึง Dr. R. M. Pearce เรื่องทรงร่างข้อตกลงระหว่างรัฐบาลสยาม และมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ มาให้รับรองก่อนการลงนามรับรองทั้ง ๒ ฝ่าย และทรงปรึกษา เรื่องที่จะปฏิบัติต่อไป เช่น การหาผู้ทรงคุณวุฒิ มาเป็นศาสตราจารย์ การหาผู้รับทุนไปเรียนต่อ การรับนิสิตที่จะเรียนแพทย์ ฯลฯ (ลายพระหัตถ์ฉบับนี้มี ๖ หน้า จัดแสดงเฉพาะหน้าแรก)

รูปที่ ๖ ลายพระหัตถ์ สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ทรงตัดสินเรื่องการให้ทุนอาจารย์ ในกรณีการให้ทุนแก่ขุนกายวิภาคบรรยาย (แถม ประภาสวัต) ป.พ. ซึ่งเป็นอาจารย์กายวิภาค มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๐ กรรมการฝ่ายไทยจะไม่ให้ทุนเพราะเห็นว่าภาษาอังกฤษไม่ดีพอ ทรงแย้งว่าขุนกายฯ ต้องค้นตำราภาษาอังกฤษมาสอนนักเรียนอยู่เสมอ และทำงานในวิชาที่ไม่มีใครอยากเรียน จึงทรงตัดสินให้ทุนแก่ขุนกายวิภาคบรรยาย

รูปที่ ๗-๘ ลายพระหัตถ์ สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ถึง หม่อมเจ้าพูนศรีเกษม เกษมศรี ทรงให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนคณะวิทยาศาสตร์ และกล่าวถึงการจัดหาทุนอุดหนุน ศาสตราจารย์ จากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ (พ.ศ. ๒๔๖๖)

[ngg src="galleries" ids="198" display="pro_mosaic"]

รูปที่ ๙ ลายพระหัตถ์ สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ถึง พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต เรื่องประทานเงินอุดหนุน นายแพทย์แดง กาญจนารัณย์ (พ.ศ. ๒๔๗๑)

รูปที่ ๑๐ ลายพระหัตถ์ สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ถึง นายสวัสดิ์ แดงสว่าง นักเรียนทุนพระราชทาน (พ.ศ. ๒๔๗๑)

รูปที่ ๑๑-๑๒ ลายพระหัตถ์ สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ถึง Dr. A. G. Ellis กล่าวถึงการให้ทุนเพื่อทำการสืบค้นคว้าและ การสอนในโรงพยาบาลศิริราช (พ.ศ. ๒๔๗๑)

รูปที่ ๑๓-๑๔ จดหมาย Dr. W. S. Carter ถึง Dr. A. G. Ellis คณบดี คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล บรรยายถึงการเริ่มต้น ที่มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์เข้ามาช่วยปรับปรุงการศึกษาแพทย์ ของไทย บทบาทสำคัญของสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ในการเจรจากับมูลนิธิฯ รายละเอียด เรื่องการติดต่อ การต่อรองการหาศาสตราจารย์ การหาเงินบริจาค มาสร้างตึกผู้ป่วย และจำนวนเงินที่พระองค์ประทานให้แก่ คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล (พ.ศ. ๒๔๗๒) (ลายพระหัตถ์ฉบับนี้มี ๕ หน้า จัดแสดงเฉพาะหน้าแรก และหน้าสุดท้าย)

ตัวอย่างผุ้ได้รับทุนพระราชทาน

ตัวอย่างผู้ได้รับทุนพระราชทาน

2453

ศาสตราจารย์ นายแพทย์เติม บุนนาค

- รับทุนส่วนพระองค์ ไปศึกษาต่อที่เยอรมนี (พ.ศ. ๒๔๕๓)

- รับทุนส่วนพระองค์ ไปศึกษาด้านแพทยศาสตร์ ที่สวิตเซอร์แลนด์ (พ.ศ. ๒๔๖๒)

- รับทุนมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ไปศึกษาดูงานด้านสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา ที่ยุโรป (พ.ศ. ๒๔๗๐)

ความสำคัญ

- ศาสตราจารย์ด้านสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คนแรกของไทย

- อาจารย์ผู้ปกครองนักศึกษาแพทย์คนแรก

- กรรมการแพทย์ ถวายพระประสูติกาล สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์

อัครราชกุมารี

ดร.ตั้ว ลพานุกรม

- รับทุนส่วนพระองค์ ไปศึกษาต่อวิชาสามัญ ที่เมืองฟัลเก็นแบร์ก แคว้นมาร์ค เยอรมนี (พ.ศ. ๒๔๕๓)

- รับทุนส่วนพระองค์ ศึกษาวิชาเคมี ที่มหาวิทยาลัยกรุงเบิร์น และมหาวิทยาลัยแห่งเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ (พ.ศ. ๒๔๖๒)

ความสำคัญ

- อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์คนแรก (พ.ศ.๒๔๗๖)

- รัฐบุรุษวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย

- ริเริ่มให้จัดตั้งโรงงานเภสัชกรรมเพื่อผลิตยาใช้ภายในประเทศ (องค์การเภสัชกรรม)

2460

พันโท หลวงนิตย์เวชชวิศิษฏ์ (นิตย์ เปาวเวทย์)

- รับทุนส่วนพระองค์ ไปศึกษาชั้นเตรียมแพทย์ ที่มหาวิทยาลัย Harvard สหรัฐอเมริกา (พ.ศ. ๒๔๖๐)

- รับทุนส่วนพระองค์ ไปศึกษาต่อที่ Albany Medical College, Union University ที่สหรัฐอเมริกา (พ.ศ. ๒๔๖๒)

ความสำคัญ

- ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกลางคนแรก (พ.ศ. ๒๔๖๙)

- ทำยาฉีดเองครั้งแรกในเมืองไทย ที่โรงพยาบาลกลาง (พ.ศ. ๒๔๗๑)

- อธิบดีกรมการแพทย์คนแรก (พ.ศ. ๒๔๘๕)

- ผู้ก่อตั้งโรงเรียนพยาบาลของกรมการแพทย์ (พ.ศ. ๒๔๘๙)

- ผู้ก่อตั้งสมาคมวิทยาลัยศัลยแพทย์นานาชาติแห่งประเทศไทย (พ.ศ. ๒๔๙๓)

ศาสตราจารย์ หลวงลิปิธรรมศรีพยัตต์ (ลิ ศรีพยัตต์)

- รับทุนส่วนพระองค์ ไปศึกษาชั้นเตรียมแพทย์ ที่มหาวิทยาลัย Harvard สหรัฐอเมริกา (พ.ศ. ๒๔๖๐)

- รับทุนส่วนพระองค์ ไปศึกษาต่อที่ Albany Medical College, Union University ที่สหรัฐอเมริกา (พ.ศ. ๒๔๖๒)

ความสำคัญ

- คนไทยคนแรกที่สำเร็จการศึกษาวิชาแพทย์จากสหรัฐอเมริกา

- คณบดีคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล (พ.ศ. ๒๔๘๕)

- นายกสมาคมคนแรกของ The Siamese Alliance in the United of America (สมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกา)

2463

ศาสตราจารย์ นายแพทย์เฉลิม พรมมาส (หลวงเฉลิมคัมภีรเวชช์)

- รับทุนส่วนพระองค์ ไปศึกษาด้านสาธารณสุขศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัย Johns Hopkins สหรัฐอเมริกา (พ.ศ. ๒๔๖๓)

ความสำคัญ

- ผู้ค้นพบวงจรชีวิตของพยาธิตัวจี๊ดครั้งแรกของโลก โดยร่วมทำวิจัยกับนายแพทย์สวัสดิ์ แดงสว่าง (พ.ศ. ๒๔๘๐)

- อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ (พ.ศ. ๒๔๘๕)

- ผู้บัญชาการมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (พ.ศ. ๒๔๘๘)

- ผู้ก่อตั้งคณะสาธารณสุขศาสตร์ (พ.ศ. ๒๔๙๑)

- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (พ.ศ. ๒๕๐๐)

2465

รองอำมาตย์เอก ขุนกายวิภาคพิศาล (เสงี่ยม หุตะสังกาศ)

- รับทุนวิทยาศาสตร์แห่งแพทย์ ไปศึกษาด้านสรีรวิทยา ที่มหาวิทยาลัย Johns Hopkins สหรัฐอเมริกา (พ.ศ. ๒๔๖๕)

- รับทุนมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัย Michigan, Ann Arbor สหรัฐอเมริกา (พ.ศ. ๒๔๗๐)

ความสำคัญ

- อาจารย์ด้านกายวิภาคศาสตร์ท่านแรกที่อุทิศร่างกายให้แผนกกายวิภาคศาสตร์ ปัจจุบันโครงกระดูกจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์กายวิภาคศาสตร์คองดอน

- นักกายวิภาคศาสตร์ชาวไทยคนแรกที่มีผลงานตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ

2466

อำมาตย์เอก พระยาบริรักษ์เวชการ(บริรักษ์ ติตติรานนท์)

- รับทุนมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ไปศึกษาด้านสาธารณสุขศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัย Johns Hopkins สหรัฐอเมริกา(พ.ศ. ๒๔๖๖)

ความสำคัญ

- อธิบดีกรมสาธารณสุข (พ.ศ. ๒๔๗๗)

- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (พ.ศ.๒๔๙๑)

- ผู้รวมแพทยสมาคมแห่งกรุงสยามเข้ากับสโมสรแพทย์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (พ.ศ. ๒๔๗๖)

2467

ศาสตราจารย์ หลวงไตรกิศยานุการ (แปลก ทัศนียะเวช)

- รับทุนมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ไปศึกษาดูงานบัคเตรีวิทยา ที่มหาวิทยาลัย Johns Hopkins สหรัฐอเมริกา (พ.ศ. ๒๔๖๗)

ความสำคัญ

- นักบัคเตรีคนแรกของประเทศไทย

- ผู้วางรากฐานการสอนวิชาจุลชีววิทยาในประเทศไทย

2468

ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิลเลียม ฮาร์วีย์ เพอร์กินส์

- รับทุนมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ไปศึกษาดูงานด้านแพทยศาสตรศึกษา

ความสำคัญ

- ผู้นำวิธีฉีดยารักษาศพเข้าหลอดเลือดแดงที่ต้นขามาใช้เป็นคนแรกในประเทศไทย

2469

ศาสตราจารย์ หลวงพิณพากย์พิทยาเภท(พิณ เมืองแมน)

- รับทุนมหิดล เข้าศึกษาและฝึกอบรมวิชาโดยเฉพาะรังสีวิทยา ที่โรงพยาบาล Peter Bent Brigham, Boston สหรัฐอเมริกา (พ.ศ. ๒๔๖๙)

ความสำคัญ

- บิดาแห่งรังสีวิทยาของประเทศไทย

- หัวหน้าแผนกเอ็กซเรย์วิทยาคนแรก ของคณะแพทยศาสตร์ และศิริราชพยาบาล (พ.ศ. ๒๔๗๑)

- คณบดีคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล (พ.ศ. ๒๔๘๘)

- อธิบดีกรมมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ และปลัดกระทรวงสาธารณสุข (พ.ศ. ๒๕๐๑)

- รางวัลเหรียญทองจากโรงพยาบาล Peter Bent Brigham มหาวิทยาลัย Harvard ในฐานะผู้บำเพ็ญประโยชน์แก่มนุษยชาติ

2470

ศาสตราจารย์ พระอัพภันตราพาธพิศาล (กำจร พลางกูร)

- รับทุนมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ไปศึกษาดูงานด้านอายุรศาสตร์ ณ สหรัฐอเมริกา (พ.ศ. ๒๔๗๐)

ความสำคัญ

- นายกแพทยสมาคมแห่งกรุงสยาม (พ.ศ. ๒๔๗๓-๒๔๗๕)

- คณบดีคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล (พ.ศ. ๒๔๘๑)

- ผู้บัญชาการมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์คนแรก (พ.ศ. ๒๔๘๖)

2470

ศาสตราจารย์ นายแพทย์มนตรี มงคลสมัย

- รับทุนมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ไปศึกษาโรคเด็ก ที่มหาวิทยาลัย Harvard สหรัฐอเมริกา (พ.ศ. ๒๔๗๒)

ความสำคัญ

- กุมารแพทย์คนแรกของประเทศไทย- หัวหน้าแผนกกุมารเวชศาสตร์คนแรกของคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ (พ.ศ. ๒๔๘๙)

ศาสตราจารย์ นายแพทย์แดง กาญจนารัณย์

- รับทุนมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ไปศึกษาด้านจักษุ โสตฯ ที่อินเดีย (พ.ศ. ๒๔๗๒)

ความสำคัญ

- หัวหน้าแผนกจักษุ โสต นาสิก ลาริงซ์วิทยาคนแรก (พ.ศ. ๒๔๘๘)

- มีชื่อเสียงด้านการผ่าตัดต้อกระจกอย่างรวดเร็วและได้ผลดีมาก

ศาสตราจารย์ นายแพทย์สวัสดิ์ แดงสว่าง

- รับทุนส่วนพระองค์ ไปศึกษาด้านสาธารณสุขศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัย Johns Hopkins สหรัฐอเมริกา (พ.ศ. ๒๔๗๒)

ความสำคัญ

- ร่วมกับศาสตราจารย์ นายแพทย์เฉลิม พรมมาส ค้นพบวงจรชีวิตของหนอนพยาธิตัวจี๊ด ครั้งแรกในโลก (พ.ศ. ๒๔๘๐)

- อธิบดีกรมมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (พ.ศ. ๒๔๘๘)

2474

ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุด แสงวิเชียร

- รับทุนมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ไปศึกษาด้านกายวิภาคศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัย Michigan สหรัฐอเมริกา (พ.ศ. ๒๔๗๔)

ความสำคัญ

- คณบดีคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (พ.ศ. ๒๕๑๑)

- ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์กายวิภาคศาสตร์คองดอน (พ.ศ. ๒๔๙๑) พิพิธภัณฑ์แห่งแรกของประเทศไทย

- ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์และห้องปฏิบัติการเรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์ สุด แสงวิเชียร (พ.ศ. ๒๕๑๕)

2476

อาจารย์ ขุนอายุศศาสตร์วิลัย(อายุศ ณ สงขลา)

- รับทุนมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ไปศึกษาดูงานที่ Peiping Union Medical College สาธารณรัฐประชาชนจีน (Peiping เป็นชื่อเดิมของเมืองปักกิ่ง) (พ.ศ. ๒๔๗๖)

ความสำคัญ

- อายุรแพทย์โรคหัวใจคนแรกของประเทศไทย

- ผู้นำเครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (E.K.G. หรือ E.C.G.) เครื่องแรกเข้ามาใช้ในเมืองไทย (พ.ศ. ๒๔๗๘)

2480

ศาสตราจารย์ นายแพทย์อำนวย เสมรสุต

- รับทุนมหิดลไปศึกษาด้านรังสีวิทยา และได้รับ Diploma of Medical Radiology and Electrology, Fellow of International College of Surgeons (F.I.C.S.), Fellow of Royal Society of Medicine (F.R.S.M) ที่อังกฤษ (พ.ศ. ๒๔๘๐)

ความสำคัญ

- คนไทยคนแรกที่ได้ไปศึกษาวิชารังสีรักษาในต่างประเทศและเริ่มทำการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งด้วยรังสี ทั้งการฉายแสงและการใช้เรเดียม

- จัดตั้ง “สถาบันมะเร็ง” ของโรงพยาบาลศิริราช (พ.ศ. ๒๕๐๐)

2481

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ดิถี จึงเจริญ

- รับทุนสอนและค้นคว้าวิจัย เพื่อปฏิบัติงานในแผนกสรีรวิทยา คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล (พ.ศ. ๒๔๘๑)

ความสำคัญ

- หัวหน้าแผนกสรีรวิทยาคนแรก (พ.ศ. ๒๕๐๙)

- ผู้บุกเบิกวิชาอิเล็กทรอนิกส์ทางการแพทย์ครั้งแรกในประเทศไทย

- นายกสรีรวิทยาสมาคมคนแรกของประเทศไทย

(พ.ศ. ๒๕๒๒)

2482

ศาสตราจารย์ นายแพทย์เฟื่อง สัตย์สงวน

- รับทุนมหิดลและทุนร็อคกี้เฟลเลอร์ไปศึกษาอบรมวิชาออร์โธปิดิกส์ ที่สหรัฐอเมริกา (พ.ศ. ๒๔๘๒)

ความสำคัญ  บิดาแห่งวงการออร์โธปิดิกส์ไทย

- ผู้เขียนตำราออร์โธปิดิกส์เล่มแรกของประเทศไทยชื่อ “โรคและบาดเจ็บของกระดูกและข้อ” (พ.ศ. ๒๔๙๓)

- สร้างโรงงานทำเครื่องช่วยคนพิการแห่งแรกขึ้นในประเทศไทย (พ.ศ. ๒๕๐๓)

“...การช่วยชีวิตผู้คนพลเมืองเปนการสำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่งหม่อมฉันอาจจะทำได้โดยลำพังตัวเพราะทรัพย์สินส่วนตัวก็มีพอจะเลี้ยงชีวิตแล้ว จะสละเงินที่ได้รับพระราชทานในส่วนที่เปนเจ้าฟ้าเอามาใช้เปนทุนทำการตามความคิดให้เปนประโยชน์แก่บ้านเมือง...”

พระองค์ทรงปรารภต่อสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เกี่ยวกับพระราชดำริว่า เมืองไทยยังขาดแคลนบุคลากรผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญและเงินทุนในการพัฒนาด้านการแพทย์และสาธารณสุข

๒๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๔ วันประชุม Siamese Alliance ที่ Massachusetts ประเทศสหรัฐอเมริกา

คณาจารย์ถ่ายภาพร่วมกันในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกของประเทศไทยเมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๓ ครั้งนั้น ศาสตราจารย์ นายแพทย์เอลลิส (คนกลางแถวบน)ได้รับพระราชทานปริญญาบัตรเวชชบัณฑิตเอกกิตติมศักดิ์

รูปที่ ๑ พระราชหัตถเลขา สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

ลงวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๓

พระราชทานแด่พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าธานีนิวัต เสนาบดีกระทรวงธรรมการ (ศึกษาธิการ)

รูปที่ ๒ ลายพระหัตถ์ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (ขณะดำรงพระยศหม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา)

ลงวันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๓

พระราชทานแด่พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าธานีนิวัต เสนาบดีกระทรวงธรรมการ (ศึกษาธิการ)


แหล่งข้อมูล

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (๒๕๓๑). สมเด็จฯ พระบรมราชชนกกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. กรุงเทพฯ : [ม.ป.พ.]. (ที่ระลึกในงานนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ [ครบรอบ ๖๐ ปีนับแต่สวรรคต ๒๔ กันยายน ๒๕๓๑]).

มหาวิทยาลัยมหิดล. (๒๕๕๒). เทิดพระนาม มหิดล. โดย คณะกรรมการจัดทำหนังสือในโอกาส ๔๐ ปี วันพระราชทานนามมหาวิทยาลัยมหิดล ; บรรณาธิการโดย วิกัลย์ พงศ์พนิตานนท์. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พรินติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.

มหาวิทยาลัยมหิดล. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. (๒๕๐๘). ชุมนุมพระนิพนธ์และบทความเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระราชบิดา เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย. กรุงเทพฯ : ไทยเขษม.

________. (๒๕๓๔). ๑๐๐ ปี สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก. โดย คณะกรรมการฝ่ายจัดพิมพ์หนังสืองานฉลองครบรอบ ๑๐๐ ปี แห่งวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ;

บรรณาธิการโดย วิกัลย์ พงศ์พนิตานนท์. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พรินติ้งกรุ๊พ.

________. (๒๕๔๗). ทุนพระราชมรดก สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (ทุนสมเด็จฯ พระบรมราชชนก). กรุงเทพฯ : คุรุสภา.

________. (๒๕๕๔). ปูชนียาจารย์ ๑๒๐ ปี โรงเรียนแพทย์ศิริราช. โดย คณะกรรมการจัดทำหนังสือ “ปูชนียาจารย์ ๑๒๐ ปี โรงเรียนแพทย์ศิริราช. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พรินติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.

________. (๒๕๕๕). ๑๒๐ ปี มหิดลอดุลเดช (120 years of Prince Mahidol). โดย คณะกรรมการฝ่ายจัดทำหนังสือ ๑๒๐ ปี แห่งวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ;

บรรณาธิการโดย สรรใจ แสงวิเชียร [และคนอื่นๆ ]. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พรินติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.

งานบริหารจดหมายเหตุ ชั้น 3 หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170

ติดต่องานบริหารจดหมายเหตุ

โทร 0-2800-2680-9 ต่อ 4346

ติดต่องานพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ

*** สถานที่ติดต่อเข้าชมนิทรรศการหอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล

ชั้น 3 ห้องหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยมหิดล 301 อาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดล มหาวิทยาลัยมหิดล ตําบลศาลายา อําเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170

โทร 0-2849-4541-4

โทรสาร 0-2849-4545

© 2021 ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล. All Rights Reserved.