มรดกความทรงจำ

The Memories

วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล


อาคารภูมิพลสังคีต “เกียรติภูมิของไทย”

หลังย้ายจากอาคารเรียนรวมบัณฑิตศึกษา มาเช่าตึกวิทยาลัยนานาชาติ (เดิม) ชั้น 2-3 อยู่ ปี พ.ศ. 2544 อาคารเรียนหลังแรกของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ก็ได้สร้างเสร็จเป็นบางส่วน ชาวดุริยางคศิลป์จึงได้ย้ายเข้ามาใช้พื้นที่ในตัวอาคาร เมื่อวันศุกร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2544 ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีเครื่องปรับอากาศ ไม่มีลิฟต์ และสาธารณูปโภคอื่น ๆ ยังไม่พร้อม ต้องหาพัดลมมาเปิดให้นักเรียนคลายร้อน อาจารย์และเจ้าหน้าที่พนักงานต้องหาพัดลมมาเปิดกันเอง รองศาสตราจารย์ ดร. สุกรี เจริญสุข ผู้อำนวยการขณะนั้นได้ปลุกระดมกับนักศึกษาว่า

“นี่คือประวัติศาสตร์ อยู่อย่างไม่มีอะไรเลย (นักศึกษาชั้นปีที่ 1-4 คุณควรจะภูมิใจที่ได้ร่วมบันทึกประวัติศาสตร์ด้วยกัน จดจำกันไว้ เล่าต่อๆ กันไปให้คนรุ่นหลังฟัง”

จนกระทั่งปี พ.ศ. 2545 อาคารภูมิพลสังคีต อาคารหลังแรกก็เสร็จสมบูรณ์ มีเครื่องปรับอากาศ มีลิฟต์ นำความปีติมาสู่ชาววิทยาลัยดุริยางคศิลป์ เป็นที่สุด

อาคารภูมิพลสังคีต เป็นโครงการก่อสร้างอันเนื่องมาจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้นำเสนอโครงการและกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติครองราชย์ครบ 50 ปี พุทธศักราช 2539 จำนวน 5 โครงการ ที่ประชุมคณะอนุกรรมการฝ่ายโครงการและกิจกรรมภาครัฐบาล ได้มีมติเห็นชอบในการประชุมครั้งที่ 3/2538 เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2538 ให้โครงการก่อสร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติ “ภูมิพลสังคีต” เป็น 1 ใน 2 โครงการ/กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ โดยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ชื่ออาคารวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ว่า “อาคารภูมิพลสังคีต” และได้รับอนุญาตให้อัญเชิญตราสัญลักษณ์งานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ประดิษฐานที่ป้ายชื่อ “อาคารภูมิพลสังคีต” ทั้งนี้ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ได้น้อมนำพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานสัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนอเมริกันในรายการวิทยุเสียงอเมริกา เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2503 ซึ่งเป็นความรู้สึกส่วนพระองค์ที่มีต่อดนตรี อัญเชิญมาประดิษฐ์ถาวร ณ เสาแสดงแผ่นจารึก ส่วนหนึ่งของงานสถาปัตยกรรมประกอบอาคาร ความว่า

“ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของข้าพเจ้าจะเป็นแจ๊สหรือไม่ใช่แจ๊สก็ตามดนตรีล้วนอยู่ในตัวคนทุกคน เป็นส่วนที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตคนเราสำหรับข้าพเจ้า ดนตรี คือสิ่งที่ประณีตงดงามและทุกคนควรนิยมในคุณค่าของดนตรีทุกประเภทเพราะว่าดนตรีแต่ละประเภท ต่างก็มีความเหมาะสมตามแต่โอกาส และอารมณ์ที่แตกต่างกันไป”

“Whether jazz or otherwise,Music is a part of me.It is a part of everyone, an essential part of us all.To me, music is something fine and beautiful.I think we should all recognize the value of music in all its forms,Since all types of music have their place and time,And respond to different kinds of emotions”

อาคารภูมิพลสังคีต นับเป็นอาคารที่ใช้จัดการเรียนการสอนด้านดนตรีที่สมบูรณ์แบบที่สุดแห่งหนึ่ง โดยใช้แนวคิดด้านสถาปัตยกรรมว่า "Sense of Place" เป็นหลักในการออกแบบ เพื่อให้กลุ่มอาคารเหล่านี้ เป็นชุมชนทางดนตรีที่อบอุ่นมีชีวิตชีวา สร้างบนเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ ในพื้นที่มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา โดยบริษัทต้นศิลป์ สตูดิโอ เป็นผู้ออกแบบ

วารสารเพลงดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

วารสารเพลงดนตรี เริ่มออกฉบับแรก เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2537 โดยรองศาสตราจารย์ ดร. สุกรี เจริญสุข เป็นผู้ก่อตั้ง ร่วมกับมูลนิธิสานแสงอรุณ เป็นผู้สนับสนุนด้านงบประมาณเบื้องต้น มีจุดประสงค์เพื่อเชื่อมโยงศาสตร์และศิลป์ด้านดนตรีกับผู้คนในสังคมให้ได้มีโอกาสศึกษาแลกเปลี่ยนกันง่ายขึ้น ระยะแรกจัดทำเป็นวารสารราย 3 เดือน ภายหลังปรับเป็นรายเดือน เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของข้อมูลข่าวสารด้านดนตรีทุกแขนง

เพลงดนตรี เป็นวารสารวิชาการที่ดำรงคงอยู่คู่กับวิทยาลัยดุริยางคศิลป์มาตั้งแต่ก่อตั้ง ภายใต้หน่วยงานที่ชื่อว่า สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาวิชาการดนตรี สังกัดสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จนเป็นวิทยาลัยดนตรีสมบูรณ์แบบที่สุดในประเทศไทยในปัจจุบัน ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงเชื่อมโยงระหว่างวิทยาลัยดุริยางคศิลป์กับสังคมไทยอย่างเปิดกว้าง โดยรับงานเขียนทุกชนิดที่มีเนื้อหาสาระเกี่ยวเนื่องกับดนตรี ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ

ส่วนที่ 1 เป็นบทความวิชาการด้านดนตรีทุกสาขา อาทิ ดนตรีวิทยา ดนตรีศึกษา ดนตรีปฏิบัติ การประพันธ์ดนตรี ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ ดนตรีไทย ดนตรีพื้นบ้าน ฯลฯ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการวิเคราะห์ วิจัย วิจารณ์ เกี่ยวกับวิชาการดนตรีอย่างลุ่มลึกและกว้างขวางส่วนที่ 2 เป็นการรายงานข่าวสาร ความเคลื่อนไหวต่างๆ ในแวดวงดนตรี รวมถึงปฏิทินกิจกรรมดนตรีต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละเดือน การประชาสัมพันธ์ข่าวสารในแวดวงดนตรี เพื่อให้วารสารเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมดนตรี กระตุ้นให้เกิดวงจรที่สมบูรณ์ทั้งผู้สร้าง ผู้เสพ และผู้วิจารณ์ โดยมุ่งเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกิจกรรมทางดนตรี และสนับสนุนกิจกรรมดนตรีต่าง ๆ อย่างทั่วถึงส่วนที่ 3 เป็นบทความปกิณกะ เช่น รายงานพิเศษเกี่ยวกับกิจกรรมดนตรีที่น่าสนใจ บทสัมภาษณ์นักดนตรี บทวิจารณ์ รวมถึงบทความที่แสดงข้อคิดเห็นเกี่ยวกับวงการดนตรี เพื่อการปรับปรุงพัฒนาการดนตรีอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง

เพลงดนตรี จึงเป็นวารสารที่มีรูปแบบเนื้อหาที่ไม่เน้นวิชาการเต็มรูปแบบ เพราะได้รวมเอาบทความวิชาการ ข่าวสาร และบทความเชิงปกิณกะเข้าไว้ในเล่มเดียวกัน เนื่องจากเล็งเห็นว่า แม้บทความวิชาการจะเป็นส่วนสำคัญที่จะสร้างองค์ความรู้ให้แก่สังคมดนตรี แต่กิจกรรมดนตรีอื่นๆ ก็มีความสำคัญเช่นกัน ในการที่จะเติมเต็มความรอบรู้ให้แก่นักดนตรี นักวิชาการดนตรี และผู้สนใจดนตรี โดยเฉพาะกับวิชาดนตรีอันเป็นวิชาที่เน้นการปฏิบัติ กิจกรรมดนตรี การวิเคราะห์ และวิจารณ์ ย่อมเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้โครงสร้างของสังคมวิชาการดนตรีมีองค์ประกอบครบถ้วน และเกิดความเข้มแข็งทางวิชาการในที่สุด

งานบริหารจดหมายเหตุ ชั้น 3 หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170

ติดต่องานบริหารจดหมายเหตุ

โทร 0-2800-2680-9 ต่อ 4346

ติดต่องานพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ

*** สถานที่ติดต่อเข้าชมนิทรรศการหอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล

ชั้น 3 ห้องหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยมหิดล 301 อาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดล มหาวิทยาลัยมหิดล ตําบลศาลายา อําเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170

โทร 0-2849-4541-4

โทรสาร 0-2849-4545

© 2021 ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล. All Rights Reserved.