มรดกความทรงจำ

The Memories

วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล


อาคารเรียน 3 ชั้นหลังแรก ซึ่งสร้างจากเงินรายได้ของหน่วยงาน

นับแต่เริ่มต้นการจัดตั้งวิทยาลัยนานาชาติ เมื่อ ปี 2529 โดยใช้ชื่อแรกตั้งว่า   โครงการศึกษาปริญญาตรีสำหรับนักศึกษานานาชาติ (International Student Degree Program: ISDP) นั้นโครงการได้ใช้อาคารเรียนของคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์เป็นที่ทำการหลัก ประกอบด้วยห้องผู้บริหาร ห้องธุรการ ห้องรับรอง ห้องสมุด ห้องพัสดุ ห้องอาหาร ห้องพักอาจารย์ พร้อมทั้งห้องเรียนเพียง 2 ห้อง และต่อมาได้รับความอนุเคราะห์จากศูนย์ศาลายาให้ใช้ห้องเรียนเพิ่มอีกจำนวน 2 ห้อง ซึ่งในปีแรก ๆ มีนักศึกษาปีละ 30-50 คน และมีปริมาณนักศึกษามากขึ้นโดยในปี 2533 มีนักศึกษาทั้งสิ้น 260 คน ทำให้จำนวนห้องเรียนและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ไม่เพียงพอแก่การสนับสนุนการเรียนการสอน

การจัดการเรียนการสอนหลักสูตรนานาชาติขณะนั้น นับเป็นเรื่องใหม่ในวงการศึกษาไทย โดยเฉพาะในสถาบันอุดมศึกษาภาครัฐ มหาวิทยาลัยมหิดลมีวิสัยทัศน์ที่จะเป็นหน่วยงานภาครัฐที่นำร่องจัดการศึกษาหลักสูตรนานาชาติระดับปริญญาตรีเป็นแห่งแรกในประเทศไทย แต่การจัดการศึกษานานาชาติเมื่อแรกเริ่ม มีความไม่ราบรื่นอยู่หลายประการ นอกจากความติดขัดในเรื่องฐานะของหน่วยงานที่เป็นเพียงโครงการมิใช่คณะหรือวิทยาลัยที่เป็นส่วนราชการ จึงไม่มีงบประมาณแผ่นดินสนับสนุน และไม่มีอาคารทำการ ไม่มีความเข้าใจในการจัดการศึกษาหลักสูตรนานาชาติของผู้มีอำนาจอนุมัติหลักสูตรและความคาดหวังของผู้ที่จะมาเรียน สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นอุปสรรคหลายประการที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดลได้สร้างกลยุทธ์ สร้างความเข้าใจและเพิ่มความเชื่อมั่นจนทำให้การจัดการศึกษาเกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์ตามมาตรฐานการศึกษาแบบรู้รอบ (Liberal Arts) เช่นในต่างประเทศ ที่สามารถถ่ายโอนผลการศึกษาระหว่างกันได้

ศาสตราจารย์ ดร.ณัฐ ภมรประวัติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ขณะนั้นได้มอบหมายให้ศาสตราจารย์เกียรติคุณสิรินทร์ พิบูลนิยม รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย เป็นผู้อำนวยการท่านแรกเพื่อบุกเบิกในการจัดตั้งและพัฒนาโครงการศึกษาปริญญาตรีสำหรับนักศึกษานานาชาติ : ISDP เมื่อประมาณกว่า 2 ทศวรรษที่แล้ว มีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมการเรียนการสอนให้แก่นักศึกษาที่มีความประสงค์จะไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ โดยให้จัดการเรียนการสอนในลักษณะ Liberal Arts  ที่ยึดรูปแบบระบบการศึกษาลักษณะเดียวกับที่ประเทศสหรัฐอเมริกาใช้อยู่คือ ระบบ Quarter ในลักษณะ 3 ภาคการศึกษาปกติ และ 1 ภาคการศึกษาฤดูร้อน เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาที่เรียนระดับ High School จากต่างประเทศมาสมัครเรียนต่อที่ประเทศไทยได้ทุกภาคการศึกษา และเปิดโอกาสให้นักเรียนที่พลาดการสอบในภาคการศึกษาก่อนหน้านั้น มาสมัครและสอบใหม่ได้ และสามารถเรียนทันกับเพื่อนในรุ่นเดียวกัน นักศึกษารุ่นแรกเริ่มเข้าศึกษาเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2529

“โครงการศึกษาปริญญาตรีสำหรับนักศึกษานานาชาติ: ISDP” เป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักงานอธิการบดี ที่ยังไม่มีกฎหมายใดรองรับการจัดตั้ง ไม่มีงบประมาณแผ่นดิน ไม่มีงบประมาณสร้างอาคารเพื่อการดำเนินงาน ไม่มีข้าราชการประจำ ผู้บริหารหน่วยงานก็เป็นเพียงอาจารย์จากคณะ/สถาบันอื่นที่ขอยืมตัวมาช่วยงานเฉพาะกิจ สำนักงานทำการและห้องเรียน เมื่อเริ่มแรกได้รับความอนุเคราะห์จากคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์โดยแบ่งพื้นที่ให้ใช้บางส่วน ซึ่งสามารถรองรับได้เพียงพอในระยะแรกๆ ต่อมาเมื่อโครงการฯ เติบโตและได้รับการยอมรับเพิ่มขึ้น จำนวนนักศึกษาเพิ่มขึ้นตามมามีนักศึกษาเพิ่มขึ้นจากปีแรกจำนวน 50 คน เป็น 260 คน ในปี พ.ศ. 2533 ทำให้จำนวนห้องเรียนและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ไม่เพียงพอแก่การสนับสนุนการเรียนการสอน

ศาสตราจารย์เกียรติคุณสิรินทร์ ในฐานะผู้บริหารโครงการฯ ได้รับทราบสถานะของหน่วยงานมาตลอดตั้งแต่เริ่มตั้งว่า โครงการฯ จะต้องเป็นหน่วยงานที่เลี้ยงตัวเองได้   เมื่อปี พ.ศ. 2533 แม้โครงการจะเปิดดำเนินการมาแล้วเป็นเวลากว่า 5 ปี เงินรายได้ที่เก็บสะสมมาก็ยังไม่เพียงพอที่จะสร้างอาคารเองได้ แต่อุปสรรคด้านกายภาพจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน จากการผลักดันของผู้บริหารโครงการฯ ที่บริหารจนมีผลการดำเนินงานที่ดีมหาวิทยาลัยจึงได้อนุมัติให้สร้างอาคารเรียนโครงการศึกษาปริญญาตรีสำหรับนักศึกษานานาชาติหลังแรก โดยให้ยืมเงินค่าก่อสร้างเป็นงบประมาณทั้งสิ้น 13.4 ล้านบาท และวิทยาลัยฯ ทยอยใช้เงินคืนมหาวิทยาลัยปีละ 2 ล้านบาท ซึ่งโครงการฯ มีความเจริญก้าวหน้ารุ่งเรือง มีนักศึกษามาสมัครเรียนเพิ่มขึ้นทุกปีทำให้สามารถชำระหนี้คืนให้มหาวิทยาลัย ฯ ได้ครบก่อนกำหนดเวลา ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าอาคารเรียนและอาคารสำนักงานของวิทยาลัยนานาชาติหลังแรก ซึ่งคือ อาคาร 2 ในปัจจุบัน สร้างด้วยงบประมาณเงินรายได้ของโครงการศึกษาปริญญาตรีสำหรับนักศึกษานานาชาติ: ISDP เองทั้งหมด

อาคารหลังแรก หรือ อาคาร 2 ในปัจจุบันเป็นอาคารเรียนขนาด 3 ชั้น   สร้างแล้วเสร็จเมื่อต้นเดือนสิงหาคม ปี พ.ศ. 2534 และทำการย้ายธุรกรรมต่างๆ เข้าอาคารเมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคม ประกอบด้วยห้องเรียนจำนวน  7   ห้อง ห้องสมุด ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ห้องผู้บริหาร สำนักงาน ห้องพักอาจารย์ ห้องอาหาร และห้องกิจการนักศึกษา พื้นที่ใช้สอยทั้งสิ้น 1,300 ตารางเมตร อาคารหลังนี้ได้มีคุณค่าในการสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับวิทยาลัยนานาชาติเสมอมา แม้จะมีอาคารใหม่ 6 ชั้นสร้างเพิ่มเติมแล้วเสร็จสมบูรณ์และใช้งานอย่างเต็มพื้นที่ในปี พ.ศ. 2542 ก็ตาม อาคารหลังแรกก็ยังทรงคุณค่าทางจิตใจและมีความมั่นคงเป็นเสาหลักที่สร้างรายได้ด้วยน้ำพักน้ำแรงของของวิทยาลัยนานาชาติเองทั้งหมด ถือเป็นมรดกแห่งความทรงจำที่เป็นความภาคภูมิใจของคณะผู้บริหารรุ่นต่อรุ่นและพนักงานที่ทำงานอยู่ภายใต้โครงการ ISDP ในขณะนั้นและสืบเนื่องกันมาจนกระทั่งเป็นวิทยาลัยนานาชาติในปัจจุบัน สืบทอดเป็นมรดกแห่งความทรงจำแก่พนักงานรุ่นบุกเบิกถึงรุ่นใหม่และยังถูกใช้งานอย่างมีคุณค่าจากความมั่นคงแข็งแรงของอาคาร 3 ชั้น มาจนถึงปัจจุบัน

งานบริหารจดหมายเหตุ ชั้น 3 หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170

ติดต่องานบริหารจดหมายเหตุ

โทร 0-2800-2680-9 ต่อ 4346

ติดต่องานพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ

*** สถานที่ติดต่อเข้าชมนิทรรศการหอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล

ชั้น 3 ห้องหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยมหิดล 301 อาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดล มหาวิทยาลัยมหิดล ตําบลศาลายา อําเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170

โทร 0-2849-4541-4

โทรสาร 0-2849-4545

© 2021 ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล. All Rights Reserved.