มรดกความทรงจำ

The Memories

คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล


ปูชนียบุคคลแห่งคณะเวชศาสตร์เขตร้อน ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์จำลอง หะริณสุต และศาสตราจารย์เกียรติคุณแพทย์หญิงคุณหญิงตระหนักจิต หะริณสุต

นับเป็นความภาคภูมิใจของคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล หรือชื่อเดิม ‘อายุรศาสตร์เขตร้อน’ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ที่ถือกำเนิดมาในปี พ.ศ. 2503 ด้วยความคิดริเริ่มของปูชนียบุคคล 2 ท่าน คือ ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์จำลอง หะริณสุต และศาสตราจารย์เกียรติคุณแพทย์หญิงคุณหญิงตระหนักจิต หะริณสุต ร่วมกับ Professor Brain G Maegraith คณบดีมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ และศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์สวัสดิ์ แดงสว่าง อธิการบดีมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ที่เห็นความสำคัญของโรคเขตร้อน และเห็นสมควรให้มีสถาบันสอนอบรมแพทย์ไทย และบุคลากรทางการแพทย์ให้มีความรู้เรื่องโรคเขตร้อน และวิจัยค้นคว้าวิธีการรักษา ผู้ป่วยโรคมาลาเรียและโรคเขตร้อนอื่น ๆ ที่เป็นปัญหาด้านสาธารณสุขศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์จำลอง หะริณสุต และศาสตราจารย์เกียรติคุณแพทย์หญิงคุณหญิงตระหนักจิต หะริณสุต ได้ศึกษาวิจัยค้นคว้าแต่โรคเขตร้อนโดยเฉพาะ โดยศาสตราจารย์จำลอง หะริณสุต ได้ริเริ่มวิจัยโรคพยาธิใบไม้ในตับ เพื่อหายารักษานานถึง 30 ปี และได้พบว่ายา Praziquantel รักษาได้ผล และได้นำผลการวิจัย และวิธีการรักษา มอบให้กระทรวงสาธารณสุข ไปรักษาประชาชน ทำให้การเกิดโรคพยาธิใบไม้ตับในภาคอีสานลดลง จากความเชี่ยวชาญด้านปรสิตวิทยาและผลงานการค้นคว้าวิจัย ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการ ทำให้ศาสตราจารย์จำลอง หะริณสุต ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้เชี่ยวชาญ สาขาโรคปรสิตวิทยา ประจำองค์การอนามัยโลก และได้รับเหรียญ WHO Medal Award นอกจากนี้ ยังได้รับเลือกเป็น Honorary Fellow ด้านโรคเขตร้อนขององค์กรและสถาบันการศึกษาในต่างประเทศหลายแห่ง ศาสตราจารย์จำลอง หะริณสุต ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ/ผู้ประสานงานโครงการศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยเวชศาสตร์เขตร้อนและสาธารณสุขขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO TROPMED Project) ตั้งแต่ พ.ศ. 2510-2537 ได้ออกวารสารภาษาอังกฤษ ชื่อ Southeast Asian Journal of Tropical Medicine and Public Health และ TROPMED Newsletter ตั้งแต่ พ.ศ. 2513 จนถึงปัจจุบัน และผลักดันให้คณะเวชศาสตร์เขตร้อน เปิดสอนหลักสูตรปริญญาโท และปริญญาเอก สาขาอายุรศาสตร์เขตร้อน ในระดับนานาชาติ ตั้งแต่ พ.ศ. 2510 และทำให้คณะเวชศาสตร์เขตร้อน เป็นที่รู้จักทางด้าน อายุรศาสตร์เขตร้อน ในวงการวิชาการทั่วโลก

ศาสตราจารย์แพทย์หญิงคุณหญิงตระหนักจิต หะริณสุต เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์และด้านวิจัยมาลาเรีย และประสิทธิภาพการใช้ยารักษาโรคมาลาเรีย โดยเฉพาะเป็นผู้ริเริ่มค้นพบการดื้อยาของเชื้อมาลาเรีย วิจัยเรื่องการใช้ยารักษาและพยาธิสภาพของโรคพยาธิใบไม้ตับ โรคฝีบิดในตับ โรคพยาธิใบไม้ลำไส้ ฯลฯ และได้มีโอกาสที่ดียิ่งในชีวิต โดยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการแพทย์ผู้ถวายการรักษาอาการพระประชวรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นอกจากนี้ ใน พ.ศ. 2518 เป็นผู้ก่อตั้งหน่วยเภสัชวิทยาคลินิก ขึ้นเป็นหน่วยงานแรกของประเทศไทย ที่สนับสนุนการวิจัย ทางคลินิกในเรื่องการใช้ขนาดของยาในการรักษาโรค และยังได้รับเลือกให้เป็น Member of Scientific Group on the Chemotherapy of Malaria ได้รับเหรียญ WHO Medal Award จากองค์การอนามัยโลก เป็น Fellow และ Member ขององค์กร/สถาบันวิชาการต่างประเทศหลายแห่ง ได้รับเกียรติเป็นนายกสมาคมแพทย์สตรีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ และอุปนายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นายกสมาคมปรสิตวิทยาและอายุศาสตร์เขตร้อนแห่งประเทศไทย

และรางวัลอื่น ๆ อีกมากมาย ค้นพบพยาธิใหม่ ๆ หลายชนิด พยาธิใบไม้อีกหลายตัว และมี 2 ชนิดที่พบเป็นครั้งแรกของโลก คือ Episthmium Canium และ Plagiochis harinasutai ศาสตราจารย์แพทย์หญิงคุณหญิงตระหนักจิต หะริณสุต ได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้า ใน พ.ศ. 2523

ศาสตราจารย์จำลอง หะริณสุต และศาสตราจารย์แพทย์หญิงคุณหญิงตระหนักจิต หะริณสุต ได้รับเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา ในพ.ศ. 2520 และ 2526 ตามลำดับ

ปูชนียบุคคลทั้ง 2 ท่าน เป็นผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ในการส่งเสริมพัฒนาบุคลากรรุ่นหลังให้ศึกษาต่อและสามารถสืบทอดเจตนารมณ์ในการศึกษา วิจัย สอนและพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ใหม่ในการรักษาและป้องกันโรคเขตร้อนให้คณะเวชศาสตร์เขตร้อน เป็นศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคเขตร้อนแห่งเอเชียและเป็นแหล่งอ้างอิงความรู้ด้านโรคเขตร้อนในวงวิชาการทั่วโลก

งานบริหารจดหมายเหตุ ชั้น 3 หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170

ติดต่องานบริหารจดหมายเหตุ

โทร 0-2800-2680-9 ต่อ 4346

ติดต่องานพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ

*** สถานที่ติดต่อเข้าชมนิทรรศการหอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล

ชั้น 3 ห้องหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยมหิดล 301 อาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดล มหาวิทยาลัยมหิดล ตําบลศาลายา อําเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170

โทร 0-2849-4541-4

โทรสาร 0-2849-4545

© 2021 ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล. All Rights Reserved.