มรดกความทรงจำ
The Memories
คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พระราชกระแสรับสั่ง จัดตั้งคณะสังคมศาสตร์ฯ
คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2512 โดยเริ่มต้นจากการที่คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย ปรารภถึงการขยายมหาวิทยาลัย เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของสังคม และเห็นสมควรขอพระราชทานพระนาม “มหิดล” เป็นชื่อใหม่ของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์
ดังนั้นมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ โดยมีคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยและคณาจารย์กราบบังคมทูลพระกรุณาเกี่ยวกับเรื่องนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้พระราชทานพระกระแสรับสั่งว่า ไม่ทรงขัดข้องที่จะพระราชทานนาม “มหิดล” ให้แก่มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ แต่ขอให้ขยายมหาวิทยาลัยให้เป็นมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์ เพื่อให้สมพระเกียรติของสมเด็จพระบรมราชชนก และยังได้พระราชทานพระแสรับสั่งว่า
“ ถ้าจะเพิ่มคณะขึ้นใหม่ ควรมีคณะสังคมศาสตร์อยู่ด้วย เพราะวิชาในหมวดสังคมศาสตร์นั้น แพทย์และผู้ที่ทำงานทางสาธารณสุข ควรจะรู้กัน”
ภาพถ่ายของผู้ช่วยศาสตราจารย์นาถฤดี เด่นดวง โดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ประทับทอดพระเนตรและทรงฉายภาพอยู่ด้านหน้า
เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2546 ณ โรงเรียนบ่อหลวง อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์นาถฤดี เด่นดวง ได้ทูลเกล้าฯ ถวายต้นแบบหลักสูตรและคู่มือสำหรับผู้นำกิจกรรมในการอบรมความรู้เรื่องโรคมาลาเรีย เเด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ซึ่งต้นแบบหลักสูตรและคู่มือนี้เป็นส่วนหนึ่งของผลงานโครงการวิจัยเรื่อง การศึกษารูปแบบและวิธีการถ่ายทอดความรู้เรื่องโรคมาลาเรียในชุมชนชายแดน
ผลงานวิจัย/ผลงานวิชาการ ของคณะสังคมศาสตร์ จำนวน 5 เรื่อง
งานวิจัยเรื่อง “การจัดทำแนวทางในการส่งเสริมและสนับสนุนจริยธรรมการวิจัย” (The Development of the Ways to Promote and Support Research Ethics) โดย รองศาสตราจารย์ ดร.วริยา ชินวรรโณ พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 เป็นงานวิจัยที่มีวัตถุประสงค์สำคัญ 2 ประการ ได้แก่ (1) เพื่อศึกษาจัดทำแนวทางในการส่งเสริมและสนับสนุนจริยธรรมการวิจัย และ (2) ศึกษาแนวทางที่เป็นรูปธรรม เพื่อนำไปสู่ภาคปฏิบัติ โดยมีลักษณะเป็นข้อบังคับที่มุ่งเน้นการเสริมสร้างจรรยาบรรณของนักวิจัย
งานวิจัยเรื่อง “สมาธิในพระไตรปิฏก : วิวัฒนาการการตีความคำสอนเรื่องสมาธิในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทในประเทศไทย” (Smardi in the Tripataka: the Development of the Interpretations of the Theravada Buddhist Teachings in Thailand ) โดย รองศาสตราจารย์ ดร.วริยา ชินวรรโณ ได้รับการตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี พ.ศ. 2548 ซึ่งเป็นการศึกษาเชิงวิเคราะห์ของวิวัฒนาการทางแนวคิด ความเชื่อ คุณค่า และวิถีปฏิบัติ ของการตีความคำสอนและการฝึกสมาธิในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทในประเทศไทยตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ถึงปัจจุบัน
บทความเรื่อง “พระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้านกระบวนการเรียนรู้” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.เนาวรัตน์ พลายน้อย หัวหน้าภาควิชาศึกษาศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ จัดพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2547 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการศึกษางานโครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้านการศึกษา ศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมของกระทรวงศึกษาธิการ: สังเคราะห์แนวพระราชดำริด้านกระบวนการเรียนรู้
หนังสือ “บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมมองอย่างไร เมื่อสามีข่มขืนภรรยา ?” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์นาถฤดี เด่นดวง จัดพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2547 สะท้อนให้เห็นถึงความคิดและอคติทางเพศของบุคคลโดยเฉพาะบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมที่มีต่อปัญหาความรุนแรงในครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการข่มขืนระหว่างสามีและภรรยา ผู้วิจัยมุ่งมั่นนำเสนอข้อมูลเพื่อผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนในการแก้ไขกฏหมายอาญามาตรา 276 และสนับสนุนให้ผู้หญิงที่เป็น “ภรรยา” ได้รับการปกป้อง ในกรณีไม่ต้องการอดทนหรือไม่สามารถอดทนต่อการถูกข่มขืนจากสามีได้อีกต่อไป
หนังสือ “Health Social Science: Working Papers in Sexual and Reproductive Health” โดย หลักสูตรสังคมศาสตร์การแพทย์นานาชาติ ภาคสังคมและสุขภาพ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ เป็นงานวิจัยที่จัดพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2550 เพื่อเสนอแนะเชิงนโยบาย ใน 3 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นเพศภาวะ เพศวิถี และสุขภาวะทางเพศ ผู้หญิงกับเอชไอวี และประสบการณ์ของผู้หญิงต่อสุขภาพอนามัยการเจริญพันธ์ ซึ่งได้สะท้อนมุมมองทางสังคมศาสตร์กับการอธิบายปรากฏการณ์ด้านสังคมและพฤติกรรมสุขภาพของผู้คนที่หลากหลาย
QUICK LINKS
ติดต่องานบริหารจดหมายเหตุ
ติดต่องานพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ
*** สถานที่ติดต่อเข้าชมนิทรรศการหอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล
© 2021 ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล. All Rights Reserved.