มรดกความทรงจำ
The Memories
สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล
พจนานุกรมไทย - ม้ง
ในช่วงปี พ.ศ. 2510-2520 ประเทศไทยเกิดวิกฤติทางความคิดระหว่างรัฐบาลกับขบวนการนักศึกษา รวมถึงแง่คิดความเห็นของฝ่ายปกครองที่มอง “คนต่างวัฒนธรรม” หรือเรียกกันในอดีตว่า “ชนกลุ่มน้อย” ว่าเป็นกลุ่มคนที่ก่อปัญหา โดยเฉพาะกับคนไทยพื้นถิ่นที่มีวัฒนธรรมอาศัยอยู่ในพื้นที่สูง ซึ่งมีอยู่หลายกลุ่ม และหนึ่งในนั้นคือชาวม้ง โดยคนไทยทั่วไปมักเรียกกันในขณะนั้นว่า แม้ว
สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล โดยศาสตราจารย์ ดร. คุณหญิงสุริยา รัตนกุล ได้เป็นผู้บุกเบิกการศึกษาภาษาของชนต่างวัฒนธรรม เพื่อที่จะได้เรียนรู้และเข้าใจในฐานะที่เป็นประชากรไทยด้วยกัน แล้วนำความรู้จากการศึกษาวิจัยมาทำประโยชน์ ทั้งเพื่อการแก้ปัญหาท้องถิ่น และการกำหนดเป็นนโยบายชาติ
การศึกษาภาษาม้งในยุคสมัยที่วิทยาการด้านคอมพิวเตอร์ยังไม่เจริญรุดหน้าดังเช่นปัจจุบัน จึงต้องอาศัยความละเอียดรอบคอบในการเก็บข้อมูลจากผู้บอกภาษา อาศัยความรู้เชิงภาษาศาสตร์ นำมารวบรวมในบัตรคำทีละชิ้นที่ละใบ จนถึงขั้นร้อยเรียงตามระบบเสียงของภาษา แล้วจัดทำเป็นพจนานุกรม ม้ง-ไทย ขึ้นเป็นฉบับแรกของประเทศไทย
ผลสืบเนื่องจากการจัดทำพจนานุกรมฉบับนี้ คือ เป็นทั้งแหล่งอ้างอิงให้แก่หน่วยงานราชการที่ต้องการศึกษาคำ-ความหมายของภาษาม้ง เป็นทั้งคู่มือการศึกษา เป็นทั้งตัวอย่างผลสัมฤทธิ์ของความพากเพียรในการทำงาน และเป็นทั้งแบบอย่างให้กับศิษยานุศิษย์ได้เจริญรอยตาม
ที่เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ เรื่องราวของชาวม้งได้รับการเผยแพร่ คำเรียกขานว่า “คนแม้ว” หรือ “พวกแม้ว” “เผ่าแม้ว” ซึ่งเจ้าของวัฒนธรรมมีความรู้สึกว่าเป็นคำเหยียดหยามและดูแคลน ได้ลดลงไปจากสังคมไทยเป็นอย่างมาก และได้รับการเรียกขานว่า ม้ง มากขึ้น
ผลงาน “พจนานุกรมไทย-ม้ง” จึงเป็นอีกหนึ่งความทรงจำอันเรืองรอง ที่เราชาวสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชียต่างภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง
กล่องรองเท้า ก้าวย่างไปสู่นักภาษาศาสตร์
วิชาภาษาศาสตร์ หรือ Linguistics นี้ เพิ่งจะมีในสังคมไทยราว 40 กว่าปีที่แล้วมา ซึ่งแต่เดิมนั้น เราชาวไทยเรียนรู้ภาษา (ไทย) จากการท่องจำและยึดถือตามหลักที่ครูอาจารย์ให้ท่อง และกำหนดให้เชื่อถือตามนั้น หาไม่ก็จะสอบตกหรือไม่ได้คะแนน
นักสอนศาสนานำเอาหลักการทางภาษาศาสตร์มาเป็นแนวทางในการศึกษาภาษาที่สอง หรือภาษาชนกลุ่มอื่นๆ ที่ตนไม่รู้จักมาก่อน เพื่อที่จะได้รู้และเข้าใจภาษานั้นๆ แล้วบอกสอนพันธกิจแห่งพระเจ้าด้วยภาษาของชนท้องถิ่นผู้เป็นเจ้าของภาษา และหลักการนี้ได้แพร่เข้ามาสู่สังคมไทยในกาลต่อมา
แนวทางหนึ่งของวิธีการศึกษาตามแนวภาษาศาสตร์ คือผู้เรียนจะต้องทำความเข้าใจลักษณะการสัมผัสลิ้นที่ตำแหน่งต่างๆ ในปาก ซึ่งเป็นเรื่องปกติสามัญอยู่แล้ว แต่เราเองไม่ได้ฉุกคิดพิจารณาอย่างเป็นระบบ เพราะเราหัดพูดมาจากคนแวดล้อม มีพ่อแม่ เป็นต้น
แต่วิชาภาษาศาสตร์จะสอนให้ผู้เรียน คิดอย่างละเอียดเกี่ยวกับเสียง (ที่ออกจากปาก) และการเปล่งเสียง เช่น คนไทยออกเสียง /ป/ กับ /พ/ อย่างสะดวกปาก แต่ชาวต่างชาติที่ไม่คุ้นเคย จะฟังเป็นเสียงเดียวกัน วิชาภาษาศาสตร์สามารถบอกความต่างของทั้งสองเสียงนี้ได้ว่า การออกเสียง /ป/ และ /พ/ นั้น ใช้ริมฝีปากบน-ล่างเหมือนกัน เพียงแต่เสียง /พ/ มีลมพ่นออกมาด้วย
ผู้ที่นำระบบการจัดเก็บบัตรคำในกล่องรองเท้ามาใช้ในการวิจัยทางด้านภาษาศาสตร์ คือ อาจารย์ ดร. เดวิด โธมัส (Dr. David Thomas)
กล่องรองเท้า มีความสำคัญกับนักศึกษาที่เรียนวิชาภาษาศาสตร์เป็นอย่างมาก เพราะเป็นกล่องที่ไม่เล็กไม่ใหญ่จนเกินไป ภายในบรรจุบัตรหรือกระดาษที่ว่างจนเต็มกล่อง ในจำนวนนี้จะมีกระดาษแข็งซึ่งมีขนาดเท่ากับบัตรธรรมดาที่บรรจุในกล่อง แต่ที่พิเศษ คือ บัตรคั่นจะมีแท็บหรือโหนกตรงสันด้านบน เพื่อเป็นที่เขียนหน่วยเสียง คล้ายกับการทำบัตรห้องสมุดในอดีต เช่น เขียนคำที่มีหน่วยเสียงพยัญชนะ ก ค ง จ ช เป็นต้น ผู้ศึกษาจะบันทึกคำต่างๆ ไว้ในบัตร พร้อมกับเขียนตัวอย่างคำ ประโยค และความหมายกำกับไว้ด้วย แล้วสอดซ้อนหลังบัตรหน่วยเสียงที่เป็นดัชนีเรียงตามตัวอักษรตัวแรกของคำ
แต่วิชาภาษาศาสตร์จะสอนให้ผู้เรียน คิดอย่างละเอียดเกี่ยวกับเสียง (ที่ออกจากปาก) และการเปล่งเสียง เช่น คนไทยออกเสียง /ป/ กับ /พ/ อย่างสะดวกปาก แต่ชาวต่างชาติที่ไม่คุ้นเคย จะฟังเป็นเสียงเดียวกัน วิชาภาษาศาสตร์สามารถบอกความต่างของทั้งสองเสียงนี้ได้ว่า การออกเสียง /ป/ และ /พ/ นั้น ใช้ริมฝีปากบน-ล่างเหมือนกัน เพียงแต่เสียง /พ/ มีลมพ่นออกมาด้วย
กล่องรองเท้า แม้จะเป็นของด้อยราคาแต่กลับมีคุณค่าต่อนักศึกษาวิชาภาษาศาสตร์เป็นอย่างมาก
ในปัจจุบันนี้ วิทยาการด้านคอมพิวเตอร์เจริญรุดหน้าก้าวไกล นักเทคโนโลยีสารสนเทศและนักภาษาศาสตร์ได้ร่วมกันผลิตโปรแกรมสำหรับเก็บคำและเรียงคำเพื่อนำมาศึกษาวิเคราะห์เหมือนกับสมัยอดีตที่มีการใช้กล่องรองเท้าเป็นที่บรรจุบัตรคำ เพื่อเป็นเกียรติประวัติแห่งการเรียนรู้ทางด้านภาษาศาสตร์ จึงมีการตั้งชื่อโปรแกรมนี้ว่า Shoebox
สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท (ปัจจุบัน คือ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย) มหาวิทยาลัยมหิดล กำเนิดขึ้นจากแนวความคิดที่จะศึกษาวิจัยเรื่องภาษาและวัฒนธรรมของผู้คนซึ่งมีภาษาหลากหลาย และได้เปิดสอนสาขาวิชาภาษาศาสตร์ในระดับปริญญาโทเป็นแห่งแรกของเมืองไทย
อาจารย์และนักวิจัยของสถาบันฯ ในยุคแรกๆ ล้วนแต่มีประสบการณ์ร่วมกันในเรื่องของการใช้กล่องรองเท้าเป็นอุปกรณ์สำหรับศึกษาภาษา กล่องรองเท้า จึงมิใช่แค่เพียงอดีตเคยบรรจุรองเท้า แต่เป็นกล่องที่ได้นำพานักศึกษาให้ไปสู่การเป็นนักภาษาศาสตร์อย่างเต็มภาคภูมิ
QUICK LINKS
ติดต่องานบริหารจดหมายเหตุ
ติดต่องานพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ
*** สถานที่ติดต่อเข้าชมนิทรรศการหอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล
© 2021 ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล. All Rights Reserved.