มรดกความทรงจำ

The Memories

สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล


จุดเริ่มต้นแห่งการสร้างรากฐานของสถาบันวิจัย

แม้ว่ามหาวิทยาลัยมหิดลได้จัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524   เพื่อสนับสนุนให้คณาจารย์และนักวิชาการของมหาวิทยาลัยได้ทำงานค้นคว้าวิจัยในสาขาที่ตนถนัดได้อย่างจริงจัง และนำผลการวิจัยไปสู่การพัฒนาประเทศ แต่ในการทำงานของคณาจารย์นักวิจัยในโครงการต่างๆ ของสถาบันยังคงต้องอาศัยสถานที่และเครื่องมือต่างๆ ที่กระจายตัวอยู่ในคณะและภาควิชาต่างๆที่ตั้งอยู่ในหลายวิทยาเขต จนกระทั่งใน ปี พ.ศ. 2535

จึงได้รับการสนับสนุนให้เกิดการสร้างอาคารวิจัยอย่างเต็มรูปแบบขึ้นในพื้นที่ของศาลายา ด้วยงบประมาณก่อสร้างประมาณ 392 ล้านบาท พร้อมครุภัณฑ์อีก 24 ล้านบาท โดยถือเป็นอาคารหลังแรกและเป็นศูนย์รวมของการมีห้องปฏิบัติการวิจัยในสาขาต่างๆอย่างครบถ้วน อันเป็นที่กล่าวถึงอย่างกว้างขวางในสมัยนั้น ถืงรูปลักษณ์อันแปลกตาด้วยการใช้ผนังกระจกสีฟ้า และการจัดสร้างห้องวิจัยอย่างลงตัว อีกทั้งยังประกอบด้วยศูนย์เครื่องมืออันทันสมัยมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ เป็นที่ดึงดูดให้มีนักศึกษาระดับปริญญาโทและเอกสมัครเข้าเรียนในหลักสูตรของสถาบันเป็นจำนวนมาก ตลอดจนเป็นสถานที่ที่ก่อกำเนิดของสถาบันอณูชีววิทยาแลพันธุศาสตร์ที่มีชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย

จากวันนั้นถึงวันนี้ แม้ว่ากาลเวลาจะผ่านมาราว 17 ปีแล้ว และหน่วยงานทั้งสองทั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและสถาบันอณูชีววิทยาและพันธุศาสตร์ ได้มีการปรับโครงสร้างใหม่เป็นสถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุลแล้ว แต่อาคารดังกล่าวก็ยังคงมีบทบาทที่สำคัญยิ่งในการเป็นศูนย์กลางของการบริหารจัดการและการดำเนินกิจกรรมการวิจัยของโครงการต่างๆ อย่างเข้มแข็งตลอดมา จนอาจถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่เป็นรากฐานของการสร้างความเข้มแข็งให้กับการวิจัยของสถาบันและมหาวิทยาลัยอย่างแท้จริง

การริเริ่มของการวิจัยและพัฒนาวัคซีนไข้เลือดออก

การพัฒนาวัคซีนเป็นภารกิจที่สำคัญไม่เฉพาะต่อมหาวิทยาลัยมหิดลเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญต่อความสามารถในการผลิตวัคซีนของประเทศ งานวิจัยและพัฒนาวัคซีนไข้เลือดออกเด็งกี่   ที่เริ่มดำเนินการใน พ.ศ. 2523 เป็นจุดเริ่มต้นที่ก่อให้เกิดศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีนที่มหาวิทยาลัยมหิดลในเวลาต่อมา เกิดการพัฒนาศักยภาพในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโดยนักวิจัยไทยอย่างจริงจัง และเป็นประตูถ่ายทอดวิทยาการใหม่ๆ ให้กับประเทศไทย

ในปี พ.ศ. 2534 ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. ณัฐ ภมรประวัติ และ รองศาสตราจารย์ ดร. สุธี ยกส้าน ได้ทดลองฉีดวัคซีนไข้เลือดออกชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ (Live attenuated tetravalent dengue vaccine) ซึ่งพัฒนาโดยมหาวิทยาลัยมหิดลให้แก่อาสาสมัครผู้เยาว์เป็นครั้งแรก ที่อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา

ในปี พ.ศ. 2536 มหาวิทยาลัยมหิดลได้ทำความตกลงกับบริษัทผลิตวัคซีนในประเทศฝรั่งเศส เพื่อนำวัคซีนต้นแบบไปขยายการผลิตให้ถึงระดับอุตสาหกรรม และขึ้นทะเบียนเพื่อใช้ในการป้องกันโรคไข้เลือดออกต่อไป

ในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยมหิดลได้มีความก้าวหน้าในการพัฒนาวัคซีนชนิดต่างๆ มีการวิจัยเพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพของวัคซีนในการคุ้มกันโรคของวัคซีนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ สร้างความสามารถในการพึ่งตนเองทางเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งของคนไทยและคนในภูมิภาคได

งานบริหารจดหมายเหตุ ชั้น 3 หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170

ติดต่องานบริหารจดหมายเหตุ

โทร 0-2800-2680-9 ต่อ 4346

ติดต่องานพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ

*** สถานที่ติดต่อเข้าชมนิทรรศการหอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล

ชั้น 3 ห้องหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยมหิดล 301 อาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดล มหาวิทยาลัยมหิดล ตําบลศาลายา อําเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170

โทร 0-2849-4541-4

โทรสาร 0-2849-4545

© 2021 ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล. All Rights Reserved.