มรดกความทรงจำ
The Memories
บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล
กำเนิดบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล
บัณฑิตวิทยาลัยได้เปิดรับนักศึกษาครั้งแรก เมื่อปีการศึกษา 2505 โดยสภามหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ในการประชุมครั้งที่ 77/2505 เมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2505 มีมติรับหลักการ “โครงการจัดตั้งบัณฑิตวิทยาลัย” และสภาการศึกษาแห่งชาติได้รับหลักการ เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2505 ต่อมาก็ได้มีประกาศพระราชกฤษฎีการจัดตั้งบัณฑิตวิทยาลัยอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2507
บุคคลสำคัญผู้ก่อตั้งบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล คือ ศาสตราจารย์นายแพทย์สวัสดิ์ สกุลไทย์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัยท่านแรก (ดำรงตำแหน่งคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย พ.ศ. 2505 ถึง พ.ศ. 2516) และศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ ดร.ณัฐ ภมรประวัติ (ดำรงตำแหน่งคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย พ.ศ. 2516 ถึง พ.ศ. 2523)
ท่านศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ ดร.ณัฐ ภมรประวัติ ได้เล่าถึงการกำเนิดของบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล ให้กองบรรณาธิการหนังสือที่ระลึก 3 ทศวรรษ แห่งการก่อตั้งบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2505 – 2536 ไว้ดังนี้
“...ความจริงเรื่องของบัณฑิตวิทยาลัยในระยะแรกก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคนไม่กี่คนนัก ซึ่งคนที่สำคัญที่สุดเห็นจะเป็นอาจารย์หมอสวัสดิ์ สกุลไทย์ ซึ่งท่านเป็นคณบดีที่อยากจะเห็นเรื่องบัณฑิตศึกษาต่างๆ เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ในระยะนั้น ถ้าผมจำไม่ผิดเวลานั้น อาจารย์หมอสวัสดิ์ แดงสว่าง เป็นอธิการบดี อาจารย์หมอสวัสดิ์ สกุลไทย์ ท่านรุ่นก่อนผมหลายปี ผมจำได้แม่นยำจนถึงทุกวันนี้ว่า ผมพบท่านครั้งแรกที่ห้องสมุดของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลซึ่งอยู่บนตึกอำนวยการ ผมไม่เคยเรียนกับท่านมาก่อน แต่วันนั้นผมกำลังค้นหาหนังสืออยู่ ท่านเข้ามาหาผม ช่วงนั้นผมกลับมาจากอเมริกาได้ใหม่ๆ ท่านอยากให้ผมทำ Postgraduate course ทาง Histochemistry เป็นคอร์สสั้นๆ
ผมก็บอกกับท่านว่า สถานการณ์ด้านพยาธิวิทยาของเมืองไทยในขณะนั้นอาจจะยังไม่ต้องการความรู้ด้าน Histochemistry มากนักก็ได้ ผมยังไม่รู้ว่า ถ้าทำขึ้นมาจะมีคนเรียนไหม เมื่อคุยกับท่านต่อจึงได้ทราบว่าท่านสนใจเรื่องของงานบัณฑิตศึกษามาก งานบัณฑิตศึกษาที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ในตอนนั้นจะไม่เหมือนที่อื่นในบางประการ กล่าวคือ ส่วนหนึ่งเป็นบัณฑิตศึกษาทางวิชาชีพ คือคนที่เป็นแพทย์แล้วเขาต้องการที่จะเป็นแพทย์ผู้ชำนาญต่อ เช่นชำนาญทางอายุรศาสตร์ ศัลยศาสตร์ สูติศาสตร์ เขาก็มาเรียนเป็นแพทย์ประจำบ้าน แล้วอยู่ไปสักปีสองปีก็อาจขึ้นเป็นอาจารย์ หรือไม่ก็ออกไปทำงานกระทรวงสาธารณสุข หรือหน่วยงานราชการอื่นๆ เช่น ทหาร ตำรวจ เป็นแพทย์เฉพาะทางไป ดังนั้น อาจารย์หมอสวัสดิ์ ก็สนใจที่ว่าจะทำอย่างไรให้มีวุฒิบัตรเกิดขึ้น อีกด้านในสาขาวิชา จุลชีววิทยา เภสัชวิทยา สรีรวิทยา ฯลฯ เราใช้อาจารย์ที่เป็นแพทย์มาเป็นอาจารย์ แล้วค่อยฝึกฝนหัดกัน บางทีก็ส่งไปทำปริญญาเอกในต่างประเทศแล้วก็กลับมา จำนวนแพทย์ที่สนใจมาเป็นอาจารย์ก็น้อยลงมาก เพราะฉะนั้น อาจารย์ก็คิดว่าบัณฑิตศึกษาทางด้านปริญญาโทหรือปริญญาเอกในส่วนของวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐานจึงมีความสำคัญ จุดนี้จึงเป็นจุดสำคัญที่ทำให้อาจารย์เริ่มงานบัณฑิตวิทยาลัยขึ้นมา ทีนี้ วิธีการที่จะทำบัณฑิตศึกษานั้นมีอยู่ 2 แนวทาง ในแง่ของการบริหาร คือแบบยุโรป กับแบบอเมริกา ถ้าเราเลือกใช้แบบยุโรป อย่างอังกฤษ เยอรมัน ก็จะเป็นแบบที่ผู้เรียนที่อยากมีวุฒิสูงขึ้น ไปอยู่กับศาสตราจารย์ที่มีชื่อเสียง แล้วก็จะทำวิจัยเป็นส่วนใหญ่ เขียนวิทยานิพนธ์ดีๆ ขึ้นมา สอบวิทยานิพนธ์ผ่านก็ได้ ปริญญาระดับสูงซึ่งสามารถให้ปริญญาได้ในจำนวนจำกัด ส่วนแบบของอเมริกาจะเป็นแบบที่มองว่าจะให้แก่คนจำนวนมากๆ จะมีองค์กรคอยดูแลมาตรฐานการจัดการเรียนการสอนที่เรียกว่า บัณฑิตวิทยาลัย หรือ Graduate School นั่นเอง ซึ่งบัณฑิตวิทยาลัยจะเป็นหน่วยงานที่ดูแลมาตรฐาน และติดต่อกับหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการเรียนการสอนคือ ภาควิชาโดยตรงแบบนี้ จะให้ผู้เรียนศึกษาในกระบวนรายวิชาต่างๆ ในระดับบัณฑิตศึกษา ได้คะแนนตามเกณฑ์ที่กำหนด จึงจะไปทำวิจัยแล้วจึงเขียนวิทยานิพนธ์และสอบวิทยานิพนธ์ ผ่านก็จบได้รับปริญญา ซึ่งผมคิดว่าอาจารย์หมอสวัสดิ์ สกุลไทย์ และทางมหาวิทยาลัยดูในเรื่องนี้แล้วก็ตัดสินใจเลือก และรับเอาระบบของอเมริกามาใช้ จึงมีการก่อตั้งบัณฑิตวิทยาลัยของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ขึ้นมา และเปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ คลินิกเป็นหลักสูตรแรก นี่คือขั้นตอนแรกที่ก่อตั้งขึ้นมา...”
ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี “เจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์”
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี มีความสนพระทัยที่จะศึกษาต่อระดับบัณฑิตศึกษาที่มหาวิทยาลัยมหิดล หลังจากที่สำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเคมี เกียรตินิยมอันดับ 1 จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2521 โดยได้เสด็จทอดพระเนตรกิจการด้านวิชาเคมี เป็นการส่วนพระองค์ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันอังคารที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2522 เวลา 14.00 น. และมีพระราชดำรัสให้มหาวิทยาลัยมหิดล เสนอโครงการบัณฑิตศึกษาด้านอินทรียเคมี และเภสัชวิทยา เพื่อทรงพิจารณา หลังจากนั้นได้ทรงยื่นใบสมัครเพื่อศึกษาต่อหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาอินทรียเคมี ประจำปีการศึกษา 2522
มหาวิทยาลัยมหิดลได้ดำเนินการตามขั้นตอนการพิจารณาใบสมัครของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอฯ ตามระเบียบบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล ว่าด้วยการดำเนินการศึกษาขั้นปรัชญาดุษฎีบัณฑิต พ.ศ. 2519 คณะกรรมการพิจารณาใบสมัคร ซึ่งมีศาสตราจารย์นายแพทย์กษาน จาติกวนิช อธิการบดี เป็นประธานได้พิจารณาและมีมติรับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอฯ เข้าศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาอินทรียเคมี ประจำปีการศึกษา 2522
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอฯ เสด็จขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันพุธที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2522 เวลา 10.00 น. ณ หอประชุมราชแพทยาลัย โรงพยาบาลศิริราช ทรงได้เลขประจำตัว 2231003 และทรงร่วมงานปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ ร่วมกับพระสหายรุ่นเดียวกัน เมื่อวันเสาร์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2522 ที่ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 2 คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ระหว่างเวลา 16.00 – 19.30 น.
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอฯ ทรงศึกษาและปฏิบัติงานวิจัยที่ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ โดยทรงศึกษารายวิชา 45 หน่วยกิต ได้คะแนนเฉลี่ยสะสม 3.32 และทรงทำวิทยานิพนธ์ 2 หัวข้อ คือ
Part I : Constituents of Boesenbergia Pandurata(Yellow Rhizome) (Zingiberaceae)
Part II : Additions of Litho Chloromethyl Phenyl Sulfoxide to Aldiminesand α , β- Unsaturated Compounds
คณะกรรมการควบคุมการศึกษาและวิทยานิพนธ์ และคณะกรรมการสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ ประกอบด้วย
ศาสตราจารย์ ดร.วิชัย ริ้วตระกูล ประธานกรรมการ
ดร. พิทยา ตันติเวชวุฒิกุล กรรมการ
ดร. ปทุมรัตน์ ตู้จินดา กรรมการ
กำหนดสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ ในวันจันทร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2528 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมร็อกกี้เฟลเลอร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งในวันสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ นอกจากคณะกรรมการป้องกันวิทยานิพนธ์แล้ว ยังมีคณะกรรมการสักขีพยาน ซึ่งมีศาสตราจารย์ ดร.ณัฐ ภมรประวัติ อธิการบดี เป็นประธาน และมีคณาจารย์และนักศึกษาเข้าร่วมฟังการสอบด้วย
สภามหาวิทยาลัยมหิดล ในคราวประชุมครั้งที่ 97 เมื่อวันพุธที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2528 ได้อนุมัติปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาอินทรียเคมี แด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอฯ ให้ทรงสำเร็จการศึกษา ตั้งแต่วันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ.2528 และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอฯ เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรในวันพฤหัสบดีที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2528 ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร
ด้วยพระปรีชาสามารถ และคุณูปการใหญ่หลวง ที่ทรงทำให้แก่ประชาชนและประเทศชาติ คณะกรรมการบริหารสมาคมศิษย์เก่าบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายโล่เฉลิมพระเกียรติศิษย์เก่าดีเด่น บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี พ.ศ. 2544 เป็นปีปฐมฤกษ์ แด่ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เพื่อเฉลิมพระเกียรติและเพื่อเป็นสิริมงคลแก่สมาคมฯ สืบไป
นักศึกษาชาวต่างชาติคนแรกที่ได้รับรางวัลศิษย์เก่าดีเด่นบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล
งานบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล มุ่งเน้นสู่ความเป็นนานาชาติตั้งแต่แรกเริ่มจัดตั้งบัณฑิตวิทยาลัย จากการที่ศาสตราจารย์นายแพทย์สวัสดิ์ แดงสว่าง อธิการบดีมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ และศาสตราจารย์นายแพทย์สวัสดิ์ สกุลไทย์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัยท่านแรก มีความตั้งใจที่ต้องการให้มีหลักสูตรระดับหลังปริญญา ที่มีความทัดเทียมกับต่างประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแพทย์ และอาจารย์แพทย์ อันเนื่องมาจากความต้องการศึกษาต่อต่างประเทศซึ่งเป็นปัญหาระดับชาติ
ในปี พ.ศ. 2507 ศาสตราจารย์นายแพทย์สวัสดิ์ สกุลไทย์ และศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ได้ร่วมกันผลักดันให้เกิดหลักสูตรปริญญาเอกทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐาน ที่คณะวิทยาศาสตร์เป็นครั้งแรก ใน 5 สาขาวิชา คือ กายวิภาคศาสตร์ สรีรวิทยา ชีวเคมี จุลชีววิทยา และเภสัชวิทยา โดยได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ ในเรื่องอาจารย์ชาวต่างประเทศ เครื่องมือ อุปกรณ์การวิจัย รวมทั้งทุนการศึกษา
ศาสตราจารย์นายแพทย์สวัสดิ์ สกุลไทย์ ได้เล่าถึงการเรียนการสอนในขณะนั้นว่า “...อาจารย์ของมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์สอนบรรยายเป็นภาษาอังกฤษ มีปัญหาภาษาอังกฤษอยู่มาก แต่ก็ไม่มากเท่าไหร่ เฉยๆ นักเรียนทนได้ และพูดได้เอง ต่อมาเราได้ขยายการรับนักศึกษาชาวต่างประเทศเข้ามาจากอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย มาเรียนที่เราทางพรีคลินิก เพราะเขาขาดแคลนอาจารย์ทาง พรีคลินิกเหมือนกัน มาเลเซียก็กำลังตั้งมหาวิทยาลัยใหม่ มีคณะแพทยศาสตร์อีกแห่งหนึ่งด้วย ซึ่งในการดำเนินการในช่วงนั้น ให้นักศึกษาทุกคนนึกเสมือนว่าเราไปนอก จากการที่เราได้คัดเลือกนักศึกษามาตอนนั้น นักศึกษาที่เข้ามารอบคัดเลือกต้องเกรดดี แล้วก็เรียนภาษาอังกฤษได้ โต้ตอบเป็นภาษาอังกฤษ เขียนรายงานเป็นภาษาอังกฤษ ต้องอดทน...”
Prof. Dr. Sangkot Marzuki ชาวอินโดนีเซีย เป็นนักศึกษาชาวต่างประเทศคนหนึ่งที่เข้ามาศึกษาที่คณะวิทยาศาสตร์ ในสาขาวิชาชีวเคมี ทำวิทยานิพนธ์เรื่อง Early Development of Heat Resistance of Proteins during Sporulations of Bacillus Lichenipormis สำเร็จการศึกษาเมื่อปีการศึกษา 2513 ได้รับพระราชทานปริญญาบัตร ปริญญามหาบัณฑิตทางวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐาน เมื่อวันศุกร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2514 ณ หอประชุมราชแพทยาลัย ศิริราช และเป็นนักศึกษาชาวต่างชาติคนแรกที่สมาคมศิษย์เก่าบัณฑิตวิทยาลัย คัดเลือกให้ได้รับรางวัล ศิษย์เก่าดีเด่น บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำ ปีพ.ศ. 2548 ประเภทวิชาการ/วิจัย เนื่องด้วยมีผลงานโดดเด่นในด้านวิชาการและวิจัยในระดับนานาชาติ มีผลงานตีพิมพ์มากมาย เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในวงการแพทย์และวิทยาศาสตร์ ในประเทศอินโดนีเซีย มีความเชี่ยวชาญด้านชีวเคมีและชีววิทยาโมเลกุล ดำรงตำแหน่ง Director, Eijkman, Institute for Molecular Biology, Indonesia และได้รับรางวัล ASEAN Outstanding Scientist Award 2005 จึงเป็นศิษย์เก่าชาวต่างชาติของบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้หนึ่งที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานและวิชาชีพ และได้นำความรู้ที่ได้รับไปก่อให้เกิดคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติของตนเองและสังคมโลก
QUICK LINKS
ติดต่องานบริหารจดหมายเหตุ
ติดต่องานพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ
*** สถานที่ติดต่อเข้าชมนิทรรศการหอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล
© 2021 ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล. All Rights Reserved.