มรดกความทรงจำ

The Memories

สมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดลในพระราชูปถัมภ์


รางวัลมหิดลทยากร

จากวัตถุประสงค์การก่อตั้งสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดล ข้อ 4.5 ให้ส่งเสริมเกียรติของมหาวิทยาลัยมหิดล และสมาชิกที่ดีเด่น เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว คณะกรรมการบริหารสมาคมในวาระปีพ.ศ. 2534 โดยมี ศาสตราจารย์นายแพทย์ณัฐ ภมรประวัติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล และดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฯ ในขณะนั้น ได้พิจารณาเห็นว่าศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นจำนวนมาก และหลายสาขาวิชาได้จบการศึกษาแล้วไปประกอบอาชีพอันหลากหลายทั้งภาครัฐ เอกชน ส่วนตัวจนประสบผลสำเร็จ รวมถึงมีผลงานที่เป็นประโยชน์และเป็นที่ประจักษ์ในแวดวงวิชาชีพ สังคม เป็นที่ยอมรับยกย่องทั้งภายใน และภายนอกประเทศ บางท่านได้ประกอบคุณงามความดี จนเป็นแบบอย่างที่ดีของสังคม จึงเห็นสมควรที่จะได้รับการยกย่องและประกาศเกียรติคุณในความสามารถ และความดีงามให้เป็นประจักษ์แก่ศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน อาจารย์ ข้าราชการของมหาวิทยาลัยมหิดล รวมถึงบุคคลทั่วๆ ไป โดยเห็นสมควรมอบรางวัลมหิดลทยากรเพื่อเป็นเกียรติประวัติ

ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2535 ศาสตราจารย์นายแพทย์ณัฐ ภมรประวัติ นายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดล ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้สมควรได้รับรางวัลมหิดลทยากรขึ้นคณะหนึ่ง โดยมีศาสตราจารย์นายแพทย์สุนทร ตัณฑนันท์ อดีตนายกผู้ก่อตั้งสมาคม เป็นประธานดำเนินการสรรหา และเนื่องจากในปีพ.ศ. 2535 เป็นปีที่สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ จึงถือเป็นศิริมงคลและปฐมฤกษ์ในการพิจารณาจัดพิธีมอบรางวัลมหิดลทยากร ให้แก่ศิษย์เก่าดีเด่นของมหาวิทยาลัยมหิดลนับแต่นั้นมา โดยรางวัล “มหิดลทยากร” นี้ คณะทำงานได้ขอให้อาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก เป็นผู้ตั้งชื่อรางวัล ซึ่งมีความหมายว่า “บ่อเกิดแห่งกรุณา” และเนื่องจากรางวัลนี้มีคำว่า “มหิดล” ด้วย จึงได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเชิญพระนามาภิไธย “มหิดล” เป็นชื่อรางวัลว่า “มหิดลทยากร” ซึ่งได้รับพระบรมราชาณุญาตเรียบร้อยแล้ว

หลักเกณฑ์การพิจารณามอบรางวัลในปีพ.ศ. 2535 มีมติให้พิจารณามอบรางวัลปีละ 5 คน มอบในวันที่ 2 มีนาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชทานนามมหาวิทยาลัยมหิดล ของทุกปี (กรณีที่วันที่ 2 มีนาคม ตรงกับวันหยุดราชการหรือวันนักขัตฤกษ์ มหาวิทยาลัยมหิดลจะเลื่อนขึ้นหรือลงตามความเหมาะสม) เหตุที่ใช้วันคล้ายวันพระราชทานนามเป็นวันที่มอบรางวัล เนื่องจากในวันนั้นมหาวิทยาลัยมหิดลได้จัดพิธีมอบเข็มมหาวิทยาลัยมหิดลแก่ข้าราชการ ลูกจ้าง ของมหาวิทยาลัยมหิดล รวมถึงประกาศเกียรติคุณอาจารย์ดีเด่น ซึ่งจะมีบุคลากรของมหาวิทยาลัยมหิดลมาร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดลได้ให้เกียรติแก่สมาคมฯ ให้จัดพิธีมอบรางวัลแก่ศิษย์เก่าดีเด่นเป็นอันดับแรกในกำหนดการ โดยผู้มอบรางวัลแก่ศิษย์เก่าดีเด่น คือ นายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดล การมอบรางวัลนี้ได้ปฏิบัติมาเป็นประจำทุกปี โดยเริ่มตั้งแต่ปีพ.ศ. 2535 เป็นต้นมา มีผู้เข้ารับรางวัลแล้วจำนวน 41 คน ตามรายชื่อผู้ได้รับรางวัล ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2535-2553 ที่แนบมานี้

ขั้นตอนและระยะเวลาดำเนินการในปีที่ผ่านๆ มา

กันยายน-ตุลาคม     คณะกรรมการบริหารสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดล แต่งตั้งคณะอนุกรรมการสรรหา โดยตั้งแต่ปีพ.ศ. 2536 เป็นต้นมา คณะกรรมการบริหารสมาคมฯ เป็นคณะกรรมการสรรหา และได้ประชุมเพื่อพิจารณาเกณฑ์การสรรหา (เกณฑ์เดิมๆ ที่ปฏิบัติมาเป็นประจำโดยมีการเปลี่ยนแปลงบ้างเล็กน้อยในรายละเอียด) และเกณฑ์ที่จะกำหนดองค์กรผู้มีสิทธิ์เสนอชื่อพร้อมจำนวนที่จะเสนอ

ตุลาคม-พฤศจิกายน   ส่งหนังสือถึงองค์กรต่างๆ ตามเกณฑ์ที่กำหนด ให้เสนอรายชื่อพร้อมประวัติของศิษย์เก่าผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมตามเกณฑ์เพื่อนำมาพิจารณาในคณะกรรมการตัดสิน

พฤศจิกายน    รวบรวมรายชื่อ พร้อมประวัติของผู้ถูกเสนอชื่อจากทุกองค์กรที่ส่งมา ให้คณะกรรมการสรรหาพิจารณาล่วงหน้า เพื่อนำมาลงคะแนนในวันประชุม

ปลายพฤศจิกายน     ประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ซึ่งคือ คณะกรรมการสรรหาเพื่อลงคะแนนตัดสิน ตามเกณฑ์การตัดสิน ซึ่งจะได้รายชื่อผู้เหมาะสมที่จะได้รับรางวัลมหิดลทยากรในวันประชุมนี้ จากนั้นประกาศรายชื่อ และแจ้งผู้ได้รับรางวัลทราบ

ธันวาคม     จัดทำหนังสือประกาศเกียรติคุณผู้ได้รับรางวัลมหิดลทยากร เพื่อแจกจ่ายให้หน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยมหิดล และสมาชิกสมาคมฯ

2 มีนาคม   จัดพิธีมอบรางวัลในวันคล้ายวันพระราชทานนาม “มหาวิทยาลัยมหิดล”

สมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์

สมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดล ก่อตั้งขึ้นตามนโยบายของศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ณัฐ ภมรประวัติ ในสมัยที่ท่านดำรงตำแหน่งอธิการบดี โดยมีกลุ่มผู้ก่อการประกอบด้วย 5 ทหารเสือ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้บริหารที่เห็นความสำคัญของการมีสมาคมศิษย์เก่าฯ ได้แก่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ณัฐ ภมรประวัติ ศาสตราจารย์ทันตแพทย์สมศักดิ์ จักรไพวงศ์ รองศาสตราจารย์ ดร.สุบรรณ์ พันธ์วิศลาส ศาสตราจารย์คลินิกนายแพทย์อภิชัย วิธวาศิริ และรองศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์มันตรี จุลสมัย โดยมีดำริว่ามหาวิทยาลัยมหิดล ผลิตบัณฑิตจากคณะต่างๆ เป็นจำนวนมาก และศิษย์เก่าเหล่านั้น

ต่างก็ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานอาชีพ ซึ่งควรจะมีศูนย์กลางในการรวมตัว เพื่อระดมความคิด เพื่อการพัฒนาช่วยเหลือกิจกรรมต่างๆ ของมหาวิทยาลัย ตามความสามารถและกำลังที่จะสนับสนุนได้ ประกอบกับมหาวิทยาลัยมหิดลในขณะนั้น ยังไม่มีสมาคมศิษย์เก่า ในขณะที่คณะต่างๆ ในสังกัดมหาวิทยาลัยมหิดลได้ก่อตั้งสมาคมศิษย์เก่าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้น ในปี 2533 มหาวิทยาลัยมหิดลจึงได้ดำเนินการตามขั้นตอนการจัดตั้งสมาคมศิษย์เก่า โดยเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2534 จึงได้รับการจดทะเบียนเป็นสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดล โดยสมบูรณ์ และได้เชิญศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์สุนทร ตัณฑนันท์ เป็นนายกฯ ก่อตั้ง จากนั้น ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปีครั้งแรกในปี พ.ศ. 2535 ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ณัฐ ภมรประวัติ ได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฯ และเมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2544 สมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในสมัยศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณนายแพทย์รุ่งธรรม ลัดพลี ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมศิษย์เก่า

เมื่อปี พ.ศ. 2550 ตามพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยมหิดล หมวด 2 ข้อ (4) ได้แต่งตั้งนายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัย ดำรงตำแหน่งกรรมการสภาโดยตำแหน่ง โดยเริ่มในสมัยศาสตราจารย์เกียรติคุณแพทย์หญิงชนิกา ตู้จินดา เป็นนายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์

วัตถุประสงค์ในการก่อตั้งสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีต่อกันในระหว่างสมาชิก ส่งเสริมการศึกษาและเผยแพร่วิทยาการ ส่งเสริมสวัสดิการของสมาชิก ส่งเสริมสนับสนุนกิจการของมหาวิทยาลัยมหิดล ส่งเสริมเกียรติของมหาวิทยาลัยมหิดลและสมาชิกที่ดีเด่น ส่งเสริมการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ และไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง

จากวัตถุประสงค์ข้างต้น สมาคมฯ ได้จัดกิจกรรมต่างๆ ดังเช่น การมอบรางวัลมหิดลทยากรแก่ศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อเป็นการส่งเสริมเกียรติของมหาวิทยาลัยมหิดลและสมาชิกที่ดีเด่น การมอบสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับนักศึกษาปัจจุบัน เสริมจากที่มหาวิทยาลัยมหิดลจัดให้ การจัดงานราตรีมหิดลเพื่อส่งเสริมความสามัคคี เชื่อมโยงสายสัมพันธ์ระหว่างศิษย์เก่า คณาจารย์ และนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล การจัดแข่งขันกอล์ฟการกุศลเพื่อนำรายได้ส่วนหนึ่งทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ การจัดงานแสดงมุทิตาจิตผู้อาวุโสเพื่อน้อมรำลึกถึงผู้ที่ประกอบคุณงามความดีเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่มหาวิทยาลัยมหิดล แสดงถึงความกตัญญูกตเวที และเป็นแบบอย่างแก่อนุชนรุ่นหลัง อีกทั้งเป็นการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมประเพณีไทยอันดีงามสืบไป การจัดแข่งขันโบว์ลิ่งการกุศล การจัดงานดนตรีการกุศล “มหิดลหรรษาเริงร่ากับสุนทราภรณ์” เพื่อนำรายได้จัดตั้งกองทุน “ศิษย์เก่า ช่วยน้อง”

มุทิตาจิตต่ออาจารย์อาวุโส

ประเพณีไทยอันดีงามนี้ ชาวไทยปฏิบัติสืบทอดมาเป็นเวลายาวนาน เพื่อแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทิตาแก่ผู้อาวุโสที่เราเคารพนับถือ โดยจัดในเทศกาลวันสงกรานต์ ในปีพ.ศ. 2549 ศาสตราจารย์เกียรติคุณแพทย์หญิงชนิกา ตู้จินดา ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เสนอความคิดเห็นต่อที่ประชุมกรรมการบริหารสมาคม ฯ

ในการที่จะจัดกิจกรรมแสดงความมุทิตาจิต รดน้ำขอพรจากอาจารย์มหิดลอาวุโส ผู้ซึ่งมีพระคุณต่อลูกศิษย์และมหาวิทยาลัยมหิดลอย่างมากมาย จะได้เป็นแบบอย่างให้อนุชนชาวมหิดลรุ่นหลังให้รักษาและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมอันดีงามของชาติ ในที่ประชุมกรรมการทุกคนรู้สึกดีใจ และเห็นพ้องต้องกันในการจัดกิจกรรมนี้ และให้จัดในวันพระราชทานนามมหาวิทยาลัยมหิดล คือวันที่ 2 มีนาคม ของทุก ๆ ปี

โดยขอเชิญคณาจารย์จากทุกส่วนงานภายในมหาวิทยาลัยที่มีอายุตั้งแต่ 75 ปีขึ้นไป ส่วนงานละ 3 ท่าน ในการจัดงานครั้งแรก สมาคม ฯ ได้เรียนเชิญแพทย์หญิงสุวณี รักธรรม นายกสมาคมศิษย์เก่าแพทย์สตรีแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานในการจัดงาน ประสบผลสำเร็จอย่างดียิ่ง ได้รับคำชื่นชม ความสุขใจ อิ่มเอิบ ของอาจารย์อาวุโส ขอให้มีกิจกรรมอย่างนี้ตลอดไป ซึ่งสมาคม ฯ ก็ได้ถือปฏิบัติสืบมาตั้งแต่บัดนี้ เป็นเวลา 4 ปี

งานบริหารจดหมายเหตุ ชั้น 3 หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170

ติดต่องานบริหารจดหมายเหตุ

โทร 0-2800-2680-9 ต่อ 4346

ติดต่องานพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ

*** สถานที่ติดต่อเข้าชมนิทรรศการหอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล

ชั้น 3 ห้องหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยมหิดล 301 อาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดล มหาวิทยาลัยมหิดล ตําบลศาลายา อําเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170

โทร 0-2849-4541-4

โทรสาร 0-2849-4545

© 2021 ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล. All Rights Reserved.