สาระความรู้

knowledge

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

พิธีวางศิลาฤกษ์กลุ่มอาคารอำนวยการ อาคารเรียนและปฏิบัติการรวม คณะวิศวกรรมศาสตร์


สภามหาวิทยาลัยมหิดลมีมติเห็นชอบให้มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีศาสตราจารย์ ดร.ณัฐ ภมรประวัติ เป็นอธิการบดี จัดทำโครงการจัดตั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2532 มหาวิทยาลัยดำเนินการจัดทำรายละเอียดโครงการฯ ร่างหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต รวม 4 สาขาวิชา คือ สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมอุตสาหการและวิศวกรรมเคมี และเปิดสอนหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2532 ต่อมาโครงการจัดตั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยได้รับการพิจารณาและมีมติเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการปรับแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ฉบับที่ 6 ของทบวงมหาวิทยาลัย ให้นำโครงการฯ ปรับเข้าแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยได้มีมติเห็นชอบให้จัดตั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์ในมหาวิทยาลัยมหิดล รวมทั้งหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ในมหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2532

พิธีวางศิลาฤกษ์กลุ่มอาคารอำนวยการ อาคารเรียนและปฏิบัติการรวม คณะวิศวกรรมศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา กิ่งอำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2532   โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ กลุ่มอาคารอำนวยการ อาคารเรียนและปฏิบัติการรวมคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม วันพฤหัสบดี ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2534 เวลาฤกษ์ 12.59 – 13.25 น.

กลุ่มอาคารฯ คณะวิศวกรรมศาสตร์ แยกออกเป็นอาคารใหญ่ๆ ได้ 2 อาคาร คืออาคารอำนวยการ อาคารเรียน 1 และอาคารปฏิบัติการรวมอีก 1 อาคาร ทั้งสองอาคารมีทางเดินเชื่อมต่อกันได้ ในส่วนตัวอาคารทั้งหมดและระบบต่างๆภายในตัวอาคารอำนวยการ กรมโยธาธิการเป็นผู้ออกแบบให้เป็นไปตามความต้องการของคณะวิศวกรรมศาสตร์และข้อเสนอแนะของเจ้าหน้าที่จากสำนักงบประมาณ สำหรับระบบต่างๆ ภายในตัวอาคารปฏิบัติการรวม คณะวิศวกรรมศาสตร์เป็นผู้ออกแบบเอง

อาคารอำนวยการ เป็นอาคารสูง 5 ชั้น ประกอบด้วยห้องสำนักงานคณบดี ห้องทำงานคณบดีและรองคณบดี ห้องสำนักงานภาควิชา ห้องพักอาจารย์ ห้องประชุม ห้องบรรยาย ห้องสัมมนา ห้องคอมพิวเตอร์ ห้องอ่านหนังสือและห้องกิจกรรมนักศึกษา

ห้องปฏิบัติการรวม ในการออกแบบห้องและพื้นที่ของแต่ละห้องปฏิบัติการนั้น พิจารณาจากขนาดและน้ำหนักของเครื่องจักร เครื่องมือที่ใช้ การกำเนิดเสียงขณะปฏิบัติงาน การเกิดความร้อนและควัน ระบบระบายความร้อนด้วยน้ำภายในเครื่อง เป็นต้น ความสูงของตัวอาคารได้รับการออกแบบให้มีความสูงตั้งแต่ชั้นเดียว สองชั้น สามชั้น และห้าชั้น ในระยะแรกจะใช้เป็นห้องปฏิบัติการทางวิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมอุตสาหการ และวิศวกรรมเคมี

ระบบต่างๆภายในอาคารประกอบด้วยระบบไฟฟ้า ระบบโทรศัพท์ ระบบป้องกันอัคคีภัย ระบบเครื่องปรับอากาศ ระบบประปาและสุขาภิบาล และระบบลิฟท์ บริเวณรอบๆ อาคารจะมีถนน ทางเดินเท้า ที่จอดรถ และงานภูมิสถาปัตย์

กลุ่มอาคารฯ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้รับงบประมาณการก่อสร้างรวมทั้งสิ้น 559 ล้านบาท ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง 850 วัน

กลุ่มอาคารฯ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มีพื้นที่ภายในตัวอาคารรวมประมาณ 46,000 ตารางเมตร ได้รับการออกแบบให้สามารถรองรับการเปิดการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรีได้ถึง 7 สาขาวิชา และระดับปริญญาโทอีกอย่างน้อย 2 สาขาวิชา รวมจำนวนนักศึกษาที่จะรับได้ประมาณ 1,700 คน

4 หลักสูตรแรกวิศวกรรมศาสตร์

ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2531 การขาดแคลนวิศวกรเป็นปัญหาในระดับชาติ และมีแนวโน้มที่จะมีความต่อเนื่อง รัฐบาลจึงมีนโยบายสนับสนุนให้สถาบันอุดมศึกษาที่มีขีดความสามารถและมีความพร้อมเปิดสอนทางด้านวิศวกรรมศาสตร์

มหาวิทยาลัยมหิดลได้รับความเห็นชอบจากสภามหาวิทยาลัยมิดล เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2532 ให้ผลิตบัณฑิตด้านวิศวกรรมศาสตร์ โดยเปิดสอนในระยะแรกในจำวน 4 สาขาวิชาคือ สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล สาขาวิชา วิศวกรรมอุตสาหการ สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า และสาขาวิชาวิศวกรรมเคมี

ปรัชญาของหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิตมหิดล มุ่งเน้นการผลิตบัณฑิตให้มีคุณภาพในระดับมาตรฐานโลกในทิศทางแบบไทย ผู้เรียนจบต้องมีความสามารถทัดเทียมกับผู้ที่จบในมหาวิทยาลัยนานาชาติ มีความถนัดในวิชาชีพ รักษาจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ ตระหนักในเรื่องมลภาวะและสุขภาพของประชาชนและเน้นการดำเนินการในลักษณะที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ

การผลิตบัณฑิตวิศวกรรมศาสตร์ เน้นคุณภาพด้านการศึกษาและการให้บริการอยู่ในระดับมาตรฐานสากล มีประโยชน์ในการพัฒนาทั้งประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีนและอาเซียน เน้นการบริการชุมชนควบคู่การวิจัย นำวิธีการของเอกชนมาสัมพันธ์กับระบบราชการมีการร่วมมือลงทุนในด้านการวิจัย การลงทุนทรัพย์สิน และการควบคุมคุณภาพ เน้นความรู้ความสามารถตามสาขาวิชาชีพและจรรยาบรรณของวิชาชีพ

วัตถุประสงค์ในการผลิตบัณฑิตด้านวิศวกรรมศาสตร์ ให้มีความรู้ความสามารถและทักษะในการประกอบอาชีพสาขาวิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมอุตสาหการ วิศวกรรมไฟฟ้า และวิศวกรรมเคมี รวมถึงให้มีความรู้ความสามารถในการพัฒนา วิจัยทางด้านวิศวกรรม มีความคิดสร้างสรรค์ รับผิดชอบต่อหน้าที่ สังคม มีความเป็นผู้นำ มีความสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ มีคุณธรรม ตระหนักในคุณค่าของศิลปวัฒนธรรม ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเป็นผู้มีจรรยาบรรณต่อวิชาชีพ

ผู้ที่จะเข้าศึกษาต้องสำเร็จชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า สายวิทยาศาสตร์และมีคุณสมบัติว่าด้วยการศึกษาระดับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยมหิดล โดยคัดเลือกจาการสอบข้อเขียนและสัมภาษณ์ ผ่านการพิจารณาตามเกณฑ์มาตรฐานที่แต่ละสาขากำหนด ระยะเวลาการศึกษาไม่น้อยกว่า 8 ภาคการศึกษา และใช้เวลาการศึกษาทั้งหมดไม่เกิน 8 ปีการศึกษาจำนวนหน่วยกิตไม่น้อยกว่า 146 หน่วยกิต

การเปิดสอนในหลักสูตรที่เป็นพื้นฐานสำหรับการเรียนการสอนของวิศวกรรมศาสตร์ ในปีการศึกษา 2533 ในสาขาวิชาที่กำลังขาดแคลนทั้ง 4 สาขาดังกล่าว มีลักษณะหลักสูตรจะเป็นระบบ 4+1 คือระดับปริญญาตรีใช้เวลาศึกษาตามหลักสูตร 4 ปีและสามารถศึกษาต่อในระดับประกาศนียบัตรชั้นสูงทางวิชาชีพอีก 1 ปี โดยใน 4 ปีแรกจะรับนักศึกษาหลักสูตรละ 20 คนและจะรับหลักสูตรละ 30-40 คนในปีต่อๆไป ในแต่ละหลักสูตรมีจำนวนหน่วยกิตรวม 146-149 หน่วยกิต ประกอบด้วยหมวดวิชาการศึกษาทั่วไป 41-43 หน่วยกิต หมวดวิชาเฉพาะ 99-101 หน่วยกิต หมวดวิชาเลือกเสรีไม่น้อยกว่า 3 หน่วยกิต การฝึกงานด้านวิศวกรรม 2 หน่วยกิต เปิดสอนประมาณภาคการศึกษาละ 7-9 วิชา จำนวน 18-19 หน่วยกิต โดยมีสัดส่วนอาจารย์ : นักศึกษา ตามเกณฑ์ปริญญาตรี สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็น 1:10

บัณฑิตที่จบคณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล จะเป็นผู้ที่มีความรอบรู้และมีจิตสำนึกในด้านสิ่งแวดล้อม มลภาวะ การอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมและเข้าใจถึงปัญหาเกี่ยวกับความปลอดภัยของใช้แรงงาน รวมทั้งมีความรู้ถึงระบบอุตสาหกรรมต่างๆเป็นอย่างดี และที่สำคัญมหาวิทยาลัยมหิดลจะมีส่วนในการแก้ปัญหาการขาดแคลนวิศวกรในสาขาต่างๆ เพื่อรองรับการขยายตัวด้านอุตสาหกรรมของประเทศในอนาคตด้วย

การทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญาวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงตั้งมั่นอยู่ในทศพิธราชธรรมและธรรมแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงประกอบด้วยพระพิริยะ อุตสาหะ อันมั่นคง บำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน โดยผ่านโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมากมาย โครงการเหล่านี้ต้องอาศัยเทคโนโลยีหลายๆด้าน รวมทั้งวิศวกรรมศาสตร์สาขาต่างๆร่วมด้วย

ในด้านวิศวกรรมสำรวจและแผนที่ ทรงเป็นนักสำรวจและเชี่ยวชาญการใช้แผนที่อย่างแท้จริง ทรงศึกษา ภูมิประเทศจากแผนที่อย่างละเอียด เพื่อให้ได้รายละเอียดอันถูกต้องสำหรับการวางแผนจากภาพถ่ายทางอากาศ ภาพถ่ายทางดาวเทียมสำรวจทรัพยากร ดาวเทียมอุตุนิยมและข้อมูลสนามประกอบ ทั้งยังได้ทรงศึกษาวิชาอุตุนิยมวิทยาจนลึกซึ้งเป็นที่ยอมรับ

ในด้านวิศวกรรมทางเรือ ได้ทรงส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการต่อเรือขึ้นใช้เองในราชการ โดยการนำเอาเทคโนโลยีการต่อเรือที่ทันสมัยและถูกหลักวิชาการมาใช้ในการต่อเรือ และในด้านส่วนพระองค์ได้ทรงแสดงพระปรีชาสามารถในการออกแบบเรือใบเพื่อทรงใช้ในการแข่งขันกีฬาเรือใบ

ในด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและสื่อสาร ทรงสนพระราชหฤทัยศึกษาและทรงปฏิบัติมาเป็นเวลาช้านานจนทรงมีความชำนาญเป็นการส่วนพระองค์ และได้ทรงทดลองเรื่องสายอากาศ และการแผ่กระจายของคลื่นวิทยุ ในการสื่อสารโทรคมนาคม ผลของการทดลองได้ทรงพระกรุณาธิคุณ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานให้แก่ส่วนราชการ ตลอดจนรัฐวิสาหกิจใช้ประโยชน์ต่อไป

ในด้านวิศวกรรมการเกษตรได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อดำเนินการวิจัยในเรื่องการทำฝนเทียมจนเป็นผลสำเร็จ การคิดค้นเครื่องยนต์สูบน้ำซังข้าวโพด รถไถนาเดินตามจุฬา รุ่นSPJS-60 การพัฒนาโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มขนาดเล็กที่ใช้ระบบทอดผลปาล์มภายใต้สภาพสุญญากาศ ณ มหาวิทยาลัยสงขลานคนรินทร์ เป็นต้น

ในด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ ได้ทรงเสริมในการอนุรักษ์แหล่งต้นน้ำลำธาร ป้องกันการเกิดน้ำท่วมฉับพลัน นำน้ำจากแหล่งน้ำมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก

ในด้านการชลประทานทรงสนพระราชหฤทัยในเรื่องการจัดสรรน้ำและควบคุมปริมาณน้ำที่มีอยู่ในธรรมชาติ เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เมื่อเกิดปัญหาอุทกภัยขึ้นในพื้นที่ต่างๆหลายครั้ง ทรงพระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับการสร้างทำนบกั้นน้ำ การขุดลอกคลองระบายน้ำต่างๆ อันเป็นประโยชน์แก่ราษฎร ชาวไร่ ชาวนา อย่างหาที่สุดมิได้

ในส่วนของการคมนาคมทรงแนะนำให้มีการตัดถนนเข้าไปในพื้นที่เพื่อให้ประชาชนสามารถนำผลผลิตทางการเกษตรออกสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็ว หน่วยราชการสามารถนำเครื่องมือเครื่องจักรเข้าไปบริการประชาชนได้ รวมถึงปัญหาวิศวกรรมการจราจรในเมืองหลวง

ในด้านการศึกษาทางช่างและวิศวกรรมศาสตร์ ได้พระราชทานสนับสนุนทั้งระดับต้นและระดับสูง ซึ่งในปีพุทธศักราช 2536 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชดำริให้ประดิษฐ์คิดค้นเครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้า แบบทุ่นลอย หรือ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” เพื่อใช้ในการบำบัดน้ำเสียที่เกิดจากแหล่งชุมชนและแหล่งอุตสาหกรรม เป็นผลงานที่มีขั้นตอนและการประดิษฐ์ในระดับที่สูงกว่าสิ่งประดิษฐ์ที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน ซึ่งคณะกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัลผลงานคิดค้น หรือสิ่งประดิษฐ์ ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ ประจำปีพุทธศักราช 2536 รางวัลที่ 1 ทั้งยังได้รับการจดสิทธิบัตรแล้วด้วย

ด้วยพระราชกรณียกิจ ด้วยพระปรีชาสามารถทางด้านวิศวกรรมศาสตร์นานัปการตลอดจนความในพระราชหฤทัยอย่างแน่วแน่ในการการช่างและวิศวกรรมศาสตร์ จึงนำมาซึ่งประโยชน์สุขของประชาชนและความเจริญของประเทศชาติอย่างประเสริฐสุด สภามหาวิทยาลัยมหิดลในคราวประชุมครั้งพิเศษ เมื่อวันศุกร์ที่ 3 มิถุนายน 2537 จึงได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญาวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เพื่อเป็นสิริมงคลและเกียรติอันสูงสุดแก่มหาวิทยาลัยมหิดลสืบไป

งานบริหารจดหมายเหตุ ชั้น 3 หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170

ติดต่องานบริหารจดหมายเหตุ

โทร 0-2800-2680-9 ต่อ 4346

ติดต่องานพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ

*** สถานที่ติดต่อเข้าชมนิทรรศการหอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล

ชั้น 3 ห้องหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยมหิดล 301 อาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดล มหาวิทยาลัยมหิดล ตําบลศาลายา อําเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170

โทร 0-2849-4541-4

โทรสาร 0-2849-4545

© 2021 ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล. All Rights Reserved.