มรดกความทรงจำ
The Memories
คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
แผ่นปิดเพดานสำหรับเด็กแรกเกิดที่มีเพดานโหว่
เด็กแรกเกิดที่มีเพดานโหว่ไม่สามารถดูดน้ำนมได้ เป็นที่น่าเวทนาอย่างยิ่ง ในสมัยนั้นยังไม่มีเครื่องมือเครื่องใช้ที่จะช่วยพิมพ์รูปร่างของเพดาน จำเป็นต้องดัดแปลงช้อนกินข้าวมาใช้เป็นถาดพิมพ์ปาก ปรากฏว่าใช้งานได้ดีและสามารถทำแบบเพื่อทำแผ่นปิดเพดานได้ และยังได้ช่วยให้เด็กมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอีกด้วย
แผ่นปิดเพดานสำหรับเด็กแรกเกิดที่มีเพดานโหว่นี้ประดิษฐ์ขึ้นโดย ศาสตราจารย์คลินิก กิตติ สุพันธุวณิช ในปีพ.ศ. 2517 โดยถาดพิมพ์นั้นดัดแปลงจากช้อนกินข้าวอลูมิเนียม วัสดุพิมพ์ทำจาก Irreversible Hydrocolloid และแผ่นปิดเพดานทำด้วยอะคริลิคเรซิน
งานนี้เป็นการร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ต่อมายังได้รับผู้ป่วยทั่วประเทศและมีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเพื่อก่อตั้งกองทุนช่วยเหลือเด็กเพดานโหว่ ซึ่งเป็นกองทุนเพื่อการกุศลแรกของคณะทันตแพทยศาสตร์ ละเผยแพร่ความรู้นี้ให้แก่ทันตแพทย์ทั่วประเทศ
ดวงตาเทียม
ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดและสูญเสียดวงตา เป็นผู้ที่สูญเสียบุคลิกและความมั่นใจในการใช้ชีวิตประจำวัน หากได้รับการบูรณะด้วยดวงตาเทียมจะช่วยให้มีการดำเนินชีวิตที่ดีขึ้น แต่เนื่องจากในสมัยนั้น ดวงตาเทียมสำเร็จรูปจากต่างประทศมีราคาแพงมากและสั่งซื้อลำบาก ประกอบกับมีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งมีรูปร่าง ขนาดเบ้าตาผิดปกติ ไม่สามารถใส่ดวงตาสำเร็จรูป ต้องประดิษฐ์ให้เฉพาะบุคคล จึงได้ร่วมมือประดิษฐ์และให้คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี นำไปใช้กับผู้ป่วย
ดวงตาเทียม ประดิษฐ์ขึ้นโดย ศาสตราจารย์คลินิก เบ็ญจพจน์ÂÂ ÂÂ ยศเนื่องนิตย์ ในปีพ.ศ. 2518 โดยใช้ Irreversible Hydrocolloid เป็นวัสดุพิมพ์ ส่วนวัสดุที่ใช้ประดิษฐ์ดวงตา ทำมาจากอะคริลิกเรซิน เช่นเดียวกับที่ใช้ประดิษฐ์ฟันเทียม ดังนั้นเทคนิค วัสดุ และอุปกรณ์ที่ใช้จึงสามารถใช้ประดิษฐ์ดวงตาเทียมได้
งานนี้เป็นความร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และเป็นจุดเริ่มต้น ของความพยายามจัดตั้งหน่วยประดิษฐ์ขากรรไกรและใบหน้าในปัจจุบัน
แผ่นจัดฟันล่องหน
เนื่องจากการทำแผ่นพลาสติกใสทนแรงกระแทกสูงโดยใช้วัสดุที่หาได้ภายในประเทศและนำไปผลิตเชิงพาณิชย์โดยบริษัทของคนไทยนั้น สามารถลดต้นทุนการนำเข้าพลาสติกใสทนแรงกระแทกจากต่างประเทศ คณะทันตแพทยศาสตร์จึงแรงบันดาลใจในการทำแผ่นจัดฟันล่องหนด้วยฝีมือของคนไทยเอง
แผ่นจัดฟันล่องหนประดิษฐ์ขึ้นในปีพ.ศ. 2553 โดยความร่วมมือของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ กิติกร จามรดุสิต คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์, รองศาสตราจารย์ พาสน์ศิริ นิสาลักษณ์ คณะทันตแพทยศาสตร์, รองศาสตราจารย์ พรรัชนี แสวงกิจ คณะทันตแพทยศาสตร์ และอาจารย์รชยา จินตวลากร คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วัสดุที่ใช้ประดิษฐ์ คือ Transparent acrylic cast sheet ซึ่งปรับปรุงคุณสมบัติจากแผ่น Polymethylmetacrylate เพิ่มสารทนแรงกระแทก ได้แก่ ยางสังเคราะห์, ยางธรรมชาติ และ Polyurethane โดยอาศัยปฏิกริยาการสังเคราะห์ Bulk Polymerization ด้วยตัวริเริ่มปฏิกริยาแบบ free radical initiator ผ่านการขึ้นรูปโดยกระบวนการหล่อ
ผลงานนี้เป็นการร่วมมือกันระหว่างคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์และคณะทันตแพทยศาสตร์ ซึ่งเป็นผลงานของคนไทยที่น่าภาคภูมิใจ อีกทั้งยังได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2553 ด้านวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช ระดับดี อีกด้วย
QUICK LINKS
ติดต่องานบริหารจดหมายเหตุ
ติดต่องานพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ
*** สถานที่ติดต่อเข้าชมนิทรรศการหอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล
© 2021 ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล. All Rights Reserved.