มรดกความทรงจำ

The Memories

สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล


พิธีวางศิลาฤกษ์และเปิดศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาการสาธารณสุขมูลฐานอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงวางศิลาฤกษ์ อาคารศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาการสาธารณสุขมูลฐานอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ที่จัดสร้างโดยความช่วยเหลือของรัฐบาลญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2526 เวลา 15.49 น. เป็นปฐมฤกษ์ เวลา 16.19 น. เป็นที่สุดแห่งฤกษ์ เป็นราชาฤกษ์

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ทรงเปิด ศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาการสาธารณสุขมูลฐานอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันพุธ ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 เวลา 16.19 น. เป็นปฐมฤกษ์ เวลา 16.49 น. เป็นที่สุดแห่งฤกษ์ ทลิทโทฤกษ์

ศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาการสาธารณสุขมูลฐานอาเซียน ได้รับการจัดตั้งเป็นสถาบันโดยพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งสถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2531 ตามอำนาจในมาตรา 159 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 9 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล พ. ศ. 2530 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 105 ตอนที่ 164 ลงวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2531

ผลจากการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกา คณะรัฐมนตรีรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เห็นชอบและอนุมัติ ให้ปรับสถานภาพจาก “ศูนย์” มาเป็น “สถาบัน” เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2531 และวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 สถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียน ได้ปรับเปลี่ยนชื่อเป็น สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน ตามประกาศของ สภามหาวิทยาลัยมหิดล

สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน รับผิดชอบภารกิจเทียบเท่ากับคณะหนึ่งของมหาวิทยาลัย ทำหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน และดำเนินงานวิจัย ให้บริการการเรียนการสอน เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านสาธารณสุขมูลฐาน ในประเทศกลุ่มสมาคมอาเซียน และประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ที่สนใจแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการเรียนการสอนและการวิจัย และความรู้ทางด้านสาธารณสุขมูลฐานอย่างกว้างขวาง เป็นผลดีแก่ประเทศสมาชิก และกระชับสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

ปัจจุบัน สถาบันฯ ดำเนินงานตามวิสัยทัศน์ เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ชี้นำการพัฒนาสาธารณสุขมูลฐานและสุขภาพชุมชนในระดับประเทศและระดับภูมิภาคอาเซียน ตามพันธกิจ และยุทธศาสตร์ สร้างงานวิจัยด้านสาธารณสุขมูลฐานและสุขภาพชุมชนเชื่อมโยงวาระสุขภาพแห่งชาติ ผลิตบัณฑิตเป็นผู้นำและฐานการสร้างความรู้ด้านสาธารณสุขมูลฐาน และสุขภาพชุมชน พัฒนาศูนย์ข้อมูลข่าวสารสนับสนุนการเรียนรู้ด้านสาธารณสุขมูลฐาน และสุขภาพชุมชนอย่างต่อเนื่อง พัฒนากระบวนการจัดการความรู้และขับเคลื่อนนโยบายสาธารณสุขมูลฐาน และสุขภาพชุมชน พัฒนาเครือข่ายระดับประเทศและระดับภูมิภาค พัฒนาระบบบริหารจัดการภายใน ให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้

รางวัลที่สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับ

จากการดำเนินงานของ สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ที่รับผิดชอบภารกิจเทียบเท่ากับคณะหนึ่งของมหาวิทยาลัย ในการทำหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน และดำเนินงานวิจัย ให้บริการการเรียนการสอน เป็นศูนย์การแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านสาธารณสุขมูลฐาน ในกลุ่มประเทศอาเซียน และประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ที่สนใจแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการเรียนการสอนและการวิจัย และความรู้ทางด้านสาธารณสุขมูลฐานอย่างกว้างขวาง เป็นผลดีแก่ประเทศสมาชิก และกระชับสัมพันธไมตรีในกลุ่มประเทศอาเซียนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น จึงทำให้สถาบันฯ ได้รับรางวัลจากองค์กรระหว่างประเทศที่มีชื่อเสียงของโลก ดังนี้

1. รางวัล “ศูนย์ของสหประชาชาติที่มีความเป็นเลิศในด้าน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการฝึกอบรม” จาก คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก แห่งสหประชาชาติ ในปี พ.ศ. 2534 (AIHD : UN center of Excellence for HRD Research and Training in 1991)

2. รางวัล “สถาบันที่ดำเนินพันธกิจตามพันธสัญญาอย่างจริงจัง ในการพัฒนางานทางด้านสาธารณสุขมูลฐาน” จากองค์การอนามัยโลก ในปี พ.ศ. 2539 (PHC Award from WHO to the Institute For having a strong commitment to PHC development in 1996) และรางวัล “การนำเสนอผลงานทางด้านการพัฒนาสาธารณสุขฐาน” จากองค์การอนามัยโลก สำนักงานประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปี พ.ศ. 2541 (1998 the WHO Southeast Asia Regional Office honored AIHD by presenting it with a Primary Health Care Development Award)

3. รางวัล “ความร่วมมือระหว่างประเทศกับญี่ปุ่น” จากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น ในปี พ.ศ. 2547 (JICA Award for International Cooperation For Japan in 2004)

กล่องสื่อความเอื้ออาทรต่อสังคมประชา ชาวบ้านชาวเมือง โครงการวิจัยและพัฒนาประชาคมพุทธมณฑล

เมื่อปีพ.ศ. 2542 มหาวิทยาลัยมหิดล ได้สนับสนุนให้คณะ สถาบันต่างๆ ในมหาวิทยาลัย ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในท้องถิ่นอำเภอพุทธมณฑล ทำโครงการวิจัยและพัฒนาประชาคมพุทธมณฑลขึ้น ซึ่งมีผลกระทบที่ดีๆ ต่อสังคมในวงกว้างอย่างมากมาย ตามที่มีรายงานผลการวิจัยหลงเหลือมาถึงเวลานี้หลายเรื่อง เช่น 1) พุทธมณฑลเมืองน่าอยู่ 2) ทุนทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศ 3) การจัดตั้งตนเองและการเรียนรู้ทางสังคมภาคประชาชน 4) วิถีสังคมของชาวนาบัว 5) นักวิชาการรุ่นใหม่กับการพัฒนาองค์ความรู้ท้องถิ่นพุทธมณฑล 6) การจัดการความรู้ในชุมชน การทำบัญชีชีวิตประชาคมพุทธมณฑล 7) พุทธมณฑลในระดับมหภาค และ 8) การ์ตูนประกอบคำกลอนฝึกหัดอ่านและปลูกฝังโลกทัศน์ ‘รักคลอง-รักถิ่น’

มรดกความทรงจำเรื่อง “กล่อง” ที่ใช้เป็น “สื่อชาวบ้านชาวเมือง” ซึ่งนำมาจัดแสดงนี้ ในสายตาของคนทั่วไป อาจมองเห็นเป็นเพียงกล่องไม้กระดานอัดเล็กๆ กล่องหนึ่ง ไม่มีราคาค่างวดอะไร แต่ถ้ารู้ถึงความเป็นมาของกล่องนี้ ที่กระจายไปอยู่ตามชุมชนต่างๆ ก็จะทราบว่า เป็นกล่องที่สื่อถึงการมีจิตสาธารณะของคนจากสถาบันวิชาการ และชุมชนที่รวมพลังสร้างสรรค์ของประชาชน ที่เป็นพลเมืองผู้ตื่นรู้ มีน้ำใจต่อส่วนรวม ที่ยังคงมีจิตวิญญาณเช่นนี้ อยู่ในสังคมพุทธมณฑลในปัจจุบัน ท่านที่ไปรับประทานส้มตำไก่ย่างที่ร้าน ซอย ส.พูนทรัพย์ คงจะได้พบเห็นกล่องนี้ ที่ยังหลงเหลืออยู่จนถึงทุกวันนี้

นอกจากนี้ “กล่อง” ยังเป็นสื่อของคนทำงานวิจัยปฏิบัติการ เพื่อเกื้อหนุนพลังของขบวนการประชาชน การรวมกลุ่มกันของนักวิชาการ เจ้าหน้าที่และนักศึกษาแบบสหสาขาวิชา เสริมให้ขบวนการประชาชนใส่ใจต่อเรื่องสาธารณะ เป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ มีน้ำใจต่อส่วนรวม เป็นเครื่องมือให้การเรียนรู้และสานพลังสร้างวิถีสังคมส่วนรวม ระหว่างภาควิชาการกับสังคม นักวิชาการกับชาวบ้าน-ชาวเมือง สถาบันวิชาการกับชุมชนท้องถิ่น และเป็นสื่อคณะทำงานที่ร่วมกันทำขึ้นมาด้วยจิตอาสาอีกด้วย

งานบริหารจดหมายเหตุ ชั้น 3 หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170

ติดต่องานบริหารจดหมายเหตุ

โทร 0-2800-2680-9 ต่อ 4346

ติดต่องานพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ

*** สถานที่ติดต่อเข้าชมนิทรรศการหอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล

ชั้น 3 ห้องหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยมหิดล 301 อาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดล มหาวิทยาลัยมหิดล ตําบลศาลายา อําเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170

โทร 0-2849-4541-4

โทรสาร 0-2849-4545

© 2021 ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล. All Rights Reserved.