มรดกความทรงจำ

The Memories

สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล


รองศาสตราจารย์ ดร. ภิญโญ พานิชพันธ์ ผู้ริเริ่มในการก่อตั้งสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้

หากจะมีการเอ่ยถึงสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ก็ต้องระลึกถึง รศ.ดร.ภิญโญ พานิชพันธ์ เพราะท่านอาจารย์ร่วมกับรองศาสตราจารย์ ดร.พิณทิพ รื่นวงษา ได้ร่วมกันก่อตั้งสถาบันฯนี้ขึ้น จากการที่ไม่มีอะไรเลย จนกลายเป็นสถาบันฯ ที่มีชื่อเสียงโดดเด่น มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ดังที่ ศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช (นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล) ได้กล่าวถึงสถาบันฯไว้ว่า “ท่านอาจารย์ทั้งสอง “พิน” ( อ.ภิญโญ และ อ.พิณทิพ) ได้รับการสนับสนุนให้ดำเนินการสถาบันนวัตกรรมและพัฒนากระบวนการเรียนรู้ (ชื่อสถาบันฯ เดิม) ซึ่งมีหลักสูตรปริญญาเอกเพื่อผลิตครูวิทยาศาสตร์แนวนวัตกรรม ที่นักศึกษาเรียนแนว research-based…… ใครได้คุยกับ ดร.ภิญโญ จะสัมผัสได้ถึงความเป็นคน “หัวนวัตกรรม” ของท่านคือเป็นคนที่คิดไม่เหมือนใคร ไม่คิดตามแนวทางที่มีคนคิดแล้ว คุณสมบัตินี้เองที่ส่งเสริมให้ ดร.ภิญโญ ได้สร้างคุณูปการในการคิดนวัตกรรมให้แก่สังคมไทย”

ท่านอาจารย์ภิญโญมีประวัติและผลงานวิชาการที่โดดเด่นมาก อาทิเช่น ได้รับการตีพิม์ในวารสารวิชาการ Science อันลือลั่นที่นักวิทยาศาสตร์ทุกคนใฝ่ฝัน เป็นผู้วิจัยและผลิตชุดทดสอบไอโอดีนในเกลือ (I-Kit) ที่ช่วยแก้ปัญหาการขาดสารไอโอดีนในคนไทยซึ่งได้รับการจดสิทธิบัตรและก่อให้เกิดรายได้แก่สถาบันฯ นอกจากนี้ ท่านอาจารย์ภิญโญ ได้รับรางวัลครูดีเด่นระดับอุดมศึกษา เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสารเคมีอันตราย และอื่นๆอีกมากมาย คำนิยมที่มีถึงท่านอาจารย์นั้นมีหลากหลาย อาทิ “ปราชญ์แห่งการเรียนรู้และนวัตกรรม” “สารานุกรมเดินได้” สมัญญาเหล่านี้ได้มาจากการที่อาจารย์ภิญโญเป็นคนที่รู้กว้างและรู้ลึกในเรื่องต่าวๆ เป็นคนที่รอบรู้ เป็นพหูสูต ไม่ว่าจะเป็นด้านวิทยาศาตร์ ประวัติศาสตร์ การเมือง ดนตรี กีฬา และภาษา ซึ่งทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ท่านอาจารย์ภิญโญ เป็นอาจารย์ที่มีจิตใจดี มองโลกในแง่ดี โอบอ้อมอารี ให้ความปรานีกับผู้น้อย ไม่ถือตัว ไม่คิดร้ายกับใครหรือให้ร้ายใคร คุยสนุก ทำให้ผู้ฟังเพลิดเพลินไปกับการสนทนา ที่ได้ทั้งความรู้และความสนุกสนานไปพร้อมๆ กัน

ศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ (อดีตรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ) ได้กล่าวถึงท่านอาจารย์ภิญโญว่า “ภิญโญสนใจเรื่องวิทยาศาสตร์ศึกษาเป็นพิเศษ เขาเข้าใจว่านี่คือกุญแจที่จะทำให้ทั้งการศึกษาและวิทยาศาสตร์ได้รับความสำเร็จอย่างแท้จริง เขาใส่ใจเรื่องนี้อย่างแท้จริงมาหลายสิบปีแล้ว และผลงานของเขาก็เป็นที่ประจักษ์ ทุกคนต้องยอมรับว่าเขาเป็นผู้นำทางวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง การเป็นผู้นำเช่นนี้มาจากการที่เขาเป็นทั้งนักวิทยาศาสตร์และครูที่ดี”

ท่านอาจารย์ภิญโญ มีความเป็นครูอย่างเต็มเปี่ยม เป็นครูที่ลูกศิษย์ รักและเคารพ อีกทั้งยังเป็น “ครูต้นแบบ” “อาจารย์ผู้สร้างแรงบันดาลใจ” “ครูผู้จุดประกาย” หรือ “เป็น idol/role model” ของศิษย์หลายคน ท่านอาจารย์ภิญโญเป็นอาจารย์ที่ดึงดูดลูกศิษย์ได้ดี อาจารย์จะมีเกร็ดความรู้มาเล่าประกอบ สอนด้วยท่าทางสบายๆ ทำให้เห็นความเชื่อมโยงกับศาสตร์ต่างๆ สอดแทรกและใช้ตัวอย่างเพื่อให้นักเรียนเข้าใจดีขึ้น รวมทั้งทุ่มให้กับการสอน อาจารย์มักมีคำถามแปลกๆฝากให้นักศึกษาได้คิดต่อ เป็นคำถามที่ไม่สามารถหาคำตอบได้จากหนังสือโดยตรง อาจารย์จะจุดประกายด้วยคำถามต่างๆ ทำให้อยากเรียน อ่าน และค้นคว้าเพิ่มเติม รวมถึงอยากเก่งให้ได้สักเพียงครึ่งหนึ่งของอาจารย์ นอกจากนี้ ท่านยังเป็นต้นแบบของคนที่มุ่งมั่น ตั้งใจ และ ใส่ความพยายามเพื่อให้งานที่ทำประสบผลสำเร็จ นอกจากการเรียนการสอนในห้องเรียน ห้องปฏิบัติการแล้ว อาจารย์ยังทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้วิธีคิด มีทักษะการทำงานอันเป็นรากฐานสำคัญในการเรียนรู้ตลอดชีวิต นับเป็นความโชคดีของศิษย์รุ่นแรก (รุ่น 1-8) ที่ได้เรียนกับท่านอาจารย์ อีกทั้งยังเป็นความโชคดีของเราชาวนวัตกรรมที่ได้ทำงานกับคนเก่ง ได้เรียนรู้แนวคิด และการทำงานจากท่านอาจารย์ภิญโญ พานิชพันธ์

ประกาศมหาวิทยาลัยมหิดลเรื่องการจัดตั้งสถาบันนวัตกรรมและการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ และก่อตั้งสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้

สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ ได้จัดตั้งขึ้นในชื่อ “สถาบันนวัตกรรมและพัฒนากระบวนการเรียนรู้” เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2545 ตามมติของสภามหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีวัตถุประสงค์ในการทำงานวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และตอบสนองยุทธศาสตร์ของชาติว่าด้วยการพัฒนาคุณภาพคนและสังคมไทยสู่สังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ ด้วยการการปฏิรูปการศึกษาและเติมปัญญาให้สังคม

โดยหัวใจของการปฏิรูปการศึกษาคือการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญและให้สามารถเรียนรู้ได้เองตลอดชีวิต โดยใช้กระบวนการวิจัยเพื่อพัฒนาศักยภาพบุคคลให้มีความพร้อมทั้งประสบการณ์ ทักษะกระบวนการ และเนื้อหาความรู้ทางวิชาการด้านการจัดการศึกษา โดยเฉพาะในสาขาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นศาสตร์ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ การศึกษาและพัฒนาการจัดการให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต จะนำไปสู่สังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ โดยใช้สถานที่ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถนนพระราม 6 เขตราชเทวี โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.ภิญโญ พานิชพันธ์ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการท่านแรก

ในวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 สถาบันฯ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้” และได้ย้ายสถานที่ตั้งมาอยู่ที่อาคารอำนวยการศูนย์ศาลายา (เดิม) มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ทั้งนี้ สถาบันฯ กำหนดวิสัยทัศน์ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมหิดล

กล่าวคือ “มุ่งสู่การเป็นสถาบันวิจัยทางการศึกษา เพื่อพัฒนานวัตกรรมด้านการเรียนรู้ชั้นแนวหน้าของภูมิภาค” โดยมีพันธกิจหลักในการผลิตบัณฑิตที่สามารถสร้างนวัตกรรมและพัฒนากระบวนการเรียนรู้ด้านการศึกษาเพื่อการพัฒนาประเทศ นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นการสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมทางการศึกษาเพื่อพัฒนากระบวนการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิผล สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในทุกระดับการศึกษา รวมถึงมุ่งพัฒนาครู อาจารย์ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายในการปฏิรูปการศึกษาให้มีความสามารถในการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ที่ทันสมัยให้กับผู้เรียนในทุกระดับ

หลักสูตรของสถาบันนวัตกรรมนวัตกรรมการเรียนรู้ เน้นทั้งเนื้อหาวิชาการและกระบวนการเรียนรู้ไปพร้อมกันและส่งเสริมนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ ในแขนงวิชาต่างๆ โดยมีวัตถุประสงค์ให้บัณฑิตมีความสามารถในการวิจัยทางนวัตกรรมการศึกษา มีคุณภาพทั้งทางวิชาการและวิชาชีพ มีคุณลักษณะที่รู้จริง รู้นาน รู้สร้างสรรค์ และสื่อสารได้ และเปี่ยมไปด้วย คุณธรรม จริยธรรม โดยจัดการเรียนการสอนเป็นระบบ Team teaching และยึดหลัก 5C คือ Creativity, Communication, Content, Class Management และ Coaching and Mentoring

นอกจากนี้ สถาบันฯ ยังมุ่งสร้างผลงานวิจัยเพื่อนำไปพัฒนาระบบการศึกษาของประเทศไทยในมาตรฐานสากล และเพื่อให้เกิดประโยชน์ในวงกว้างมากที่สุด โดยทำวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรมการศึกษาพัฒนาแหล่งการเรียนรู้ พัฒนาสื่อมัลติมีเดียเสริมการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์/คณิตศาสตร์ แบบจำลองเสริมการเรียนรู้ และ อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ เพื่อให้มีผลกระทบอย่างยั่งยืนต่อวงการศึกษาของประเทศ

งานบริหารจดหมายเหตุ ชั้น 3 หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170

ติดต่องานบริหารจดหมายเหตุ

โทร 0-2800-2680-9 ต่อ 4346

ติดต่องานพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ

*** สถานที่ติดต่อเข้าชมนิทรรศการหอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล

ชั้น 3 ห้องหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยมหิดล 301 อาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดล มหาวิทยาลัยมหิดล ตําบลศาลายา อําเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170

โทร 0-2849-4541-4

โทรสาร 0-2849-4545

© 2021 ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล. All Rights Reserved.