มรดกความทรงจำ
The Memories
มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี
ย้อนรอยรำลึก บันทึกความทรงจำ ...กว่าจะมาเป็น…มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี
เมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2541 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมงกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปทรงวางศิลาฤกษ์ “มหาวิทยาลัยมหิดล ณ กาญจนบุรี” (ในขณะนั้น) ณ หมู่บ้านไตรรัตน์ ตำบลลุ่มสุ่ม อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี
ย้อนรอยอดีต เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2538 คณะรัฐมนตรี ได้มีมติ ให้มหาวิทยาลัยมหิดลรับภารกิจในการจัดตั้งมหาวิทยาลัยมหิดล ณ กาญจนบุรี ในโครงการขยายการศึกษาขั้นอุดมศึกษาไปสู่ภูมิภาค มหาวิทยาลัยมหิดล จัดตั้งโครงการจัดตั้ง มหาวิทยาลัยมหิดล ณ กาญจนบุรี ขึ้นในสังกัดสำนักงานอธิการบดีในปี พ.ศ. 2538 โดยรัฐบาลมีนโยบายที่จะกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคและชนบทประกอบกับในแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาฉบับที่ 8 ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
ทบวงมหาวิทยาลัยจึงมีนโยบาย ที่จะขยายการศึกษาระดับอุดมศึกษาไปยังส่วนภูมิภาค เพื่อยกระดับชีวิต รายได้ การสร้างงาน ตลอดจนฐานะความเป็นอยู่ของประชาชนในชนบทให้ดีขึ้น แต่เนื่องด้วยงบประมาณของประเทศมีจำกัด รัฐบาลจึงใช้วิธีการขยายโอกาสทางการศึกษา ด้วยการให้มหาวิทยาลัยของรัฐขยายวิทยาเขตการศึกษา อันจะใช้งบประมาณน้อยกว่าการจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นใหม่ ประกอบกับประชาชนชาวจังหวัดกาญจนบุรีได้มีความต้องการที่จะให้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัย ณ จังหวัดกาญจนบุรีขึ้น ซึ่งจากการประสานงานระหว่าง รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยผู้แทนชาวจังหวัดกาญจนบุรีและอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ได้เห็นชอบที่จะให้มหาวิทยาลัยมหิดลขยายวิทยาเขตการศึกษาไปที่จังหวัดกาญจนบุรีโดยจังหวัดได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดหาที่ดินเพื่อเป็นที่ตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นใหม่ เพื่อทำหน้าที่สำรวจ ตรวจสอบและศึกษา พื้นที่แปลงต่าง ๆ ที่เหมาะสม โดยได้เสนอพื้นที่ให้มหาวิทยาลัยพิจารณารวม 3 แห่งคือที่กิ่งอำเภอห้วยกระเจา อำเภอพนมทวน และอำเภอไทรโยค
ผมก็บอกกับท่านว่า สถานการณ์ด้านพยาธิวิทยาของเมืองไทยในขณะนั้นอาจจะยังไม่ต้องการความรู้ด้าน Histochemistry มากนักก็ได้ ผมยังไม่รู้ว่า ถ้าทำขึ้นมาจะมีคนเรียนไหม เมื่อคุยกับท่านต่อจึงได้ทราบว่าท่านสนใจเรื่องของงานบัณฑิตศึกษามาก งานบัณฑิตศึกษาที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ในตอนนั้นจะไม่เหมือนที่อื่นในบางประการ กล่าวคือ ส่วนหนึ่งเป็นบัณฑิตศึกษาทางวิชาชีพ คือคนที่เป็นแพทย์แล้วเขาต้องการที่จะเป็นแพทย์ผู้ชำนาญต่อ เช่นชำนาญทางอายุรศาสตร์ ศัลยศาสตร์ สูติศาสตร์ เขาก็มาเรียนเป็นแพทย์ประจำบ้าน แล้วอยู่ไปสักปีสองปีก็อาจขึ้นเป็นอาจารย์ หรือไม่ก็ออกไปทำงานกระทรวงสาธารณสุข หรือหน่วยงานราชการอื่นๆ เช่น ทหาร ตำรวจ เป็นแพทย์เฉพาะทางไป ดังนั้น อาจารย์หมอสวัสดิ์ ก็สนใจที่ว่าจะทำอย่างไรให้มีวุฒิบัตรเกิดขึ้น อีกด้านในสาขาวิชา จุลชีววิทยา เภสัชวิทยา สรีรวิทยา ฯลฯ เราใช้อาจารย์ที่เป็นแพทย์มาเป็นอาจารย์ แล้วค่อยฝึกฝนหัดกัน บางทีก็ส่งไปทำปริญญาเอกในต่างประเทศแล้วก็กลับมา จำนวนแพทย์ที่สนใจมาเป็นอาจารย์ก็น้อยลงมาก เพราะฉะนั้น อาจารย์ก็คิดว่าบัณฑิตศึกษาทางด้านปริญญาโทหรือปริญญาเอกในส่วนของวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐานจึงมีความสำคัญ จุดนี้จึงเป็นจุดสำคัญที่ทำให้อาจารย์เริ่มงานบัณฑิตวิทยาลัยขึ้นมา ทีนี้ วิธีการที่จะทำบัณฑิตศึกษานั้นมีอยู่ 2 แนวทาง ในแง่ของการบริหาร คือแบบยุโรป กับแบบอเมริกา ถ้าเราเลือกใช้แบบยุโรป อย่างอังกฤษ เยอรมัน ก็จะเป็นแบบที่ผู้เรียนที่อยากมีวุฒิสูงขึ้น ไปอยู่กับศาสตราจารย์ที่มีชื่อเสียง แล้วก็จะทำวิจัยเป็นส่วนใหญ่ เขียนวิทยานิพนธ์ดีๆ ขึ้นมา สอบวิทยานิพนธ์ผ่านก็ได้ ปริญญาระดับสูงซึ่งสามารถให้ปริญญาได้ในจำนวนจำกัด ส่วนแบบของอเมริกาจะเป็นแบบที่มองว่าจะให้แก่คนจำนวนมากๆ จะมีองค์กรคอยดูแลมาตรฐานการจัดการเรียนการสอนที่เรียกว่า บัณฑิตวิทยาลัย หรือ Graduate School นั่นเอง ซึ่งบัณฑิตวิทยาลัยจะเป็นหน่วยงานที่ดูแลมาตรฐาน และติดต่อกับหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการเรียนการสอนคือ ภาควิชาโดยตรงแบบนี้ จะให้ผู้เรียนศึกษาในกระบวนรายวิชาต่างๆ ในระดับบัณฑิตศึกษา ได้คะแนนตามเกณฑ์ที่กำหนด จึงจะไปทำวิจัยแล้วจึงเขียนวิทยานิพนธ์และสอบวิทยานิพนธ์ ผ่านก็จบได้รับปริญญา ซึ่งผมคิดว่าอาจารย์หมอสวัสดิ์ สกุลไทย์ และทางมหาวิทยาลัยดูในเรื่องนี้แล้วก็ตัดสินใจเลือก และรับเอาระบบของอเมริกามาใช้ จึงมีการก่อตั้งบัณฑิตวิทยาลัยของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ขึ้นมา และเปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ คลินิกเป็นหลักสูตรแรก นี่คือขั้นตอนแรกที่ก่อตั้งขึ้นมา...”
วันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2538 คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย และคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดลได้เดินทางไปสำรวจพื้นที่ที่จังหวัดเสนอไว้ทั้ง 3 แห่ง และมหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีมติให้เลือกพื้นที่บริเวณอำเภอไทรโยค ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านไตรรัตน์ หมู่ที่ 9 ตำบลลุ่มสุ่ม เนื้อที่ประมาณ 6,000 ไร่ และบางส่วนอยู่ติดกับทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 323 (กาญจนบุรี - ทองผาภูมิ) เป็นสถานที่ตั้งมหาวิทยาลัยมหิดล ณ กาญจนบุรี
จังหวัดกาญจนบุรี เป็นดินแดนแห่งประวัติศาสตร์อันยาวนานอุดมด้วยมงคลทั้งนามของจังหวัดและความเป็นมา
เป็นจังหวัดที่เหมาะสม สะดวกแก่การคมนาคม ประกอบด้วยธรรมชาติอันสวยงาม เป็นจังหวัดที่เป็นความสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่สมควรแก่ความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งชาติ ซึ่งอดีตสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า เสด็จพระราชดำเนินทางเดินทัพผ่านดินแดนศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้มาหลายพระองค์ และเป็นเมืองประสูติของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก พระองค์ปัจจุบัน อันเป็นที่เคารพเทิดทูนของพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ
เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2540 มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เริ่มก่อสร้าง อาคารเรียนรวม และอาคารอำนวยการ ขึ้นเป็นจุดแรกของพื้นที่ก่อสร้าง ซึ่งเป็นภาพความทรงจำ และความภาคภูมิใจ ที่ชาวจังหวัดกาญจนบุรี และบุคลากรที่เข้ามามีส่วนร่วมในการเริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัยมหิดล ณ กาญจนบุรี เป็นอย่างยิ่ง
และในด้านพื้นที่ที่จะจัดตั้งมหาวิทยาลัยมหิดล ณ กาญจนบุรีนี้ เป็นที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน อำเภอไทรโยค สภาพเป็นที่ราบสูงและภูเขา เป็นที่ดินจำนวน 58 แปลงเนื้อที่ประมาณ 4,000 ไร่ นอกจากนี้ เพื่อให้มหาวิทยาลัยมีสถานที่สวยงามสำหรับการประชุมและสัมมนา ชาวจังหวัดกาญจนบุรียังได้จัดซื้อที่ดินติดริมแม่น้ำในเขตสุขาภิบาลลุ่มสุ่ม อำเภอไทรโยคจำนวน 24 ไร่ 1 งาน 67 ตารางวา มอบให้แก่มหาวิทยาลัยอีกด้วย
วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 มีประกาศมหาวิทยาลัยมหิดล เรื่อง การจัดตั้งส่วนงานของมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2552 เพื่อให้การบริหารงานของมหาวิทยาลัยมหิดล มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2550 จึงออกประกาศให้มหาวิทยาลัยมหิดล แบ่งส่วนงานออกเป็น 2 สำนักงาน 1 วิทยาเขต 17 คณะ 7 สถาบัน 5 วิทยาลัย 1 หอสมุดฯ (จากราชกิจจานุเบกษา 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 เล่ม 126 ตอนที่ 169 ง หน้า 120 – 121 ) โครงการจัดตั้งมหาวิทยาลัยมหิดล กาญจนบุรี จึงจัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี นับตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบันที่ได้มีการพัฒนาต่อไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง ซึ่งกว่าจะมาเป็นมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ได้มีผู้บริหารและบุคลากรหลายๆ ท่าน เข้ามามีส่วนในการร่วมสร้าง ร่วมพัฒนา หลายยุคหลายสมัย สร้างความภาคภูมิใจในความทรงจำของผู้ที่ร่วมกันจัดตั้ง มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี มาจนถึงปัจจุบัน
QUICK LINKS
ติดต่องานบริหารจดหมายเหตุ
ติดต่องานพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ
*** สถานที่ติดต่อเข้าชมนิทรรศการหอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล
© 2021 ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล. All Rights Reserved.