มรดกความทรงจำ

The Memories

คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล


กำเนิดระบบคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

จุดเริ่มต้นของความทันสมัยและก้าวหน้าด้าน IT ของมหาวิทยาลัยมหิดลในวันนี้…

ก่อนปี พ.ศ. 2520 มหาวิทยาลัยยังไม่มีระบบคอมพิวเตอร์ใช้ เมื่อ ศาสตราจารย์นายแพทย์ ดร. ณัฐ ภมรประวัติ อธิการบดีสมัยนั้น ได้จัดตั้งโครงการศูนย์บริการคอมพิวเตอร์ และแต่งตั้ง ดร. ศุภชัย ตั้งวงศ์ศานต์ เป็นผู้อำนวยการในเดือนเมษายน พ.ศ. 2523 จึงได้เริ่มพัฒนางานคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัย เพื่อสนับสนุนภารกิจหลักให้เป็นไปอย่างทั่วถึง และมีประสิทธิภาพ โดยได้ติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ IBM 370/145 ซึ่งเป็นคอมพิวเตอร์ Mainframe ขนาดใหญ่ขึ้นเป็นครั้งแรก

ต่อมาในปี พ.ศ. 2525 ติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ Perkin-Elmer 3230 จำนวนผู้ใช้บริการได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามงานส่วนใหญ่จะเป็นงานประมวลผลข้อมูล (Data Processing) ต่อมาในปี พ.ศ. 2528 ได้ติดตั้งเครื่อง Perkin-Elmer 3252 ที่สำนักคอมพิวเตอร์ และด้วยความสามารถของเครื่องนี้ทำให้การพัฒนาด้านการสื่อสารข้อมูลภายในมหาวิทยาลัยเป็นไปอย่างกว้างขวาง และมีประสิทธิภาพ มีเทอร์มินัล ซึ่งกระจายอยู่ในคณะ/สถาบัน ต่าง ๆ รวม 96 เครื่อง

ขณะนั้นลักษณะของการเชื่อมโยงเครือข่ายสื่อสารคอมพิวเตอร์เป็นแบบรวมศูนย์ (Centralization) เทอร์มินัลที่อยู่ ในคณะบริเวณวิทยาเขตพญาไทจะเชื่อมเข้าสำนักคอมพิวเตอร์ โดยผ่าน Short haul modem สำหรับเทอร์มินัลในวิทยาเขตอื่น ๆ จะเชื่อมโยงโดยผ่านโทรศัพท์ ซึ่งต่อกับ Modem หรือ Statistical multiplexer modem มีโทรศัพท์เพื่อการนี้รวม 33 หมายเลข รวมทั้งให้บริการ Electronic Mail ขึ้นเป็นครั้งแรกในมหาวิทยาลัยมหิดล มีคลังข้อมูลเพื่อการบริหาร เช่น ข้อมูลข้าราชการ ลูกจ้าง นักศึกษา งบประมาณ รวม 8 คลังข้อมูล นอกจากนี้ ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้ติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ Perkin-Elmer 3230 เพื่อการบริการของโรงพยาบาลเช่นกัน

ในปี พ.ศ. 2531 ได้ติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ Concurrent Computer รุ่น 3280 เพื่อรองรับการบริการที่มีปริมาณ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และต่อมาในปี พ.ศ. 2535 จึงได้ร่างโครงการระบบเครือข่ายสื่อสารคอมพิวเตอร์ และระบบคอมพิวเตอร์ ของมหาวิทยาลัยมหิดล (Mahidol University Campus Network-MUC-Net) ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อจะวางรากฐานที่สำคัญด้านเครือข่ายสื่อสารคอมพิวเตอร์ เพื่อให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานเป็นแบบ Decentralized ในลักษณะ Distributed Network ให้มี Back-bone อัตราความเร็วไม่ต่ำกว่า 100 Mbps ในทั้ง 4 วิทยาเขต และเชื่อมโยงต่อกันด้วยสายส่งความเร็วสูง โดยมีระบบการจัดการเครือข่ายอย่างมี ประสิทธิภาพ และสนับสนุนการสื่อสาร Protocols ได้หลายรูปแบบ เน้นสถาปัตยกรรมแบบ ATM (Asynchronous Transfer Mode) ซึ่งทันสมัยมากในขณะนั้น โดยการเชื่อมต่อเครือข่ายไปยังแต่ละภาควิชาให้มี Local Network ของตนเอง

ระบบคลังข้อมูลในยุคเริ่มต้นของมหาวิทยาลัยมหิดล

ระบบคลังข้อมูลนักศึกษา

ในฐานะของสถาบันการศึกษา ระบบคลังข้อมูลนักศึกษา และโปรแกรมการศึกษา นับเป็นรากฐานที่สำคัญยิ่ง ที่จะทำให้การจัดการศึกษาที่เป็นภารกิจหลักของมหาวิทยาลัยเป็นไปอย่างรวดเร็ว และถูกต้อง

การริเริ่มพัฒนาคลังข้อมูลนักศึกษา ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2522 โดยท่านอาจารย์ ณัฐ ภมรประวัติ ซึ่งเป็นรองอธิการบดี และคณบดีบัณฑิตวิทยาลัยในสมัยนั้น ให้ทุนส่วนหนึ่งมาดำเนินการ โดยช่วงแรก โปรแกรมเขียนด้วยภาษา Fortran และต้องไปใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ

ต่อมา จึงมีการนำเอาโปรแกรมนี้มาใช้บนเครื่องมินิคอมพิวเตอร์ Perkin - Elmer (PE) โดยผู้ใช้จะใช้งาน Terminal ที่ต่อกับระบบ ซึ่งแบ่งข้อมูลออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนของ คลังข้อมูลนักศึกษา และส่วนของคลังข้อมูลโปรแกรมการศึกษา ซึ่งมีอยู่ประมาณ 2,500 รายวิชาในสมัยนั้น สำนักคอมพิวเตอร์ได้มีการพัฒนาส่วนงานของการรับส่งข้อมูลคะแนน ผลการศึกษา จากคณะมาบันทึกผลลงในระบบเพื่อดำเนินการจัดทำใบรายงานผลการศึกษา ซึ่งพัฒนาด้วยโปรแกรมภาษา QUICK-BASIC เป็นโปรแกรมเตรียมเกรด ส่งให้กับคณะต่าง ๆ ทำการส่งคะแนนผลการศึกษามายังสำนักคอมพิวเตอร์ เพื่อนำมาประมวลผลการศึกษาในระบบต่อไป โดยความร่วมมือกับกองบริการการศึกษาในสมัยนั้น ที่สำคัญ ในช่วงต้น มีการริเริ่มการลงทะเบียนทางไปรษณีย์ โดยนักศึกษาไม่ต้องเดินทางมายังมหาวิทยาลัย

ระบบคลังข้อมูลบุคลากร

สำนักคอมพิวเตอร์ได้ริเริ่มพัฒนางานคลังข้อมูลบุคลากรของมหาวิทยาลัย มาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2523 แต่เนื่องจากระบบงานมีความซับซ้อนสูง และเนื้อที่ในการเก็บข้อมูล ของคอมพิวเตอร์ในยุคนั้นมีจำกัด จึงเริ่มจากการศึกษา วิเคราะห์ ออกแบบ และ พัฒนาฐานข้อมูลเฉพาะพื้นฐานที่สำคัญและจำเป็น ในเบื้องต้นของลูกจ้างและข้าราชการก่อน โดยเน้นการบันทึกและตรวจทานข้อมูล เพื่อสร้างเป็นแฟ้มข้อมูล หลักหรือ Master File เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ จนเป็นผลสำเร็จในเดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ.2525

หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2528 ได้มีการพัฒนาโปรแกรมสำหรับบำรุงรักษาและปรับปรุง แก้ไขฐานข้อมูลข้าราชการให้เป็น ปัจจุบันตามคำสั่งต่างๆ ของมหาวิทยาลัย เช่น คำสั่งบรรจุ โอน ย้าย แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้น คำสั่งลาออกจากราชการ คำสั่งการดำรงตำแหน่งทางบริหาร การเปลี่ยนตำแหน่ง เป็นต้น โดยมีก้าวของความสำเร็จที่สำคัญ คือ การจัดพิมพ์บัญชีถือจ่ายเงินเดือนข้าราชการ (จ.18) โดยใช้โปรแกรมบันทึกข้อมูลและตรวจสอบ ความถูกต้องของข้อมูลตามคำสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนข้าราชการเมื่อเริ่มต้นปีงบประมาณใหม่ แล้วจึงปรับปรุงข้อมูลลงใน Master file ของคลังข้อมูลข้าราชการ และจัดพิมพ์เป็นรายงาน บัญชีถือจ่ายเงินเดือนข้าราชการตามปีงบประมาณนั้น ๆ ซึ่งทำให้สามารถทราบถึงสถิติ จำนวนข้าราชการรวมถึงอัตราว่างทั้งหมดในมหาวิทยาลัย

ระบบคลังข้อมูลงบประมาณ

ในปี พ.ศ. 2526 ได้มีความร่วมมือกับกองคลังในการพัฒนาระบบงานบริหารงาน การเงิน การคลัง และงบประมาณ เพื่อใช้ สำหรับการบริหารจัดการงานคลังอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

ในระหว่าง พ.ศ. 2526 - 2535 ได้พัฒนาระบบประมวลผลข้อมูลการขออนุมัติเบิกจ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน แบบ Batch โดยงานงบประมาณกองคลังเป็นผู้เตรียมข้อมูลการขออนุมัติเบิกจ่ายเงินงบประมาณ แผ่นดิน ให้ทุกหน่วยงานในมหาวิทยาลัย และส่งข้อมูลเข้าระบบทุกสิ้นวันผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ซึ่งต่อกับ Modem มาเพื่อ ทำการประมวลผลข้อมูลที่เครื่อง Perkin - Elmer ซึ่งตั้งอยู่ที่สำนักคอมพิวเตอร์ ส่วนรายงานประจำเดือน ประจำไตรมาส และประจำปีนั้น ทางสำนักคอมพิวเตอร์เป็นผู้ดำเนินการจัดพิมพ์รายงานส่งให้กับกองคลัง และ หน่วยงานต่าง ๆ โดยใช้เครื่องพิมพ์แบบ Line Printer ระบบที่พัฒนาขึ้นในช่วงแรกนี้ยังไม่มีการตรวจสอบ รายละเอียดในการเบิกจ่ายและเงินคงเหลือ การพัฒนาระบบใช้ภาษา FORTRAN และฐานข้อมูลเป็นแบบ Text File ในช่วงแรกของการเริ่มพัฒนาระบบงานคลังนี้ สำนักคอมพิวเตอร์ยังได้พัฒนาระบบคลังข้อมูลครุภัณฑ์ขึ้น เพื่อใช้ในการสอบถามและสรุปการจัดซื้อครุภัณฑ์ของหน่วยงานต่างๆ ในแต่ละปี และยังริเริ่มพัฒนาระบบงานเงินรายได้อีกด้วย ผลของการพัฒนาระบบงานคลังดังกล่าวทำให้มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นมหาวิทยาลัย แห่งแรกที่สามารถบริหารเม็ดเงินงบประมาณได้อย่างดีเยี่ยม

พระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์

พระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์ เป็นโครงการที่มหาวิทยาลัยมหิดล เริ่มจัดทำเมื่อปี พ.ศ. 2530 และประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก โดยมี ศาสตราจารย์ ดร. ณัฐ ภมรประวัติ (ดำรงตำแหน่งอธิการบดีในสมัยนั้น) เป็นประธานคณะกรรมการ และมี พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) (เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่พระเทพเวที ในสมัยนั้น) เป็นที่ปรึกษา และรองศาสตราจารย์ ดร. ศุภชัย ตั้งวงศ์ศานต์ (ครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักคอมพิวเตอร์ ซึ่งปัจจุบัน คือ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร) เป็นหัวหน้าคณะทำงาน

โดยนำพระไตรปิฎกทั้งหมด 45 เล่ม มาบรรจุในคอมพิวเตอร์ ประเภท PC และพัฒนาโปรแกรมชื่อ BUDSIR (BUDdhist Scriptures Information Retrieval) เพื่อการสืบค้นข้อมูล ต่อมาท่านพระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ได้ตั้งชื่อว่า “พระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์”

BUDSIR เป็นโครงการที่เฉลิมฉลองและเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช ในพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาโครงการฯ ได้พัฒนาและเผยแพร่ผลงานมาแล้ว 11 ครั้ง ได้แก่ BUSIR ชุดแรก ตามด้วย BUDSIR II, III, และ IV ภายใต้ DOS และในปี พ.ศ. 2537 ได้พัฒนา BUDSIR IV on CD-ROM เป็นผลสำเร็จ และอีก 2 ปีต่อมา ได้พัฒนา BUDSIR IV for Windows เพื่อความสะดวกในการใช้งานยิ่งขึ้น ในปี พ.ศ. 2541 ได้พัฒนาเป็นชุดภาษาไทย หรือ BUDSIR/TT ทำให้ชาวไทยได้ค้นหาข้อมูลในคัมภีร์ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้องและครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้นซึ่ง BUDSIR/TT นี้ มีการพัฒนาต่อเนื่องถึง 3 Version ด้วยกัน ผลงานที่สำคัญอีกผลงานหนึ่ง คือ พระไตรปิฎกฉบับนานาชาติ หรือ BUDSIR V ซึ่งสามารถแสดงผลได้ถึง 8 ชุดอักษร ได้แก่ เทวนาครี สิงหล พม่า เขมร ล้านนา ลาว โรมัน และไทย และผลงานล่าสุดในปี พ.ศ. 2550 คือ BUDSIR VI โดยได้เพิ่มชุดคัมภีร์เพื่อการศึกษาพระไตรปิฎกที่สมบูรณ์ที่สุด และเพิ่มการเชื่อมโยงพุทธธรรมเข้ากับคัมภีร์ที่ใช้ใน BUDSIR และโปรแกรมพจนานุกรมศัพท์พุทธศาสตร์ ที่สืบค้นศัพท์ธรรมะ ได้ทั้งไทย-อังกฤษ

BUDSIR สามารถค้นหาทุกคำ ทุกศัพท์ ทุกพุทธภาษิต ทุกพุทธพจน์ ได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง และครบถ้วนสมบูรณ์ ปัจจุบันคณะทำงานได้พัฒนา BUDSIR อย่างต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์ต่อการศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างสัมมาปัญญา และเพื่อประโยชน์สุข สันติ ต่อชาวโลก

งานบริหารจดหมายเหตุ ชั้น 3 หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170

ติดต่องานบริหารจดหมายเหตุ

โทร 0-2800-2680-9 ต่อ 4346

ติดต่องานพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ

*** สถานที่ติดต่อเข้าชมนิทรรศการหอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล

ชั้น 3 ห้องหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยมหิดล 301 อาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดล มหาวิทยาลัยมหิดล ตําบลศาลายา อําเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170

โทร 0-2849-4541-4

โทรสาร 0-2849-4545

© 2021 ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล. All Rights Reserved.