ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เจริญ โชติกวณิชย์ (ฝากไว้เป็นข้อคิดแก่คนรุ่นใหม่สายการแพทย์)

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เจริญ โชติกวณิชย์

สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2562 ณ ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ฝากไว้เป็นข้อคิดแก่คนรุ่นใหม่สายการแพทย์

        เรามักจะเคยได้ยินและได้ทราบเกี่ยวกับเด็กเรียนแพทย์ว่า เด็กบางคนอยากจะเรียนแพทย์ แต่เด็กบางคนเรียนแพทย์เพราะพ่อแม่อยากให้เรียน ผู้ปกครองมีความเข้าใจว่า การเรียนแพทย์เมื่อเรียนจบประกอบอาชีพมีรายได้ดี ไม่ตกงาน ประเด็นนี้ก็จริงอยู่ แต่การที่เราจะเรียนด้านใดก็ตาม ต้องมีจิตใจรักในสิ่งนั้น ไม่ควรเกิดจากการบังคับหรือฝืนมาเรียน เท่าที่ผมทราบ ที่ผ่านมามีเด็กนักศึกษาจำนวนหนึ่งสอบเข้าศึกษาต่อทางด้านแพทยศาสตร์ได้ แต่สุดท้ายก็ขอสละสิทธิ์ บางคนหันไปเรียนทางด้านนิติศาสตร์ เพราะฉะนั้น การที่เราจะเรียนแพทย์ คนเรียนต้องมีจิตใจที่อยากจะเป็นแพทย์จริง ๆ ในขณะเดียวกันก็มีเด็กอีกจำนวนหนึ่งที่อยากเรียนแพทย์ แต่สอบเข้าไม่ได้ เพราะคะแนนการสอบเข้าแพทยศาสตร์สูงมาก แต่ปัจจุบันบางแห่งมีการเลือกช้างเผือกในพื้นที่ต่างจังหวัดเข้าเรียนแพทย์ โดยมีหลักเกณฑ์ทางด้านความสามารถพิเศษอย่าง เล่นกีฬาเก่ง ดนตรีเก่ง แต่ช้างเผือกเหล่านี้ต้องมีคะแนนดีพอที่จะเข้ามาเรียนต่อทางด้านแพทยศาสตร์

        สำหรับผู้ที่อยากจะศึกษาต่อทางด้านแพทยศาสตร์จริง ๆ ผมขอให้ตั้งใจเรียน และต้องชอบวิชาแพทย์จริง ๆ ไม่ใช่มีคนบอกว่า เรียนแล้วจะรวย ผมว่าอย่าคิดแบบนั้น เพราะสมเด็จพระราชบิดาท่านตรัสไว้ว่า “...ถ้าจะเป็นเศรษฐีอย่ามาเป็นแพทย์ดีกว่า เป็นนักธุรกิจดีกว่า...” ผมจึงขอฝากไว้ว่า การที่จะเรียนแพทย์ ในความเป็นจริงแล้ว วิชาแพทย์ไม่ใช่วิชาที่หนักมากนัก ถ้าผู้เรียนมีความขยัน และมุ่งมั่น

        ผมอยากฝากข้อคิดจากนักปราชญ์ทางการแพทย์อเมริกา กล่าวเกี่ยวกับแพทย์ผ่าตัดไว้ว่า “...แพทย์ที่ดีรู้จักวิธีการผ่าตัด แพทย์ที่ดีกว่าคือรู้จักว่าเมื่อไรจะผ่า แต่แพทย์ที่ดีที่สุดคือรู้จักว่าเมื่อไรจะไม่ผ่า...”  ฟังแล้วอาจจะรู้สึกแปลก ๆ ผมขยายความให้ฟัง คือ

แพทย์ที่ดี คือ รู้ว่าผ่าตัดอย่างไร
แพทย์ที่ดีกว่า คือ รู้ว่าเมื่อไรจะต้องผ่าตัด
แพทย์ที่ดีที่สุด คือ รู้ว่าเมื่อไรจะไม่ต้องผ่าตัด เพราะบางเคสไม่จำเป็นต้องผ่าตัด เพราะโรคบางโรคสามารถหายเองได้ เพราะจุดหนึ่งร่างกายสามารถปรับธรรมชาติได้

        นอกจากนี้ยังมีอีกคำหนึ่งทางการแพทย์ คือ “...แพทย์ที่ดีรู้จักรักษาโรค (รู้จักโรครักษาให้หายหมด) แต่แพทย์ที่ดีกว่ารู้จักรักษาคนไข้ที่เป็นโรค...”  ฟังแล้วคล้าย ๆ กันใช่ไหม แต่คนไข้บางคน อาจจะเป็นโรคจริง หรือ บางคนไม่เป็นโรคจริง แต่แกล้งเป็นโรค แต่ประเด็นอยู่ตรงนี้ เราต้องรู้จักรักษาโรค เขาเรียก Holistic Approach หมายถึง การพิจารณาคนจากทุกมิติที่เป็นตัวเขา ไม่ได้มองเฉพาะบางแง่มุมเท่านั้น เช่น ต้องรู้จักว่าเขามีปัญหาอย่างอื่นไหม เจ็บป่วยขนาดนี้ นอกจากรักษาโรคให้หายแล้ว เขามีปัญหาทางสภาพจิตหรือมีปัญหาด้านการเงินหรือไม่ ผมขอฝากไว้เท่านี้


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ชั้น 3 หอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170
โทร 0-2800-2680-9 ต่อ 4346