ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เจริญ โชติกวณิชย์ (ครอบครัว “โชติกวณิชย์”)

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เจริญ โชติกวณิชย์

สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2562 ณ ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ครอบครัว “โชติกวณิชย์”

ครอบครัว โชติกวณิชย์

        การเริ่มต้นสร้างครอบครัวตอนนั้น ผมพบกับภรรยาขณะที่ผมเรียนอยู่ที่สหรัฐอเมริกาช่วงแรก ๆ และเราก็สร้างครอบครัวกันที่สหรัฐอเมริกา ภรรยาผมชื่อ แพทย์หญิงเฉลิมศรี นิธิอุทัย พื้นเพภรรยาผมเป็นชาวปัตตานี ผมมีลูกทั้งหมด 3 คน ลูกชายคนโตชื่อ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์จตุพร โชติกวณิชย์ เกิดที่สหรัฐอเมริกา ถือสัญชาติอเมริกัน หลังจากผมเรียนจบครอบครัวเราจึงเดินทางกลับมาประเทศไทย ลูกชายคนโตเรียนจบแพทย์ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เป็นแพทย์ประจำบ้าน สอบได้วุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญสาขาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ ไปเรียนต่อยอดทางด้านศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ที่สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัดที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และสมรสกับแพทย์หญิงฐิตา สิทธวากุล แพทย์ทางด้านผิวหนัง ปัจจุบันทำงานที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง

       ลูกคนที่ 2 เป็นลูกสาว ชื่อ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงฉันทิชา โชติกวณิชย์ เรียนจบแพทย์ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เป็นอาจารย์แพทย์อยู่ที่แผนกโสต นาสิก และลาริงซ์ คือ แผนกหู คอ จมูก ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และกำลังศึกษาต่อที่โรงพยาบาลในสังกัดของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และกลับมาเป็นอาจารย์ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และสมรสกับนายแพทย์ชัยวัฒน์ นคเรศไอศูรย์ แพทย์ทางด้านหู คอ จมูก

       ลูกคนที่ 3 เป็นลูกชายคนสุดท้อง ชื่อ ดร.จรัสพงศ์ โชติกวณิชย์ ลูกคนนี้ไม่อยากเรียนแพทย์ครับ ด้วยอาจจะเห็นที่บ้านมีแพทย์อยู่หลายคน ทั้งพ่อ แม่ และพี่ทั้ง 2 คน ในที่สุดสามารถสอบชิงทุนเล่าเรียนหลวง King’s Scholarship ได้ และไปศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ ของสถาบันเทคโนโลยี MIT (สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์) ของ Massachusetts Institute of Technology และเรียนในระดับปริญญาโท คือ Master of Engineering and computer science เมื่อเรียนจบทาง Professor ของลูกชายบอกว่า น่าจะเรียนปริญญาเอกต่อ แต่ด้วยเหตุผลที่ว่า ภรรยาของผมมีธุรกิจของครอบครัว นั่นก็คือ ธุรกิจที่นอนฟองน้ำ พอ Professor ทราบเรื่องธุรกิจของครอบครัว ท่านก็เลยแนะนำลูกชายคนเล็กของผม บอกกับผมเองเลยว่า “...ถ้าอยากทำธุรกิจให้ไปเรียนบริหารธุรกิจ โดยเฉพาะเรียนบริหารการเงิน...” ลูกชายผมจึงไปเรียนที่ UCLA (มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส) University of California, Los Angeles พอเรียนจบปริญญาโททางด้านการเงิน เรียนต่อปริญญาเอกทางด้าน Human Resource (ทรัพยากรบุคคล) และสมรสกับรองศาสตราจารย์ ดร.ปรียานุช แสงไตรรัตน์นุกูล อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และปัจจุบันนี้ลูก ๆ ผมทุกคนกลับมาอยู่ประเทศไทยหมดแล้ว

        ผมอยากขอกล่าวสักเล็กน้อยในเรื่อง ครอบครัว การที่สังคมจะดีได้ หน่วยเล็ก ๆ อย่างครอบครัวถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะส่งผลให้สังคมดี ครอบครัวต้องเพียบพร้อม ไม่ใช่ว่ามีเรื่องภายในครอบครัวนำมาบอกกับคนข้างนอก แบบนี้ไม่ถูกต้อง เพราะคนที่มีประสบความสำเร็จดี ๆ จะเห็นได้ว่าครอบครัวเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ประสบความสำเร็จ ยกตัวอย่างจาก Professor ใหญ่ ๆ หลายท่านในสหรัฐอเมริกา สิ่งที่คนเหล่านี้เขียนไว้ภายในหนังสือ คือ หนังสือเล่มนี้อุทิศให้ภรรยา ลูก แสดงว่า ครอบครัวดี มีความเข้าใจ ยอมเสียสละเวลาของครอบครัว เพื่อให้ Professor ทำงานวิชาการ งานวิจัย เขียนหนังสือต่าง ๆ จนแทบไม่มีเวลาให้ครอบครัว แต่ถ้าการทำงานวิชาการ และมีคนในครอบครัวสนับสนุน สิ่งนี้คือพลังจิต ความเข้มแข็งก็จะเกิดขึ้น ดังนั้น ครอบครัวที่ดีคือสิ่งสำคัญ แต่จะดีมากหรือน้อยก็อีกเรื่องหนึ่ง และถ้าครอบครัวดี สังคมก็จะดีตามไปด้วย


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ชั้น 3 หอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170
โทร 0-2800-2680-9 ต่อ 4346