ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เจริญ โชติกวณิชย์ (รางวัลและความภาคภูมิใจ)

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เจริญ โชติกวณิชย์

สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2562 ณ ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

รางวัลและความภาคภูมิใจ

        การที่ผมทำงานด้านทางกระดูกและข้อ ดูแลผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก ผมมีความคิดที่จะคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ที่จะช่วยดูแลอาการของผู้ป่วยโรคกระดูกและข้อ ในสมัยก่อนมีหมอนที่เรียกว่า Contour Pillow ผลิตจากใยสังเคราะห์ ใช้หนุนแก้อาการปวดศรีษะ จากตรงนี้ผมก็กลับมาคิดว่า ผมสามารถจะออกแบบหมอนรองคอ สำหรับคนที่กระดูกคอเสื่อม และอาศัยว่าทางครอบครัวภรรยาสามารถผลิตหมอนและที่นอนได้ให้มาช่วย โดยมีผมเป็นผู้ออกแบบหมอนรองคอ เมื่อสร้างหมอนรองคอเสร็จแล้วผมส่งเข้าสภาวิจัยแห่งชาติ และได้รับรางวัลสาขาสิ่งประดิษฐ์คิดค้นที่เป็นประโยชน์แห่งชาติ เรื่อง หมอนรองคอสำหรับรักษาโรคกระดูกคอเสื่อม เมื่อ พ.ศ. 2525

      งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง ผมทำร่วมกับอาจารย์รุ่นน้องชื่อ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ยงยุทธ วัชรดุลย์ ที่ศูนย์เนื้อเยื่อชีวภาพกรุงเทพฯ ในพระอุปภัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (Bangkok Biomaterial Center) ดำเนินการศึกษาวิจัยโดยการนำกระดูกของผู้ที่เสียสละที่แช่แข็งมาใช้แทนกระดูกของผู้ป่วยเอง ซึ่งได้ผลดี จึงส่งผลงานวิจัยชิ้นนี้เข้าสภาวิจัยแห่งชาติ และได้รับรางวัล สาขาสิ่งประดิษฐ์คิดค้นที่เป็นประโยชน์แห่งชาติ เรื่อง การผลิตกระดูกและเนื้อเยื่อสำหรับปลูกข้ามคนที่เตรียมโดยวิธีเย็นแห้ง เมื่อ พ.ศ. 2526

        นอกจากนี้ยังมีรางวัลแต่งตำราดีเด่นจากมหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อ พ.ศ. 2527 ตำราเล่มแรกที่เกี่ยวกับการตรวจร่างกายทางโรคกระดูกและข้อ ตำราเล่มที่ 2 คือ “กระดูกหักข้อเคลื่อนในเด็ก” และตำราเล่มที่ 3 คือ “กระดูกหักข้อเคลื่อนในผู้ใหญ่” ซึ่งผมภูมิใจ ยิ่งได้เจอแพทย์รุ่นน้อง และลูกศิษย์บอกว่า อ่านหนังสือของผมเป็นส่วนใหญ่ เมื่อศึกษาเกี่ยวกับทางกระดูกและข้อ ยิ่งทำให้ผมภูมิใจครับ

การเข้ารับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา จาก พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

        การได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์นับเป็นเรื่องที่ภาคภูมิใจในชีวิตการรับราชการ และมีเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ผมได้รับและภูมิใจมากที่สุดในชีวิต คือ การได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา ตามประวัติเรื่องเหรียญดุษฏีมาลา เริ่มขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานเป็นที่ระลึก เหรียญบำเหน็จความชอบในราชการ สร้างขึ้นราว พ.ศ. 2425 เพื่อเป็นมหามงคลสมัยครบรอบ 100 ปี (ที่หนึ่ง) แห่งการสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นราชธานี หรือ กรุงรัตนโกสินทร์ครบ 100 ปี ปัจจุบันผู้ที่จะรับเหรียญดุษฎีมาลาจะต้องมีผลงานประการใดประการหนึ่ง คือ คิดค้นความรู้ระบบ กรรมวิธีหรือประดิษฐ์สิ่งใหม่เป็นผลสำเร็จ ปรับปรุงความรู้ระบบ กรรมวิธี หรือสิ่งประดิษฐ์ให้ดีขึ้นกว่าเดิมเป็นอันมาก และแสดงให้เป็นที่ปรากฏว่ามีฝีมือและชื่อเสียงยอดเยี่ยมในทางศิลปวิทยา ผมได้รับเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 เป็นครั้งแรกในรัชสมัยของพระองค์ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างสูงสุด พระราชทานประจำปี 2559 เข้ารับเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2560 ในครั้งนั้นมีผู้ที่ได้รับพระราชทานทั้งหมด 6 คนได้แก่

1. รศ.ดร.นววรรณ พันธุเมธา สาขามนุษยศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2. นายวิทย์ พิณคันเงิน สาขาวิจิตรศิลป์
3. นายวิชา มหาคุณ สาขานิติศาสตร์
4. ศ.กิตติคุณ นพ.จรัส สุวรรณเวลา สาขาแพทยศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านระบบประสาท จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
5. ศ.เกียรติคุณ นพ.เจริญ โชติกวณิชย์ สาขาแพทยศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล
6. ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน สาขาแพทยศาสตร์ เชี่ยวชาญทางด้านโรคเบาหวาน จากมหาวิทยาลัยมหิดล

        ถ้าพิจารณาแล้ว ผู้ที่ได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยาในข้าราชการทั้งหมด นับตั้งแต่เริ่มต้นคาดว่าน่าจะประมาณ 300 – 400 คน

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เจริญ โชติกวณิชย์และเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา

        นอกจากนี้ยังมีรางวัล “รางวัลมหิดลทยากร” จากสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดล รับมอบจาก พล.ต.อ. นพ.จงเจตน์ อาวเจนพงษ์ นายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดล และ รางวัลล่าสุดที่ได้รับคือ รางวัล “แพทย์ต้นแบบ” จากแพทยสภา ได้รับโล่เชิดชูเกียรติของแพทย์ หลักเกณฑ์ในการพิจารณาสรรหา คือ ต้องเป็นสมาชิกแพทยสภาและยังมีชีวิตอยู่ แพทย์ที่เคยประกอบวิชาชีพเวชกรรมทำงานด้านแพทย์มาไม่น้อยกว่า 3 ปี และได้ดำรงตนให้เป็นประโยชน์ต่อการแพทย์ เป็นแพทย์ผู้ประกอบคุณงามความดี มีผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมที่เป็นที่ประจักษ์ ไม่เป็นกรรมการแพทยสภา และคณะอนุกรรมการสรรหาแพทย์ต้นแบบของแพทยสภา ไม่เคยได้รับรางวัลของแพทยสภา และมีการแบ่งกลุ่มความสามารถในเชิงวิชาการ บริหาร วิจัย นวัตกรรม ศิลปวัฒนธรรม หรือมีความกล้าหาญเสียสละความสุขของตนให้ผู้อื่นแพทยสภาได้มีการสรรหาแพทย์ต้นแบบ เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่แพทย์รุ่นใหม่ เนื่องในโอกาสที่แพทยสภาครบรอบ 50 ปี ในวันที่ 9 ตุลาคม 2561 และคัดเลือกมาจำนวน 25 คน จากแพทย์ทั่วประเทศครับ

“รางวัลมหิดลทยากร” จากสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดล รับมอบจาก พล.ต.อ. นพ.จงเจตน์ อาวเจนพงษ์ นายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดล


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ชั้น 3 หอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170
โทร 0-2800-2680-9 ต่อ 4346