ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เจริญ โชติกวณิชย์ (บทบาทหน้าที่ในการทำงานทางด้านออร์โธปิดิกส์)

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เจริญ โชติกวณิชย์

สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2562 ณ ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

บทบาทหน้าที่ในการทำงานทางด้านออร์โธปิดิกส์

        หลังจากเกษียณอายุราชการ ถ้าถามว่าผมทำงานอะไร ผมขอตอบว่า ตอนช่วงนั้นมีโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งที่เสนอให้ผมไปทำงานด้วย ปัจจุบันผมเป็นหัวหน้าศูนย์กระดูกและข้อที่โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์ และขณะเดียวกันเป็นรองประธานกรรมการบริหารของโรงพยาบาลเจ้าพระยา ซึ่งโรงพยาบาลเจ้าพระยายุคแรกมีแพทย์จากโรงพยาบาลศิริราชไปร่วมก่อตั้งโรงพยาบาลด้วย ผมเป็นรองประธานกรรมการบริหาร และกรรมการบริษัท ผมมีหุ้นส่วนอยู่ที่โรงพยาบาลธนบุรีด้วย สำหรับงานประจำที่ผมยังทำอยู่จนปัจจุบัน คือ การผ่าตัด ยังผ่าตัดให้กับโรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์ และโรงพยาบาลเจ้าพระยา

           นอกจากนี้การทำงานในระดับประเทศ ผมเคยเป็นประธานนายกสมาคมแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย หรือ ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทยในปัจจุบัน เคยเป็นประธานโรคกระดูกสันหลัง และในขณะนี้เป็นประธานโรคกระดูกสันหลังคด

        ส่วนการทำงานในระดับนานาชาติ ตอนที่ผมกลับมาจากต่างประเทศใหม่ ๆ มีโอกาสไปบรรยายในต่างประเทศบ่อยครั้ง โดยเฉพาะในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก จึงทำให้มีคนพอรู้จักผม ดังนั้นเวลามีการเลือกกรรมการ ผมจึงได้เป็นตัวแทนจากประเทศไทย และได้รับเลือกเป็น Asia (President of) Pacific Spine Society คือ สมาคมโรคกระดูกสันหลังของกลุ่มประเทศเอเซียแปซิฟิก และสุดท้ายเป็นประธาน (President of) Asia Pacific Orthopedic Association ซึ่งมีกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิกกว่า 40 ประเทศ ผมเป็นประธานดูแลสมาคมในนามของเอเชียแปซิฟิกอยู่ 2 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2555 - 2557 แต่ว่าผมอยู่ในตำแหน่ง Executive Committee อยู่ 6 ปี ด้วยกัน

ได้รับตำแหน่งประธาน APOA

      ตอนนั้นเดินทางไปต่างประเทศค่อนข้างบ่อย จนกระทั่งต่างประเทศพอจะรู้จักผม เราก็ภูมิใจในฐานะเป็นตัวแทนของประเทศไทย ในปัจจุบันผมก็ยังเป็นตัวแทนของประเทศไทยในฐานะที่เป็น Council Member คือ ในสมาคมจะมีกรรมการอยู่ 2 กลุ่ม กลุ่ม 1 เรียก “Council Member” คือ คณะกรรมการของตัวแทนของประเทศต่าง ๆ ในกลุ่มประเทศเอเซียแปซิฟิก มีตัวแทนจากประเทศไทยอยู่ 3 ท่าน มีผมเป็นหัวหน้า และประธานกรรมการตัวแทนของประเทศต่าง ๆ ก็จะมีคณะกรรมการบริหาร Executive Committee ซึ่ง Executive Committee ผมหมดวาระไปแล้ว แต่ผมยังเป็นตัวแทนของประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน ผมคิดว่าควรจะมีรุ่นน้อง ๆ มาดูแลแทนได้แล้ว เพราะผมก็อายุมากพอสมควร ระยะหลังแพทย์ที่จบมาใหม่ ๆ มีความสามารถมากกว่าคนยุคเก่า และข้อดีที่ว่า “...คนรุ่นหลังต้องเก่งกว่าคนรุ่นก่อน ๆ...” ไม่เช่นนั้น ประเทศจะไม่พัฒนา ผมขอพูดเฉพาะด้านการแพทย์ โดยเฉพาะออร์โธปิดิกส์ว่า “...ถือว่าเราได้ทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ถึงแม้ว่าอาจจะมองไม่เป็นรูปธรรม แต่ว่าส่วนตัวผมเองก็รู้สึกว่า เราก็มีความภาคภูมิใจที่เราเริ่มต้นมาจากศิริราช ก็อาศัยอุดมการณ์ของศิริราชที่บ่มเพาะให้เราเป็นมีนิสัยเป็นคนเสียสละ ตามพระราชดำรัสของสมเด็จพระราชบิดาจนกระทั่งบัดนี้...” ส่วนกรรมการกลุ่มที่ 2 ผมขอไม่กล่าวถึง


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ชั้น 3 หอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170
โทร 0-2800-2680-9 ต่อ 4346