ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เจริญ โชติกวณิชย์ (ชีวิตการเป็นนักเรียนแพทย์)

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เจริญ โชติกวณิชย์

สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2562 ณ ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ชีวิตการเป็นนักเรียนแพทย์

        หลังจากที่ข้ามฟากมาเรียนแพทย์ ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลตั้งแต่ พ.ศ. 2500 - 2504 หลังจากจบแพทย์ ก็เป็น อินเทิร์น (Intern) อยู่ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเช่นเดิม(พ.ศ. 2504- 2505) และเมื่อเรียนจบ อินเทิร์น (Intern) ผมเป็นแพทย์ประจำบ้าน ซึ่งในสมัยนั้น เรียกว่าแผนกศัลยศาสตร์ 1 ปี พ.ศ. 2505 - 2506 ต่อมาราว พ.ศ. 25071 แผนกศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์ได้แยกออกจากแผนกศัลยศาสตร์ และผมติดไปอยู่กับแผนกศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์ ซึ่งตอนนั้นกลายเป็นแผนกศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด ถ้าจะถือว่าผมมาเป็นแพทย์ประจำบ้านคนแรกของเมืองไทยก็น่าจะได้ ผมเป็นแพทย์ประจำบ้านอยู่ที่แผนกนี้ 3 ปี (พ.ศ. 2506 - 2509) และได้รับการบรรจุเป็นอาจารย์แพทย์ 1 ปี และ เมื่อ พ.ศ. 2510 ผมจึงได้เดินทางไปศึกษาต่อ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา

เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร แพทยศาสตร์บัณฑิตจาก พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

เรียนจบแพทยศาสตร์บัณฑิต

      ผมขอเล่าย้อนเรื่องการเลือกเรียนแพทย์ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์เล็กน้อย มีคนถามผมว่า เอ๊ะ!!! ทำไมมาเป็นแพทย์ทางด้านออร์โธปิดิกส์ แต่ส่วนตัวความจริงแล้วอย่างที่กล่าวไปตอนต้น ผมอยากเป็นทหาร แต่มีคนทักผมว่า ดวงชะตาน่าจะเป็นทหาร หรือ เป็นแพทย์ โดยเฉพาะแพทย์ศัลยกรรม คือ ต้องมีอาวุธติดตัว เพราะแพทย์ศัลยกรรมออร์โธปิดิคส์จะมีเครื่องมือแพทย์เป็นอาวุธ เช่น เลื่อย สิ่ว ค้อน ซึ่งสมัยเด็กผมไม่เคยคิดที่จะเป็นแพทย์ จนกระทั่งช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ นอกจากจะมีครูที่ปักษ์ใต้ ก็ยังมีญาติผู้พี่ของผมบอกว่า ผมควรเข้าเรียนโรงเรียนเตรียมอุดม (พญาไท) เพราะสามารถไปได้หลากหลายกว่าในเรื่องอาชีพ และตอนที่ผมเรียนอยู่ที่เรียนโรงเรียนเตรียมอุดม (พญาไท) อาจารย์สนับสนุนให้ผมเรียนต่อทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ เพราะท่านเห็นว่าคะแนนคณิตศาสตร์ของผมค่อนข้างดี แต่ผมไม่มีความคิดที่อยากจะเรียนต่อทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ ผมจึงสอบเข้าคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ เมื่อผมสอบเข้าได้และเรียนแพทย์จนจบเป็นแพทย์ประจำบ้าน อาจารย์แพทย์ทางด้านอายุรศาสตร์ ภาควิชาอายุรศาสตร์สมัยนั้น ถามผมว่า “...มาเป็นแพทย์ประจำบ้านไหม...” แต่บังเอิญว่าตอนนั้นผมป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ จึงสมัครไม่ทัน หลังจากนั้นได้รับคำแนะนำให้ไปสมัครที่คณะอายุรศาสตร์เขตร้อน (ปัจจุบันคือ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน) ผมจึงเดินทางไป และได้พบอาจารย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ท่านคือ คณบดีในขณะนั้น ท่านบอกว่าผมว่า “...ผมน่าจะเป็นแพทย์ทางศัลยกรรม...” พอได้คำแนะนำดังกล่าว ผมจึงเดินทางมาแผนกศัลยกรรม ปรากฏว่าปิดรับสมัคร มีผู้มาสมัครครบ 10 คนเรียบร้อยแล้ว ตอนนั้นผมก็คิดว่า ถ้าเป็นแบบนี้มีหวังว่าผมต้องได้ไปอยู่ต่างจังหวัดแน่นอน แต่ปรากฏว่า มีอาจารย์ท่านหนึ่งบอกว่า มีแพทย์ 1 ใน 10 คน สละสิทธิ์ เขาจะไปเรียนต่อด้านอื่น ตอนนั้นผมรู้สึกว่าตัวเองโชคดีมาก ผมรีบสมัคร และทางแผนกศัลยกรรมก็รับผมเข้าไป

ตึกศัลยกรรมชาย 1 ตอนเป็น House ศัลยกรรม ปี 2 ก่อนไปศึกษาต่อต่างประเทศ

ครอบครัวและญาติส่งที่สนามบินดอนเมือง เพื่อเดินทางไป เมือง Pittsburgh สหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ. 2510

       ทีนี่กลับมาพูดถึงตอนที่ผมเดินทางมาศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา การที่ผมจะเข้าไปศึกษาต่อทางด้านศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์ไม่ใช่เรื่องง่าย สมัยก่อนการเรียนทางด้านนี้มีชาวอเมริกันเรียนจำนวนมาก ส่วนชาวต่างชาติเข้าไปเรียนทางด้านนี้ได้น้อยมาก และด้วยความโชคดีที่ผมได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ทางคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ตั้งแต่ท่านคณบดีในสมัยนั้น หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัดในขณะนั้น และบังเอิญว่ามีอาจารย์ซึ่งท่านเคยเป็นอาจารย์อยู่ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และท่านไปอยู่ที่เมืองพิตต์สเบิร์ก (Pittsburgh) พิตต์สเบิร์กอยู่ในรัฐเพนซิลเวเนีย (Pennsylvania) ผมจึงได้เข้าเรียนเป็น Resident ศัลยกรรม 1 ปี (พ.ศ. 2510 - 2511) ที่โรงพยาบาลชื่อ Western Pennsylvania Hospital ซึ่งอยู่ในรัฐเพนซิลเวเนีย มลรัฐเพนซิลเวเนีย ขณะเดียวกันผมก็ติดต่อแผนกศัลยศาสตร์หลายแห่ง เพื่อที่จะได้เข้าเรียนวิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ ซึ่งตอนนั้นเป็นเรื่องยากมากครับ และในที่สุดผมได้ความอนุเคราะห์ ความช่วยเหลือจากอาจารย์ฝรั่งที่อยู่ในโรงพยาบาลในสหรัฐอเมริกาเขียนใบรับรอง หรือ Recommendationให้ผมค่อนข้างดี ซึ่งตอนนั้นเรามีความตั้งใจทำงาน หวังเพื่อจะเข้าเรียนวิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ให้ได้สักแห่งใดแห่งหนึ่ง ในที่สุดด้วยความกรุณาของอาจารย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผมจึงได้รับเป็นแพทย์ประจำบ้านที่ State University of New York at Buffalo ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่อยู่ในเมืองบัฟฟาโล (Buffalo) และเป็นโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ผมเรียนอยู่ที่นั่น 4 ปี (พ.ศ. 2511 - 2514) ตอนช่วงนั้นผมทำอยู่ห้องแล็บ 1 ปี ศึกษาด้านพยาธิวิทยาของกระดูกและข้อ ผมได้ความรู้ในเรื่องนี้มาก ส่วนหนึ่งเพราะ Professor ของผมท่านสนใจในเรื่องนี้ ท่านบอกว่า...

“...ไหน ๆ จะกลับมาเป็นอาจารย์ที่โรงพยาบาลศิริราช น่าจะเรียน Basic Knowledge คือ วิทยาพื้นฐานทางด้านพยาธิของกระดูกและข้อ...”

หลังจากนั้นผมข้ามมาเรียนทางด้านคลินิก คือ Professor ถามผมว่า...

Professor : “...คุณอยากทำอะไรต่อไหม…”

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เจริญ : “...ผมอยากเรียนต่อยอดครับ...”

        เพราะตั้งใจมาเรียนแล้ว ผมก็อยากเรียนหาความรู้ให้เต็มที่ก่อนที่จะกลับประเทศไทย ตอนนั้นผมติดต่อไปหลายแห่ง อาจารย์ผู้ใหญ่ Professor ทางโน้นก็ติดต่อให้ผมเป็นอย่างดี ในที่สุดผมได้ไปเรียน Department of Orthopedic Surgery ที่ The Hospital for Special Surgery Cornell University ในนิวยอร์ก ผมเป็น Fellow ทางด้านกระดูกสันหลัง (Spine) ประมาณ 1 ปีกว่า (พ.ศ. 2515 - 2516) เมื่อผมจบ Fellow ทางนี้ก็ถามว่าผมอยากอยู่สหรัฐอเมริกาต่อไหม ผมก็ตอบว่า “...ผมไม่มีเป้าที่จะอยู่ที่สหรัฐอเมริกา เพราะผมบรรจุเป็นข้าราชการแล้ว ผมต้องกลับประเทศไทย...”

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เจริญ โชติกวณิชย์

       ก่อนผมกลับมาทำงานที่ประเทศไทย ผมสอบได้วุฒิบัตรทางด้านออร์โธปิดิกส์ คือ Diplomate, American board of Orthopaedic Surgery ของสหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ. 2515 และเมื่อกลับมาประเทศไทย ผมก็สอบได้วุฒิบัตรทางด้านออร์โธปิดิกส์ คือ Diplomate, Thai Board of OrthopaedicSurgery ของแพทยสภา ประเทศไทยด้วย เมื่อ พ.ศ. 2516 การกลับมาทำงานราชการที่ประเทศไทย ผมปฏิบัติหน้าที่เรื่อยมาในฐานะแพทย์ทางด้านศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ นับตั้งแต่ผมเป็นอาจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ จนกระทั่งเป็น ศาสตราจารย์ตอนที่ผมอายุประมาณ 47 - 48 ปี ต่อมาเมื่อผมเกษียณอายุราชการเมื่อ พ.ศ. 2539 แม้ผมจะเกษียณอายุแล้วก็ตาม ก็ยังคงได้รับความกรุณาจากทางภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด และจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลให้เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาเรื่อยมาครับ รวมทั้งการมาออกคลินิกเพื่อดูแลผู้ป่วย การสอนแพทย์ประจำบ้าน ต่อมาในช่วงหลัง ๆ ก็มีแพทย์รุ่นน้องที่มีความสามารถเข้ามาดูแลในส่วนเหล่านั้นแทน นอกจากนี้ผมก็ยังคงให้ความสนใจเข้าฟังในเรื่องการประชุมวิชาการต่าง ๆ มาโดยตลอด

งานเกษียณอายุราชการ เมื่อ พ.ศ. 2539

---------------------------------------------------
1พระราชกฤษฎีกาออกปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. 2506 มีผลในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2507

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ชั้น 3 หอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170
โทร 0-2800-2680-9 ต่อ 4346