ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเสริฐ ทองเจริญ (ฝากข้อคิดให้แก่นักศึกษาแพทย์และผู้ที่สนใจทางด้านการแพทย์)

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเสริฐ ทองเจริญ

สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ณ ชั้น 6 ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ฝากข้อคิดให้แก่นักศึกษาแพทย์และผู้ที่สนใจทางด้านการแพทย์

        สิ่งที่อยากจะฝากไว้นะครับ อันที่ 1 คือ ความรับผิดชอบต่อตัวเอง ความรับผิดชอบต่อตัวเอง ขณะเรียนหนังสือ ตัวเองคืออะไร คือ นักศึกษา ความรับผิดชอบคืออะไร คือ การเรียน ต้องเรียน ผมเรียนไม่เคยตก ไม่เคยสอบซ่อม เรียนผ่านมาได้เรื่อย ๆ เพราะผมรับผิดชอบต่อตัวเอง พอทำงานแล้ว ก็ต้องถามตัวเองให้ได้ว่า เรากำลังทำอะไร ถ้าเป็นแพทย์ ก็ทำตัวให้เป็นแพทย์ ไม่ใช่เป็นนาย ทำตัวให้เป็นเพื่อน ให้เป็นแพทย์กับเขาให้ได้ และงานหนักอย่าหลบ ตอนลูกผมไปเป็นแพทย์อยู่ต่างจังหวัด เพราะตอนจบแล้วต้องไปใช้ทุน เผอิญเขาจับฉลากได้ไปใช้ทุนที่จังหวัดกาฬสินธุ์ งานหนัก คือ ญาติเยอะขึ้นมา ทุกคนเป็นญาติหมด เพราะตอนนั้นคุณพ่อผมยังอยู่ ตอนหลังคุณพ่อผมก็ทำงานบริหารพักหนึ่ง จนเกษียณ ท่านได้รับแต่งตั้งจากกระทรวงมหาดไทยไปเป็นประธานสภาจังหวัด แล้วตอนหลังท่านถูกเลือกให้เป็นนายกเทศมนตรีกาฬสินธุ์ เพราะว่าเป็นคนเก่าคนแก่ที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้คนนับถือ ลูกผม ผมสั่งเขาไว้เลยว่า ไปทำงานที่นั่นให้ทำทุกอย่าง อย่ากลัวงานหนัก ยิ่งทำทุกอย่างยิ่งหนัก เรายิ่งมีความรู้ความชำนาญมากขึ้น จากการที่เราทำงานหนัก เพราะฉะนั้น ความรับผิดชอบต่อตนเอง จึงมีความจำเป็น ถามตัวเองว่า ตัวเองเป็นอะไร เป็นแพทย์ แพทย์มีหน้าที่อะไร ทำหน้าที่ให้ดีเต็มที่ ทำในสิ่งที่อยากทำ อยากให้ทุกคน ฝังใจไว้ให้ได้ว่า เราต้องถามตัวเองว่า เราคืออะไร เราทำอะไร เราเป็นนักเรียน เราเป็นแพทย์ เราเป็นครู เราเป็นประชาชน หน้าที่ของประชาชนที่ดีมีอะไรบ้าง พยายามทำให้ครบถ้วน หน้าที่ในการงานมีอะไรบ้าง พยายามทำให้ครบถ้วน

        ผมเกษียณมาจากมหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อ พ.ศ. 2537 จนกระทั่งปีนี้ พ.ศ. 2562 ผมก็ยังทำงานอยู่ที่นี่ ใครอยากรู้อะไร ถ้าผมรู้ ผมจะตอบให้หมด ถ้าเขาไม่ถามผม ผมก็เขียนหนังสือไว้ ผมเขียนหนังสือความรู้ระบาดวิทยา ผมเริ่มเขียนเมื่อ พ.ศ. 2532 ตอนที่ไข้หวัดใหญ่ระบาด จนกระทั่งเล่มสุดท้ายที่ผมเขียนไปได้ 35 เล่ม นี่กำลังเขียนเล่มที่ 36 อยู่ เผอิญไม่ค่อยสบาย ปวดคอ ก็เลยไม่ค่อยได้เขียน ปกติผมแข็งแรงดี พอดีผมหกล้มในห้องนอน กระดูกสันหลังจึงมีปัญหา บางครั้งเวลาผมจะเขียนหนังสือ ผมจะพูดออกมา แล้วผมจะหาคนจดในสิ่งที่ผมพูด ผมอธิบายออกมา เพราะผมรู้ว่า ผมเป็นครู ผมเป็นแพทย์ บางครั้งเขาไม่ถามเราก็บอกให้เขารู้ ผมออกไปบรรยายต่างจังหวัด ไปสัมมนาปีละประมาณ 6 – 7 ครั้ง ไปตามเส้นทางต่าง ๆ ทั่วประเทศ ครั้งหนึ่งก็มีคนฟัง 200 – 300 คน หนังสือพวกนี้ที่ผมทำขึ้นมา เมื่อผมพิมพ์แล้ว ผมก็นำไปแจกเป็นเอกสารให้เขาฟรี ๆ เพราะว่า ผมเขียนหนังสือพวกนี้มา มีคนพิมพ์ให้ผม ผมส่งไปให้โรงพยาบาลต่างจังหวัด ห้องสมุดโรงพยาบาลต่างจังหวัด 980 แห่ง แห่งละ 2 เล่ม ฟรีทั้งค่าส่ง ค่าซอง ค่าหนังสือ ส่งไปให้ เพราะมีคนจ่ายให้ผม เพื่อนฝูงบ้าง ที่ทำงานอื่นบ้าง ที่ผมไปทำประโยชน์ให้เขา เขาก็จ่ายไปที่ศิริราชมูลนิธิ ไม่ได้ให้กับผม ผมจะใช้เงินเท่าไร ผมก็ไปขอกับเขา บอกจะทำหนังสือกี่เล่มนี้ จะส่งไปตรงนี้ ๆ เขาก็จ่าย อนุมัติให้ทำ เราก็ส่งให้เขา เงินไม่มาที่ผม เงินผ่านจากเขาไปที่โรงพิมพ์ หนังสือก็ไปตามที่ต่าง ๆ ที่ผมจะส่งไป ช่วงก่อนหน้าที่ผมแข็งแรงกว่านี้ ผมมาที่โรงพยาบาลศิริราชทุกวัน ช่วงนี้มาน้อยหน่อย แต่ผมก็มีไปที่กระทรวงสาธารณสุขด้วย เพราะผมมีโต๊ะทำงานอยู่ที่กระทรวงสาธารณสุข ที่กรมควบคุมโรค เวลาที่ เขามีปัญหาอะไร เขาก็สามารถจะถามมาได้ทันที

        ผมก็ช่วยหลายอย่าง เช่น ตอน โรคซาร์ส (SARS) เข้ามาคนแรกในประเทศไทย เข้ามาเมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2547 ที่โรงพยาบาลบำรุงราษฏร์ พอเข้ามา เขามาตามผมให้ไปกระทรวงสาธารณสุขตอนเช้า ผมก็เข้าไปตอนเช้า ไปปรึกษากัน ช่วยกันแก้ไขปัญหา จนกระทั่ง เราควบคุมได้ เรามีผู้ป่วยเพียงแค่ 7 คน แต่ประเทศอื่นมีผู้ป่วยเป็น 100 คน

        ตอนโรคไข้หวัดนก ผมเป็นคนแรกที่บอกว่า ไข้หวัดนกมาแน่ ๆ แล้วครับ ท่านผู้บริหารประเทศ พูดว่า “...ถ้ามันไม่จริง หมอจะรับผิดชอบไหม...” คือ ผมทำในสิ่งที่ถูกต้องแต่ไม่ถูกใจท่านผู้บริหารประเทศ ไม่เป็นไร เพื่อนผมโทรมาหา “...ประเสริฐ ไปทะเลาะกับท่านผู้บริหารประเทศเชียวหรือ...” ผมบอกว่า “...ไม่ได้ไปทะเลาะกับเขา เราพูดในสิ่งที่ถูก...” จนกระทั่งผมบอกในวันที่ 19 เรารู้ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2546 ว่า โรคไข้หวัดนก ใช่แล้ว ถ้าหากเราไม่รู้ มันกระโดดไปที่คน คนเสียชีวิต จะเป็นปัญหา จนกระทั่งวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2547 ถึงอนุญาตให้ผมพูดว่า “...ผู้ป่วยเสียชีวิตแล้วนะ จากไข้หวัดนก...” ถึงได้ฮือขึ้น เราซึ่งมีผู้ป่วยเพียง 25 คน เสียชีวิตไป 17 คน ที่ประเทศอื่นมากกว่านี้ จากตรงนี้ ผมจึงอยากจะบอกว่า เราควรทำเรื่องที่ถูกต้อง แม้จะไม่ถูกใจ แหละนี่ คือ สิ่งที่ผมอยากจะสอนไว้


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ชั้น 3 หอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170
โทร 0-2800-2680-9 ต่อ 4346