ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเสริฐ ทองเจริญ (ครอบครัว)

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเสริฐ ทองเจริญ

สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ณ ชั้น 6 ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ครอบครัว

        ครอบครัวผมอย่างที่ผมเล่าไปบ้างแล้วข้างต้น ผมแต่งงานเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2503 และเมื่อผมแต่งงานได้เพียง 15 วัน ผมเดินทางไปต่างประเทศ เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2503 และเมื่อสำเร็จการศึกษาจึงเดินทางกลับมาประเทศไทยเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2506 ภรรยาผมชื่อ คุณสุจารี ทองเจริญ (วาศวิท)

         เมื่อผมกลับมาเมืองไทย ตอนนั้นภรรยาผมมาทำงานอยู่ที่บริษัท บี.กริม (B. Grimm) ซึ่งเป็นบริษัทของเยอรมันที่อยู่เมืองไทยนานแล้ว (พ.ศ. 2421 หรือ ค.ศ. 1878 ก่อตั้งห้างจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรมและเคมีภัณฑ์ขึ้น ที่ถนนโอเรียนเต็ล) บริษัทแห่งนี้ขายทุกอย่าง ขายเครื่องไฟฟ้า เครื่องกำเนิดไฟฟ้า ขายเครื่องแอร์ ขายยาหลายอย่าง ภรรยาผมจึงมาทำงานอยู่ที่บริษัทนี้ ซึ่งตอนนั้นพวกเรายังไม่มีลูก ตอนอยู่ต่างประเทศก็ยังไม่อยากมี เพราะคิดว่าอาจจะเป็นภาระ พวกเราเริ่มมีลูกคนแรก เมื่อ พ.ศ. 2507 และอีก 2 ปี จึงมีลูกอีกคนหนึ่ง และทิ้งให้ห่างจากคนแรกประมาณเกือบ 10 ปี จึงมีลูกคนสุดท้อง ดังนี้ ผมมีลูกทั้งหมด 3 คน

        วิธีเลี้ยงลูกของผม ผมจะพยายามชี้ให้ลูกเห็นว่า เราไม่ได้โตมาจากครอบครัวที่ร่ำรวยอะไร เราต้องอดทน อดกลั้น และประหยัด การเลี้ยงลูกเราจะตามใจบ้าง ไม่ตามใจบ้าง ตามใจแต่บางอย่าง ตามใจในเรื่องที่อยากจะทาน แพงก็ซื้อให้ทาน แต่ไม่ใช่บ่อย เรื่องความประพฤติ ผมได้รับสั่งสอนมาจากคุณพ่อของผม คุณพ่อผม แม้ว่าจะเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อย แต่ท่านก็มีความคิดที่ดี ที่สอนผมไว้มีอยู่ 4–5 อย่าง

        ยกตัวอย่าง การที่จะทำอะไรให้นึกถึงว่ามันด่วนไหม สำคัญไหม ถ้าด่วนและสำคัญ มีอะไรอย่างอื่นก็ต้องวางไปทำก่อน ถ้าไม่ด่วนแต่สำคัญรอไปได้บ้าง ถ้าไม่ด่วนไม่สำคัญอย่าไปสนใจมันมาก ทำก็ได้ไม่ทำก็ได้ และอีกเรื่องหนึ่งคือ ถูกต้องกับถูกใจ ถ้าอะไรที่ถูกใจและถูกต้องด้วยทำได้เลย ถ้าหากว่าไม่ถูกต้องแต่ถูกใจอย่าไปทำ นอกจากนั้น คุณพ่อผมสอนว่าให้ “อ่อนน้อมถ่อมตน” เจอผู้ใหญ่หรือเจอผู้ที่เท่าเทียมกัน เจอหน้าถ้าทักทายให้ยกมือไหว้ อย่างนี้ เป็นต้น และอย่าเกียจคร้าน อย่านอนตื่นสาย มีอะไรที่พอจะทำได้ ถ้ามันไม่ผิด ไม่เอาเปรียบ ไม่โกงใครเขาเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ต้องทำ เหนื่อยก็ต้องยอม ผมก็จำสิ่งที่คุณพ่อสอนผมมา มาสอนลูกของผมเช่นนี้ เพราะฉะนั้น ลูกก็ต้องหมั่นเรียน ขยัน ไม่เกเร และที่สำคัญอีกอันหนึ่งคือ อย่าไปทะเลาะกับใคร ถ้าไปทะเลาะกับใครกลับมาบ้านคุณพ่อผมจะทำโทษ เช่น ไปต่อยกันมา จะไม่ถามว่าใครผิด ใครถูก ลูกผมโดนทำโทษก่อน แล้วถึงจะถามทีหลัง และคุณพ่อผมสอนไว้ว่า ถ้าโกรธห้ามพูด ให้หยุด เพราะฉะนั้น สำหรับครอบครัวผมเวลาผมเริ่มรู้สึกโกรธ ผมจะไม่พูดกับใคร และเป็นที่รู้กันว่า ตอนนี้ไม่ถูกใจพ่อหละ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มันก็ถูกแทรกซึม และหล่อหลอมจนกลายมาเป็นผมทุกวันนี้ และผมก็ส่งต่อสิ่งเหล่านี้แก่ลูก ๆ ของผม

         ลูกชายคนโตผม ชื่อ ผศ.นพ.ปุณณฤกษ์ ทองเจริญ เป็นอาจารย์แพทย์อยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช เป็นแพทย์ด้านศัลยกรรมหัวใจและทรวงอก (ปัจจุบัน พ.ศ. 2562 ดำรงตำแหน่งเป็น รองผู้อำนวยการสายงานเทคโนโลยีสารสนเทศ โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์) แต่งงานมีครอบครัวแล้ว มีลูกทั้งหมด 2 คน หลานชายคนโตของบ้านนี้เรียนจบจากมหาวิทยาลัยศิลปากร และไปเรียนต่อทางด้าน Animation ที่สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งทำงานกับบริษัทอังกฤษ ที่มาตั้งบริษัทอยู่ในกรุงเทพฯ หลานชายคนนี้ได้งานทำตั้งแต่ยังอยู่ที่สหรัฐอเมริกา หลานชายคนที่ 2 ของบ้านนี้ เขาอยากจะเป็นเชฟ (Chef) จึงเรียนการโรงแรมของมหาวิทยาลัย ราชภัฏสวนสุนันทา ซึ่งเปิดสอนคู่ไปกับดุสิตธานี เป็นหลักสูตร International Program เมื่อเรียนจบหลักสูตรนี้จะได้รับประกาศนียบัตรอันหนึ่ง เป็นประกาศนียบัตรทางด้านอาหารที่ชื่อ เลอ กอร์ดอง เบลอ (Le Cordon Bleu) และได้รับวุฒิปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาด้วย หลานชายคนนี้พึ่งจบปีนี้ (พ.ศ. 2562)

        ลูกชายคนที่ 2 ชื่อ นายปาณฑิต ทองเจริญ ลูกชายคนนี้เรียนทางด้านธุรกิจ แต่เผอิญว่าเขาประสบอุบัติเหตุ ตาไม่ค่อยดี ลูกคนนี้มีความรู้ด้านอาหาร ตอนที่ไปอยู่สหรัฐอเมริกา เพราะเรียนทางด้านโรงแรม จึงทำร้านอาหาร ลูกชายคนกลางของผมแต่งงานแล้ว แต่ว่าไม่มีลูก ด้วยความที่เขาประสบอุบัติเหตุ จึงไม่อยากมีลูก เพราะกลัวว่าจะดูแลลูกได้ไม่ดี

        ลูกคนที่ 3 ชื่อ นางสาวปารมี ทองเจริญ เป็นลูกสาว เรียนจบทางด้านตกแต่งภายใน หรือ มัณฑนากรภายใน (Interior Decorator) จากสหรัฐอเมริกา ตอนนี้ทำงานให้กับบริษัทเอกชน ลูกสาวคนนี้แต่งงานมีครอบครัวแล้ว สามีเป็นชาวต่างชาติ ลูกสาวคนนี้มีลูก 2 คน เป็นหลานชาย 1 คน และหลานสาว 1 คน

          เผอิญภรรยาผมจะสนิทกับครอบครัว ครอบครัวหนึ่ง ครอบครัวนามสกุล หิรัญพฤกษ์ สนิทกันชนิดที่แต่ก่อนบ้านอยู่ติดกัน คล้าย ๆ เป็นพี่น้องกันเลย เขาก็นับถือ บ้านนี้เขาก็นับถือ บ้านญาติของภรรยาผมเป็นเหมือนญาติ ทีนี้ ดร. สุจิต หิรัญพฤกษ์ ซึ่งเสียชีวิตแล้ว ดร.สุจิต เคยเป็นเลขานุการเอกอยู่สถานทูตไทยที่โตเกียว ตอนนั้นท่านทูตที่นั่นชื่อ พันเอก(พิเศษ) ถนัด คอมันตร์ และเคยเป็นทูตในแมนจูเรีย ดร.สุจิต มีลูกหลายคน มีลูกสาว 2 คน ลูกสาวคนหนึ่ง (เมื่อวานไปกินข้าวด้วยกันอยู่) สามีเสียแล้ว เขาก็เรียกเหมือนผมเป็นพี่แท้ ๆ คล้าย ๆ อย่างนั้น เวลามีปัญหาอะไร จะแต่งงาน มาปรึกษาผมทั้งนั้น ให้เราไปเป็นเถ้าแก่ให้ เพราะว่าคุณแม่เขาเสียชีวิตแล้ว คุณแม่เขาเป็นนางสาวไทยคนแรก นั่นก็คือ นางกันยา ( เทียนสว่าง ) หิรัญพฤกษ์ ซึ่ง ดร.สุจิต และคุณกันยา มีบุตรด้วยกันดังนี้ สุกันยา (นิมมานเหมินท์) ทินกร หิรัญพฤกษ์ สุจิตรา หิรัญพฤกษ์ สุวิชา หิรัญพฤกษ์ และ สุชาติ หิรัญพฤกษ์

        ทีนี่ลูกสาวอีกคนหนึ่งของครอบครัวหิรัญพฤกษ์ (คุณสุจิตรา หิรัญพฤกษ์) ได้ไปรับตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตประจำกรุงแคนเบอร์รา (Canberra) ประเทศออสเตรเลีย ก่อนที่จะย้ายไปยังกรุงแคนเบอร์รา เขาเป็นเอกอัครราชทูตอยู่ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อย้ายไปยังกรุงแคมเบอร์รา และด้วยความที่ยังเป็นโสด เขาให้ภรรยาผม ซึ่งเขาเรียกว่าพี่สาวไปช่วยดูแลบ้านที่นั่นให้หน่อย และไปช่วยตกแต่งบ้านให้ด้วย และภรรยาผมจึงพาหลานชาย ซึ่งเป็นลูกของลูกสาวคนเล็กไปอยู่ที่นั่นด้วย ภรรยาผมก็ไป ๆ กลับ ๆ แต่หลานชายได้ไปเรียนหนังสืออยู่ที่แคนเบอร์รา ทำให้หลานชายคนนี้ได้ภาษา แต่ก่อนที่จะไปอยู่ที่แคนเบอร์รา หลานชายคนนี้เรียนอยู่ที่โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อกลับมาเมืองไทยจึงกลับมาเรียนต่อที่โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเช่นเดิม เด็กคนนี้หัวดี และภาษาก็ดี สามารถสอบเข้าหลักสูตร International Program ของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้

      หลานชายคนนี้ด้วยความที่ได้ภาษา ขยันอ่านหนังสือ ตอนเรียนมหาวิทยาลัยเขาจึงเข้าชมรมนักโต้วาทีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เข้าร่วมการโต้วาทีหลายแห่ง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น ฝรั่งเศส อังกฤษ สเปน ญี่ปุ่น สุดท้ายที่ไปญี่ปุ่น อยู่ในกลุ่ม Top 5 ของมหาวิทยาลัยในโลก 70 แห่ง ที่ไปดีเบตกัน หลานชายคนนี้อยู่ 1 ใน 5 เมื่อเรียนจบ คุณแม่เขาอยากให้เรียนต่อปริญญาโทที่สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ ไปเรียนปริญญาเอกที่อื่นก็ได้ แต่เขาไม่เรียน เขาเลือกไปเรียนปริญญาตรีอีกหนึ่งใบ ในสาขานิติศาสตร์ ที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อจะได้ไปทำธุรกิจของเขา และระหว่างที่เรียนปริญญาตรีใบที่ 2 เขาเริ่มทำธุรกิจ โดยร่วมหุ้นกับเพื่อนชาวฟิลิปปินส์ ที่ไปรู้จักกันตอนโต้วาที และร่วมกับเพื่อนคนไทยอีกคนหนึ่ง เป็นเพื่อนที่เรียนโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วยกัน นั่นก็คือ นายพีช พชร จิราธิวัฒน์ ทำบริษัทขายของกินเล่น คือ “Potato Corner” ก็เห็นว่าไปได้ดี ในเมืองไทยจะเปิดให้ได้สัก 30 แห่ง ตอนนี้เปิดไปแล้วสัก 5 แห่ง 6 แห่ง ที่เชียงราย เชียงใหม่ กรุงเทพฯ จะไปขอนแก่น โคราชไปแล้ว เพราะเหตุนี้เขาถึงอยากเรียนนิติศาสตร์ เพราะอยากทำธุรกิจ

        ส่วนหลานสาวคนเล็กของลูกสาวผม เรียนอยู่ที่โรงเรียนนานาชาตินิสท์ (NIST International School) แถวอโศก หลานสาวคนนี้สนใจที่จะเป็นนักยิมนาสติก ตอนนี้ก็ไปแข่งยิมนาสติกอยู่เรื่อย ๆ ซึ่งเขาเรียนมาตั้งแต่เด็ก ๆ ไปแข่งขันอยู่เรื่อย ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เพราะเขาอยากจะเป็นนักยิมนาสติก

        โดยสรุปแล้ว ครอบครัวผมก็พออยู่กันได้


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ชั้น 3 หอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170
โทร 0-2800-2680-9 ต่อ 4346