ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเสริฐ ทองเจริญ (หลักในการดำเนินชีวิตจนประสบความสำเร็จ)

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเสริฐ ทองเจริญ

สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ณ ชั้น 6 ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

หลักในการดำเนินชีวิตจนประสบความสำเร็จ

        ทุกหลักที่ผมนำมาใช้ คือ ไม่ใช่คำของผม เป็นคำของสมเด็จพระราชบิดา สิ่งที่ผมจับมาก็คือ อันที่ท่านบอกว่า “...คนเราเรียนรู้เฉย ๆ จบมาแล้ว อย่าถือว่านั่นเป็นความสำเร็จ ความสำเร็จจะอยู่ที่ เราเลือกความรู้อันนั้นไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์แก่มนุษยชาติ...” ผมก็นำสิ่งนี้มานั่งคิดวิเคราะห์เอง และนำไปใช้

        ผมมีคนรู้จักคนหนึ่ง เขาชอบพูดเสมอว่า “...ผมนี่นะ 5 ปริญญาโท 3 ปริญญาเอก...” ผมกลับมองว่าแล้ว 5 ปริญญาโท 3 ปริญญาเอกนี้ สามารถทำอะไรให้เกิดขึ้นแก่มนุษยชาติได้บ้าง ผมนำมาวิเคราะห์ที่ท่านบอกจริง (หมายถึงพระราชบิดาบอก) ถ้าคุณมีความรู้ คุณนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ ให้เกิดประโยชน์กับมนุษยชาติ ป้องกันโรค ควบคุมโรค หรือทำอะไรก็ได้ อันนั้นคือประโยชน์ ฉะนั้น ต้องจำใส่ใจไว้ว่า ผมจับเข็มทิศได้ ผมก็ทำเรื่องนี้ของผมมาตลอด ผมไม่วอกแวกไปทางอื่น ผมไม่เปลี่ยน ผมไม่ถอย ผมไม่ท้อ จะไม่สำเร็จ ก็ไม่สำเร็จไป ไม่สำเร็จด้วยวิธีนี้ เราก็ไปหาวิธีอื่นทำต่อไป

        อีกอันหนึ่งที่ท่านสอนไว้ พระราชดำรัสนี้ ต้องจำให้ดีว่า โดยเฉพาะเป็นแพทย์ “...ให้ถือกิจของผู้ป่วยเป็นเรื่องที่ 1 เรื่องของตัวเองเป็นกิจที่ 2...” เมื่อเราเป็นแพทย์ เรื่องของผู้ป่วยต้องมาก่อน อย่าพึ่งไปคิดเรื่องของตัวเอง ท่านบอกว่า ถ้าหากเราทำอย่างนี้ได้หละก็ เกียรติยศ ชื่อเสียง ทรัพย์สมบัติต่าง ๆ จะตามมาเอง พระราชดำรัสทั้ง 2 อย่างนี้ จำไว้ให้ดี ทำให้ได้ และผมก็ถือว่าผมทำมาแล้ว และผมก็ได้เห็น และผมก็ได้ เพราะฉะนั้น บุคคลรุ่นหลังที่เก่ง ๆ ทั้งหลาย ขอให้ยึดไว้อย่างนี้ครับ แล้วท่านจะประสบความสำเร็จ และท่านจะได้

      พื้นฐานของผมไม่มีอะไรเลย (เสียงสั่นเครือ) ปลูกบ้านหลังแรก ไปกู้เงินเขาไม่ให้กู้ มีคนแนะนำให้ไปประกันชีวิต แล้วนำกรมธรรม์ประกันชีวิตไปให้ธนาคาร ผมถึงสามารถกู้เงินมาปลูกบ้าน บ้านที่อยู่ทุกวันนี้ ก็กู้เขามาใช้เวลา 15 ปี ถึงหมดหนี้ ผมไม่ใช่คนรวย แต่ผมไม่ได้เอาเปรียบคน ไม่โกง อดทน อดกลั้น อดออม เก็บเงินเท่าที่หาได้เล็ก ๆ น้อย ๆ รวมเข้ามากลายเป็นก้อนไปผ่อนบ้าน ผ่อนอะไร ก็อยู่ได้ ชีวิตผมนี่ ผมทำทั้งความเป็นครู ความเป็นแพทย์ แล้วผมใช้ความรู้เรื่องของผมให้เป็นประโยชน์แก่ชาวบ้าน โดยผมเขียนหนังสือให้นิตยสารต่าง ๆ ได้เงินครั้งละพันสองพันบาท ก็เก็บไว้ รวบรวมไว้ ถ้าคิดแล้วก็จะเหมือนกับที่ร้านขายข้าวหมูแดงอยู่ตรงแถวนี้เขียนไว้ ว่า “...อย่านอนตื่นสาย อย่าอายทำกิน อย่าหมิ่นเงินน้อย อย่าคอยวาสนา...” ผมลองมาแล้วทุกอย่าง แม้กระทั่งมีเงินอยู่ 200,000 บาท จะทำอะไรกับเงินก้อนนี้ ผมลองไปซื้อธนาบัตรออมสิน 200,000 บาท จะได้ 1,000 ใบ ผมก็คิดว่ามันต้องถูกสักวันหนึ่งนะ ผมลองมา 2 หน ถูกรางวัล ถูกรางวัลเลขท้าย ได้ทีละ 250 บาท ถ้าเทียบแล้วไปฝากธนาคารตอนช่วงก่อนน่าจะดีกว่า ธนาคารออมสินต้องมีบุญวาสนาเท่านั้น (หัวเราะ) ผมทำมา 2 หน ใช้ไม่ได้

        อย่าหมิ่นเงินน้อย ผมเขียนบทความทางการแพทย์ลงหนังสือ ผมลงทุกอย่าง นิตยสารชาวบ้านก็ลง ทางการแพทย์ก็ลง ตั้งแต่ขั้นรากหญ้าอ่าน จนกระทั่งถึงนักวิชาการอ่าน ผมเขียนทั้งนั้น ชาวบ้านอ่าน ภาพยนต์บันเทิง ชีวิตรัก ชีวิตจริง ทั้งถามตอบ ทั้งเขียนเป็นบทความ บทวิเคราะห์ทางการเมืองหนังสือพิมพ์หลักไทย ถ้าหากคุณอยู่ในช่วงหนึ่ง เดลิเมล์วันจันทร์ เคยอ่านไหม ไม่ทันใช่ไหม เจ๊งไปแล้ว เป็นหนังสือพิมพ์อยู่ในเครือเดลินิวส์ทุกวันนี้ นั่นผมก็เขียน เขียนตั้งแต่ 600 บาท 800 บาท 1,000 บาท ก็เขียน ผมถือว่าผมทำอาชีพสุจริต ไม่ได้เอาเปรียบใคร ได้น้อยได้มากช่าง อย่าหมิ่นเงินน้อย

       อย่าคอยวาสนา เคยคอยแล้ว 2 หนแล้วก็ยังไม่มีวาสนาสักที (หัวเราะ) เราก็ทำทุกอย่างที่จะช่วยคนได้ ผมมีเรื่องจะเล่าสักเรื่องหนึ่ง ตอนที่ผมเป็นประธานสหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยมหิดล ผมเป็นอยู่ 2 สมัย ตอนนี้มีเหตุการณ์ครั้งที่รุนแรงที่สุด ที่ผมเกือบแย่ เส้นเลือดจะแตกเอานะครับ คือ ตอนช่วงต้มยำกุ้ง ผมเป็นประธาน มีอาจารย์หมอคนหนึ่งอยู่ในโรงพยาบาลศิริราช ตอนที่ค่าเงินในประเทศเรากำลังแย่ อาจารย์หมอท่านนี้นำเงินมาฝากไว้ใช่ไหม เพราะดอกเบี้ยดีกว่าฝากธนาคาร วันหนึ่งในช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศเรากำลังแย่ อาจารย์หมอท่านนี้เดินมาหาผมแล้วบอกว่า “...อาจารย์ผมขอถอนเงินครับ...” เขาจะถอนเงินกี่บาทรู้ไหม เขาจะถอนเงิน 50 ล้านบาท จะเอาวันนี้ เงินของสหกรณ์เรามีแต่ว่าฝากไว้ที่ธนาคาร แล้วธนาคารทหารไทยตรงโรงพยาบาลศิริราชในเวลานั้น ในช่วงต้มยำกุ้ง ธนาคารทหารไทยสาขานี้จะได้เงินมาจากสำนักงานใหญ่วันละ 20 ล้านบาท เพื่อที่ใช้เป็นเงินหมุนเวียนในสาขา ถ้าผมจะถอน 50 ล้านบาทไม่ได้ และผมจะต้องทำอย่างไร เพราะถ้าหากผมนำเงิน 50 ล้านบาทมาให้อาจารย์หมอคนนั้นไม่ได้ จะเกิดผลกระทบกับสหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยมหิดลแย่แน่นอน เพราะบรรดาสมาชิกน่าจะแห่กันมาถอนเงินหมดแน่

        เผอิญว่าผมมีเครือข่ายที่รู้จักกัน ผ่านการแนะนำของครอบครัวหิรัญพฤกษ์ ซึ่งเป็นเพื่อนของเขา ซึ่งบุคคลท่านนี้เป็นผู้จัดการใหญ่ธนาคารแห่งหนึ่ง ผมเคยไปทานข้าวกับเขา ผมจึงโทรศัพท์ไปหาท่าน เล่าเรื่องต่าง ๆ ให้ท่านฟัง ท่านก็ให้เงินผมมา 50 ล้านบาท ผมจึงนัดอาจารย์หมอคนนั้นมารับเงินในเช้าวันรุ่งขึ้น พออาจารย์หมอคนนั้นได้รับเงินไปเรียบร้อย ตกเย็นเดินกลับมาพร้อมเงิน 50 ล้านบาท แล้วบอกว่า “...อาจารย์ผมมาฝากคืน...” คือตอนนั้นผมเครียดมาก ทำให้เส้นเลือดในสมองผมจะแตกเอานะครับ แต่ก็ยังมีอาจารย์หมออีกท่านหนึ่งที่เชื่อในตัวผม ท่านเป็นอาจารย์หมอทางศัลยศาสตร์ พอทราบเรื่องเดินมาหาผมที่สหกรณ์ บอกว่า “...อาจารย์ผมฝากเงินไว้อยู่ที่นี่ สลึงหนึ่งผมก็ไม่ถอนนะ เพราะผมเชื่ออาจารย์...” ตอนนั้นผมเกือบร้องไห้ อาจารย์ท่านนี้แต่งตัวปอน ๆ แต่มีเงินฝากมากกว่าอาจารย์คนก่อนหน้าอีกนะครับ ผมเป็นประธานสหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยมหิดล อยู่ 2 สมัย 4 ปี ก็เจริญรุ่งเรืองมา ตามลำดับ ผมค่อนข้างจะละเอียดถี่ถ้วน จนกระทั่งทุกวันนี้สหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยมหิดลมีเงินหมุนเวียนอยู่ที่ 60,000 ล้านบาท เป็นสหกรณ์สูงที่สุด ลำดับที่ 3 ของประเทศ เพราะฉะนั้นไม่มีวันเจ๊งนะครับ ซึ่งทางสหกรณ์ก็เชิญผมเป็นที่ปรึกษาอยู่ตอนนี้ อันนี้ก็คือประโยชน์ในด้านสังคม คือ ให้ความรู้สำหรับชาวบ้าน ทำงานสหกรณ์ ทำงานกับสังคมนะครับ


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ชั้น 3 หอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170
โทร 0-2800-2680-9 ต่อ 4346