ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเสริฐ ทองเจริญ (ชีวิตนักศึกษาแพทย์ และแพทย์ ณ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล)

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเสริฐ ทองเจริญ

สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ณ ชั้น 6 ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ชีวิตนักศึกษาแพทย์ และแพทย์ ณ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

        เมื่อเรียนจบเตรียมแพทย์ 2 ปี จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว (พ.ศ. 2494 – 2495) จึงเริ่มมีการไปเรียนแพทย์ต่อที่ ศิริราช หรือ จุฬา โดยใช้วิธีการจับฉลากกัน ซึ่งผมจับฉลากได้ที่ศิริราช (คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล) เพื่อนผมที่สนิทกันก็ไปอยู่จุฬาฯ หลายคน เช่น อาจารย์หมอวิศิษฏ์ สิตปรีชา (ศ.กิตติคุณ ดร. นพ.วิศิษฏ์ สิตปรีชา) ซึ่งทุกวันนี้ท่านเป็นผู้อำนวยการสถานเสาวภา พรุ่งนี้กำลังจะมาทานข้าวด้วยกันที่บ้านของผม พรุ่งนี้นัดกันแล้ว (พรุ่งนี้ คือ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2562)

        พอมาเรียนอยู่ที่ศิริราช (คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล) ตอนนั้นผมย้ายออกจากหอพักที่สุโขทัยซอย 5 เพราะว่าต่อรถลำบาก เผอิญเพื่อนผม (เพื่อนคนนี้ได้ไปอยู่จุฬาฯ) แนะนำบ้านของคุณป้าเขา คุณป้าเขามีบ้านหลังใหญ่อยู่ที่หัวถนนอุรุพงษ์ พระราม 6 อยู่ที่อุรุพงษ์ซอย 1 คุณป้าของเพื่อนอยู่กัน 2 คน เป็นผู้หญิงอายุมากแล้ว บ้านของคุณป้าเพื่อนมีที่ว่างอยู่ เพื่อนจึงถามว่าสนใจไหม เขาคิดค่าเช่าเดือนละร้อยกว่าบาทหรือเท่าไรผมจำได้ไม่ชัดเจน แต่ผมก็ตกลงย้ายมาอยู่ที่แถวอุรุพงษ์ เพราะการเดินทางไปเรียนสะดวกขึ้น เนื่องจากสามารถขึ้นรถไปเรียนที่หน้าบ้านได้เลย ตรงข้ามเป็นสมาคมสตรีไทย ตรงสี่แยกอุรุพงษ์ สามารถนั่งรถเมล์ตรงนั้นแล้วไปลงที่ท่าพระจันทร์ และนั่งเรือข้ามฟากเข้ามหาวิทยาลัยได้เลย ตอนนั้นก็สะดวกสบาย จึงตัดสินใจย้ายไปอยู่ที่อุรุพงษ์ และอยู่กับเพื่อนอีก 2 คน เพื่อนคนหนึ่งในนี้เป็นชาวแปดริ้ว (ฉะเชิงเทรา) เรามาพักอยู่ด้วยกัน เพื่อนคนนี้เป็นจิตแพทย์ และไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ทุกวันนี้ยังมีชีวิตอยู่ กลับมาเยี่ยม มาเที่ยว มาพักผ่อนที่เมืองไทยบ้าง ผมอยู่ที่หอพักนี้จนกระทั่งเรียนไป 2 ปี

        เมื่อเรียนมาได้ 2 ปี กำลังจะขึ้นปี 3 หอพักที่อุรุพงษ์ก็ยังไกลจากมหาวิทยาลัยพอสมควร เพราะถ้าหากวันไหนต้องอยู่ที่มหาวิทยาลัยเย็น เรามีเรียนมากขึ้น ก็ค่อนข้างลำบาก ด้วยเหตุผลนี้จึงย้ายหอพักมาอยู่ที่ตรอกวังหลัง ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นบ้านของคุณผู้หญิงคนหนึ่ง อยู่ติดกับบ้านคุณสุภัทรา สิงหลกะ เจ้าของเรือข้ามฟากลำแรก และมีร้านอาหารดัง ๆ อยู่แถวนั้น ก่อนถึงวัดระฆัง (วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร) ตอนนั้นผมได้เงินจากคุณพ่อเดือนละ 450 บาท ก็พออยู่ ถ้ามาอยู่ตรงนี้ ยิ่งดีใหญ่ เพราะไม่ต้องเสียค่าเดินทาง เสียแค่ค่าอาหารกลางวัน เพราะอาหารเขามีให้ทั้งอาหารเช้า และอาหารเย็น อยู่ที่นี่สบายดี เย็นลงก็นั่งชานบ้าน นั่งมองดูแม่น้ำเจ้าพระยา วิถีชีวิตริมน้ำของผู้คนแถวนี้ ก็เพลิดเพลินดีไปอีกแบบ

        พอเรียนจบแพทย์ (เรียนแพทย์ตั้งแต่ พ.ศ. 2496 – 2499) แต่ก่อนจะจบต้องมาอยู่หอตรงท่าน้ำ จึงย้ายจากโน้น (ตรอกวังหลัง) มาอยู่ตรงนี้ จบแล้วก็ลองสมัครเป็นแพทย์ประจำบ้านที่อายุรศาสตร์ พอทำงานอยู่ได้เดือนกว่า ๆ ก็โดนเกณฑ์ไปเป็นทหารเรือ ได้เป็นว่าที่เรือโท ไปฝึกทหารเรืออยู่เดือนครึ่ง ทางโรงพยาบาลศิริราชขาดคนจึงต้องขอตัวผมกลับ ผมเลยยังไม่ได้ปลดว่าที่ เพราะถ้าเป็น 6 เดือนไปแล้ว ปลดว่าที่ ให้เป็นเรือโท ทุกวันนี้เลยยังเป็นว่าที่เรือโทอยู่ ก็เสียดายอยู่ ได้ลงเรือมาหนเดียว ได้เสื้อผ้ามาชุดหนึ่ง ชุดขาวให้ไปแต่ง ให้ไปตัดเป็นเครื่องแบบ แต่ยังไม่ทันได้ตัดเลยก็ปลดก่อน กระบี่ก็ได้รับ กระบี่ได้ไปเซ็นรับเอากระบี่มา แล้วก็ไปเซ็นคืนกระบี่ในวันเดียวกับที่รับนั่นหละ ผมเป็นพวกทหารเรือ ทหารเรือกระบี่แดดเดียว เพราะได้วันเดียว พอเสร็จก็คืน

        ทีนี้พอกลับมาทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช ตอนนั้นมีโรคไข้หวัดใหญ่ระบาดพอดี ประมาณเดือนมิถุนายน ผมมาอยู่เป็นแพทย์ที่ตึกอัษฎางค์ ชั้น 3 โรงพยาบาลศิริราช มีผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัดใหญ่หลายคน ตอนนั้นระบาดหนัก ผู้ป่วยที่อาการหนัก ๆ เสียชีวิตในมือไปหลายคน ผู้ป่วยที่มานอนอยู่ตึกอัษฎางค์ ตอนนั้นมีนักเรียนแพทย์ 2 คน และ 1 ใน 2 คนนั้น คือ คุณหมอเจริญ (ศ.เกียรติคุณ นพ.เจริญ โชติกวณิชย์) มานอนอยู่นี่จนหาย ทีนี้ระหว่างที่คาดว่าผู้ป่วยเหล่านี้เป็นโรคไข้หวัดใหญ่ เมื่อตรวจสอบจึงทราบว่าเป็นโรคไข้หวัดใหญ่จริง ๆ แต่ว่าสมัยนั้นเราวิเคราะห์โรคโดยอาศัยอาการทางคลินิก เนื่องจากที่โรงพยาบาลศิริราชไม่มีห้องแล็บที่จะตรวจได้เลย ผมจึงฝังใจว่า น่าจะมีคนที่มีความรู้ที่จะตรวจทางห้องแล็บได้ ซึ่งในเวลานั้นไม่มี และก็ยังมีผู้ป่วยที่เสียชีวิตด้วยโรคติดเชื้อแต่เป็นพาราไซต์ หรือ ปรสิต และผู้ป่วยอีกท่านหนึ่งที่ผมฝังใจก็คือ อาจารย์ของมหาวิทยาลัยศิลปากร ท่านเป็นมาลาเรียขึ้นสมอง และเสียชีวิตในมือของผมเลย จากเหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้ผมอยากจะเรียนทางด้านโรคติดเชื้อ ว่ามีโรคอะไรบ้าง รักษากันอย่างไร ซึ่งในเวลานั้นยังไม่มีอาจารย์ทางด้านโรคติดเชื้อที่เรียนจบมาโดยตรง ผมจึงมองด้านนี้และหาหลักสูตรเพื่อเรียนต่อ ในตอนนั้นก็ไม่มีเลยในประเทศ แต่อาจจะมีในต่างประเทศ

        ผมทำงานเป็นแพทย์ประจำบ้านได้ฝึกอบรมครบ 1 ปี (แพทย์ประจำบ้านแผนกอายุรศาสตร์ พ.ศ. 2500) แต่ก่อนที่จะครบ 1 ปี ทางโรงพยาบาลศิริราชได้มีการจัดตั้งหน่วยขึ้นมาใหม่หน่วยหนึ่ง คือ หน่วยจิตเวช ของแผนกวิชาอายุรศาสตร์ ซึ่งทางหน่วยนี้กำลังมองหาแพทย์ที่จะไปเรียนทางจิตเวช ในสมัยนั้นแผนกจิตเวชในมหาวิทยาลัยใดก็ไม่มี มีเพียงโรงพยาบาลจิตเวชเท่านั้น นั่นก็คือ “โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา” (ปัจจุบัน คือ สถาบันจิตเวชสมเด็จเจ้าพระยา) แต่ก่อนเรียกโรงพยาบาลแห่งนี้ว่า “โรงพยาบาลหลังคาแดง” พวกที่ผ่านฝึกอบรมอายุรศาสตร์ ในปีนั้น แพทย์ประจำบ้าน จะต้องถูกส่งมาอยู่ที่โรงพยาบาลหลังคาแดงเป็นเวลา 1 เดือน โดยที่ต้องไปกินไปนอนอยู่ที่นั่น และตัดขาดจากโรงพยาบาลศิริราชไปเลย ตอนที่ผมอยู่ที่โรงพยาบาลแห่งนี้ ได้เรียนรู้ และได้ความรู้มากมาย แต่ในใจแล้วรู้สึกว่ายังไม่ใช่สิ่งที่เราชอบ แต่สิ่งหนึ่งที่ดีสำหรับผมในการอยู่ในโรงพยาบาลหลังคาแดง คือ อาหารอร่อย เพราะอาหารที่ผมรับประทานมาจากโรงครัวที่จัดทำให้กับแพทย์ผู้ใหญ่ ที่มีบ้านพักอยู่ในโรงพยาบาลแห่งนี้ ได้แก่ อาจารย์หมอฝน หรือ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว ท่านเป็นปลัดกระทรวงสาธารณสุข อาจารย์หมออรุณ ภาคสุวรรณ หรือ ศาสตราจารย์ นายแพทย์อรุณ ภาคสุวรรณ และ อาจารย์หมอประสพ หรือ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประสพ รัตนากร ตอนหลังท่านมาเป็นผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา ทั้ง 3 ท่าน มีบ้านอยู่ในโรงพยาบาลแห่งนี้ โรงครัวของโรงพยาบาลหลังคาแดงก็จะทำอาหารส่ง 3 บ้านนี้ และพวกเราก็จะพลอยได้ทานอาหารอร่อย ๆ กันทั้ง 3 มื้อ ส่วนเรื่องที่พักทางโรงพยาบาลมีบ้านอยู่ฝั่งตรงข้ามกับโรงพยาบาลพอดีให้พวกผมได้พักตลอด 1 เดือนนั้น หากพูดถึงการเข้าไปเรียนรู้การสอนดีมากครับ แต่การที่เราได้พบเจอผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตเวชบ่อย ๆ บางครั้งก็ไม่ไหวเหมือนกัน ผมรู้สึกหดหู่ เพราะผู้ป่วยบางราย นั่งอยู่ใต้ต้นโพธิ์ตรงหน้าโรงพยาบาล นั่งอยู่แบบนั้นตั้งแต่เช้าจรดเย็น หรือ อาการแปลก ๆ ก็มี ครั้งหนึ่งผู้ป่วยหญิงรายหนึ่งเป็นนางสาวไทย แต่มีอาการทางจิตเวช ผู้ป่วยรายนี้นั่งแก้ผ้าอยู่ในห้อง นั่งเล่นอุจจาระ นั่งเล่นปัสสาวะของตัวเอง ทุกวัน ๆ ไปดูอาการแล้วเหมือนจะรักษาไม่ได้ บางครั้งจะเข้าไปตรวจก็ทำไม่ได้ นอกจากยืนดูอาการอยู่ที่ช่องกระจกหน้าห้อง ต้องไปเรียกเจ้าหน้าที่มานำตัวผู้ป่วยไปล้างตัว อาบน้ำ และการที่ผมเจอเหตุการณ์แบบนี้ทุก ๆ วัน เป็นเวลา 30 วัน ผมก็มีอาการเครียดเช่นกัน แต่ก็ทำให้ผมรู้ว่า จิตเวช อาจจะไม่เหมาะกับผม

        เมื่อผมไปอยู่ที่โรงพยาบาลหลังคาแดงครบกำหนด และกลับมายังแผนก หัวหน้าแผนกในเวลานั้น คือ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเสริฐ กังสดาลย์ เข้ามาสัมภาษณ์แพทย์ทุกคนที่ได้เข้าไปยังโรงพยาบาลหลังคาแดงด้วยตนเองว่า ตลอดระยะเวลา 1 เดือนเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งการสัมภาษณ์ครั้งนี้ เหมือนการสอบและผมก็สอบได้ แต่สุดท้ายผมก็ขอสละสิทธิ์ เพราะถ้าผมไม่สละสิทธิ์ ผมจะได้ไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา ตอนนั้นอยากไปเรียนที่สหรัฐอเมริกาก็อยาก แต่ว่าคิดถึงจิตใจตัวเองแล้ว ผมไม่ไหวจริง ๆ ภาพผู้ป่วยในนั้น ครั้งหนึ่งเจอผู้ป่วยคนหนึ่ง เรียกให้ผมเดินเข้าไปหา แล้วผู้ป่วยรายนั้นพูดกับผมว่า ““...เห็นจอมพลสฤษดิ์หรือเปล่า...” (จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์) ผมก็บอก “...ไม่เห็นอ่ะ ทำไมหรือ...” ผู้ป่วยบอก “...อ้าวเมื่อกี้เขามา ตำรวจมาเยอะแยะ เขามาเยี่ยมผม...” ผมก็ถามว่า “...มาเยี่ยมทำไม...” ผู้ป่วยบอก “...ผมกับเขาสนิทกันมา เขามาเยี่ยมผม ไม่เห็นหรือ เอ๊ะ หมอยังไงวะ...” ผู้ป่วยรายนี้เป็นโรคซิฟิลิส (Syphilis) ขึ้นสมอง คนพวกนี้จะต้องมีจิตใจ เพ้อฝัน เพ้อแต่เรื่องใหญ่ ๆ โต ๆ ตอนนั้นจอมพลสฤษดิ์ ทำปฏิวัติ และขึ้นเป็นนายก เป็นคนใหญ่ คนโต ซึ่งคนพวกนี้จึงนึกว่าตัวเองใหญ่อย่างเขา รู้จักสนิทกับคนใหญ่คนโตเหล่านั้น ผมจึงสละสิทธิ์ในการที่จะไปเรียนต่อทางด้านจิตเวชที่สหรัฐอเมริกา


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ชั้น 3 หอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170
โทร 0-2800-2680-9 ต่อ 4346