ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเสริฐ ทองเจริญ (การทำงานทางด้านโรคติดเชื้อ)

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเสริฐ ทองเจริญ

สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ณ ชั้น 6 ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

การทำงานทางด้านโรคติดเชื้อ

ภาพขณะทำงานกับมหาวิทยาลัยมหิดล

        เมื่อผมเรียนจบกลับมาทำงานที่โรงพยาบาลศิริราช ผมบอกอาจารย์หัวหน้าแผนกว่า อยากจะทำห้องแล็บไวรัสขึ้น เพราะว่าเราจะได้มีบริการชันสูตรทางไวรัสให้โรงพยาบาลต่าง ๆ อาจารย์ก็เห็นด้วย แต่ผมก็ไม่มีอะไรเลย อาจารย์ให้ห้องแล็บนักเรียนมาห้องหนึ่งเป็นตึกที่อยู่ข้างหลังตึกพยาธิวิทยา ตึกเก่า อยู่ที่ชั้น 2 มีห้องว่างอยู่ ตอนนั้นเข้าไปก็มีแต่โต๊ะนักเรียนเต็มไปหมด ท่านให้ผมไปอยู่ห้องนี้ ให้เริ่มทำที่นี่ เริ่มต้นก็มีเครื่องไม้เครื่องมือเบื้องต้นให้นิด ๆ หน่อย ๆ ให้ทำ ผมก็ต้องมองหาคนที่จะช่วย เช่น กระทรวงสาธารณสุข ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า AFRIMS “สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร” หรือ “Armed Forces Research Institute of Medical Sciences” ใช้ชื่อย่อว่า สวพท. หรือ AFRIMS แต่ก่อนเรียกว่า “SEATO LAB” เป็นแล็บของ SEATO ซึ่ง SEATO คือ องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEATO = องค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Treaty Organization)) SEATO คำว่า TO นั้น T มาจากคำว่า Treaty และ O คือ Organization เป็นองค์การความร่วมมือความมั่นคงของประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งแล็บนี้ตั้งที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เวลาที่ผมขาดอะไรผมก็ไปขอความช่วยเหลือจากเขา เพราะที่กระทรวงสาธารณสุขก็พึ่งเริ่มทำ ได้ญี่ปุ่นเข้ามาช่วยให้ตั้งแล็บไวรัสพอดี เขาก็มีของมา มีอะไรมา ผมก็ไปขอมา ไปขอแบ่งเขามาบ้าง และที่กระทรวงสาธารณสุขมีโครงการเกี่ยวกับโรคไข้มาลาเรีย มีเครื่องไม้เครื่องมือ ตู้เย็น ผมก็ไปขอเขา เขาก็ให้บ้าง อาศัยว่าเราเป็นคน “อ่อนน้อมถ่อมตน” มีรุ่นพี่อยู่ไปคุยกับเขา เขาเหลือ เขามีอะไรที่ไม่ใช้ ไปมอง ๆ และขอ เขาก็ให้มา ผมจึงเริ่มทำมาเรื่อย ๆ ทีนี้พอเริ่มทำมาสักพัก ผมอยากจะทำงานวิจัย ตอนนั้นยังไม่รู้จะทำอะไร จึงไปเริ่มต้นที่ “โรคพิษสุนัขบ้า”

        ผมเริ่มต้นด้วยการไปขอเงินจาก “ศิริราชมูลนิธิ” อาจารย์หมอสุด (ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.สุด แสงวิเชียร) ท่านก็ให้เงินมา รู้สึกจะ 7,000 บาท หรือ 9,000 บาท ผมจำได้ไม่แน่ชัด การทำวิจัยต้องมองว่า เราจะหาวัสดุวิจัยอะไร มีเงินวิจัยเท่าไร มีคนทำงานด้วยหรือไม่ ตอนที่ผมเริ่มทำตั้งแต่ก่อตั้งแล็บมา ก็มีอาจารย์หมอจันทพงษ์ (รองศาสตราจารย์ พญ.จันทพงษ์ วะสี) เข้ามาช่วยทำงานอยู่ในแผนกพอดี จึงเข้ามาอยู่ตรงนี้ และมาช่วยกัน การทำวิจัยเรื่องโรคพิษสุนัขบ้า ผมมีแนวคิดว่า สุนัขที่วิ่งอยู่ตามท้องถนน หรือ สุนัขจรจัดที่มีลักษณะดี ๆ อยู่ สุนัขเหล่านี้จะมีเชื้อพิษสุนัขบ้าสักกี่เปอร์เซ็นต์ ถ้าสุนัขไปกัดคนแล้ว ถ้ามีเชื้อพิษสุนัขบ้าก็จะเป็นอันตราย และสมัยนั้นเทศบาลนครกรุงเทพฯ จะดักจับสุนัขไปขังไว้ที่ศูนย์ที่ดินแดง ตรงแถวสนามกีฬาเวสน์ที่ดินแดง (ปัจจุบันคือ ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น)) ถ้าหากสุนัขที่ถูกจับมีเจ้าของ เจ้าของสามารถติดต่อขอรับสุนัขที่ถูกจับไว้ได้ แต่ต้องเสียค่าอาหารวันละ 20 บาท ให้กับทางศูนย์ฯ แต่หากว่าสุนัขที่ถูกจับมาไว้ครบ 3 วันแล้ว ยังไม่มีใครแสดงตนว่าเป็นเจ้าของ สุนัขเหล่านั้นจะถูกฆ่า จากตรงนี้ ผมจึงติดต่อไปหาสัตวแพทย์ที่ดูแลที่ศูนย์แห่งนั้น ชื่อ หมอขาป โดยผ่านการแนะนำจากอาจารย์หมอเฉก (นพ.เฉก ธนะสิริ) ซึ่งอาจารย์หมอเฉก เป็นเพื่อนกับอาจารย์หมอดิเรก เมื่อผมเดินทางกลับมาจากเมืองนอก อาจารย์หมอดิเรก พาผมไปทานข้าวและแนะนำให้ผมได้รู้จักกับอาจารย์หมอเฉก ท่านเป็นรองปลัดกรุงเทพมหานคร ท่านจึงแนะนำผมให้รู้จักกับ หมอขาป

        ตอนนั้นเมื่อผมเริ่มจะทำวิจัย ผมจึงบอกกับหมอขาปว่า “...พี่ ๆ ผมอยากได้หัวสุนัข ที่พี่ฆ่า อาทิตย์ละ สักประมาณ 6-8 หัวได้ไหม ?...” หมอขาปว่า “...ได้ก็ฆ่าทุกวัน...” ผมบอกว่า “...ผมเลือกเอาสุนัขที่มันดี ๆ อยู่ ดูแล้วไม่น่าจะบ้ามาได้ไหม...” หมอขาปบอก “...ได้...” ผมบอกว่า “...ถ้ามันเจ็บออด ๆ แอด ๆ ผมไม่เอา...” ผมขับรถจากโรงพยาบาลศิริราชไปดินแดง ทุกวันพฤหัสบดี ตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 2507 หรือ 2508 ไปทุกอาทิตย์ ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนธันวาคม จนครบ 1 ปี ผมนำกระติ๊กถังน้ำแข็งใบใหญ่ ๆ ไปใส่หัวของสุนัขมา 6-8 หัว แล้วมาจ้างเจ้าหน้าที่พยาธิวิทยา เพราะเขามีเลื่อยไฟฟ้า ให้ผ่าหัวสุนัขให้ เมื่อผ่าแล้วให้เลือกเอาเฉพาะสมองและต่อมน้ำลายของสุนัขใส่จานแก้วแล้วนำมาให้ผม ผมให้เขาหัวละ 20 บาท เจ้าหน้าที่คนนั้นชื่อ แดง เสร็จแล้ว ผมจะนำมาตรวจด้วยวิธีการ 3 วิธี ถ้าทั้ง 3 วิธียืนยันแล้ว ผมก็รู้ว่าตัวไหนที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้า ตัวไหนไม่มี ทั้งปีผมไปเก็บหัวสุนัขมาได้ 310 หัว และ 310 หัวที่เป็นสุนัขที่ดูแล้วน่าจะดี ๆ ตรวจพบเชื้อบ้าอยู่ 10 หัว คิดแล้วประมาณ 3% ใช่ไหม นั่นก็แปลว่า สุนัขจรจัดที่วิ่งตามท้องถนนทั้งหลาย ที่มันบ้าชัด ๆ ก็แล้วไป ที่มันไม่บ้าอาการยังดี ๆ อยู่ มันอาจจะมีเชื้ออยู่แต่ยังไม่บ้า ประมาณ 3% พอเสร็จแล้วผมก็เขียน เป็นรายงานภาษาอังกฤษ ตีพิมพ์ เมื่อตีพิมพ์ออกไปสักพักหนึ่ง ก็มีคนติดต่อเข้ามา เพื่อจะมาวิจัยต่อ เพราะเขามีวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ที่เขาพัฒนาขึ้นมาใหม่ของเก่ามันทำจากเนื้อสมอง ซึ่งมีประสิทธิภาพไม่สูง และแพ้ง่าย เขาพัฒนาด้วยวิธีใหม่ ทางนั้นถามว่าผมอยากจะทำการทดสอบกับเขาไหม ช่วยเขาทำงานทดสอบวัคซีนภาคสนามในประเทศไทยเอาไหม เพราะเขาได้เห็นจากในรายงานแล้ว ผมจึงตอบตกลงกับเขา ผมจึงได้เงินมาทำการวิจัยต่อ เริ่มกระจายข่าวไปทั่ว ๆ ว่า ถ้าใครโดนสุนัขกัดแล้ว ให้มาหาผม เอานำสุนัขมาก็ได้ จะนำคนมาด้วยก็ได้ เราจะพิสูจน์ให้ว่า สุนัขที่กัด บ้าหรือไม่บ้า ถ้าหากบ้าจะนำวัคซีนนี้ฉีดให้ และจะเจาะเลือดตรวจ ว่ามีภูมิคุ้มกันด้วยรึเปล่า ผมทำวิจัยนี้ได้ปีหนึ่ง เผอิญมีประชุมที่ประเทศฝรั่งเศส เจ้าของวัคซีนนี้จึงถามว่า “...เราอยากจะไปประชุมไหม...” ผมก็บอกว่า “...อยาก...” เจ้าของวัคซีน “...ทำงานเสร็จแล้ว...” ผมตอบว่า “...เสร็จ...” เขาก็บอกให้ไปทำโปสเตอร์มา ผมส่งโปสเตอร์ให้เขา แล้วเขาก็ส่งผมไป ผมไปกับอาจารย์หมอจันทพงษ์ ไปเสนอผลงานอันนี้ ก็มีคนเข้ามาสนใจพอสมควร เพราะเป็นงานชิ้นแรก ๆ ตอนแรกก็มีคนมาชวนทำวิจัยวัคซีนต่ออีก 2-3 คน พวกเราก็โอเค เขาก็ส่งเงินมาให้ทำการวิจัย พวกผมก็ทำมาเรื่อยก็สนุกสนาน

        จนกระทั่งเมื่อครบรอบ 100 ปี ที่หลุยส์ ปาสเตอร์ (Louis Pasteur) ได้ทำการทดสอบวัคซีน เป็นการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ครั้งแรกของโลก เมื่อ พ.ศ. 2524 เขาก็เชิญผมพูดถึงประสบการณ์ที่เราทำวิจัยเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า ทั้งที่ประสบความสำเร็จและไม่ประสบความสำเร็จ วัคซีนที่ป้องกันโรคไม่ได้มีอะไรบ้าง แล้ววัคซีนที่เรานำมาทดสอบในประเทศไทยมีอะไรบ้าง ผมก็ได้ไปร่วมประชุมที่นั่น หลังจากนั้นจึงได้รับเชิญไปประชุมตามที่ต่าง ๆ หลายแห่ง ก็ค่อนข้างจะประสบความสำเร็จพอสมควร

         ต่อมาใน พ.ศ. 2510 ประเทศไทยมีโรคระบาดเกิดขึ้น นั่นก็คือ

        “โรคหัดเยอรมันในผู้ใหญ่” ซึ่งโดยปกติ โรคหัดเยอรมันในผู้ใหญ่จะไม่เป็นโรค แต่ก่อนเป็นแต่ในเด็ก จนปี พ.ศ. 2510 มีการระบาดขึ้นในผู้ใหญ่ ผมไปขอเงินสภาวิจัยได้มา 17,000 บาท มาวิจัยเรื่องนี้ โดยมีคำถามคือ
1. เป็นโรคนี้จริงหรือเปล่า หาวิธีชันสูตรและยืนยัน
2. แล้วในตำราเขียนว่า ถ้าผู้หญิงตั้งครรภ์อ่อนเดือน ลูกออกมาอาจจะมีความพิการแต่กำเนิด ในประเทศไทยเรา กำลังระบาดอยู่ มีผู้หญิงตั้งครรภ์ ติดโรคนี้หรือไม่ ถ้าติดแล้วลูกออกมาจะมีความพิการหรือไม่
3. คนไทยเราในตอนนั้น จะมีภูมิคุ้มกันอยู่แล้ว คือ เคยเป็นแต่เด็กแล้ว สักกี่เปอร์เซ็นต์
4. คำถามอันถัดไปก็คือว่า เราจะมีวิธีป้องกันอย่างไร

        คำถามพวกนี้ค่อย ๆ เกิดขึ้น ผมก็ค่อย ๆ รวบรวมเป็นคำถาม แล้วหาคำตอบ ผมใช้เงินวิจัย 17,000 บาท ผมหาวิธีจนได้ข้อสรุปว่า

   หญิงตั้งครรภ์อ่อนเดือน ถ้าลูกออกมาจะมีความพิการแต่กำเนิดไหม คำตอบก็คือ มี ผมจึงนำเรื่องนี้ไปเสนอที่การประชุมนานาชาติที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ก็มีคนสนใจพอสมควร เป็นรายงานแรก ๆ ในประเทศที่ด้อยพัฒนา หรือ กำลังพัฒนาที่ทำงานเรื่องนี้

       ภายหลังจากนั้น เมื่อ พ.ศ. 2511 พบ “โรคตาแดง” ระบาดในกรุงเทพฯ ก่อนเริ่มการระบาดไปทั่วประเทศ ผมไปชวนพวกกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งในเรื่อง “โรคหัดเยอรมันในผู้ใหญ่” กระทรวงสาธารณสุขก็ช่วยด้วย มาช่วยกันสำรวจ และขอเงินมา ได้เงินมาไม่กี่สตางค์จากศิริราชมูลนิธิเป็นส่วนใหญ่ มาวิจัยว่า โรคตาแดง ว่ามีสาเหตุจริง ๆ มาจากอะไร ซึ่งปกติโรคตาแดงมาจากหลายสาเหตุ แต่ตอนระบาดในปีนั้น ยังไม่ทราบว่าสาเหตุมาจากอะไร ผมจึงทำวิจัยแยกเชื้อ จนกระทั่งรู้ว่าเป็นไวรัสชนิดใหม่เกิดขึ้น ผมร่วมมือกับสถาบันหนึ่งของสหรัฐอเมริกา สถาบันหนึ่งของญี่ปุ่น และสถาบันหนึ่งของสิงคโปร์ เราก็ทำวิจัยจนกระทั่งสำเร็จและสามารถตีพิมพ์ผลงานการวิจัย และได้รับเชิญไปพูดที่ต่าง ๆ เช่นเดิม

     หลังจากนั้น องค์การอนามัยโลก เชิญผมให้เป็น กรรมการผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อไวรัสขององค์การอนามัยโลก ซึ่งผมเป็นผู้เชี่ยวชาญอยู่ตรงนี้มานาน 32 ปี ตรงนี้ก็ดีอย่าง ตรงที่ว่า เขาจะมีการจัดประชุมที่องค์การอนามัยโลก ปีละ 2-3 ครั้ง ผมได้รับเชิญไปร่วมประชุม ซึ่งก็ทำให้เกิดความรู้จักมักคุ้นกับนักวิจัยด้วยกันตามสถาบันต่าง ๆ จนกระทั่ง ต่อมาเมื่อมี “โรคเอดส์” ระบาดขึ้นในสหรัฐอเมริกา เราจึงมีการสร้างเครือข่ายที่ติดต่อเรื่องโรคไวรัสด้วยกัน มีการแจ้งเตือน มีการประสานงานกัน ทางองค์การอนามัยโลกจัดตั้งศูนย์ประสานงานขึ้นเกี่ยวกับโรคเอดส์ เพื่อที่จะให้ความรู้เกี่ยวกับโรคเอดส์กับนักวิชาการสาธารณสุขทั้งหลาย เราได้รับแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในศูนย์ประสานงานแห่งหนึ่งใน 27 แห่ง ที่จัดตั้งขึ้นในโลกนี้ และศูนย์ของเราตั้งขึ้นที่ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และผมได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งในเรื่อง การวินิจฉัยโรคติดเชื้อ HIV

       เรื่องที่ดีตรงนี้ คือ ผมไปเลือกเรียนวิชาที่คนอื่นเขาไม่เรียนกัน คนที่ไปเรียนวิชาโรคติดเชื้อไวรัสยังไม่มีเท่าไร ผมได้เข้าไปตรงนี้ ตรงที่ยังขาด คนที่จะมาแย่งทำงานก็ไม่มี ใครเขาจะหาเลือกคนทำงานเรื่องนี้ ในต่างประเทศที่มีเงินทุนวิจัยที่จะเข้ามา จะติดต่อใคร ก็ไม่รู้จะไปติดต่อที่ไหน จึงตกมาที่ผม ผมจึงได้ทำงาน ถ้าผมไปเรียนวิชาที่มีคนเรียนเยอะแล้ว และก็ไม่ได้เก่งอะไร ผมก็คงไม่ถูกเลือก

มหาวิทยาลัยมหิดล มอบปริญญาแพทยศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ เมื่อ พ.ศ. 2547


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ชั้น 3 หอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170
โทร 0-2800-2680-9 ต่อ 4346