ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเสริฐ ทองเจริญ
สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ณ ชั้น 6 ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
การศึกษาต่อเฉพาะทาง ทางด้านโรคติดเชื้อ ณ ประเทศเยอรมัน
ผมมีเรื่องราวที่เกิดขึ้น ก่อนที่จะได้ทุนไปเรียนต่อเฉพาะทางที่อยากจะเล่าสู่กันฟัง พอผมเรียนจบแพทย์ประจำบ้านปีที่ 1 และเลื่อนขึ้นปีที่ 2 ผมก็คิดว่า ผมไม่เก่งพอที่ใครจะเลือก โดยปกติจะเลือกแค่ 2 คน จาก 10 กว่าคน คัดเลือกเพียงแค่ 2 คน และปีที่ 2 อีก 2 คนก็ต้องไปจิตเวชอีก ซึ่งผมก็สละสิทธิ์ไปแล้ว ผมจึงมองไปยังแผนกอื่น อย่างทางจักษุแพทย์ ซึ่งมีตำแหน่งแพทย์ประจำบ้านปี 2 อยู่ และก็มีตำแหน่งอาจารย์ด้วย เพื่อนสนิทผมคนหนึ่งเราพักอยู่ห้องเดียวกัน เขาเป็นลูกหลานร้านแว่นตาอยู่ที่สี่แยกสี่กั๊กพระยาศรี ซึ่งเพื่อนผมคนนี้เข้าสมัครเฉพาะทางด้านจักษุแพทย์ ผมก็ต้องหลบ ครั้งจะไปที่แผนกศัลยศาสตร์ อาจารย์ศัลยศาสตร์ดุ ๆ ทั้งนั้นเลย แล้วบางคน ผ่าตัดตั้งแต่เข้าจรดเย็นข้าวก็ไม่ได้ทาน แล้วถ้าผู้ป่วยเลื่อนก็ต้องทำยาว และอาจารย์ทนได้ แต่ผมกลัวหิว (หัวเราะ) หรือบางคนดุ ไม่ชอบใจก็ปาเครื่องมือ ปาโน้น ปานี่ตลอดเวลา คือ ผมเห็นพฤติกรรมแล้วกลัว ถ้าไปอยู่ที่นั่นแล้วเดี๋ยวโดนและเรียนไม่จบ มีอาจารย์ท่านหนึ่ง เวลาท่านสอนหรือถามอะไรเรา ท่านจะหลับตาพูดตลอดเวลา ถ้าท่านลืมตาเมื่อไร แสดงว่ามันต้องมีอะไรผิด คนที่จะเรียนศัลยศาสตร์ได้นี่คงต้อง แข็งแรง กล้าสู้ถึงจะอยู่รอดนะครับ แต่ผมไม่ใช่คนแบบนั้น
เมื่อมองมาที่แผนกสูติศาสตร์ เวลาผมเข้าไปในห้องนี้กลิ่นน้ำคาวปลาติดตัว เหม็นติดตัว ตอนที่เป็นนักเรียนแพทย์ที่หมุนเวียนไปเรียนที่แผนกสูติ เดินจากตึกนั้นลงมา เขารู้เลยมันไปทำอะไรมาวะ กลิ่นหึ่งเลย ติดเสื้อกาวน์มาเลย (หัวเราะ) ผมจึงมามองที่แผนกพยาธิวิทยา ซึ่งมีตำแหน่งว่างอยู่ คือ ตำแหน่งทางแบคทีเรีย ผมจึงลองสมัคร อาจารย์ท่านก็รับผมไว้ ผมจึงได้ไปอยู่ที่แผนกพยาธิวิทยา ตอนนั้นถ้าผมสมัครไปต่างจังหวัด ก็คงจะดีในเรื่องของที่อยู่ แต่ว่างานค่อนข้างหนัก แต่ข้อสำคัญในตอนนั้นของผมคือ “ผมอยากไปเมืองนอก” เห็นใครก็ไปเมืองนอก ก็อยากไป จึงยังไม่อยากไปอยู่ต่างจังหวัด แม้ว่าทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะพึ่งเปิดโรงเรียนแพทย์ ผมก็ไปสมัครเหมือนกัน ตอนนั้นที่อยากไปเชียงใหม่ เพราะถ้าไปเชียงใหม่แล้วได้ไปเมืองนอกทุกคน ผมจึงไปสมัคร แต่ด้วยนามสกุลผมไม่ดัง เรียนก็ไม่ได้เก่งธรรมดา ๆ แต่ผมตั้งแต่เรียนมาตลอด ไม่เคยสอบตก ไม่เคยสอบซ่อม แต่เราไม่เก่ง แต่สามารถไปได้เรื่อย ๆ เท่านั้นเอง เขาจึงไม่ได้เลือกผม เขาเลือกแต่คนเก่ง ๆ ไป อย่าง อาจารย์หมอวราวุธ ที่เป็นนักแต่งเพลง ที่อยู่โรงพยาบาลรามาธิบดี (ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.วราวุธ สุมาวงศ์) เขาหละรุ่นเดียวกับผม นั่นเขาได้ไป เพราะนามสกุล สุมาวงศ์ นามสกุลผู้พิพากษาใหญ่ หรือ อาจารย์รุ่งธรรม ลัดพลี (นายแพทย์รุ่งธรรม ลัดพลี) พ่อเขาเป็นพระยาลัดพลี (พระยาลัดพลีธรรมประคัลภ์ (วงศ์ ลัดพลี)) เขาก็ถูกเลือกเช่นกัน เพราะพวกผู้ใหญ่เขามอง เขาฝากกันได้ แต่ก่อนคนน้อย ส่วนผมเป็นเด็กบ้านนอกไม่มีใครรู้จัก นามสกุลไม่ดัง จึงไม่ได้ไปเมืองนอก แต่ในใจก็ยังอยากไปเมืองนอกอยู่นั่นแหละ
ต่อมาเผอิญเมื่อตอนที่ ผมพึ่งจบแพทย์ประจำบ้าน เพื่อนที่เรียนจุฬาฯ ด้วยกันมา เขาทำงานอยู่สถานทูตเยอรมัน ซึ่งเขาก็มีอาจารย์สอนภาษาเยอรมัน พึ่งมาเมืองไทย และอาจารย์ท่านนี้อยากจะเรียนรู้ภาษาไทย เพื่อนก็ถามว่า “...ลื้อสนใจไหมไปเรียนภาษาเยอรมันกับเขา แล้วลื้อก็สอนภาษาไทยให้เขา...” ผมก็ตอบตกลงไปเรียนภาษาเยอรมันกับอาจารย์ท่านนั้น ตอนเย็นเลิกงานไปเรียน 1 ชั่วโมง พอเริ่มที่จะรู้เรื่องกันแล้ว เป็นจังหวะที่สถานทูตเยอรมันประกาศให้ทุน เพื่อนผมคนนี้ก็มาส่งข่าว และถามว่าไปลองสอบไหม ผมจึงไปสอบ เมื่อสอบเสร็จ ผมได้เจออาจารย์หมอชัชวาล (ศ.เกียรติคุณ นพ.ชัชวาล โอสถานนท์) ซึ่งท่านจบจากเยอรมัน วันนั้นท่านเป็นกรรมการสอบ และเป็นผู้สอบผม ผมก็ตอบท่านได้ เมื่อท่านถามมา ผมก็พอตอบไปได้ ท่านจึงให้คะแนนผมดีหน่อย ผมจึงได้ทุนไปศึกษาต่อ ณ ประเทศเยอรมัน แต่เมื่อไปถึงที่นั่นผมก็ยังต้องเรียนภาษาอีก 1 เดือน ที่โรงเรียนสอนภาษาที่นั่นในเมืองเล็ก ๆ พอเรียนจบ และสอบได้ประกาศนียบัตรภาษาแล้ว ถึงจะย้ายเข้าไปในเมืองใหญ่ ซึ่งเป็นเมืองที่มหาวิทยาลัยที่ผมต้องเรียนตั้งอยู่
แต่ก่อนที่จะไปเรียนที่เยอรมัน ทางเจ้าของทุนจะต้องให้ผมระบุว่า เราจะไปเรียนต่อที่ตรงไหน อย่างไร และกับใคร ตอนนั้นผมก็ยังนึกไม่ออกว่าจะไปที่ไหน แต่รู้แค่ว่าอยากไปเรียนทางโรคไวรัส เพราะผมยังจดจำภาพที่ผู้ป่วยเสียชีวิตในมือของผมได้อย่างแม่นยำ จากโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเป็นเชื้อไวรัส ผมจึงอยากจะเรียนต่อทางด้านนี้ และบ้านเราในเวลานั้น ยังไม่มีแพทย์ที่จบทางด้านนี้โดยตรง และยังไม่มีที่ไหนให้บริการเรื่องนี้ด้วย และด้วยความโชคดีของผม อาจารย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่แผนกกุมารเวชศาสตร์ นั่นคือ อาจารย์หมอดิเรก พงศ์พิพัฒน์ (ศ.นพ.ดิเรก พงศ์พิพัฒน์) ท่านเรียนจบจากเยอรมัน ท่านเป็นผู้ให้คำแนะนำกับผมว่า ควรจะไปเรียนอะไรที่ไหน และเผอิญท่านบอกให้ผมไปเรียนทางไวรัส และที่ไหนเปิดสอน และที่เชี่ยวชาญเรื่องโรคไข้หวัดใหญ่อยู่ที่ฮัมบวร์ก (Hamburg) และบอกชื่อ Professor กับผมด้วย และเผอิญอีกว่า Professor คนนี้เป็นหัวหน้า และเป็นเพื่อนกับหัวหน้าภาควิชากุมารเวชศาสตร์พอดี ท่านอาจารย์หมอดิเรกจึงพาผมไปพบกับท่านอาจารย์หมออรุณ หัวหน้าภาควิชากุมารเวชศาสตร์ (ศาสตราจารย์ นายแพทย์อรุณ เนตรศิริ) เมื่อท่านอาจารย์หมออรุณทราบถึงวัตถุประสงค์ ท่านจึงเขียน Recommendation ให้ผม เพื่อให้ผมติดต่อกับอาจารย์ที่เมืองนอก ซึ่งเป็นเพื่อนอาจารย์เหมือนกัน เมื่อส่งไปเขาก็รับว่า ถ้าเราไปเรียนเราก็อยู่กับเขาได้ ดังนั้นผมจึงได้ระบุลงไปในใบสมัครว่า เราจะไปเรียนตรงนี้และผมจึงได้ทุนไปศึกษาต่อ ณ ประเทศเยอรมัน ผมไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยฮัมบวร์ก ระหว่าง พ.ศ. 2503 – 2505 และยังศึกษาต่อทางด้านเวชศาสตร์เขตร้อน ได้รับประกาศนียบัตรเวชศาสตร์เขตร้อน Bernhard – Nocht Institut ฮัมบวร์ก และปรสิตวิทยาทางการแพทย์ จากสถาบันเวชศาสตร์เขตร้อน เมื่อ พ.ศ. 2504 ผมไปอยู่ที่นั่นมาเกือบ 3 ปี พอเรียนจบ สอบเสร็จผมก็กลับเมืองไทย
ก่อนที่จะเดินทางไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ ผมแต่งงานกับนางสาวสุจารี วาศวิท เมื่อแต่งงานได้ 15 วัน ผมจึงเดินทางไปเยอรมัน เมื่อจบจากโรงเรียนภาษา จึงย้ายไปเมืองที่จะเรียนจริง ๆ เมื่อผมหาบ้านได้แล้ว ผมจึงให้ภรรยาผมตามไปเยอรมัน เผื่อเขาจะได้เรียนอะไรบ้าง และจะได้ความรู้เพิ่มเติมอะไรไปบ้างก็จะดี และผมจะได้มีคนช่วยทำกับข้าวให้ผมทาน (หัวเราะ) เพราะผมไม่ชอบทานอาหารฝรั่ง ส่วนบ้านพักที่ได้ก็ไม่ไกลจากที่เรียนเท่าไร การไปอยู่ที่นั่น สิ่งที่ตื่นเต้นที่สุด คือ ผมไปอยู่เยอรมัน เมื่อ พ.ศ. 2503 ตื่นเต้นที่สุด คือ วันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2503 หิมะตก สวยมาก นอนหลับกลางคืน พอตื่นขึ้นมา ขาวไปหมดเลย แล้วก็ร่วงลงมาตลอด ลงไปเล่นหิมะกันสนุก แต่พอเห็นสุนัขมันถ่ายเบาไว้ เสร็จแล้วมันแข็ง ก็เลิกเล่นเลย (หัวเราะ) ตลอดเวลาที่อยู่บ้านหลังนี้ 3 ปี ข้อดีของบ้านหลังนี้ คือ แม่บ้านเขาหูตึง เวลาเราเอะอะกัน ก็จะไม่ได้ยิน เพราะที่นั่นเวลาเอะอะเสียงดัง คนข้างบ้านจะโทรศัพท์ไปแจ้งตำรวจ และตำรวจจะมา ถ้าวันไหนมีแขกเยอะ ๆ มาที่บ้านสังสรรค์กัน พอเสียงดังข้างบ้านแจ้งตำรวจ ตำรวจมาเคาะ แม่บ้านก็บอก “...ไม่เห็นมีอะไร ไม่ได้ยิน...” เพราะแกหูตึง แกบอก “...ไม่เห็นมีใครทำอะไร...” และด้วยความที่แกเป็นด๊อกเตอร์ เป็นครูเก่า ผู้คนแถวนั้นจึงเกรงใจ ตำรวจรู้จักและเกรงใจ ตำรวจเขาก็กลับ เวลาผมไปอยู่ที่นั่น ผมทำกับข้าวทานเอง และคนไทยที่มีอยู่ไม่กี่คน แล้วทุกคนก็ไม่มีเงินเท่าไร ไปทานอาหารจีน อาหารอะไรก็ไม่มีเงินจะไปทาน สุดท้ายก็มาทานกับผม ตกเย็นก็มาบ้านผม ซื้อของสดมา แล้วผมก็ทำให้ทาน ชีวิตตอนนั้นก็เป็นแบบนี้ครับ
สถานที่ที่ผมไปเรียนหนังสือ หัวหน้าเป็นศาสตราจารย์มีหน้าที่อยู่ในโรงพยาบาลโรคเขตร้อน ซึ่งเป็นศูนย์ไข้หวัดใหญ่แห่งชาติของเยอรมัน เขาจะทำวิจัยโรคติดเชื้อทางระบบหายใจ ผมก็ได้ไปเรียนวิธีจากท่าน ผมได้ความรู้จากท่านมาจนหมด แล้วท่านก็มีงานวิจัยให้ผมทำด้วย เป็นโรคติดเชื้อทางระบบหายใจอย่างหนึ่ง ที่เกิดจากไวรัสชนิดหนึ่ง ท่านทำวิจัยเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน ท่านจึงให้ผมช่วยทำงานวิจัยนี้ เมื่อทำเสร็จแล้ว ท่านให้ผมเขียนเป็นวิทยานิพนธ์ เพื่อที่จะรับปริญญาจากมหาวิทยาลัย และระหว่างที่ทำวิจัยอยู่ ท่านให้ผมไปสมัครเรียนที่มหาวิทยาลัยด้วย พอเรียนที่มหาวิทยาลัยเนี่ยแล้ว ผมต้องไปเรียนในตอนเย็น ที่นั่นเขาเรียนกันตอนเย็น เพราะคนที่ไปเรียนส่วนใหญ่เป็นนักเรียนแพทย์ ต้องทำงานในตอนกลางวัน ดังนี้จึงต้องมาเรียนหนังสือกันในตอนเย็น 3 ทุ่ม 4 ทุ่มยังเรียนหนังสือกันอยู่เลยนะครับ เมื่อผมเรียนจบ ตามสิ่งที่เขาต้องการให้เราเรียนอะไรบ้าง และต้องมีวิทยานิพนธ์เสนอ ผมจึงได้นำวิทยานิพนธ์จากตรงนี้ไปเสนอ และเรียนจบ สอบผ่านได้รับปริญญากลับเมืองไทย ผมเดินทางไปเยอรมัน เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2503 เดินทางกลับมาประเทศไทยในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2506 ระหว่างที่อยู่ที่นั่น มีการเปิดสอนหลักสูตรโรคเขตร้อนและปรสิตวิทยาที่สถาบันด้วย ด้วยความที่โรงพยาบาลที่ผมอยู่ ตั้งอยู่บริเวณที่เป็นท่าเรือ เรือใหญ่ ๆ ที่มาจากเมืองเขตร้อน เรือสินค้าต่าง ๆ จะมาจอดที่แม่น้ำแห่งน้ำ และโรงพยาบาลตั้งอยู่ริมแม่น้ำพอดี เมื่อพบผู้ป่วยจึงส่งเข้าโรงพยาบาลได้ทันที เพราะฉะนั้นโรงพยาบาลแห่งนี้ จึงมีผู้ป่วยจากโรคมาลาเรีย และอื่น ๆ จากโรคเขตร้อนตลอดเวลา และโรงพยาบาลแห่งนี้ จึงเป็นสถานที่ที่สอนเรื่องโรคเขตร้อนที่มีชื่อเสียงอีกแห่งหนึ่งในยุโรป และผมก็ได้เรียนทางด้านโรคเขตร้อนจากที่แห่งนี้ด้วย ผมเรียนหลักสูตรโรคเขตร้อนเป็นเวลา 3 เดือน และได้รับประกาศนียบัตรเวชศาสตร์เขตร้อนมาด้วย
ตอนที่ผมมาทำงานโรงพยาบาลศิริราช ได้เงินเดือน เดือนละพันกว่าบาท เมื่อผมเรียนจบกลับมาทำงาน ทางโรงพยาบาลศิริราชขึ้นเงินเดือนให้เป็น 1,900 บาท ตอนนั้นก็เงินเดือนไม่พอใช้ ผมจึงมองและคิดว่า คงต้องทำคลินิกส่วนตัวบ้าง เพื่อหารายได้ดูแลครอบครัว ผมจึงเริ่มทำคลินิก เพื่อหารายได้เพิ่มเติม