ศาสตราจารย์ นายแพทย์พิภพ จิรภิญโญ
สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2562 ณ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย (ซอยศูนย์วิจัย)
ครอบครัว “จิรภิญโญ”
หากกล่าวถึงครอบครัว ผมมองการใช้ชีวิตในแบบตอนที่ผมเป็นเด็ก มองตัวอย่างจากคุณพ่อ คุณแม่ของผม การประกอบอาชีพค้าขาย ขายของปลีกเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้กำไรนิด ๆ หน่อย ๆ ผมนั่งมองชีวิตวัยเด็ก ผมก็มีความสุขนะครับ แต่การที่คุณพ่อเลี้ยงลูก 8 คน ด้วยอาชีพค้าขายที่ไม่ได้มีจุดเด่นกว่าคนอื่นก็ลำบากพอสมควรในสมัยนั้น ผมจึงคิดว่า ถ้าหากวันหนึ่งผมต้องมีครอบครัว ผมจะไม่ทำให้ครอบครัวต้องลำบาก
เมื่อผมเริ่มสร้างครอบครัวของผม ผมมีภรรยาที่ดีมาก ภรรยาผม คือ ศาสตราจารย์คลินิก แพทย์หญิงมยุรี จิรภิญโญ เป็นอาจารย์แพทย์อยู่ที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เพราะฉะนั้น มหาวิทยาลัยมหิดลถือเป็นแหล่งกำเนิดของครอบครัวผมก็ว่าได้นะครับ ซึ่งต่อมาลูกผมทั้ง 2 คน ก็เกิดที่โรงพยาบาลรามาธิบดี
การมีภรรยาที่ดี นับว่าเป็นการเริ่มต้นครอบครัวที่ดี แต่เราต้องยอมรับอย่างหนึ่ง คือ ยีนส์ของสมองเป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน มนุษย์ทุกคนมีความฉลาด แต่ฉลาดกันคนละด้าน เช่น ภรรยาผมก็มีความเก่งและฉลาดทางสายการศึกษาอย่างชัดเจน แต่บางคนก็เก่งและฉลาดด้านทางดนตรี ผมยอมรับ เพราะผมไม่เก่งทางด้านนี้ แต่ผมสายวิชาการ ถนัดเรื่องคณิตศาสตร์ สมัยเรียนผมสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (พญาไท) ผมได้คะแนนคณิตศาสตร์เป็นอันดับที่ 1 ส่วนภรรยาผมจะเป็นสายความจำ มีความจำที่แม่นยำ ผมเคยพูดกับภรรยาว่า “...ถ้าเรามีลูก ลูกเราคงไม่มีจุดด้อยแล้วมั้ง...” เพราะฉะนั้นเรื่องการถ่ายทอดยีนส์ก็นับว่าสำคัญ
ลูกคนแรกของครอบครัวเรา คือ น.ส.พิชามญช์ จิรภิญโญ ลูกสาวคนแรก ผมกับภรรยาช่วยกันเลี้ยงดู ด้วยการที่เราเป็นอาจารย์แพทย์ทั้งคู่ เราก็ผลัดกันดูแลลูก แม้อาจารย์แพทย์จะมีค่าตอบแทนไม่มาก แต่ก็มีข้อดี คือ เราสามารถปลีกตัวมาดูแลลูกได้ หากเราทำงานทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว และการที่เราทำงานอยู่ที่โรงเรียนแพทย์ ก็จะมีเวลาในส่วนของการทำวิจัย หากเราจัดสรรเวลาให้ดีเราก็จะมีเวลาดูแลลูกเพิ่มขึ้น ตอนนั้นผมทำอยู่ 3 อย่าง คือ บริการ วิจัย ดูแลครอบครัว ผมเลี้ยงลูกแบบครอบครัวปกติในสังคม ช่วงวัยเรียนไปรับไปส่งที่โรงเรียน การอ่านหนังสือ การสอบต่าง ๆ ของลูก ภรรยาผมจะใส่ใจเป็นพิเศษ สำหรับลูกสาวเป็นคนที่รักการเรียน ตั้งใจเรียน ชอบอ่านหนังสือ นิสัยแบบนี้คงได้รับมาจากผมและภรรยา สมัยเรียนลูกสาวสอบเข้าโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวันได้เป็นอันดับที่ 2 ต่อมาเมื่อย้ายไปสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (พญาไท) สอบเข้าได้เป็นอันดับที่ 1 จากความตั้งใจของลูก และการดูแลเอาใจใส่ของภรรยา ต้องยอมรับว่าภรรยาดูแลเอาใจใส่ลูกมาก รู้ถึงปัญหาเรื่องการเรียนของลูก ลูกควรเพิ่มตรงไหนหรือติดปัญหาการเรียนตรงไหนก็จะมีการปรึกษาคุณครูประจำชั้นอยู่ตลอด แต่ลูกผมไม่ได้เรียนพิเศษแบบเพื่อน ๆ แต่จะให้คุณครูติวเสริมในส่วนที่เป็นปัญหาให้ ลูกสาวได้เป็นตัวแทนไปแข่งเคมีโอลิมปิก ณ ประเทศเนเธอร์แลนด์ และได้รับรางวัลเหรียญทองกลับมา เมื่อจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย สามารถสอบเข้าคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลด้วยคะแนนอันดับที่ 1 และสอบทุนเล่าเรียนหลวงได้เป็นอันดับที่ 1 ตอนนั้นผมให้ลูกเป็นคนเลือกเส้นทางชีวิตของตัวเอง สุดท้ายเลือกที่จะไปต่างประเทศด้วยทุนเล่าเรียนหลวง ณ Harvard University ซึ่งผมและภรรยาภูมิใจมาก
ขณะเดียวกันภายหลังจากที่ครอบครัวให้กำเนิดลูกสาว อีก 4 ปีต่อมา ก็ได้ให้กำเนิดลูกชาย 1 คน ชื่อ นายพิชญุตม์ จิรภิญโญ ตอนนั้นพอมีลูกชาย ผมกับภรรยาเราก็แบ่งหน้าที่กันชัดเจนมากขึ้น โดยที่ภรรยาจะดูแลลูกสาว และผมจะดูแลลูกชาย ตอนวัยเด็กของลูกชาย ผมรู้สึกว่า ลูกชายไม่ค่อยตั้งใจเรียน ไม่อดทนกับการเรียน ตอนนั้นผมก็ยังไม่ค่อยเข้าใจ แต่ก็บอกกับตัวเองว่า ไม่เป็นไร สังเกตว่าเขาชอบวาดลายเส้น ลายแทงสมบัติ เวลาว่างชอบเดินชมสวน มองท้องฟ้าอากาศ แบบคนโรแมนติก แต่ไม่ค่อยชอบอ่านหนังสือ ผมก็เลยคิดวิธี เพื่อให้เข้ากับนิสัยเขา สมัยชั้นประถมศึกษา ผมให้ลูกชายทำโจทย์คณิตศาสตร์ 10 ข้อ แล้วบอกว่าทำเสร็จพ่อจะให้ไปเล่น ต่อมาผมเพิ่มเป็น 20 ข้อ 30 ข้อ ลูกผมทำแค่ชั่วโมงเดียวครับ แล้วก็ไปวิ่งเล่น ตอนนั้นอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ผมก็เลยไปบอกภรรยาว่า “...เจ้าลูกชายเก่งคณิตศาสตร์มากเลย...เก่งกว่าผมอีกนะ...” ภรรยาผมก็บอกว่า “...bias รึเปล่า...” เหมือนกับว่า ผมชอบลูกชายมากกว่า ตอนนั้นลูกชายก็ยังไม่ได้แสดงออกในเรื่องการเรียนมากนัก จนกระทั่งตอนสอบเข้าโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน เริ่มตั้งใจอ่านหนังสือ และก็สามารถสอบเข้าได้เป็นอันดับที่ 1 จากคนสอบแข่งขัน 4,000 คน และสอบคณิตศาสตร์ได้คะแนนเต็ม
เมื่อเข้าชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ตอนนั้นลูกชายได้เข้าร่วมการแข่งคณิตศาสตร์ของ สอวน.1 โดยจะนำเด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 6 มาแข่งขันคณิตศาสตร์ ลูกชายเข้ารอบจนถึงทีม 15 คน และเป็นเด็กชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 คนเดียวที่ไปติดของเด็กชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เขาสามารถเรียนวิชาคณิตศาสตร์ของชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เข้าใจทุกเรื่อง เมื่อเวลาผ่านไปความสนใจของลูกชายก็เปลี่ยนไป เริ่มหันมาสนใจคอมพิวเตอร์ และได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกและได้รางวัลเหรียญทองแดงกลับมา เมื่อเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (พญาไท) เริ่มให้ความสนใจกับกิจกรรมภายในโรงเรียนเพิ่มขึ้น ตอนนั้นผมก็คิดว่าถ้าลูกชายทำกิจกรรมมากมายขนาดนี้จะสอบแข่งขัน เพื่อศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยได้อย่างไร ซึ่งตอนนั้นเขามีความสุขกับการทำกิจกรรมมากจริง ๆ แต่จุดเปลี่ยนอยู่ตรงนี้ครับ ตอนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เริ่มเห็นพี่สาวได้ทุนเล่าเรียนหลวงไปศึกษาต่อ ณ Harvard University ลูกชายเริ่มใฝ่ฝันอยากจะไปเรียนที่ Harvard University แบบพี่สาว จุดนี้เลยเป็นแรงกดดัน และผลักดันให้ตัวเขาเปลี่ยนแปลงตนเอง เริ่มอ่านหนังสือทุกคืน และมีผมนั่งประกบทุกคืนครับ เพราะกลัวว่าเขาจะเหงา ขณะเดียวกันตอนนั้นลูกชายก็ผ่านเข้าการแข่งโอลิมปิกเพื่อคัดเลือกเป็นตัวแทนในระดับประเทศ ทั้ง ฟิสิกส์ เคมี เพราะฉะนั้นลูกชายจึงเก่งทั้งเคมี และฟิสิกส์ แต่ส่วนชีววิทยาผมจะดูแลตรงนี้ให้เขา เมื่อถึงเวลาของการสอบทุนเล่าเรียนหลวง ปีที่ลูกชายผมเข้าชอบเพื่อชิงทุนเล่าเรียนหลวง นับว่าเป็นปีที่วิชาคณิตศาสตร์มีข้อสอบยากมาก มีคนสอบคะแนนเกิน 60% เพียงแค่ 6 คน โดยปกติต้องประกาศรายชื่อ 10 คน และ 10 คนนั้นต้องคะแนนเกิน 60% แต่ปีนั้นผ่านเพียง 6 คน (10 คน แบ่งออกเป็นตัวจริง 5 คน สำรอง 5 คน) ลูกชายผมสอบวิชาคณิตศาสตร์ทำคะแนนได้ 94 คะแนน วิชาภาษาอังกฤษก็คะแนนดี เลยทำให้เป็นที่ 1 ของทุนเล่าเรียนหลวงในปีนั้น ลูกชายได้เข้าศึกษาต่อ ณ Harvard University ตามที่ตั้งใจ และเรียนจบทางด้าน Computer Science สำหรับคนเป็นพ่อแม่ ความสำเร็จของลูก คือ ความสุขที่สุดในชีวิต และความภูมิใจที่สุดในชีวิต