ศาสตราจารย์ นายแพทย์พิภพ จิรภิญโญ (เมื่อก้าวสู่รั้วมหาวิทยาลัยมหิดล)

ศาสตราจารย์ นายแพทย์พิภพ จิรภิญโญ

สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2562 ณ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย (ซอยศูนย์วิจัย)

เมื่อก้าวสู่รั้วมหาวิทยาลัยมหิดล

        เมื่อผมเข้ามหาวิทยาลัยมหิดล พอดีเป็นช่วงของการเรียกร้องประชาธิปไตย และเริ่มมีกระแสว่า นักศึกษาไม่ใช่เข้ามาเรียนเพื่อกระดาษเพียงแผ่นเดียว เริ่มมีการทำกิจกรรมมากมาย ผมก็เป็นคนที่ถูกกระแสพาไปด้วยในเวลานั้น เข้าสู่กิจกรรมของค่ายต่าง ๆ โดยเฉพาะค่ายอาสา ชมรมพุทธ แล้วก็เข้าร่วมกิจกรรมนักศึกษา ช่วยชาวบ้าน แม้กระทั่ง 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ผมก็อยู่ในกลุ่มของเดินขบวนด้วย ตอนนั้นก็ทำทางนั้นส่วนหนึ่ง ขณะเดียวกัน การศึกษาผมก็เรียน และด้วยวิชาที่เรียนมีความลึกมาก เวลาเรียนจึงดึงไปทั้งหมด ทำให้เราไม่สามารถเข้าร่วมเหตุการณ์  “การเรียกร้องประชาธิปไตย”  ได้อย่างเต็มตัว

        ตอนนั้นผมไม่ได้ศึกษาวิชาการ เราเรียก Basic Science ผมเข้าไปได้ไม่ลึกในส่วนนี้ แต่ผมกลับเอาเวลาไปเล่นกีฬา เพราะว่า ช่วงนั้นผมใฝ่ฝันและตั้งใจว่า ที่ผมเลือกเรียนแพทย์ ผมอยากช่วยสังคม และมีความตั้งใจจะไปช่วยสังคมในต่างจังหวัด ระหว่างนี้ผมก็เรียนไปด้วย เล่นกีฬาไปด้วย ผมเล่นกีฬาทุกชนิด เล่นฟุตบอล จนเป็นประธานฟุตบอลมหาวิทยาลัยมหิดล เล่นบริดจ์ (Bridge) จนเป็นตัวของมหาวิทยาลัยมหิดล เล่นวอลเล่ย์บอลจนเป็นตัวคณะ แล้วก็เล่นตระกร้อก็เป็นตัวคณะ ผมเล่นกีฬาเอาเวลาไปมีความสุขกับตรงนั้น เพราะผมมีจุดมุ่งหมาย เป้าหมาย หรือ ความใฝ่ฝันว่า เมื่อผมเรียนจบแพทย์แล้ว ผมจะไปช่วยชาวบ้านในต่างจังหวัด แต่พอจะจบแล้วก็เกิดความพลิกผันขึ้นมาในชีวิตครับ ผมเริ่มมีความรัก มีแฟน อันนี้มันเป็นจุดพลิกผันอย่างหนึ่ง ผมเริ่มมาคิดว่าครอบครัวก็ไม่มีเงิน ถ้าเรามัวแต่ทำอย่างนั้นไป แล้วเราจะดูแลครอบครัวอย่างไร ผมเลยคิดว่าเราต้องมีจุดเด่น เพื่อใช้ในการหารายได้ เพราะฉะนั้นการเป็นแพทย์ ปีหนึ่งเรียนจบแพทย์เป็น 1,000 คน ถ้าเราไม่มีจุดเด่นก็เหมือนค้าขาย ก็เหมือนร้านขายปลีกที่มีอยู่จำนวนมาก ถ้าคุณไม่มีจุดเด่นคุณก็จะแพ้ 7-Eleven ผมก็เลยคิดว่า เอ๊ะ!!! งั้นเรามาเรียนต่อยอดดีกว่า ในช่วงปลายปีของปีสุดท้าย เราเรียกว่า อินเทิร์น (Intern) ผมเห็นว่า คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มีตำแหน่งว่างของการเทรนด์ (Trend) กุมารแพทย์ครับ ผมตอนนั้นบอกไม่เคยคิดว่าอยากเป็นแพทย์ชนิดใดมาก่อน แต่ผมมีความมั่นใจว่าถ้าจะอยู่สายไหนแล้ว ผมสามารถปรับตัวเข้าสายนั้นได้ โดยยึดหลักว่าเราต้องถึงแก่นของสายนั้นให้ได้ นี่คือความไม่กลัวที่จะเรียนอะไร หรือมีความชอบอะไรเป็นส่วนตัว ผมคิดว่าผมต่อยอดอะไรก็ได้ พอดีก็มีการอบรม เรียกว่า เปิดรับโดยไม่ต้องไปต่างจังหวัด ผมจึงสมัครเป็นแพทย์ประจำบ้าน กุมารเวชศาสตร์ที่โรงพยาบาลศิริราช และช่วงนั้นพี่ ๆ น้อง ๆ ของผมตอนนั้นบางคนเริ่มทำงานหาเงินได้ ก็เลยมาจัดทุนร่วมกัน เพื่อให้ผมไม่ต้องออกต่างจังหวัด ซึ่งจะได้ดูแลพ่อแม่ได้เวลาท่านเจ็บป่วย ชีวิตผมจึงพลิกอีกครั้งหนึ่ง จากคนที่เคยทำกิจกรรมมากมาย เล่นกีฬา เล่นทุกชนิดเลย กลับกลายมาเป็น academic (วิชาการ) อีกครั้งหนึ่ง

        ช่วงที่เรียนหรือการอบรมกุมารเวชศาสตร์ 3 ปี ผมคิดว่าเป็นระยะเวลาที่สั้นมากครับ ชีวิตการเรียนของผมช่วงนั้น ผมอ่านหนังสือทุกวัน เดือนหนึ่งอาจจะกลับไปหาแฟนเพียงครั้ง สองครั้งเท่านั้น แฟนผมเป็นนักศึกษาแพทย์อยู่ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ส่วนผมเองทุกวันจะขึ้นดูแลผู้ป่วย และมีความคิดว่า 3 ปีที่อบรมเป็นระยะเวลาที่สั้นมาก เมื่อเราดูแลผู้ป่วยเสร็จ เราต้องกลับมาอ่าน เพื่อเราจะต้องมีความเข้าใจวิชาการ และความที่ผมเป็นคนแบบ Self Learning คือผมชอบอ่านหนังสือเอง ทำให้ผมเป็นคนที่อ่านหนังสือเยอะนะครับ การเรียนในเวลานั้น นอกจากที่เราจะเรียนจากการสอนของอาจารย์ ผ่านการถ่ายทอดทั้งทฤษฎีและประสบการณ์ของอาจารย์ เราเองก็ต้องอ่านหนังสือ และดูผู้ป่วยไปพร้อมกันด้วย เพราะบางทีอาจารย์อาจจะไม่ได้เจอผู้ป่วยบางจุด หรือบางอาการ ผมมองว่าการได้ดูแลผู้ป่วยตลอดจึงเป็นการเรียนรู้ และเป็นประสบการณ์ในอาชีพ ยิ่งเจอผู้ป่วยมากเรายิ่งได้เรียนรู้ และพบอาการและปัญหาของผู้ป่วยที่หลากหลาย ดังนั้น ทฤษฎีและปฏิบัติจึงจำเป็นต้องไปควบคู่กัน เพราะผมต้องการให้เป็นกุมารแพทย์ที่เพรียบพร้อมด้วยพื้นฐานนะครับ ตอนหลังผมกลับมาเริ่มอ่าน Basic Science ใหม่ ซึ่งสมัยที่ผมเป็นนักศึกษาแพทย์ผมอ่านน้อยไป พอได้กลับมาอ่านตอนนี้ โอ้โห!!! มีประโยชน์มากครับ ไม่ว่าจะเป็นชีววิทยา สรีรวิทยา เภสัชวิทยา อนาโตมี (Anatomy กายวิภาคศาสตร์) ทั้งหลายเป็นประโยชน์มากจริง ๆ ยิ่งพอตอนเรามาเรียนได้เห็นผู้ป่วย แล้วเรามา Integrate กันเองด้วยการศึกษาจากการอ่านเอง ผมเริ่มเข้าใจสามารถอธิบายโรคต่าง ๆ ว่า ทุกอย่างมันมีจุดต้นเหตุ การแก้ไขของโรคต้องแก้ที่ต้นเหตุ เพราะฉะนั้นแล้ว ถึงแม้จบ 3 ปีแล้ว ผมมาเป็นอาจารย์แพทย์ ผมก็มั่นใจว่า ผมสามารถเป็นอาจารย์แต่ละด้านเหมือนเดิม มีความมั่นใจในตัวเองว่า ผมสามารถต่อยอดเป็นอาจารย์แพทย์ทุกด้านได้หมด ถ้าผมสนใจทางด้านไหนผมก็เจาะเข้าไปถึงแต่ละด้าน


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ชั้น 3 หอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170
โทร 0-2800-2680-9 ต่อ 4346