ศาสตราจารย์ นายแพทย์พิภพ จิรภิญโญ (การทำงานด้านโภชนาการในเด็ก ณ มหาวิทยาลัยมหิดล)

ศาสตราจารย์ นายแพทย์พิภพ จิรภิญโญ

สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2562 ณ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย (ซอยศูนย์วิจัย)

การทำงานด้านโภชนาการในเด็ก ณ มหาวิทยาลัยมหิดล

        ผมเริ่มเรียนแพทย์ประจำบ้าน พ.ศ 2521 เรียนจบแพทย์ประจำบ้าน พ.ศ. 2524 ก็ได้เป็นอาจารย์ที่โรงพยาบาลศิริราช ผมทำงานกับศิริราชจนกระทั่งเกษียณอายุราชการจากที่ศิริราช และผมได้ต่ออายุราชการอีก 5 ปี จนอายุ 65 ปี (พ.ศ. 2560) ผมทำงานให้กับศิริราชและมหาวิทยาลัยมหิดลมาโดยตลอด

        ย้อนมาเล่าว่า เมื่อผมเรียนจบการอบรมกุมารเวชศาสตร์ 3 ปี ตอนนั้นมีอาจารย์หลายหน่วยเชื้อเชิญให้เป็นอาจารย์ เช่น หน่วยโรคหัวใจ หน่วยทารกแรกเกิด จนมีอาจารย์ท่านหนึ่งก็คือหน่วยโภชนาการ ซึ่งฟังชื่อหน่วยอาจจะแปลก ๆ ชวนผมตั้งแต่ผมอยู่ปี 2 ซึ่งในตอนนั้นผมก็ตอบรับไปก่อน และในที่สุดผมก็ต้องเลือกตามที่ผมตอบรับก่อน คือ หน่วยโภชนาการ การเป็นอาจารย์หน่วยโภชนาการ เราเรียกว่า Nutrition หรือเป็น Nutritionist ไม่มีการฝึกอบรมในโลกนี้เลย แพทย์ฝึกอบรมด้านนี้ไม่มี และยิ่งในเด็กไม่มีเลย มีแต่ประเทศไทยเท่านั้นนะครับ แล้วทำไมประเทศไทยถึงมี ก็เพราะว่าประเทศไทยมีปัญหาเรื่องของเด็กขาดอาหารเยอะ สมัยก่อนขาดวิตามิน จึงตั้งหน่วยนี้ขึ้นมาในประเทศไทย แล้วเราก็เลยมีอาจารย์ เริ่มจากที่ศิริราชก่อน แล้วต่อมาเขาก็เห็นอาจารย์ที่ศิริราชไปเป็นอาจารย์ที่รามาหลายคน หน่วยโภชนาการในเด็ก เริ่มต้นจากที่มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นที่แรก หน่วยโภชนาการก็เริ่มกระจาย มีคนเข้ามามาฝึกอบรม และเมื่อเห็นความสำคัญของหน่วยโภชนาการ ก็กระจายไปจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปรากฏว่าตอนนี้ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่โรงเรียนแพทย์มีหน่วยโภชนาการ โรงเรียนแพทย์ใหญ่ ๆ มีหน่วยโภชนาการในเด็ก ต่อมาเริ่มขยายไปเป็นหน่วยโภชนาการในผู้ใหญ่ด้วย เพราะว่ามันเป็นการฝึกอบรมด้านนี้ คือใช้โภชนาการในการรักษาโรคทุกโรคที่ไม่ว่าจะโรคหัวใจ โรคตับ โรคอะไร หรือ โรคทางโภชนาการล้วนอย่างเดียวก็มี หรือ โรคทาง Metabolic คือ ขาดวิตามิน การขาด และการไม่สามารถจัดการกรดอะมิโนบางตัวได้ เพราะฉะนั้น จนกระทั่งมาถึงระยะหลัง มีการผลิตนมพิเศษสำหรับรักษาโรคต่าง ๆ โรคภูมิแพ้ โรคอ้วน และโรคเด็กแพ้นมวัว เพราะฉะนั้น หน่วยโภชนาการก็เลยเป็นอันเดียวที่ประเทศไทยเรามีและก็เริ่มจากมหาวิทยาลัยมหิดล แล้วก็ขยายไปทุกแห่งและเราก็สามารถทำวิจัยไปต่อเนื่องกัน นี่คือจุดเดินของเรา

        หลังจากทำไปแล้ว เราก็เจอปัญหา ผมบอกว่า ผมดู และคิดว่าชีวิตนี้มันเหมือนกับเราทำสงคราม ถ้าเราไม่ออกรบ เราก็ไม่เจอข้าศึก เพราะฉะนั้นเป็นแพทย์ เราต้องดูผู้ป่วยให้เยอะ ๆ เรายิ่งรบ เราก็เจอข้าศึกที่เก่ง ๆ หรือว่าชนะยาก เพราะฉะนั้นสำหรับผมแล้ว “ความสุข” ก็คือการดูผู้ป่วยเยอะ ๆ พอเยอะ ความรู้ที่เรามีมันติดครับ เรารักษาโรคไม่ได้ เยอะเหมือนกัน แต่ผมก็ไม่ยอม ผู้ป่วยแต่ละโรค บางที่ตำราบอกรักษาได้เท่านี้ โรคนั้นรักษาได้เท่านี้ ผมก็มานั่งคิด ผมต้องเอาชนะให้ได้ อยากให้นึกว่าเราคือด่านสุดท้ายของผู้ป่วย หากเรารักษาไม่ได้ผู้ป่วยคือจบ ดังนั้นผมพยายามคิดหาวิธีการรักษาผู้ป่วยตลอดเวลา โดยอาศัยความรู้พื้นฐาน Basic Science ไม่ว่า ชีวะ เคมี สารอาหาร กรดอะมิโน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามิน เกลือแร่ทุกอย่าง Physiology ต่าง ๆ อาการของผู้ป่วยสามารถอธิบายได้ พยายามอธิบายหาจุด Defect หรือ ข้อบกพร่อง ถ้าเราแก้ตรงจุดนั้นได้มันจะเซิร์ฟตรงนี้ได้หมดไหม เพราะฉะนั้นพอเราได้ดูผู้ป่วยเยอะ ๆ เราจะรู้ทีละจุด และทำให้เรารู้ว่าจุดมันอยู่ตรงนี้ ในเมื่ออาหารที่มีอยู่ใน Commercial / Commercial Formula (สูตรการค้า) / Commercial diet (อาหารเชิงพาณิชย์) นำมารักษาไม่ได้ ผมก็ต้องทำขึ้นมาให้เข้ากับจุดนั้น แล้วรางวัลที่ได้คือ ผู้ป่วยดีขึ้น ผมมีความสุขมากจากสิ่งที่เราคิดสามารถช่วยผู้ป่วยได้

        ผมมีเรื่องหนึ่งที่อยากเล่าให้ฟัง มีครอบครัวหนึ่งมีพี่กับน้อง เริ่มที่คนพี่ก่อน แพ้นมทุกชนิด ตอนอายุ 3 ขวบ ผมก็มานั่งคิดว่า ถ้างั้นโปรตีนไก่แพ้ยาก ผมจึงนำโปรตีนไก่มาทำนม คนพี่ก็หายดี แล้วอีก 4 ปี ครอบครัวนี้มีลูกคนที่ 2 เด็กคนนี้แพ้นมทุกชนิดในโลกนี้เลย อยู่ ICU ในโรงพยาบาลเอกชนชั้น 1 เลย โทรมาบอกว่า 7 วันปวดท้องร้องไห้ ผมได้ทำนมอีกชนิดหนึ่งขึ้นมาใหม่ ผมคิดว่าเด็กคนนี้น่าจะแพ้ส่วนผสมหนึ่งในนมจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นนมที่ดีที่สุดในตอนนั้น เขาก็ออกจาก ICU ได้ ด้วยนมข้าวอะมิโน ที่เราคิดขึ้น เพราะฉะนั้น นม 2 ชนิดนี้ เป็นนมแรกของโลกครับ สิ่งนั้นไม่สำคัญเท่ากับเรารักษาผู้ป่วยได้ ยังมีนมตัวอื่นอีกครับ ยกตัวอย่าง

        โรคซิสติกไฟโบรซิส (Cystic Fibrosis) CF ทั่วโลกบอกว่า พวกนี้มีปัญหาการอุดตันของตับอ่อน เพราะ เอนไซม์ (Enzyme) ออกมาไม่ได้ ซึ่งโรคนี้ไม่เจอในเมืองไทย แต่เผอิญเราพบคนหนึ่งเป็น ทีนี่เขาก็เลยแนะนำให้กินนมพิเศษ แล้วบวกกับน้ำย่อยเข้าไป แพทย์ลำไส้ท่านอื่น ๆ เขาก็รักษาตามตำราฝรั่ง รักษาอยู่ 3 เดือน จาก อายุ 3 เดือน จนถึง 6 เดือน น้ำหนัก 3 เดือน 3 กิโล / 6 เดือนก็ยัง 3 กิโลอยู่ น้ำหนักไม่เพิ่มขึ้น ผมจึงพิสูจน์ว่า กินอาหารสูตรนี้ดูดซึมแค่ 30% โดยเราใช้เทคนิคที่เรียกว่า Balance study แล้วผมก็เลยปรับสูตรใหม่ขึ้นมาเอง บวกกับน้ำย่อยเข้าไป แล้วนำไปพิสูจน์ใหม่อีกครั้ง นมสูตรใหม่ที่ผมผลิตขึ้นมาสำหรับ โรคซิสติกไฟโบรซิส ผลการพิสูจน์พบว่า การดูดซึมจาก 30% เพิ่มขึ้นเป็น 80% เด็กเติบโตขึ้น ด้วยนมสูตรใหม่ที่ผมผลิตขึ้นมา คือถ้าเราไปพึ่งแต่ตำราฝรั่ง เราไปพึ่งแต่ความรู้ต่างประเทศที่มันตันอยู่แล้ว เราก็จะแก้ไขผู้ป่วยไม่ได้ แต่ถ้าเราต้องลงไปหาจุดของแต่ละปัญหาแล้วเราก็สามารถที่จะแก้ทีละจุดได้ และนี่เป็นที่มาของนมสูตรต่าง ๆ จนถึงทุกวันนี้

        นอกจากนี้ผมยังคิดค้นนมสูตรต่าง ๆ เพื่อรักษาโรคแต่ละโรคด้วย ยกตัวอย่างเช่น นมโรคลมชัก หรือที่เรียกว่า “คีโตเจนิคไดเอท” (Ketogenic Diet) ผมผลิตนมสำหรับโรคนี้ขึ้นมา 3 สูตรด้วยกัน สำหรับประเทศไทย สูตรแรกสำหรับผู้ป่วยที่ไม่ค่อยมีฐานะ สูตรที่ 2 ผลิตตามต่างประเทศ และสูตรที่ 3 จากเนื้อไก่ เวลานั้นก็มีคำถามว่าทำไมผมถึงไม่รักษาตามวิธีของจอนส์ ฮอปกินส์ (Johns Hopkins) โดยให้งดอาหาร 3-4 วันก่อนรับประทานนมสำหรับโรคลมชัก แต่วิธีการของผมไม่จำเป็นต้องงดอาหาร สามารถเริ่มได้เลยและช่วยการรักษาได้เท่ากับต่างประเทศ นอกจากนี้เรายังผลิตนมเพื่อการรักษาโรคอีกหลายโรค ซึ่งหากเราผลิตนมได้เองจะทำให้นมนั้นมีราคาถูก และนมทุกสูตรบนโลกใบนี้เราสามารถปรับให้เหมาะกับผู้ป่วยได้

        ตอนหลังผมมาศึกษาเรื่อง “เด็กแพ้นมวัว” Cow Milk Protein Allergy (โรคแพ้โปรตีนนมวัว) ตอนนั้นก็มีคนทักผมว่า แพ้นมวัวควรให้หน่วยภูมิแพ้ดูแล แต่ผมก็บอกว่าอะไรที่เกี่ยวกับนม นั่นคือหน้าที่ของหน่วยโภชนาการ ในต่างประเทศกล่าวว่า ถ้าแพ้นมวัวให้ใช้วิธีการรักษาด้วยนมโปรตีนย่อยละเอียด ซึ่งอันดับแรก เมื่อก่อนราคาประมาณ 500 บาทต่อกระป๋อง ถ้านมอันดับแรก นี้รักษาไม่หาย ให้รักษาด้วย นมกรดอะมิโน เมื่อก่อนราคาประมาณ 2,000 บาทต่อกระป๋อง สำหรับเด็กไทยนมกรดอะมิโนมีราคาสูง แม้ตอนหลังจะนำเข้ามามีราคาที่ถูกลงเหลือ 1,500 บาท แต่หากต้องบริโภค 1 กระป๋องรับประทาน 3 วัน นมชนิดนี้ก็ยังคงมีราคาสูงเช่นเดิม เพราะฉะนั้นนี่คือปัญหา ปรากฏว่า พบผู้ป่วยแพ้นมตัวอันดับแรก จำนวนมาก ส่งผลให้คนกลุ่มนี้ต้องบริโภคนมกรดอะมิโนที่มีราคาสูง ตอนนั้นผมคิดว่า ผมจะทำอย่างไรเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีฐานะทางการเงินไม่ดี ผมก็มานั่งทบทวนความรู้พื้นฐานของตนเอง เราทราบว่าเนื้อไก่แพ้ยาก ผมจึงเริ่มศึกษาค้นคว้าในเรื่องนี้ เมื่อก่อนเราทำแค่ซุปไก่ เพื่อป้อนเด็กที่มีอายุ 3-4 เดือน ซึ่งตอนนั้นลำบากมากสำหรับการป้อน ผมก็มานั่งคิดเราต้องทำเป็นนมให้ได้ถึงจะเหมาะกับเด็กวัยนั้น ผมใช้เวลาศึกษา 6-7 ปี เพื่อเปลี่ยนซุปไก่ ให้กลายเป็นนมเนื้อไก่ที่มีสารอาหารวิตามินเกลือแร่ครบถ้วนเหมือนนมแม่ทุกอย่าง จึงทำให้เด็กสามารถดูดนมเนื้อไก่จากจุกนมได้ โดยไม่ต้องใช้ช้อนป้อนเหมือนก่อนหน้า แต่ด้วยความเป็นนักวิทยาศาสตร์ ผมไม่ได้จบเพียงแค่นั้น ผมเริ่มพิสูจน์ ทำวิจัย ตามหลักการและวิธีการของงานวิจัย ที่เรียกว่า Double-blind crossover และเราสามารถพิสูจน์ได้ว่า นมเนื้อไก่ให้ผลการรักษาดีกว่านมตัวแรกที่ราคา 500 บาท ดีกว่า 3 เท่าตัว เมื่อผลการพิสูจน์ออกมาทางโรงพยาบาลศิริราชจึงแถลงข่าวว่าเป็นครั้งแรกของโลกในการผลิตนมเนื้อไก่ เมื่อประมาณ พ.ศ. 2550 หลังจากนั้นมีการตีพิมพ์ 3 เรื่องเกี่ยวกับนมเนื้อไก่ และขณะเดียวกันผู้ป่วยก็หลั่งไหลมาจากทั่วประเทศ

        อย่างไรก็ตามยังพบผู้ป่วยที่แพ้นมเนื้อไก่ และมีผู้ป่วยแพ้นมกรดอะมิโนของต่างประเทศ ซึ่งหมายถึงแพ้นมทุกอย่างบนโลกใบนี้ ผมจึงเริ่มทำการศึกษา ค้นคว้าวิจัยอีกครั้ง เพื่อให้ได้นมที่ดีที่สุด และมีราคาถูก ผมเริ่มศึกษาว่าในนมกรดอะมิโน มีส่วนประกอบอะไรบ้าง แล้วผู้ป่วยที่แพ้นมกรดอะมิโนน่าจะแพ้จากส่วนประกอบใดของนมกรดอะมิโน ผมคิดว่าน่าจะแพ้จากส่วนประกอบหนึ่งในนมกรดอะมิโน ผมจึงเปลี่ยนสูตรนมกรดอะมิโน และเริ่มทดลองในห้องปฏิบัติการที่โรงพยาบาลศิริราช ทำเองทุกขั้น จนกระทั่งผลิต “นมข้าวอะมิโน” ขึ้นมาและได้ดำเนินการพิสูจน์ข้อดีของนมข้าวอะมิโนเช่นเดียวกับนมเนื้อไก่ ทำให้มีผู้ป่วยหลั่งไหลมามากขึ้น และด้วยการเข้ามาของผู้ป่วยจำนวนมาก ผมจึงบอกน้อง ๆ ที่ทำงานด้วยกันว่า นี่ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีในการทำการศึกษา clinical study (การศึกษาทางคลินิก) เพราะ clinical study จำเป็นต้องศึกษาจากผู้ป่วยจำนวนมาก ปรากฏผู้ป่วยที่มีอายุต่ำลงอีก ตั้งแต่ต่ำกว่า 4 เดือน อายุ 1 เดือน หรือ ไม่ถึง 1 เดือน มีเป็นจำนวนมาก ผมเริ่มศึกษาวิจัย พิสูจน์นมชนิดใหม่ของผม กับเด็กที่มีอายุ 4 เดือน โดยใช้วิธี Double-blind crossover คือ เราให้เด็กรับประทานนม แล้วเปลี่ยนเป็นนมอีกชนิดหนึ่งโดยไม่ได้แจ้งให้ทราบ ทั้งนมกรดอะมิโน นมข้าวอะมิโน เปรียบเทียบกับนมต่างประเทศ ศึกษากันอยู่ 2 ปี ผลออกมาว่า นมข้าวอะมิโน ดีกว่านมจากต่างประเทศ 3 เท่าตัว อีกทั้งยังมีราคาถูกกว่า ตอนนั้นผมมีความสุขมากกับการทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย ผมอยากจะเปรียบเปรยว่า...

        “...เรามีดาบวิเศษ คุณบอกว่าหินไหนแข็ง ถ้าคุณใช้ดาบที่ไม่ดี ดาบคุณก็หัก และคุณก็จะบอกว่าสิ่งนั้นแข็ง แต่ถ้าคุณมีดาบวิเศษกว่านั้น ฟันแล้วหินมันแตก เพราะฉะนั้นตอนนี้ผมมีดาบวิเศษฟันโรคต่าง ๆ ที่บอกว่าไม่หาย ก็เริ่มหายจำนวนมากขึ้น บางครั้ง โรคบางโรคหากรักษาด้วยวิธีการเดิมอาจจะไม่ประสบความสำเร็จ คือ ผู้ป่วยไม่หายจากโรคนั้น หลายครั้งที่ผมเปลี่ยนวิธีการรักษาด้วยการใช้นมผู้ป่วยก็หายจากโรคนั้นได้...”

        เพราะฉะนั้นผลิตภัณฑ์ 2 ตัวนี้ คือ นมเนื้อไก่ และ นมข้าวอะมิโน ซึ่งเกิดขึ้นในประเทศไทย เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยมหิดล ผมภาคภูมิใจกับสิ่งที่เป็นแนวทางความคิดมาตั้งแต่เด็กว่า“...เราต้องรู้จริง รู้ลึก แล้วลงมือปฏิบัติแล้วก็พิสูจน์...” เราไม่ใช่แค่ทำออกมาเสร็จแล้วนำไปขายทันที เราทำการพิสูจน์ทุกอัน และทุกอันได้รับการพิสูจน์ว่าดีจริง ผมภูมิใจในงานการศึกษา 2 เรื่องนี้ ก่อนเกษียณอายุมาก

        ผมมักจะสอนนักเรียนแพทย์ แพทย์ประจำบ้านทุกครั้งว่า “...ถ้าคุณเดินไปเรื่อย ๆ ในซอยแคบเดินไปสุดท้าย คุณจะพบกำแพงขวางอยู่ คุณจะมองกำแพงแล้วก็หันหลังกลับ หรือ คุณจะยืนชิดกับกำแพง นั่นคือชีวิตของคนส่วนใหญ่จะอยู่ที่ตรงนั้น ตำราบอกว่าอยู่ตรงนั้นมันเป็นกำแพง แต่ทำไมเราไม่เอาประสบการณ์ของเรา ค่อย ๆ ไต่กำแพงนั้นขึ้นไป กำแพงที่มันขวางตาเราอยู่ ค่อย ๆ ไป แล้วในที่สุด เราจะข้ามกำแพงนั้น แล้วจะมองเห็นอะไรที่สดใส โลกสดใสไม่มีอะไรขวางอีกแล้ว นั่นคือ ชีวิตของผู้ป่วยที่เขาหายจากสิ่งที่คุณคิดขึ้นมาได้ แหละนั่น คือสิ่งที่มีความสุขมาก สุขมากกว่าเงินทองใด ๆ ทั้งสิ้นเลย...”

        ตลอดชีวิตการทำงานกับมหาวิทยาลัยมหิดล ผมมองว่า เราจะเป็นเพียงแค่อาจารย์ที่มีความรู้จากตำรา หรือ ความรู้จากวารสารแล้วนำความรู้เหล่านั้นมารักษาผู้ป่วยเพียงอย่างเดียวไม่ได้ เราจำเป็นต้องอาศัยการลงไปคลุกคลีกับปัญหาของผู้ป่วยแต่ละโรค ศึกษา ค้นคว้า และทำวิจัยเกี่ยวกับปัญหาของผู้ป่วยเพื่อการรักษาโรคนั้น ๆ ให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น และหายจากโรคนั้น ๆ เส้นทางการทำหน้าที่เป็นอาจารย์แพทย์ของผม นอกจากจะรักษาผู้ป่วย ผมยังศึกษา วิจัย และเขียนผลงานจากการทำวิจัยเผยแพร่มากมาย ภายในระยะเวลา 10 ปี ของการทำหน้าที่อาจารย์แพทย์ ผมได้รับแต่งตั้งเป็น “ศาสตราจารย์” ภายหลังจากได้รับตำแหน่งผมก็ยังคงทำหน้าที่รักษาผู้ป่วยเรื่อยมา จากการรักษาผู้ป่วยทำให้ผมมีความรู้เพิ่มขึ้น แต่ผมยังไม่ได้ทำอะไรที่พิเศษให้กับวงการกุมารเวชศาสตร์เลย หลังจากนั้น ผมเริ่มทำวิจัย ตั้งชมรมโภชนาการในเด็ก และเริ่มเข้าสู่การถูกรับเชิญไปบรรยายแก่กุมารแพทย์ทางด้านระบบทางเดินอาหารที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ รวมทั้งจัดประชุมนานาชาติ และตั้งองค์กรโภชนาการในเด็ก เส้นทางการทำงาน ณ มหาวิทยาลัยมหิดล นับเป็นการทำงานเพื่อผู้ป่วยอย่างเต็มกำลังของผมในฐานะแพทย์ผู้รักษา และอาจารย์แพทย์ผู้ถ่ายทอดวิชาความรู้


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ชั้น 3 หอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170
โทร 0-2800-2680-9 ต่อ 4346