แพทย์หญิงอมรา มลิลา
สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2562 ณ บ้านพัก ซอยโปร่งใจ (ซอยศรีบำเพ็ญ) สาทร
บทส่งท้าย
ฝากไว้เป็นข้อคิด ถ้าหากเราคิดว่าทุกคนที่เราทั้งรู้จักและไม่รู้จัก คือ เพื่อน แต่จริง ๆ ก็เหมือนเป็นญาติกัน เป็นพ่อแม่พี่น้อง คือ เราใช้คำว่า เพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกัน อย่าไปดูถูกว่า เขารวย เขาจน ผู้ป่วยทุกคน คือ ญาติสนิทของเรา ผู้ป่วยอาจจะเคยเป็น พ่อแม่พี่น้องของเราในชาติภพเก่า ๆ มา ถ้าไม่มีเหตุกันมา ไม่ได้มาเป็นผู้ป่วยในการดูแลกัน หรือ เขาอาจจะเป็นเจ้ากรรมนายเวรเรามา หรือ เราเป็นเจ้ากรรมนายเวรเขามา ยกตัวอย่าง สมมุติว่า คราวก่อนเขาตีศีรษะเราแตก คราวนี้ด้วยกรรมที่พระพุทธเจ้าบอก เราจะไปตีศีรษะเขาคืน เหตุการณ์จะกลับกันแบบนี้ สลับกันเหมือนเล่นไม้กระดก เมื่อเรามาปฏิบัติธรรมแล้ว เรามาเป็นแพทย์ผ่าตัด คราวนี้เราต้องมาเป็นคนตีศีรษะเขา แต่เขามาเป็นผู้ป่วยเรา เราผ่ากะโหลกเขา เพราะว่าเขามีก้อนในสมองเขา เหมือนเราตีศีรษะเขา ทำเขาเลือดตกยางออก แต่เขาแทนที่จะโกรธเรา เพราะเราได้อภัยอโหสิกรรมให้เขาแล้ว เราถึงได้มาเป็นแพทย์ แต่กรรมอันนั้นมีอยู่ทำให้เราต้องทำ แต่ทำในรูปลักษณะที่เขาไม่รู้ว่า เราไปตีศีรษะเขา ไปผ่าศีรษะเขา เขากลับขอบคุณ และมาหาเราทุกปีใหม่
แหละนี่ คือ ทุกอย่างให้นึกว่าผู้ป่วยกับเราเคยมีเหตุสัมพันธ์กัน ถ้าเผื่อเป็นเหตุไม่ดี เราอภัยอโหสิกรรมกัน เพื่อให้จบกันไป แต่ถ้าเป็นเหตุดี เราให้ความเมตตา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน ถ้าเราทำแบบนี้กับผู้ป่วยทุกคน ใจเราก็จะเป็นอิสระ ผู้ป่วยจะมีความสุข และเราก็จะใช้เมตตาเป็นน้ำประสานโลกประสานใจ ทำให้โลกนี้ร่มเย็นเป็นสุข อยู่กันด้วยเมตตาธรรมต่อกัน