แพทย์หญิงอมรา มลิลา (นักศึกษาแพทย์ ณ คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์)

แพทย์หญิงอมรา มลิลา

สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2562 ณ บ้านพัก ซอยโปร่งใจ (ซอยศรีบำเพ็ญ) สาทร

นักศึกษาแพทย์ ณ คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์

        ตอนเข้าเตรียมแพทย์ เราเรียนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 1 ปี 2 เรายังเรียนอยู่กับเพื่อน ๆ ที่เรียนวิทยาศาสตร์ทั่วไป เภสัชศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ สัตวแพทยศาสตร์ด้วยกันทั้งหมด ส่วนแพทย์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับ แพทย์ของแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล ตอนแรกเรายังเรียนด้วยกันที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พอถึงตอนที่เราข้ามฟากมาเรียนที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชและพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน) พวกเพื่อนแพทย์ก็ไปเรียนอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ตอนนั้นก็พลัดพรากจากกันกับเพื่อนที่เรียนด้วยกันมาตั้งแต่โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย นั้นก็คือ คุณนิด ที่กล่าวไปก่อนหน้า

        พอเราเข้ามาเรียนที่แพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล สมัยนั้นรุ่นพี่ค่อนข้างดุมากค่ะ พวกเราเฟรชชี่ (Freshy) ต้องใส่รองเท้าขาว และแต่ก่อนถนนในศิริราชไม่ได้เป็นซีเมนต์อย่างสมัยนี้ ถนนจะแคบ ๆ และเป็นขี้โคลน ถ้าฝนตกคิดดูเถอะ หากเป็นจังหวะที่พี่เดินมา เราต้องลงจากถนนทันที แล้วรองเท้าขาวของเราจะเป็นลูกหมาตกขี้โคลน แล้วเวลาลงเรือก็เหมือนกัน ตรงห้องเครื่องของเรือไปทางหัวเป็นที่ของพวกอาจารย์ และพวกซีเนียร์ทั้งหลาย เราเฟรชชี่ต้องอยู่ท้ายเรือ บางครั้งเฟรชชี่ลงกันเต็มเรือ เรือทำท่าเหมือนจะจมเลย แล้วก็เราก็ไม่สามารถที่จะเกินห้องเครื่องได้ ตอนนั้นเราอึดอัดใจมากเพราะว่า ชีวิตอันแสนอิสระของเรามันแย่จริง ๆ เลยเชียว แล้วสมัยนั้นจะมีกิจกรรมนอกหลักสูตรค่อนข้างเยอะ

        ย้อนกลับไปเมื่อสมัยที่เราอยู่เตรียมแพทย์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวิทยาศาสตร์จะมีบ้านสีเหลือง ซึ่งถ้าเผื่อเป็นชั่วโมงว่างไม่ได้มีเลคเชอร์ (Lectures) เราจะเข้าไปคุยกัน ไปรวมกลุ่มกัน ตอนนั้นเป็นสมัยเดียวกับที่คุณจิตร ภูมิศักดิ์ มีบทบาททางการเมือง ตอนนั้นคุณจิตรอยู่ปี 3 พวกเราอยู่ปี 1 เกิดกรณีคุณจิตรถูกโยนบกลงจากเวทีหอประชุมใหญ่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะฉะนั้นพวกเราค่อนข้างหัวรุนแรง บ้านสีเหลืองจะออกหนังสือพิมพ์บ้านสีเหลือง โดยที่เอากระดาษฟุลสแก๊ปมาทำหนังสือพิมพ์ นำกระดาษฟุลสแก๊ปมาซ้อนกัน 12 หน้า 16 หน้าบ้าง เนื้อหาภายในหนังสือพิมพ์จะเป็นการเขียนบทความต่าง ๆ เกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นภายในมหาวิทยาลัย ตอนช่วงนั้นเวลาไปไหน ไปเชียร์อะไรกันพวกเรายกกันไปเป็นกองทัพเลยค่ะ ซึ่งการทำกิจกรรมในช่วงนั้นนับเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเรารู้จักกับคำว่า “จิตอาสา” เพราะพวกเราสมัยก่อนเวลาเราทำอะไรกันเราจะ “ลงแขก” กัน การลงแขกคือการช่วยเหลือกันคนละไม้คนละมือทำงาน เช่น ตามต่างจังหวัดหากบ้านไหนมีการจัดงานแต่งงาน เพื่อนฝูงจะไปช่วยกันคนละไม้คนละมือ เพื่อช่วยให้งานนั้นสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นการปลูกบ้าน เตรียมสถานที่ หรือ ดูแลเรื่องอาหารการกิน ซึ่งตอนที่อยู่บ้านสีเหลืองที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเราทำกันแบบนี้ แต่พอข้ามฟากไปศิริราชแล้ว จ๋อยเลย เพราะรุ่นพี่เขาจะมีกฎเพื่อดูแลน้อง ๆ  และความที่เราเป็นนักเรียนมาแตร์ฯ มาแมร์สอนพวกเราในแบบที่ว่า หากมีข้อสงสัยอะไรเราถามได้ เราสามารถแสดงความคิดเห็นได้ ไม่ใช่การก้าวร้าว แต่ว่าเราก็ไม่ได้ดูเหมือนนอบน้อมมากขนาดนั้น เพราะเหตุนี้จึงทำให้เป็นที่เขม่นของพี่ ๆ เพราะว่าบางที่เราลงจากถนนไม่ทัน เราเงอะงะ พี่ก็จะมองเราคล้าย ๆ กับว่าจะคิดแข็งข้อ ตอนแรกจึงเป็นเรื่องเป็นราวแต่พอปรับตัวได้ ชีวิตการเป็นนักศึกษาแพทย์ที่ศิริราชจึงค่อย ๆ สนุกขึ้น

        การเรียนแพทย์ปี 1 ปี 2 เรียนหนักมาก เพราะส่วนใหญ่มันเป็นวิชาท่อง เป็นต้นว่า กายวิภาคศาสตร์เราต้องท่องว่ามีกระดูกท่อนไหนต่อกับท่อนไหน เส้นเลือดมุดข้างใต้พาดไปข้างบนอะไรแบบนี้ เป็นการท่องจำอย่างเดียว และเราก็ประเภทที่เรียกว่า เรื่องแบบนี้ไม่มีสูตรสำเร็จรูปอะไรบ้างเลยหรืออย่างไร พอขึ้นปี 2 เราเริ่มรู้จักรุ่นพี่ที่เป็น Intern และ Resident สมัยก่อนเราไม่เรียกแบบนี้ค่ะ เราเรียก “House” Intern เราเรียก House คือ หมอประจำบ้าน แล้วก็เป็น ซีเนียร์เฮ้าส์ (Senior House) ต่อ ทีนี้พวกพี่จะคอยบรรจุจะเป็น ซีเนียร์เฮ้าส์ ปี 1 ปี 2 ปี 3 ไปเรื่อย แต่ก็ยังเรียก Senior House อยู่แบบนั้น พวกพี่พวกนี้จะเอ็นดูเรา บางทีจะมาติวให้เรา พออยู่ปี 2 เราก็เริ่มที่จะคุ้นเคยกับพวกรุ่นพี่แล้ว พอเราขึ้นปี 3 มีผู้ป่วยเข้ามา พี่ ๆ ก็จะจ่ายผู้ป่วยให้เรา เราจะต้องขึ้นไปซักประวัติ และตรวจร่างกาย ต้องตรวจปัสสาวะ ตรวจเลือด เป็นต้น เพราะฉะนั้น ถ้าพวกพี่ที่เป็น House หรือ Senior House เอ็นดูเรา แล้วมีขั้นตอนของการเย็บแผล บางทีพี่ ๆ จะอนุญาตให้เราเย็บแผลผู้ป่วย เพราะเราได้ดูและศึกษาจากพี่ ๆ มาหลายครั้ง แต่การเย็บแผลจะมีพี่ ๆ ยืนคุมเราอยู่ข้าง ๆ ตอนนั้นเราเริ่มสนุกกับการทำงานแบบนี้มาก ดังนั้นพอเราทานข้าวเสร็จหรือมีเวลาว่าง เราก็จะตรงไปห้องฉุกเฉิน แล้วคอยดูว่าพี่ ๆ จะใช้ให้เราทำอะไร พอขึ้นปี 4 เราต้องอยู่หอพักกันทุกคน ถ้าเราออกไปทานข้าวตรงพรานนก เราจะแวะตรงห้องฉุกเฉิน ถ้าเผื่อมีเคสผู้ป่วยง่ายตรงไปตรงมา และด้วยความที่เราไปช่วยงานพี่ตั้งแต่ปี 3 พี่จะบอกว่า “...อ้าว วันนี้ให้เราเป็นมือ 1 เขาจะเป็นผู้ช่วย...” ตอนนั้นเรามีความสุขมาก หรือบางครั้งมีผู้ป่วยต้องเจาะคอ แล้วเราได้เจาะเราก็รู้สึกเราเป็นหมอน้อย ๆ เพราะสมัยก่อนคอตีบไอกรนยังฉีดวัคซีนป้องกันไม่ได้ผลเต็มที่ จะมีเหมือนกับที่ต่างจังหวัดเป็นคอตีบมาแล้วเราก็ต้องเจาะคอ ซึ่งเดี๋ยวนี้เด็กนักศึกษาแพทย์จะไม่รู้สึกเหมือนเรา การที่เราได้ไปทำอะไรก่อน เรามีประสบการณ์ มีความชำนาญ พอเราเป็นแพทย์ เราจะได้มีความมั่นใจในตัวเอง และเราจะได้กล้าทำเต็มที่

        เคยเจอพฤติกรรมหนึ่งของเด็กสมัยนี้ เพื่อนของเราเป็นอาจารย์อยู่แผนกโลหิตวิทยา มีผู้ป่วยช็อค และจะต้องให้เกล็ดเลือด อาจารย์กำลังทำ cut down เพื่อสอดสายให้น้ำเกลือเข้าไปทางเส้นเลือดที่ตีบ เด็กนักเรียนแพทย์จะต้องบีบลูกยางให้ออกซิเจนจากถังเข้าผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจากการ การให้ออกซิเจนแบบธรรมดาซึ่งไม่เพียงพอ ตอนนั้นผู้ป่วยยังไม่ดีขึ้น อาจารย์ก็ยังวุ่นกับสายน้ำเกลือ นักเรียนแพทย์ก็วางลูกยางสำหรับบีบออกซิเจน และบอกอาจารย์ว่า “...อาจารย์ครับ 4 โมงครึ่งแล้ว วันนี้ไม่ใช่เวรผม...” ว่าแล้วก็โค้งอาจารย์อย่างงามเดินลงบันไดไป อาจารย์ตกใจจนพูดไม่ออก ผู้ป่วยเตียงข้าง ๆ กระโดดขึ้นมา “...บีบอย่างงี้ใช่ไหมครับคุณหมอ คุณหมอสอนผม...” เดี๋ยวนี้มันเป็นอย่างนี้มากพอสมควร แต่สมัยพวกเราถึงจะไม่ได้อยู่เวร แต่ถ้าเรามีผู้ป่วยหนัก เราก็จะอยู่ช่วยเพื่อนที่อยู่เวร เดี๋ยวนี้ไม่มี ถ้าไม่ใช่เวร ขนาดอาจารย์ยังทำอยู่ พอ 4 โมงครึ่งก็บอกอาจารย์แล้วก็เดินจากไป วันนั้นเราไปหาเพื่อนพอดี นั่งคอยอยู่ที่ออฟฟิศ พอเพื่อนกลับมาถึงเล่าให้ฟัง เราก็บอก “...อ้าวไม่รู้นี่ ถ้าอย่างนี้จะได้ไปช่วย...” เพื่อนก็ยังบ่นอยู่ เราก็พูดเพื่อให้เพื่อนอารมณ์ดีว่า “...เขาคิดว่า พอ 4 โมงครึ่งแล้วเธอก็เอาผู้ป่วยใส่ช่องแข็งเอาไว้ แล้วพรุ่งนี้เช้า 8 โมงก็เอาออกมาละลาย ผู้ป่วยก็ค่อยหายใจใหม่ แล้วก็ค่อยทำต่อ...” เพื่อนจึงหัวเราะออกมาได้ ซึ่งบางครั้งเราเครียดกันอย่างนี้ สมัยเรานี่ไม่มี แต่สมัยนี้เห็นได้ข่าวว่า ถ้าเราเป็นแพทย์เวรอยู่เวรคืนนี้ พรุ่งนี้ถ้าเที่ยงวันแล้วได้พัก ซึ่งสมัยก่อนไม่มี ถ้าเป็นสมัยเราวันนี้ต้องทำงานเต็มเวลา และถ้าเป็นเวร เสร็จงานเวลาราชการก็อยู่เวรทั้งคืน และรุ่งเช้าก็ต้องทำงานในเวลาราชการปกติ

        การเรียนการสอนในสมัยก่อน เราจำได้แม่นยำเกี่ยวกับการสอนวิเคราะห์อาการของผู้ป่วย สมัยที่เรียนกับศ.นพ.ประเสริฐ กังสดาลย์ หัวหน้าแผนกวิชาอายุรศาสตร์ที่โรงพยาบาลศิริราช อาจารย์จะสอนพวกเราเสมอว่า เครื่องมือเชื่อมากนักก็ไม่ได้ เราต้องใช้มือของเรา ตาของเรา พิจารณาด้วยการดู คลำ เคาะ ฟัง ถ้าวันไหนอาจารย์ออกตรวจผู้ป่วยกับพวกเรา เมื่อผู้ป่วยเดินเข้ามาในห้องตรวจ พอผู้ป่วยนั่งลง แพทย์ยังไม่ได้แตะตัวผู้ป่วย อาจารย์จะถามแหละว่า “...คิดว่าเขาเป็นโรคอะไร...” (พิจารณาและวิเคราะห์ด้วยสายตา) พวกเราครั้งแรกจึงตอบกลับไปว่า “...ไม่ทราบค่ะอาจารย์...” เมื่อพวกเราเริ่มคลำแล้ว เคาะแล้ว ดูแล้ว พวกเราก็ยังไม่ทราบ สักพักผู้ป่วยมีอาการหอบ เรารีบตอบเลยว่า “...คนไข้หอบค่ะอาจารย์...” อาจารย์ถามกลับมาอีกว่า “...หอบจากหัวใจหรือหอบจากปอด...” ยังไม่ทันฟังเลย ตาของอาจารย์ยิ่งกว่าเครื่อง X-ray อีกค่ะ ต่อมาอาจารย์ก็จะสอนเรา มันหอบเหมือนกันแหละ แต่ถ้าหอบจากหัวใจ โดยมากเท้าจะบวม เพราะว่าหัวใจโตจึงเกิดอาการบวม หรือ ถ้าเป็นมากก็จะบวมทั้งตัว แต่ถ้าหอบจากปอดจะยังไม่มีอาการบวม พวกเราเริ่มค่อยเก่งขึ้น ต่อมา อาจารย์ถามต่อว่า “...หัวใจเนี่ย มันเพราะหัวใจเองหรือไตวายด้วย...ถ้าบวมจากไตตามันจะบวม แต่ถ้าบวมจากหัวใจมันจะบวมที่หน้าแข้ง น่อง...” อาจารย์ยังไม่ทันทำอะไรเลย อาจารย์ยิ่งกว่าเครื่อง X-ray และถ้าเผื่อเครื่อง X-ray ไม่ปกติแสดงผลผิดพลาด อาจารย์จะเชื่อสายตา และหูของอาจารย์มากกว่าเครื่อง X-ray อาจารย์จะส่งตัวผู้ป่วยไปทำการ X-ray ใหม่อีกครั้ง แต่แพทย์สมัยนี้เชื่อเครื่อง X-ray ถ้าเกิดเหตุการณ์ส่งผู้ป่วยผิดตัวไป X-ray และไปเชื่อฟิล์มที่ผิดว่าถูกต้องจะเป็นปัญหาใหญ่ได้ แพทย์สมัยนี้ (พ.ศ. 2562) กว่าจะให้คำวินิจฉัยผู้ป่วยได้ใช้เวลา 6 ชั่วโมง มีเหตุการณ์ครั้งหนึ่ง คนที่วัดเป็นโรคไฟลามทุ่ง และกลัวว่าเชื้อจะเข้ากระแสเลือด เพราะมีไข้สูงมาก พวกเรามาถึงโรงพยาบาลประมาณ 18 นาฬิกา เรารอจนกระทั่งเกือบเที่ยงคืน แพทย์เวรยังไม่รู้ว่าผู้ป่วยเป็นอะไร ตอนนั้นเราอยากจะไปบอกว่า “...น้องค่ะขอพี่ช่วยวินิจฉัยให้ก็แล้วกัน แล้วน้องจะได้ให้การรักษา และก็เอาคนไข้เข้าไปในตึกซะที...” แต่ก็ไม่อยากทำอย่างนั้น เดี๋ยวจะมีเรื่องขึ้นมา ตอนนั้นรอกัน 6 ชั่วโมง ถ้าเป็นสมัยเรา เราต้องตรวจและวินิจฉัยเสร็จเรียบร้อยไปแล้ว

        การที่เราเป็นนักเรียนแพทย์ และเราเจอพวกญาติผู้ป่วยที่มาจากต่างจังหวัด เราจะช่วยดูแล ถ้าหากญาติผู้ป่วยลำบากหรือขาดแคลนอะไร บ้างครั้งเราบอกคุณแม่ว่า “...คนไข้กินข้าวโรงพยาบาลไม่ได้ แม่ทำข้าวต้มนะ...” เราก็ยื่นหม้อไปให้คุณแม่ แล้วเราก็นำข้าวต้มนั้นมาป้อนเค้า หรือ บางที่ก็ทำมาเผื่อญาติ ๆ ผู้ป่วยด้วย จนกระทั่งแพทย์เวรถามเราว่า “...ญาติหมอหรือ...” เราก็ตอบว่า “...ไม่ใช่ค่ะ คนไข้ค่ะ...” คือ ความที่เรารู้สึกอบอุ่นอย่างนั้น เดี๋ยวนี้ไม่มี มันก็เลยนึกว่า ชีวิตคนเรายิ่งพัฒนาการทางเครื่องไม้เครื่องมือทางวิชาการมากเท่าไร ใจของเราก็แห้งแล้งลงเท่านั้น


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ชั้น 3 หอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170
โทร 0-2800-2680-9 ต่อ 4346