แพทย์หญิงอมรา มลิลา (การเรียนแพทย์เฉพาะทางด้านกุมารเวชศาสตร์)

แพทย์หญิงอมรา มลิลา

สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ.2562 ณ บ้านพัก ซอยโปร่งใจ (ซอยศรีบำเพ็ญ) สาทร

การเรียนแพทย์เฉพาะทางด้านกุมารเวชศาสตร์

        ถ้าพูดถึงการเลือกเรียนแพทย์เฉพาะทางของเรา คงต้องเล่าย้อนไปถึงตอนที่เป็นนักศึกษาแพทย์อยู่ที่ศิริราช (คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์) ตอนนั้นอยากเป็นแพทย์ผ่าตัดมาก แต่มีเหตุการณ์หนึ่งในชีวิตทำให้เราเปลี่ยนใจไปเลย ด้วยการเป็นประจำเดือนของผู้หญิงเรา ตัวเองเวลามีประจำเดือนจะมีอาการปวดท้องรุนแรง 3 วันแรกของการมีประจำเดือน ถ้าเราได้นอนพักจะช่วยให้อาการดีขึ้นมาก ตอนนั้นถ้าอะไรตกถึงท้องเราจะอาเจียนทุกครั้ง ครั้งหนึ่งเป็นนักเรียนแพทย์ปี 4 อาจารย์หมอเฟื่อง หรือ ศาสตราจารย์ นายแพทย์เฟื่อง สัตย์สงวน กำลังผ่าตัดผู้ป่วยโรคกระดูก เราเป็นนักศึกษาแพทย์ช่วยอาจารย์อยู่ เราเกิดปวดท้องขึ้นมา เสร็จแล้วเราฟุบลงไปกองกับพื้น แต่โชคดีมากที่ไม่เอาหัวทิ่มเข้าไปในผู้ป่วยที่กำลังผ่าตัดอยู่ พยาบาลก็นำตัวเราไปนอนที่ห้องพักฟื้น พอเรารู้สึกตัวและได้พบอาจารย์ อาจารย์บอกกับเราว่า “...ดีมาก...” เราก็ เอ๊ะ!!! ดีมากยังไง อาจารย์บอกว่า “...ดีที่รู้จักล้มลงไปที่พื้น ไม่เอาหัวจิ้มเข้าไปในคนไข้...” เพราะไม่อย่างนั้นจะเกิดติดเชื้อปนเปื้อนกันหมด

        จากเหตุการณ์ตรงนี้ ทำให้เรารู้ว่า “...อ่อเราเป็นหมอผ่าตัดไม่ได้แน่...” แล้วทีนี้เราก็กลับมาคิดว่าจะเป็นแพทย์เฉพาะทางด้านไหน หากจะเป็นอายุรแพทย์ ถ้าผู้ป่วยตัวโตกว่าเราก็คงแย่ ยกขาข้างเดียวแทบจะไม่ไหว จึงคิดว่ากุมารเวชศาสตร์น่าจะเหมาะกับเรา เพราะเรารู้สึกคุ้นกับแรงของเด็ก และการดูแลเด็กมากกว่า จึงเลือกเรียนแพทย์เฉพาะทางด้านกุมารเวชศาสตร์ ตอนนั้นไม่คิดอยากเป็นอาจารย์โรงเรียนแพทย์ ส่วนใหญ่พวกที่เป็น House ที่โรงพยาบาลศิริราชมักจะอยู่เป็น Senior House แล้วอยู่ต่อและเป็นอาจารย์กันที่นั่น ด้วยความที่เราไม่อยากเป็นอาจารย์โรงเรียนแพทย์ เราก็พูดอธิบายจนกระทั่งคุณพ่อคุณแม่ตกหลุมว่า“...เป็นหมอนี่เราก็ต้องมีประสบการณ์ ต้องรู้ด้วยว่าต่างจังหวัดเขาเป็นยังไงกัน เพราะฉะนั้นขออนุญาตไม่เป็น House ที่โรงพยาบาลศิริราช...” เมื่อเรียนจบปริญญาแพทยศาสตร์บัณฑิต (คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ หรือ มหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน) เมื่อ พ.ศ. 2502 และเป็นจังหวะพอดีที่ทางโรงพยาบาลเด็ก ปัจจุบันคือ “สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี” เปิดรับสมัครตำแหน่งลูกจ้างประจำจึงไปสมัคร และได้เป็นแพทย์ฝึกหัด ณ โรงพยาบาลเด็ก พ.ศ. 2502 และอยากจะพูดตรงนี้เลย ถ้าเราเชื่อพระพุทธศาสนาว่าเราประกอบเหตุไว้อย่างไหน เราคงจะมีเหตุเอาไว้จะต้องเป็นอาจารย์สอนจนได้ แม้หลุดไปโรงพยาบาลเด็ก ไปเข้ากระทรวง ไปอยู่ลำปาง ไปต่างจังหวัดเรียบร้อยแล้ว ก็ให้มีเหตุว่าพอกลับมา ศาสตราจารย์สตางค์ มงคลสุข ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบัณฑิตวิทยาลัยที่มหาวิทยาลัยมหิดล พอไปฝึกเป็นกุมารแพทย์และทำวิจัยทางสาขาสรีรวิทยาที่ต่างประเทศจบกลับมา จึงต้องมาเป็นอาจารย์สอนนักศึกษาแพทย์ และนักศึกษาปริญญาโท ปริญญาเอกเป็นอาจารย์อยู่ระยะหนึ่ง อ้าว!!! ลาออกจากราชการ และได้มาปฏิบัติธรรมก็กลายมาเป็นผู้สอนธรรมะจนถึงปัจจุบัน จึงได้บอกว่า “...มันหนีไม่พ้นนะ...” อุตส่าห์วางแผนไม่อยู่ในโรงพยาบาลศิริราช ไม่อยากเป็นอาจารย์ สุดท้ายก็หนีไม่พ้นจริง ๆ

        การเรียนแพทย์เฉพาะทางด้านกุมารเวชศาสตร์ ทำให้เรารู้อะไรหลายอย่างมาก ตอนแรกเวลาที่เป็นเหมือนอินเทิร์นตามวอร์ดต่าง ๆ ทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศจะขึ้นมาเรียนรู้ตามวอร์ดต่าง ๆ ที่ละ 1 เดือน เมื่อครบ 1 เดือนก็จะย้ายไปวอร์ดอื่น ๆ ตอนแรกที่ไปอยู่วอร์ดกุมารฯ เรากลัวเด็กแรกคลอด เพราะรู้สึกว่าพูดกับเด็กไม่รู้เรื่อง เมื่ออยู่ที่โรงพยาบาลเด็กต้องกลับไปอยู่ เนอสเซอรี่ (Nursery) นานเป็น 2 เท่าของคนอื่น เพราะพอเราผ่าน เนอสเซอรี่ (Nursery) ไปแล้ว เพื่อนที่จะมาอยู่ต่อเราออกอีสุกอีใส เพื่อนจึงลางาน ทีนี้หัวหน้าตึกเด็กแรกเกิด (Nursery) ก็บอกว่า ให้คนเก่ากลับมาจะได้ไม่ต้องหัดใหม่ตกลงเราจึงอยู่นานเป็น 2 เท่า แล้วตอนไปเรียนที่ต่างประเทศก็เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก ตอนเราเสร็จผ่านไปแล้ว Resident ที่เป็นเพื่อนชาวต่างประเทศทำเหตุการณ์ให้เราต้องกลับมาอยู่กับเด็กแรกคลอดอีกเป็น 2 รอบ เล่าย้อนเล็กน้อย ในต่างประเทศเวลาจะเจาะเลือดแรกคลอดเด็กเพื่อไปตรวจ จะเจาะที่สันเท้า โดยก่อนเจาะจะนำผ้าแช่น้ำอุ่นที่บิดน้ำออกจนผ้าหมาดไปห่อเท้าเด็กไว้ประมาณ 3-4 นาที เพื่อให้เลือดกระจายได้ดีขึ้น แล้วตอนเจาะ จะได้เจาะครั้งเดียวก็สามารถดูดเลือดพอที่จะนำไปตรวจได้ แต่ทีนี้ Resident ต่างชาติคนนั้นไม่นำผ้าแช่น้ำอุ่นมาห่อเท้าเด็กไว้ก่อนเจาะ พอเจาะเลือดจึงไม่ไหลออกมา เท่าที่จำได้ Resident ต่างชาติคนนั้น เจาะไปทั้งหมด 13 จุด โดยใช้มีด Blades จิ้มลงไป เสร็จแล้ว Resident ต่างชาติคนนั้นก็ห่อผ้าเด็กเอาไว้เรียบร้อย เด็กหลับสบาย แต่ 13 จุด ที่เจาะทิ้งไว้เลือดไหลออกมาเปรอะผ้าอ้อมจนชุ่มหมดเลย ตอนเด็กขยับเท้าถีบไปถีบมา พอพยาบาลหัวหน้าตึกเข้าไปเปิดผ้า เค้าจะเป็นลม พยาบาลหัวหน้าตึกจึงโทรศัพท์ถึงหัวหน้าแผนก และพูดกับหัวหน้าแผนกว่า “...come quickly. Did you send us a pediatric resident or a murderer…” เมื่อหัวหน้าแผนกวิ่งลงพบแบบนี้ จึงถามหัวหน้าตึกว่า “...เขาจะเอายังไง...” หัวหน้าตึกบอกว่า “...เอา resident คนนี้ไปให้ไกลที่สุด แล้วก็เอาเรากลับคืนมา...” คือให้ที่พึ่งจบจากตึกนี้กลับมาใหม่ เท่ากับว่าอยู่ 2 รอบเหมือนตอนที่อยู่ประเทศไทย

        หัวหน้า Nursery ท่านนี้เก่งมาก เมื่อเขาเห็นสีหน้าเราตอนที่กลับลงมาที่ เนอสเซอรี่ (Nursery) ก็ถามเราว่า

หัวหน้า Nursery : “...ทำไมหรือ...”
พญ.อมรา : “...กลัวเด็กแรกคลอด พูดกันไม่รู้เรื่อง...”
หัวหน้า Nursery : “...กลัวทำไมกัน...”
พญ.อมรา : “...ก็เด็กร้องอย่างเดียว...”
หัวหน้า Nursery : “...คุณฟังดี ๆ นะ ร้องอย่างนี้แปลว่าหิวต้องเอานมไปให้ ร้องอย่างงี้แปลว่าเปียกฉี่ ร้องอย่างงี้อึ...”
พญ.อมรา : “...ฮะ...”
หัวหน้า Nursery : “...ให้ฟังดี ๆ แล้วจะรู้ ร้องอย่างงี้อ้อนจะให้เราอุ้ม...”
โอ้โห!!! เนี่ยค่ะ แล้วความที่อยู่กับหัวหน้า Nursery เขาค่อย ๆ สอนเราแบบนี้

        ตอนนั้นเรามีเด็กแรกคลอดที่แท้ง เด็กที่คลอดปกติออกมาตาจะเปิด ตาเด็กจะไม่ปิดอย่างตาของลูกหมาลูกแมว แต่ถ้าเผื่อเด็กที่คลอดอายุครรภ์ต่ำกว่า 7 เดือน ซึ่งเด็กคนนี้รู้สึกว่า 6 เดือนกว่า ๆ เท่านั้น คลอดออกมาเปลือกตายังปิดอยู่ และปกติเด็กแรกคลอด เราจะถือว่าถ้าน้ำหนักน้อยกว่า 2,200 กรัม ถือว่าเป็นเด็กคลอดไม่ครบกำหนด แต่ถ้า 2,200 กรัมขึ้นไป จนกระทั่ง 3,500 กรัมถือว่าเป็นปกติ เด็กคนนี้หนักเพียง 420 กรัมเท่านั้น ไม่ได้คิดเลยว่าจะรอด แต่เราคิดกับตัวเองว่า ต้องทำให้เด็กคนนี้รอดให้ได้ และด้วยความที่อยู่ต่างประเทศ เครื่องไม้เครื่องมืออะไร ๆ ก็ครบครันกว่าที่ประเทศไทย ตอนนั้นขนาดของปากเด็กคนนี้ยังไม่สามารถนำหัวนมของตุ๊กตาเข้าไปได้ เพราะฉะนั้นเวลาให้นมจะต้องเอากระบอกฉีดยาขนาด 5 ซีซี ดูดนม 1 ซีซี แล้วต่อกับสายพลาสติก แล้วก็สอดเข้าไปในปากของเด็ก และต้องให้หยดลงไปด้วยแรงดึงดูดโลก ถ้าหากใช้แรงดันจะทำให้เด็กสำลัก คราวนี้ก็ยุ่งเหยิงกันอาจเกิดอาการปอดบวมได้ ดังนั้นการให้นมมื้อละ 1 ซีซี บางทีใช้เวลา 10 นาที เพราะต้องให้หยดลงไปเอง จากที่เราถือกระบอกเอาไว้ และให้มันค่อยไหลลงไป ถ้าตอนไหนเด็กไม่กลืน อ้าว นมก็หยุดไหล พอมันกลืนดีมันก็หยดดี บางที 5 นาที หรือ 10 นาที แล้วก็ต้องป้อนทุกชั่วโมง ก็คิดดูแล้วกันค่ะ ทาง Nursery ก็จึงหาห้องให้เรานอนอยู่ใน Nursery พอถึงเวลาเขาจะมาเรียก เราก็หลับตามาป้อน บางทีพยาบาลเขาสงสารเขาบอก “...เออ เขาจะป้อนให้...” เราเลยบอกว่า “...ถ้ารักเรานะ เรียกเรามาดีกว่า...” ตอนนั้นเด็กคนนี้จาก 420 กรัม ท้ายทอยกับก้นกบอยู่บนฝ่ามือเราได้ ซึ่งเขาบอกว่ามือเราเล็กเท่ามือลิง และเด็กชายคนนี้รอดมาได้ เราภูมิใจมาก ๆ พอเด็กคนนี้หนัก 2,200 กรัม เรากลับมองว่าอ้วนน่าเกลียด เพราะตอนที่เกิดออกมาเขาไม่มีไขมันเลย ผิวเหมือนมีกระดาษแก้วห่อเอาไว้สามารถมองเห็นกล้ามเนื้อเป็นมัด ๆ และเห็นเส้นเลือดแดงกับเส้นเลือดดำ ที่วิ่งคู่กัน เหมือนเราเอาดินสอแดงดินสอดำขีด ถ้าต้องให้น้ำเกลือไม่มีทางให้ได้เลย เพราะขนาดปากมันยังต้องเอาสายพลาสติกเล็ก ๆ สอดเข้าไป พอจะจับก็กลัวเดี๋ยวทำตัวแตก ทำมันฉีกทะลุ พอเริ่มน้ำหนักขึ้น เริ่มมีแก้ม ผิวไม่เป็นกระดาษใส ๆ เรากลับมองว่าอ้วนน่าเกลียดมาก ดังนั้นการอยู่เวรจึงเป็นเรื่องที่สนุกตื่นเต้น เราได้เจอผู้ป่วยสารพัด แต่ก็ไม่ได้เป็นแบบนี้ทุกกองที่จะได้เจอผู้ป่วยหลากหลาย เพราะเพื่อนบางคนที่อยู่ Nursery เขาก็จะเจอแต่การคลอดแบบปกติ ของเราเมื่อเจอคลอดผิดปกติก็ต้องเก็บเอาไว้ใน Nursery บางทีเต็มไปหมด ผู้ป่วยเราทั้งนั้น จนอาจารย์ถามว่า “...อะไรกันนี่ไปรับจ้างเพื่อนหรือ...” เพราะเวลาอาจารย์มาดูผู้ป่วย เจ้าของไข้จะต้องอยู่รายงานใช่ไหม ปรากฏพออาจารย์ล้างมือเสร็จ เราก็มาอีกรายหละ อีกรายหละ จนอาจารย์บอกว่า “...ไปรับจ้างเพื่อนหรือ...” เราก็บอกว่า “...ไม่ใช่ค่ะ ของหนูเองทั้งนั้นเลย...” ตรงนี้ทำให้เรามีประสบการณ์เยอะมาก

        มีอีกหนึ่งเรื่อง ตอนที่ไปเรียนกุมารเวชศาสตร์ที่ต่างประเทศและอยากพูดถึง ตอนเป็นแพทย์ฝึกหัดอยู่โรงพยาบาลเด็กมีผู้ป่วยเป็นมะเร็งที่กล้ามเนื้อหัวใจ และมีน้ำในช่องเยื่อหุ้มหัวใจ การเจาะเอาน้ำออกต้องใช้เทคนิคละเอียดลออมาก  เพราะเดี๋ยวจะทิ่มเข้าไปในหัวใจได้ อาจารย์ที่สอนยังไม่เคยเจาะเลย เสร็จแล้วเขาก็ถามพวกเราว่า “...มีใครบ้างที่เคยเจาะไหม...” เราก็ยกมือขึ้น เขาก็บอก “...โอ้!!! คุณโชคดีเหลือเกิน คุณได้เจาะกี่ครั้งอะ...” แล้ว ตอนนั้นเราได้เจาะ 10 กว่าครั้ง เพราะตอนที่อยู่ประเทศไทยผู้ป่วยรายนี้ เจ้าของไข้เจาะกันจนเบื่อ ไม่อยากจะเจาะแล้ว เราจึงได้เจาะ โดยการเจาะจะมีท่าคลาสสิคที่ต้องเจาะทางข้างซี่โครง เจาะทางข้างหน้าก็ได้ เจาะทางข้างหลังก็ได้ มีหลายท่าตามตำรา ผู้ป่วยคนนี้ให้เราเจาะทุกท่าหมดเลย เพราะบางทีเจาะทางนี้ น้ำไปตกอีกทาง ผู้ป่วยก็จะบอกว่า “...หมอเจาะไม่ออก เจาะแล้วผมก็ยังอึดอัดเท่าเดิม ลองข้างหลังดูสินะ...” เขาก็นั่งทำท่านี่เอาตรงนี้ เอาตรงนี้ ชี้บอกเรา กลายเป็นคนสอนเรา แล้วพอเจาะเสร็จ เขารู้สึกสบายเขาก็จะบอกว่า “...พอแล้วหมอแค่นี้พอแล้ว...” เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องกลัวว่าจะทิ่มไปที่หัวใจ พอเล่าให้อาจารย์ฟัง อาจารย์บอก “...โอ้!!! คุณโชคดีมาก...” ตอนนั้นที่ถูกพี่เรียกไปเจาะช่วงแรก ๆ เพราะพี่ค่อนข้างเอ็นดูเรา เรียกทีไรมาช่วยงานทุกครั้ง จึงให้เราได้ฝึกการทำงานหลาย ๆ อย่าง ให้เราได้ทำโน้นทำนี่ เราก็นึก “...พี่ขา พี่ไม่ต้องรักหนูมากหรอก... เรียกคนอื่นบ้างก็ได้...” พอเรามาเรียนต่อที่ต่างประเทศ ปรากฏว่า โอ้โห!!! ขนาดอาจารย์เรายังไม่เคยทำ เราจึงเขียนจดหมายไปบอกพี่ว่า “...พี่ขา ขอบคุณที่พี่รักหนูมากอย่างนั้น ทำให้หนูมีหน้ามีตามากเลย...”

        ดังนั้นจึงอยากจะบอกว่า เวลาที่เราเหนื่อยมาก ๆ จนรู้สึกว่าไม่อยากทำอะไร แต่พอทำแล้วเราชื่นใจ เราจะพบว่าอะไรที่มันเป็นหน้าที่ของเรา ซึ่งตอนนั้นเรายังไม่เข้าใจ เรายังไม่รู้ว่าทำไปทำไม แต่จงทำเข้าไปเถอะ ทำให้เต็มที่ ทำให้ดีที่สุด แล้ววันหนึ่งเราจะเห็นผลจากสิ่งที่ได้ตั้งใจทำ อยากจะเล่าให้ฟังสักเล็กน้อย ตอนที่อยู่หน่วยแรกคลอด จะมีทั้งคลอดก่อนกำหนด คลอดหลังกำหนด ตัวเหลือง ต้องให้น้ำเกลือ เส้นเลือดของเด็กยิ่งกว่าสอยผ้า ตอนนั้นก็นึก เราจะต้องทำไปทำไมนะ แต่พอเข้าวัด และได้มีโอกาสดูแลคุณโยมแม่ของท่านพระอาจารย์ 2 ท่าน เราต้องขอบคุณตัวเองที่เราไม่เกเร เราฝึกฝนสอยจนแทบจะเรียกว่าหลับตาก็สอยได้ เพราะเส้นของผู้สูงอายุเหมือนกับเส้นของเด็ก แต่ของผู้สูงอายุแย่ยิ่งกว่า เพราะมันเปราะ ถ้ามือเราไม่เบาเส้นเลือกจะแตก ทีนี้พอเราเจาะเด็กเล็ก ๆ มือเราเบาจึงเข้าได้ดี ตอนทำให้คุณโยม 2 คุณโยมนี้ (ท่านหนึ่งก็เสียชีวิตเพราะมะเร็งลุกลามไปหมด ท่านหนึ่งก็รอดชีวิตอยู่มาได้อีก 18 ปี) สิ่งที่เราทำเป็นบุญกุศล ที่เราไปอยู่วัด และได้ดูแลโยมแม่ของพระอาจารย์ ซึ่งตอนแรกเราไม่เข้าใจ แต่พอทุกอย่างค่อย ๆ มาให้เห็นผล ที่พระพุทธเจ้าตรัสของทุกอย่างมาแต่เหตุ ถ้าเรารู้เหตุแล้วทุกอย่างมันคลี่คลายหมด พอรู้เหตุแล้ว อ๋อที่เราต้องมาดูเด็กแรกคลอดที่ต่างประเทศถึงปานฉะนี้ ที่เราต้องสอยตะเข็บเส้นเลือดถึงปานฉะนี้ ก็เพราะวันหนึ่งเราจะต้องได้ใช้มัน แต่ถ้าตอนนั้นเราคิดเอาเองว่า เราไม่ทำ ทำแค่นี้พอ เมื่อถึงตอนที่เราต้องทำเราจะตกม้าตาย บุญกุศลที่จะได้เราก็ไม่ได้ ถึงบอกไงคะว่า อะไรที่เกิดขึ้นกับเรา ถ้าเรายังไม่รู้ก็ทำไป ทำหน้าที่ ทำไปให้เต็มที่ให้ดีที่สุด เมื่อถึงเวลาที่เราจะรู้กัน เราจะชื่นใจ เราจะได้ไม่พลาด ทุกอันเป็นประสบการณ์ ทำให้เรานำมาประยุกต์ใช้กับชีวิตของเราได้ทั้งหมด


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ชั้น 3 หอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170
โทร 0-2800-2680-9 ต่อ 4346