แพทย์หญิงอมรา มลิลา (การเริ่มต้นการทำงานจนกระทั่งการลาออกจากราชการจากมหาวิทยาลัยมหิดล)

แพทย์หญิงอมรา มลิลา

สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2562 ณ บ้านพัก ซอยโปร่งใจ (ซอยศรีบำเพ็ญ) สาทร

การเริ่มต้นการทำงานจนกระทั่งการลาออกจากราชการจากมหาวิทยาลัยมหิดล

        ชีวิตของการทำงานเริ่มต้นขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2502 สถานที่แห่งแรกที่เราเรียกว่าที่ทำงาน คือ โรงพยาบาลเด็ก ปัจจุบัน คือ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี โดยเป็นแพทย์ฝึกหัดอยู่ที่โรงพยาบาลแห่งนี้ อยากเรียนให้ทราบว่า ผู้ป่วยที่โรงพยาบาลเด็กวันหนึ่ง ๆ ประมาณ 200 คน เท่ากับโรงพยาบาลราชวิถีทั้งโรงพยาบาล จำนวนแพทย์เด็กในตอนนั้นมีจำนวนไม่มากนัก แต่ผู้ป่วยเด็กมีจำนวนมาก ตอนที่โรงพยาบาลราชวิถี ยังเป็นโรงพยาบาลหญิง ที่นี้จะมีเด็กที่แม่มาคลอดทิ้งไว้ และถูกส่งต่อมาให้โรงพยาบาลเด็กรับไว้ และดูว่าจะมีใครมาขอเด็กเหล่านี้ไปอุปการะ เด็กพวกนี้จะมีความเหงาและว้าเหว่ เด็กจะมีพฤติกรรมเหมือนทำร้ายตัวเอง คือ เอาหัวไปโขกกับพื้นหรือพนักเตียง ไม่มีใครดูแลมากนักในเรื่องตัดผม ตัดเล็บ สระผม จนกระทั่งพวกเราทั้ง 16 คนที่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว จ้างเราไปเป็นแพทย์ฝึกหัด พอพวกเรามีเวลาว่าง ก็ไปอุ้มเด็กเหล่านั้นมาอาบน้ำ สระผม ตัดเล็บ ตัดผม ขัดสีฉวีวรรณเป็นอย่างดี เด็กกลุ่มนี้มีทั้งอายุ 2 ขวบ 3 ขวบ ไม่รู้จักกระจก พอได้เห็นกระจกในห้องพักของพวกเราก็จะเข้าไปกอด ไปจูบกระจก คงคิดว่าคนในกระจกคือเพื่อนของพวกเขา นอกจากนี้เด็กเหล่านี้บางทีพูดช้า ด้วยความที่ไม่มีใครพูดด้วย ไม่มีใครคอยสอน แต่พอพูดได้ พูดออกมาเป็นประโยคเลย บางครั้งเราก็มีขนมมาฝากเด็ก ๆ พวกนี้ เราเริ่มต้นจากตรงนี้ การเป็นพี่เลี้ยงน้องจึงทำให้เรารู้สึกคุ้นเคยกับเด็กมากยิ่งขึ้นไปอีก

        การดูแลผู้ป่วยในตอนนั้นเป็นลักษณะช่วยเหลือกัน หากมีผู้ป่วยอาการหนัก แม้ว่าวันนั้นจะไม่ใช่เวร แต่เราก็จะขึ้นไปช่วยเพื่อนที่เป็นเวรทำงาน แต่ก่อนตรงข้ามโรงพยาบาลเด็กไม่ได้เป็นตึกแถวแบบสมัยนี้ บริเวณวัดมะกอก (วัดอภัยทายาราม) ตรงซอยข้างโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า บริเวณนั้นจะเป็นชุมชนแออัด ชาวบ้านที่อาศัยอยู่แถวนั้นจะมีที่อยู่อาศัยเป็นลักษณะคล้าย ๆ กระต๊อบ ตอนเช้าจะขายผลไม้โดยการหาบไปขาย กิจวัตรของผู้คนบริเวณนั้น เช้าจะออกไปขายของตั้งแต่เช้ามืดและกลับมาเป็นเวลาเย็นโพล้เพล้แล้ว เพราะฉะนั้นถ้าลูกเจ็บป่วยหรือเป็นไข้หวัดธรรมดา พ่อแม่จะพาลูกมาพบแพทย์ตอนประมาณ 2 ทุ่ม 3 ทุ่ม เราก็จะคุ้นเคยกับวิถีชีวิตของชาวบ้านแบบนี้ จากตรงนี้มีเรื่องเล่าเรื่องหนึ่ง วันหนึ่งมีแม่ค้าคนหนึ่งอุ้มลูกมาพบแพทย์ตอนประมาณ 2 ทุ่ม 3 ทุ่ม ตอนที่มาเด็กกำลังหลับ แม่บอกว่าเด็กเป็นหวัดหายใจลำบากมา 2 คืน แทบไม่ได้นอน จากประสบการณ์ของคนเป็นแพทย์อย่างพวกเรา ถ้าเด็กหลับแบบนี้ หากเราตรวจเด็กจะตื่นขึ้นมาร้องไห้ และถ้าพ่อแม่พากลับไปบ้านเด็กก็จะยังร้องไห้ไม่ยอมนอน และเวลาช่วงตี 1 ตี 2 พ่อแม่ก็จะพาลูกมาโรงพยาบาลอีกครั้ง เมื่อเพื่อนสังเกตการหายใจของเด็ก และเห็นว่าเด็กคนนี้หลับสบาย เพื่อนของเราจึงถามแม่ของเด็กไปว่า “...บ้านอยู่ที่ไหน...” แม่ตอบว่า “...อยู่ตรงข้างวัดมะกอก...” เพื่อนจึงบอกแม่ของเด็กให้พาเด็กมาอีกครั้งพรุ่งนี้เช้า เมื่อแม่ของเด็กได้ยินดังนั้น ก็วางลูกลงบนเก้าอี้ และยืนเท้าเอวพูดกับเพื่อนเราว่า “...เห็นว่าฉันเดินมาหรือถึงไม่ตรวจให้ รู้ไหมเงินเดือนหมอมาจากภาษีของพวกฉัน...” ทีนี้เราอธิบายอย่างไรก็ไม่ฟังแล้ว แม่เด็กพูดต่อว่า “...พรุ่งนี้จะฟ้องผู้อำนวยว่า หมอเวรเลือกชนชั้น...” เพื่อนจึงตรวจและให้ยาเสร็จเรียบร้อยคุณแม่และเด็กจึงกลับบ้านไป

        แต่เช้าวันรุ่งขึ้นคุณแม่เด็กคนเดิมกลับมาที่โรงพยาบาล วันนั้นคุณแม่เด็กยอมไม่ไปทำงาน เพื่อมาขอเข้าพบผู้อำนวยการ พวกเราตอนนั้นก็ช่วยกันปกป้องเพื่อนเรา อธิบายทุกอย่างกับผู้อำนวยการ แต่ท่านก็พูดกับพวกเราว่า “...โรงพยาบาลก็เหมือนร้านขายอาหารนะ พวกหมอก็เป็นเหมือนบริกร ถ้าเผื่อบริกรไม่รู้จักเอาใจลูกค้าเอาไว้ ถึงบริการถูก...แต่ว่าบริกรไม่เอาใจคนไข้ โรงพยาบาลอื่นก็มี เขาก็ไปโรงพยาบาลอื่น กระทรวงก็ปิดโรงพยาบาลเรา หมอนั้นแหละจะเดือดร้อน บริกรทั้งหลายก็ตกงานหมด เพราะฉะนั้นถึงหมอจะถูกแต่ผมก็ต้องเอาใจคนไข้ ผมก็ต้องดุหมอ...” ตอนนั้นเราก็โกรธ บอกว่าไม่ยุติธรรมไม่ปกป้องพวกเรา แต่พอเรากลับมาคิดไตร่ตรองอีกครั้ง ท่านผู้อำนวยการทำถูกต้องแล้ว ในฐานะผู้บริหารโรงพยาบาล เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็เป็นความผิดพลาดของเพื่อนจริง ๆ ที่ไม่ได้ซักถามว่าแม่เด็กทำอาชีพอะไร หากมาพบแพทย์ใหม่ในวันพรุ่งนี้จะสะดวกหรือไม่ และไม่อธิบายด้วยว่าจากอาการของเด็กตอนนั้น หากทำการตรวจจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิด จนกลายเป็นแพทย์อย่างพวกเราเลือกปฏิบัติต่อผู้ป่วย เพราะความไม่ละเอียดรอบคอบในการทำงาน

        การทำงานเราได้ทั้งประสบการณ์การทำงาน และประสบการณ์ชีวิตด้วย ทำให้เราได้รู้ว่าเราต้องทำอย่างไร ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร เราต้องมีไม้แข็งและไม้นวม ระหว่างการทำงานทุกอย่าง คือ การเรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว การทำงานของแพทย์ไม่ใช่แค่การรู้วิชาการอย่างเดียว แต่เราต้องมีมนุษยสัมพันธ์ รับฟังผู้ป่วย เอาใจเขามาใส่ใจเรา เพื่อให้การทำงานราบรื่น

        ต่อมา พ.ศ. 2503 ได้รับบรรจุเข้าไปทำงานที่กระทรวงสาธารณสุข และไปทำงานเป็นแพทย์โทโรงพยาบาลลำปาง เพื่อไปตั้งแผนกเด็กให้ทางโรงพยาบาลลำปาง ตอนเข้าไปทำงานที่แห่งนี้ แรกสุดเราต้องไปประจำอยู่ที่วอร์ดผู้ป่วยหญิง และที่วอร์ดผู้ป่วยหญิง ณ โรงพยาบาลลำปางแห่งนี้ทำให้เราได้มีประสบการณ์ทำงานที่เราจำเป็นบทเรียนของชีวิตจนทุกวันนี้ ตอนนั้นที่วอร์ดมีผู้ป่วยหัวใจวาย เวลาที่เราเจอผู้ป่วยหัวใจวาย เราต้องสั่งให้ผู้ป่วยคนนั้นขับถ่ายบนเตียง ทานอาหารบนเตียง ทุกอย่างคือทำบนเตียง ถ้าในภาษาทางการแพทย์ คือ “Absolute bed rest” ผู้ป่วยเหล่านี้จะตัวบวมจนน้ำแทบปริออกมาจากผิวหนัง ตอนที่เราไปถึงมีผู้ป่วยแบบนี้อยู่ 3 ราย ตอนนั้นทางวอร์ดไม่สั่งยาขับปัสสาวะให้ผู้ป่วย เราเข้าใจว่าทางวอร์ดไม่มียาขับปัสสาวะ พอเราถามพยาบาล เขาแจ้งว่ามี ดังนั้นเราจึงสั่งยาขับปัสสาวะให้ผู้ป่วย แต่พยาบาลพูดกับเราว่า “...หมอ ถ้าหมอสั่งยาขับปัสสาวะ ยิ่งปัสสาวะมาก บ่อยครั้งเท่าไร คนไข้ก็ตายเร็วขึ้น...” เราก็บอก “...นี่ไงเขียนแล้วว่าให้ Absolute bed rest...” พอเขาพูดแบบนั้น เราจึงเอาปากกาแดงมาขีดอีก 2 เส้น แล้วก็ชี้ให้เขาดู เขาก็บอก “...นั้นแหละ...” เป็นทำนองว่า ถึงจะขีดอีก 2 เส้นผู้ป่วยก็จะต้องตายเร็ว เพราะปัสสาวะมาก ตอนนั้นเราก็ไม่เข้าใจในสิ่งที่พยาบาลพูดกับเรา ถ้าเราอยู่เวร เราจะอยู่เวรตั้งแต่ 16.30 น. จนกระทั่ง 08.00 น. ของวันรุ่งขึ้น ปฏิบัติกันมาแบบนี้ปกติ ซึ่งที่โรงพยาบาลไหน ๆ ก็เช่นกัน แต่ที่โรงพยาบาลลำปางในตอนนั้น เราตรวจผู้ป่วยของเราในตอนเช้าในเวลาราชการปกติ หากมีผู้ป่วยที่เราดูแลในวอร์ดผู้ป่วยหญิงเป็นอะไร ทางพยาบาลจะไม่แจ้งเรา แต่กลับไปตามแพทย์เวรวันนั้น จำได้ว่าเราก็ไปลงตรวจผู้ป่วยนอกตามปกติในเวลาราชการ พอเวลาสักประมาณ 10.00 น. ผู้ป่วยของเราหัวใจวาย 2 คน ซึ่งเราก็ไม่ทราบเรื่องที่เกิดขึ้น เพราะถ้าเราทราบตั้งแต่รายแรก เราจะได้ยกเลิกการให้ยาขับปัสสาวะแก่ผู้ป่วย จนกระทั่งเช้าวันรุ่งขึ้นเราเข้ามาเพื่อดูผู้ป่วย ซึ่งคือผู้ป่วยรายสุดท้าย จาก 1 ใน 3 ราย ที่เราสั่งยาขับปัสสาวะให้ กำลังโหนประตูห้องน้ำอยู่ เนื้อตัวเขียวไปหมด และหายใจอ่อน เราก็ตกใจมากเราพูดว่า “...ใครให้ผู้ป่วยหัวใจวายเราไปทำแบบนั้น...” พยาบาลพูดว่า “...ก็เมื่อวานบอกหมอแล้ว ถ้าเผื่อฉี่มากอย่างนี้ มันก็จะต้องตาย...” เราพูดว่า “...ก็บอกแล้วว่าให้ฉี่บนเตียง...” พยาบาลบอกว่า “...คนไข้ที่เมืองลำปางเขาไม่ฉี่บนเตียง ถ้าเผื่อเขายังคลานได้ เขายังสามารถที่จะไปถึงห้องน้ำได้ เขาจะต้องไปห้องน้ำ...” เราพูดออกมาว่า “...เราจะตายเป็นคนที่ 4...” พยาบาลแทนที่จะบอกเราว่า ผู้ป่วยที่นี่ธรรมเนียมการปฏิบัติตัวเขาเป็นแบบนี้ ไม่ยอมขับถ่ายบนเตียง ถ้าเราทราบแบบนี้ตั้งแต่แรก เราคงไม่รักษาผู้ป่วยด้วยวิธีการนี้เด็ดขาด เราเป็นแพทย์มาใหม่จึงไม่ทราบเรื่องนี้ นี่คือสิ่งที่ทำให้เราได้เรียนรู้ และเราเสียใจมาก ประสบการณ์แต่ละอันไม่ใช่ว่ามีความรู้เพียงอย่างเดียวแล้วจะรอดตัว

        หลังจากเหตุการณ์ผู้ป่วยหัวใจวายเสียชีวิต วันนั้นเองผู้อำนวยการท่านพาเราไปเลี้ยงมื้อกลางวันเป็นการต้อนรับที่ตลาด เมื่อถึงตลาดเราแปลกใจมาก เพราะพอรถผู้อำนวยการจอดและเราลงจากรถ ผู้คนยืนอยู่เต็มเหมือนว่ามาต้อนรับคนใหญ่คนโต แต่ระหว่างเดินเราได้ยินเสียงกระซิบของผู้คนที่ยืนอยู่ว่า “...นี่ไง หมอใหม่ที่มาถึงคนไข้ตายเรียบ 3 คนเลย...” สิ่งนี้ดังก้องอยู่ในหูของเรา วันนั้นอาหารอร่อย ไม่อร่อยไม่รู้เลย เพราะเรากลืนไม่ลง พอกลับมาถึงวอร์ดผู้ป่วยหญิงก่อนหน้านี้มีผู้ป่วยเต็มตึก ปรากฏว่าตอนนี้กลับบ้านเกือบหมดแม้ว่าจะยังไม่ควรกลับบ้านก็ตาม ผู้ป่วยก็เซ็นชื่อว่าไม่เต็มใจอยู่จะกลับบ้าน เหลือผู้ป่วย 3 ราย เพราะบ้านอยู่อำเภอไกล ๆ ญาติยังไม่สามารถมารับได้ รุ่นพี่แพทย์ก็มาพูดกับเราว่า “...หมอถ้าผมเป็นหมอนะ ผมจะขึ้นรถไฟไปหาอธิบดี แล้วก็ขอย้ายไปจังหวัดอื่น ถึงหมอจะเก่งถูกฝึกมาจากโรงพยาบาลเด็กก็เถอะ เริ่มต้นซวยอย่างนี้แล้ว ยากที่จะทำให้คนไข้เค้านิยมหมอ...” พอเราได้ยินแบบนั้น น้ำตาร่วงเผาะเลย เหมือนเราถูกสะกดจิตเดินจะไปเก็บข้าวของ แต่พอเราเดินไปได้ครึ่งทาง เราคิดได้ว่า ทุกโรงพยาบาลจะต้องมีกฎพิเศษของตัวเองเช่นนี้ เราคงต้องเก็บกระเป๋าเข้าเก็บกระเป๋าออก ย้ายจนกระทั่งครบหมดทุกจังหวัดในประเทศไทย จนเราเกษียณพอดี ไม่ได้ทำงานแน่ เราเลยฮึดสู้ขึ้นมาแล้วพูดกับตัวเองว่า “...ไหน ๆ ก็เน่าจนไม่มีอะไรจะเน่ายิ่งกว่านี้หละ อยู่ที่นี่ 6 เดือน ให้เวลา 6 เดือน ใครจะว่าอย่างไร จะทำให้เหมือนเป็นก้อนหินจะไม่ทุกข์โศก จะไม่ขยับเขยื้อนเลยเชียว...”

        นอกจากเรื่องผู้ป่วยหัวใจวายเสียชีวิตไป 3 ราย เรายังมีเรื่องอีก ตอนที่ทำงานในโรงพยาบาลลำปาง มีเรื่องได้ทุกวันตอนนั้น เรื่องนี้เกี่ยวกับการให้น้ำเกลือเด็กเล็ก สมัยนั้นที่โรงพยาบาลเด็ก เริ่มให้น้ำเกลือโดยใช้เข็ม “Scalp Vein” คือ เป็นเข็มและมีสายพลาสติก และเราจะก็ขดเอาไว้ตรงบริเวณหน้าผาก ซึ่งมือน้อย ๆ ของเด็กก็ดึงไม่ได้ เพราะปกติตอนให้น้ำเกลือเราก็ต้องเอาหมอนทรายทาบตรึงเอาไว้ พ่อแม่ก็จะสงสารลูก จะอุ้มเด็กก็ไม่ได้ แต่ถ้าเราเปลี่ยนมาใช้ Scalp Vein พ่อแม่ก็จะสามารถอุ้มเด็กได้ เพราะที่แขวนน้ำเกลือมีล้อ สามารถลากไปไหนมาไหนได้ แม้ตอนนั้นเราก็ดีใจ ไม่มีเข็มแบบนี้ที่เมืองลำปาง แต่เราก็ตัดเข็มออกแล้วนำสายพลาสติกที่มีอยู่แช่น้ำยา ฆ่าเชื้อมาต่อทำเป็นเข็มที่เขาเรียกว่า Scalp Vein (สก๊าวเวน : เข็มปีกผีเสื้อ) มาใช้ในการรักษาผู้ป่วย แต่เราลืมนึกไปว่า ผู้คนในแถบนั้นไม่เคยรู้จักเข็มลักษณะนี้ รายแรกที่ใช้เป็นเด็กอายุ 9 เดือน มีอาการท้องเดินอย่างมากจนตานี่กลอกไม่ได้เลย ตาแห้งผาก พอให้น้ำเกลือไปประมาณ 2 ชั่วโมง อาการดีขึ้น เด็กสามารถนอนหลับได้ เนื้อตัวเริ่มมีน้ำมีนวลขึ้น แต่แม่ของเด็กกำลังนั่งร้องไห้ ตอนนั้นเราก็งงมาก เราจึงบอกแม่ของเด็กว่า “...ถ้าดีอย่างนี้นี่นะ พรุ่งนี้สาย ๆ ก็ให้กลับบ้านได้...” แม่ของเด็กร้องไห้ดังขึ้นไปอีก เราจึงไปเรียกพยาบาลมาอธิบายเป็นภาษาคำเมือง กลายเป็นว่าแม่เด็กยิ่งร้องหนักกว่าเดิม เราจึงถามไปว่า “...ทำไมหละ...” แม่เด็กตอบว่า “...ก็ตอนแรกลูกมานี่เป็นโรคท้องเดิน แต่ตอนนี้หมอรักษานี่ลูกเป็นหัวมาร...” เพราะแม่เด็กคิดว่าน้ำเกลือ 1 ลิตร ที่เราให้เด็กไปนั้น จะไปอยู่ในสมองเด็ก ไม่ได้ไปตามเนื้อตัวของเด็ก แม่เข้าใจว่าลูกของเขาศีรษะพองใหญ่ขึ้น เพราะการให้น้ำเกลือแบบนี้ เราก็อธิบายว่าน้ำเกลือจะเข้าไปตามเส้นเลือด เห็นไหมว่าเนื้อตัวของเด็กมีน้ำมีนวลแล้วไม่ เหี่ยวแบบตอนแรกที่พามาโรงพยาบาล และหัวของเด็กก็ไม่ได้ขยับเขยื้อนใหญ่ขึ้นแม้แต่น้อย แต่แม่เด็กก็ยังเชื่อว่าลูกเขาหัวใหญ่ขึ้น เราจึงไปหยิบสายวัดมาให้แม่เด็ก เราก็บอกว่า “...เอ้าเอาไว้วัดแล้วก็จดในกระดาษด้วย จะวัดมันทุกกี่นาทีก็วัดเข้าไป ถ้าเมื่อไหร่หัวลูกขยับใหญ่ขึ้นนิดหนึ่งนะ เรียกหมอมา หมอจะให้ตัดคอหมอได้เลย...” แม่เด็กก็ยังไม่ไว้วางใจ ก็ยังคอยวัดขนาดศีรษะของลูกอยู่แบบนั้น ดังนั้นเวลาจะให้น้ำเกลือแบบนี้จึงต้องอธิบายกันทุกรายไป จนผ่านไปได้ 2 เดือน เรากำลังจะอธิบายแบบเดิม ปรากฏว่ามีเสียงหนึ่งดังขึ้นมา นั่นก็คือเสียงของแม่เด็กคนแรกที่ให้น้ำเกลือด้วย Scalp Vein พาลูกมาโรงพยาบาลอีกรอบ เพราะลูกป่วยเป็นปอดบวม พอเราเริ่มจะอธิบายให้กับผู้ป่วยรายใหม่ แม่ของเด็กคนนั้นพูดเป็นภาษาคำเมืองกับแม่เด็กรายใหม่แปลเป็นภาษากลางก็จะประมาณว่า “...ถ้าเผื่อหมอคนนี้รักษานี่ ต่อให้เทวดามารักษาก็ยังไม่ดีเท่า...” ตอนนั้นพอเราได้ยินแบบนี้ ที่เราเคยพูดว่าจะไม่ตื่นเต้น จะไม่สนใจว่าใครจะพูดอย่างไร ตอนนั้นหัวใจพองโตกับคำพูดนั้น แต่แล้วอยู่ ๆ ภาพของผู้ป่วยโรคหัวใจวายที่กำลังโหนประตูห้องน้ำก็โผล่ทับขึ้นมา ถ้าเปรียบหัวใจเป็นลูกโป่ง จากการพองโต อยู่ ๆ ถูกแทงลมรั่วตกลงมากระแทกพื้น

       อีกเหตุการณ์หนึ่ง ณ โรงพยาบาลลำปางที่อยากจะพูดถึง คือ ตอนนั้นเกิดเหตุการณ์เจ้าหน้าที่รถไฟสับรางรถไฟผิดรางหรืออย่างไรไม่ทราบ รถด่วนที่บรรทุกผู้โดยสารไปชนกับรถสินค้า ตอนนั้นผู้ป่วยมาโรงพยาบาลจำนวนมาก ด้วยห้องฉุกเฉินมีขนาดไม่ใหญ่ ทำให้การช่วยเหลือ และลำเลียงผู้ป่วยมายังโรงพยาบาลลำบาก จำได้ว่าทางเข้าโรงพยาบาลที่มีลักษณะเป็นทางโค้งเข้าทางออกทาง เต็มไปด้วยเปลของผู้ป่วยเรียงกันยาวตลอดทางเข้าออกโรงพยาบาลนั้น และด้วยความที่เราเป็นแพทย์เวรในวันนั้น พอเราจะไปแตะคนโน้น คนนี้ก็บอกว่าผมหนักกว่า จนทำให้เราไม่รู้จะรักษาคนไหนก่อน เมื่อแพทย์ทุกท่านของโรงพยาบาลลำปางทราบข่าว รวมทั้งผู้อำนวยการโรงพยาบาลทุกคนมากันหมด มาช่วยการดูแลผู้ป่วยจนกระทั่งเสร็จเรียบร้อย นี้คือ “น้ำใจ” ถึงทำให้เรามีความรู้สึกว่า เราเหมือนเป็นอวัยวะเดียวกัน เราไม่ได้คิดว่าเวรใครหรือไม่เวรใคร ถ้าเผื่อมีผู้ป่วยที่หนักหนาสาหัส ทุกคนพร้อมที่จะช่วยกัน คนละไม้คนละมือ เพราะเรารู้สึกว่าเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

       การเป็นแพทย์เหมือนเป็นการฝึกธรรมะให้เราแบบไม่รู้ตัว ค่อย ๆ ทำให้เราได้คิด เหมือนกับท่านพระอาจารย์สอนบทเรียนที่ 1 ที่พระพุทธเจ้าสอน เรื่อง “โลกธรรม 8” ดังนี้ อย่าหวั่นไหว ตามคำพูดของคน นินทา สรรเสริญ วิพากษ์วิจารณ์ สุข ทุกข์ มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ ซึ่งเราก็รู้เราก็ท่องได้ แต่ไม่เคยเข้ามาในใจเรา แต่พอเราเข้าไปในวัด หลังออกจากราชการ ถึงได้พบว่า โอ้โห!!! มันได้ประโยชน์มาก ๆ ประสบการณ์จากที่เราทำงาน จากที่เราเรียนหนังสือ ทุกอย่าง คือ ประสบการณ์ เมื่อครูสอนเรา ถ้าเราค่อย ๆ คิด ค่อย ๆ ไตร่ตรอง เราจะพบว่าทุกคนมีธรรมะอยู่ในใจ เพราะใจเรารู้ตื่นเบิกบานอยู่แล้ว ตกลงระหว่างที่ไปเป็นแพทย์ด้านกุมารเวชศาสตร์ที่ต่างจังหวัด ต่อมาเรากลับเข้ามาทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลเด็กอีกครั้ง เมื่อ พ.ศ. 2504 เพื่อที่จะไปฝึกเป็นบอร์ดผู้เชี่ยวชาญทางโรคเด็กที่ต่างประเทศ

       เราได้สั่งสมประสบการณ์มาเรื่อย ๆ ทั้งทางโลกและทางธรรม โดยไม่รู้ตัว เรารู้สึกว่าใจของเราอ่อนโยนขึ้น ทำให้เรายิ่งเอาใจใส่ผู้ป่วยมากขึ้น และไม่ได้ไปรังเกียจว่า เขาเป็นผู้ป่วยอนาถา หรือ เขาเป็นลูกผู้ดีมีเงินอยู่ห้องพิเศษทุกคนเท่ากัน เพราะเรามีความรู้สึกว่า ผู้ป่วย คือ ขุมความรู้ที่มาสอนเรา และยิ่งถ้าเผื่อพ่อแม่เขามาพูด มาเล่าประวัติอะไรให้เราละเอียดขึ้น เราจะยิ่งชื่นใจ เพราะฉะนั้น เรากับญาติผู้ป่วยจึงมีความสัมพันธ์กันดีมาก ซึ่งทำให้เขาและเราเข้าใจต่อว่า ญาติผู้ป่วยไม่ได้รักเรา เพราะลูกเขาหาย ถึงลูกเขาจะเสียชีวิต แต่เขารู้ว่าตลอดเวลา เรามีน้ำใจกับเขา เราทุ่มเทเวลากับเขา แม้ผู้ป่วยจะถึงตาย ญาติก็จะไม่ว่า ซึ่งตรงนี้ถ้าไม่ได้มานั่งวิเคราะห์ เราก็ไม่ได้คิด เราก็คิดแต่เพียงว่า ให้ทำแค่ผ่าน ๆ ไป แต่ถ้าเรารู้จักผู้ป่วยมากขึ้น จะทำให้เราเห็นผู้ป่วยละเอียดลออยิ่งขึ้น เราสามารถวิเคราะห์โรคได้ชัดเจนขึ้น แล้วก็ได้เห็นว่าอาจารย์ที่สอนเรามาว่า มือ หู ตา ของเราต้องใช้ให้เป็น แทนเครื่องทั้งหลายที่เดี๋ยวนี้ไฮเทคโนโลยีมาก ซึ่งทำให้แพทย์ทำอะไรไม่เป็น และอีกหน่อยคงเหลือเพียงแค่หัวแม่มือไว้สำหรับกดเท่านั้น

       ภายหลังจากจบการศึกษา Ph.D. สาขาวิชาสรีรวิทยาจาก Medical College of Pennsylvania เมื่อ พ.ศ. 2512 เมื่อกลับมาถึงประเทศไทย ศาสตราจารย์สตางค์ มงคลสุข ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล ชักชวนให้เราเข้ามาทำงาน และด้วยความที่เราเป็นพวกรักชาติ ต้องการทำให้ประเทศเรามีความเท่าเทียมกับต่างประเทศ เราจึงตอบตกลง ดังนั้น เมื่อ พ.ศ. 2513 เข้ารับราชการ ณ มหาวิทยาลัยมหิดล บรรจุตำแหน่งอาจารย์โท แผนกสรีรวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ เข้ามาสอนนักศึกษาแพทย์ และสอนนักศึกษาปริญญาโท ปริญญาเอกที่แผนกสรีรวิทยา

       การสอนเด็กนักศึกษาของบ้านเราทำให้พบว่า เด็กนักศึกษาปริญญาโท ปริญญาเอกของเรา ยังมีความพร้อมไม่เท่ากับเด็กในต่างประเทศ เพราะเวลาให้อ่านหนังสือที่ไม่ใช่ภาษาไทยอ่านยาก และเมื่ออ่านลำบาก วิชาก็ยากจึงมีผลต่อตัวนักศึกษาพอสมควร และอีกสิ่งหนึ่งที่แตกต่างกันชัดเจน คือ ถ้าเป็นนักศึกษาในต่างประเทศวันไหนอาจารย์มาสาย หรือ อาจารย์เกิดไม่มาสอน เราต้องนัดสอนชดเชยในวันอาทิตย์กับนักศึกษา แต่ถ้าเป็นนักศึกษาบ้านเราถึงจะเป็นนักศึกษาปริญญาโท ปริญญาเอก เฮกันใหญ่ว่าอาจารย์ไม่สอน หรือ การมาสายของเรา บางทีพอเรามาถึงนักศึกษาหายไปหมดแล้ว และพอเราสอนเหมือนกับว่าเรากำลังพูดภาษามคธ นักศึกษาไม่ได้อ่านมาก่อน ไม่ได้มีคำถามมาเลย เหมือนไม่มีส่วนร่วมในการเรียนการสอน เหมือนเราพูดอยู่คนเดียวแทบไม่มีการโต้ตอบกัน จนเราหมดกำลังใจ แต่พอตอนหลังเราเริ่มปรับวิธีการสอน มีการติว มีการเล่าเกล็ดความรู้คล้าย ๆ นิทานจึงเริ่มสร้างบรรยากาศในการเรียนดีขึ้น การฝึกตัวเองให้โตตามอายุ ให้โตตามวัย และให้มีความรับผิดชอบแค่ไหนมันไม่เท่ากัน จากพฤติกรรมตรงนี้ของเด็กไทยจึงทำให้เด็กมีความรู้ทางด้านวิชาการไม่แข็งแกร่งเท่า แต่ถ้าเราค่อย ๆ ทำให้เขาเข้าใจ ทำให้เขาเกิดความสนุก และเขาเปิดใจกับเรา เขาจะสามารถทำได้ แต่เราในฐานะอาจารย์อาจจะต้องใส่ใจเป็นพิเศษ หรือ เราต้องคอยจ้ำจี้จ้ำไชพวกเขาให้มากเป็นพิเศษ

       การสอนนักศึกษาแพทย์ เด็กไม่เข้าใจว่า ทำไมเราต้องเรียนสรีรวิทยา เพราะเด็กเข้าใจว่าเมื่อเรียนจบแพทย์แล้ว พวกเขาไม่จำเป็นต้องใช้สรีรวิทยา เราในฐานะอาจารย์จึงเปลี่ยนวิธีการสอนใหม่ เพื่อให้เด็กนักศึกษารู้ที่มาที่ไป และเข้าใจว่าทำไมถึงต้องเรียนสรีรวิทยา เราจึงชวนเพื่อนที่อยู่ทางคลินิกมาช่วยกันสอนวันเสาร์ครึ่งวัน และขออาจารย์ที่อยู่แผนกกุมารเวชศาสตร์ด้วย โดยการยกตัวอย่างจากโรคของผู้ป่วยเป็นแบบนี้ อธิบายถึงสรีระมีความปกติอย่างไร และเป็นพยาธิอย่างไร Pathologic (พยาธิวิทยา) Physiology (สรีรวิทยา) คือ พยาธิของสรีรวิทยาเปลี่ยนอย่างไร จึงเป็นโรค และการที่เราสั่งยาแก่ผู้ป่วย บางทีเราอาจจะไม่ใช้ยามากเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยมีอาการท้องเดินอย่างหนัก เราให้น้ำเกลือ เราต้องแก้ภาวะความเป็นกรด เป็นด่างของเลือดด้วย แต่เราจะแก้ไม่หมด ถ้าเราพบว่าค่าของเลือดขาดไปถึง 30 เราควรแก้แค่ 15 เท่านั้น เพราะถ้าเราปรับเป็น 30 เต็ม ร่างกายมนุษย์จะแก้ต่ออีก แทนที่จะเป็นกรดจึงกลายเป็นด่างมากเกินไป ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ ตอนนั้นด้วยวิธีการสอนแบบนี้ เด็กนักศึกษาแพทย์ชอบมาก เมื่อพวกเขาเข้าใจก็จะตื่นตัว และตั้งใจเรียนสรีรวิทยา เรียนปรีคลินิก (Preclinical) เพราะเขารู้แล้วว่านี่คือรากฐานสำคัญ ทำให้พวกเขาเข้าใจพยาธิวิทยามากขึ้น และสามารถรักษาผู้ป่วยได้ดีขึ้น และเมื่อเด็กกลุ่มนี้ขึ้นไปอยู่ปี 5 ปี 6 อาจารย์เขาจะชื่นใจ เพราะพวกเด็ก ๆ มีความรู้อย่างลึกซึ้งจึงสอนง่าย

       ด้วยความที่เรามีประสบการณ์แบบนี้มาก่อน เพราะตอนที่เรากลับไปเรียนกับนักเรียนแพทย์ใหม่ ซึ่งตอนที่เรากำลังทำ Ph.D. อาจารย์ที่ปรึกษาของเราให้เราไปเรียนทฤษฎีเหมือนเป็นการทบทวนตัวเอง และเราต้องไปนั่งเรียนและสอบกับนักเรียนแพทย์ที่นั่น แต่พอเวลาทำการทดลองวิจัยในห้องปฏิบัติการ (Lab) เราเป็นคนคุมเด็กนักเรียนแพทย์ และตอนสอบเราก็ใช้ข้อสอบเดียวกับนักเรียนแพทย์เหล่านี้ แต่พอมาทำ Lab เพราะนักเรียนแพทย์พวกนี้รู้ว่าเราชำนาญเราสามารถช่วยได้ พอวันหนึ่งมีผู้ป่วยมีอาการหอบ เราคิดว่าทำไมถึงหอบ โดยส่วนใหญ่ให้ยาปกติไม่ได้ เขาก็ให้สเตียรอยด์ (Steroid) ทันที ซึ่งการใช้สเตียรอยด์เท่ากับขีดเส้นตาย เพราะไม่สามารถกลับมาใช้ยาปกติได้อีก และสเตียรอยด์มีผลทำให้กระดูกพรุนด้วย ตอนนั้นเราไม่เข้าใจว่า ถ้าเราให้ยาธรรมดา และให้ 50% กลูโคส หรือ น้ำเกลือด้วย ผู้ป่วยจะตอบสนองทุกครั้ง เพราะถ้าเลือดของผู้ป่วยมีความเป็นกรดสูงมาก ยาธรรมดาจะไม่ออกฤทธิ์ ยาจะออกฤทธิ์ได้เมื่อความเป็นกรดอยู่ในเกณฑ์ปกติ ทีนี้พอเราให้กลูโคสเข้าไป ให้น้ำเกลือเข้าไป ก็จะไปปรับความเป็นกรดเป็นด่างของเลือดด้วย ยาของเราถึงออกฤทธิ์ได้ พอไปเรียนกับเด็กนักเรียนแพทย์ใหม่ ต๊ายตาย!!! นี้คือ พื้นฐาน แล้วทำไมเราจำอะไรไม่ได้เลย ถ้าพื้นฐานความรู้ของเราแน่นจะส่งผลต่อการเรียนในทุกด้าน เช่นเดียวกับการสร้างตึกถ้าหากพื้นล่างไม่ดี เมื่อมีลมพายุตึกก็จะโคลงเคลง และอาจจะล้มได้

       ย้อนกลับมาตอนสอน ทุกครั้งที่สอนเราจะพูดและเตือนเด็กนักศึกษาเสมอว่า เวลาที่ทำ Lab ไม่ว่าจะเป็นการผ่าสัตว์อะไรก็ตามให้นึกถึงจิตใจของสัตว์เหล่านั้นเสมอ ยกตัวอย่างเช่น ครั้งหนึ่งเราต้องผ่าสุนัข การให้ยาสลบสัตว์เหล่านี้ บางครั้งต้องคอยสังเกตด้วยว่า มีการฟื้นขึ้นมาขณะที่กำลังผ่าอยู่หรือไม่ เพราะสัตว์บางตัวแข็งแรง นักศึกษายังผ่าไม่เสร็จมันเริ่มรู้สึกตัว เริ่มส่งเสียงร้อง เราจึงบอกนักศึกษาว่า “...ไม่ได้นะสัตว์ทดลองทุกตัวไม่ว่าจะเป็นหมา เป็นกระต่าย เป็นเต่านี่ มันเป็นเหมือนพ่อแม่เธอ เพราะฉะนั้นถ้ามันร้องนี่เป็นบาป ก็ต้องให้ยามันเพิ่มขึ้น...” เมื่อเราผ่าเสร็จเรียบร้อย เราจะห่อสัตว์เหล่านี้ให้เรียบร้อยและนำไปเก็บ ครั้งหนึ่งนักศึกษาไปเอาแตรนอนของพี่ชายที่เป็นทหารเรือมา และนำธงชาติมาด้วย พอเสร็จการทดลองสุนัขเสียชีวิตแล้ว แทนที่จะห่อแล้วนำไปเก็บตามปกติ เด็กนำธงชาติห่อ และเริ่มเป่าแตรนอน เพราะเราบอกว่าเหมือนพ่อกับแม่เธอ เธอต้องทำอย่างเคารพ นอบน้อม เราก็เป็นคนรักสุนัข ตอนนั้นเราก็เข้าใจพวกเขา แต่ทีนี้มีนักศึกษาคนหนึ่งในนั้นเห็นเราเดินมา จึงพยายามจะเตือนให้เพื่อนรู้ เราก็ทำตาขึง เป็นนัยประมาณว่า เฉยเอาไว้ พอพวกนักศึกษาเล่นกันจนจบ และหันมาเห็นเรายืนอยู่ รีบพูดเลยคะว่า “...ผมเคารพนะครับ...” เราก็บอก “...แล้วครูดุอะไรเธอหละ ครูไปว่าหรือ ว่าเธอไม่เคารพ...” กินปูนร้อนท้องไง บางทีมันก็สนุกแบบนี่ เราก็ไม่ว่าถ้าจะสนุกกันบ้างในบางครั้ง แต่ก็ต้องอยู่ในขอบเขต เพราะบางทีเวลาเราฝึกหัดกับสัตว์ทดลอง พอสัตว์ทดลองเริ่มรู้สึกตัวแทนที่จะเพิ่มยาสลบให้ แต่นักศึกษายังทำต่อ สัตว์ทดลองก็ร้อง ซึ่งพฤติกรรมแบบนี้ที่นักศึกษาทำเป็นสิ่งไม่ดี เพราะต่อไปเวลาที่นักศึกษาดูแลผู้ป่วย จะกลายเป็นว่าติดเป็นนิสัย และญาติจะโกรธแค้น เพราะบางคนจะบอกเลยว่า พอเราไปขอว่าจะขอผ่าศพตรวจหรืออะไร ญาติบางคนบอกว่า “...เวลามีชีวิตอยู่ก็ไม่เห็นดูแล แต่พอตายแล้วนี่ทำมาดิบดีด้วย เพราะว่าจะผ่าศพตรวจ เพื่อจะเป็นประโยชน์ทางวิชาการ จ้างให้ก็ไม่ให้...” อะไรแบบนี้ เมื่อเราเล่าเรื่องแบบนี้ เราสอนให้นักศึกษาเข้าใจ เรามักจะสอนนักศึกษาแพทย์ในเรื่องทำนองนี้ด้วย นอกเหนือจากในส่วนของวิชาการ

       ช่วงที่สอนนักศึกษาแพทย์ เราเคยเจอนักศึกษาที่เหมือนจะดูถูกปรีคลินิก เสร็จแล้วเด็กคนนี้ไปค้นประวัติของเรา และวันหนึ่งมาขอพบเราหลังเลิกงาน ทำทีมาเป็นถามเรื่องวิชาการต่าง ๆ และพูดมาว่า “...อาจารย์ อาจารย์ก็ได้ บอร์ดเด็กด้วย แล้วเรื่องอะไรอาจารย์ถึงมาอยู่ที่แผนกสรีรวิทยา เพราะสำหรับเมืองไทย ถือว่าคนที่มาสอนปรีคลินิกนี่ ไม่เก่ง หรือไม่อยากที่จะอยู่เวร ไม่อยากที่จะก้าวหน้าทางรักษาคนไข้ ก็เลยมาอยู่ปรีคลินิก ไม่ต้องอยู่เวร ไม่ต้องอะไรอย่างนี้...”  เราก็ถามว่า “...ทำไมหรือ ถ้าอยู่สรีระนี่มันน้อยหน้ากว่าไปเป็นหมอเด็กยังไง...” นักศึกษาบอกว่า “...อ้าว อาจารย์อยู่แผนกเด็ก อาจารย์ก็เปิดคลีนิกได้ ฝีมืออย่างอาจารย์ 2 ปี 3 ปี อาจารย์ก็ซื้อรถเบนซ์ขี่ได้ ไม่ต้องขี่รถญี่ปุ่นกระจอก ๆ อย่างงี้...” เราก็บอกว่า “...แล้วมีรถเบนซ์นี้นะ แล้วเราเหยียบได้ไหม การจราจรในกรุงเทพฯ นี่กับไอ้รถญี่ปุ่นนี่ บางทีรถญี่ปุ่นของครูยังแซงรถเบนซ์ของพวกเธอได้เลย...” นักศึกษาก็ทำหน้างงมาก เราจึงสอนให้เห็นว่า ปรีคลินิกมันสำคัญอย่างไร ถ้ามีพื้นฐานแน่น และเข้าใจอย่างลึกซึ้ง นักศึกษาจะเป็นแพทย์ที่เก่งขึ้นไปอีก ทำให้เข้าใจดีขึ้นในเรื่องของรากฐานความเป็นแพทย์ จากสิ่งที่เราพยายามสอน นอกเหนือวิชาการ เด็กพวกนี้หลายคน ตอนแรกมีความคิดว่าต้องอยู่แต่ในโรงเรียนแพทย์ ต้องอยู่แต่ในกรุงเทพฯ เท่านั้น ทีนี้พอเขารู้เรื่องราวชีวิตของเราผู้ที่เป็นอาจารย์ของพวกเขา ตั้งแต่เข้ากระทรวง ทำงานโรงพยาบาลต่างจังหวัด ทำงานมหาวิทยาลัย ลาออกไปฝึกปฏิบัติกับพระวัดป่า ส่งผลให้ นักศึกษาหลายคนที่จบแล้วไปสมัครเข้ากระทรวง และไปอยู่ตามโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขตามต่างจังหวัด และหลายคนก็ลาบวช 1 พรรษา กับพระวัดป่า เพราะเขาบอกว่า “...อาจารย์นี่ทำอะไรก็รู้สึกมันดีทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเราไม่มีโอกาสซักอาจารย์ว่าทำไมอาจารย์ถึงทำอย่างนี้ อาจารย์คงมีเหตุผล ถ้าเราไปบวชแบบอาจารย์ เราก็คงรู้ ครูบาอาจารย์คงอธิบายให้ฟัง...” เราเห็นแบบนี้ เราก็ชื่นใจ

       การทำด้านการแพทย์ของเรา ดำเนินไปเรื่อย ๆ จนกระทั่ง พ.ศ. 2516 ลาออกจากมหาวิทยาลัยมหิดล และรับงานสอนเป็นอาจารย์พิเศษนักศึกษาปริญญาโท และปริญญาเอก วิชาสรีรวิทยา ให้แก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ พ.ศ. 2516 – 2517 ภายหลังจากนั้นจึงเริ่มเข้าสู่สายพระพุทธศาสนาราว พ.ศ. 2518 ฝึกปฏิบัติธรรมกับท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร วัดป่าแก้ว จังหวัดสกลนคร และ ท่านพระอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี

       การทำงานสมัยก่อนเราทำด้วยใจ เราไม่ได้คิดว่าเขาเป็นผู้ป่วย ไม่ได้คิดว่าเงินเดือนเรากับจำนวนผู้ป่วยที่เรารักษาจะคุ้มค่ากับเงินเดือนหรือต้องเพิ่มเงินเดือนให้กับเราหรือต้องลดการทำงานให้พอกับเงินเดือนที่ได้รับ สมัยเราเรียนแพทย์เราจะกุลีกุจอเข้าไปช่วยกันทำงานแม้ว่าจะไม่ใช่เวรเราก็ตาม หรือ ถ้ามีสถานการณ์หนัก ๆ เกิดขึ้น เราทุกคนก็พร้อมที่จะเข้ามาช่วยกันทำงาน ซึ่งสังคมการทำงานแบบนี้ควรมีอยู่ทุกสังคมการทำงาน ไม่ใช่แค่สังคมการทำงานทางการแพทย์อย่างเดียว

       ส่วนอีกเรื่องหนึ่ง เมื่อเรามาปฏิบัติธรรม ถ้าเราไม่มีใจที่เราเข้าใจสภาวะธรรมชาติอันนี้ เราจะมีตัวตนที่ใหญ่มาก และเราก็จะไม่รู้ว่า ความนึกคิดของเราหรือกิริยาที่เราแสดงต่อคนอื่น มันทำให้เขาบาดเจ็บ ทั้งจากคำพูดหรือสายตา มันเหมือนอย่างกับเป็นมีดเชือดเฉือนกันได้ สำหรับเราแล้วชีวิตวัยเด็กของเราที่ถูก คุณพ่อคุณแม่หล่อหลอมมาให้เรามีความอิ่ม มีความเต็ม และเราก็มีใจที่รู้สึกว่าคนทุกคนมีใจเหมือนกัน เราไม่ชอบอะไร เขาก็ไม่ชอบเหมือนเรา จากตรงนี้เมื่อพอเวลาที่เราเติบโตขึ้น เรามาเรียนแพทย์เราจะเข้าใจ จิตใจของผู้ป่วย ถ้าเขายิ่งมาจากต่างจังหวัด และญาติไม่สามารถอยู่ดูแลได้ เราก็ไปดูแลเขา ซึ่งเดี๋ยวนี้มันค่อยห่างไกลกันระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ชั้น 3 หอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170
โทร 0-2800-2680-9 ต่อ 4346